แอลกอฮอล์ (alcohol) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ แอลกอฮอล์เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในทวีปยุโรปราวศตวรรษที่ 12 มาพร้อมกับการกลั่น ซึ่งเป็นวิทยาการความรู้ด้านเคมีของชาวอาหรับในตำราที่นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปได้นำมาแปลและถ่ายทอดในภาษาของตัวเอง ความหมายดั้งเดิมของแอลกอฮอล์หมายถึงผงอัลติโมไนซัลไฟด์ (Sb2S3) ที่ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ หรืออายไลเนอร์
แอลกอฮอล์ในความหมายของสารที่ผ่านการกลั่นโดยเฉพาะหมายถึงเอทานอล (ethanol) เริ่มใช้อย่างกว้างขวางจริงๆ ก็ในช่วงหลังจากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แอลกอฮอล์มาจากถ้อยคำใดในภาษาอาหรับ ?????? = ALKHWL=อัลกุฮุล หรือ ????? = ALGhWL= อัลกอว เพราะในอัลกุรอาน ซูเราะห์ที่ 37 แถวที่ 47 นั้นได้มีการกล่าวถึงคำว่า อัลกอว ซึ่งหมายถึง ‘มึนเมา’ ความตอนนี้มีว่า
[37.45] พวกเขาจะถูกเวียนรอบด้วยแก้วเครื่องดื่มที่มาจากลําธาร
[37.46] ขาวบริสุทธิ์ โอชะแก่บรรดาผู้ดื่ม
[37.47] มิมีอันตรายใด ๆ ในนั้น และพวกเขาก็จะไม่มึนเมาจากมัน
ส่วนในความหมายของหัวเชื้อที่ก่อให้เกิดสภาพเป็นไวน์มีให้เห็นในรากศัพท์ภาษาอังกฤษ ghoul=กูล ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในภาษากลุ่มยุโรปโดยทั่วไปอีกหลายชนชาติ ghoul มีความหมายเทียบเท่าได้กับ spirit=วิญญาณ คำที่ใช้กันอยู่ก็คือ spirit of wine
จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่ก้นของเครื่องปั้นดินเผาในยุคนีลิธิค ซึ่งขุดพบทางตอนเหนือของประเทศจีน สามารถอธิบายได้ว่า มนุษย์ริเริ่มการหมักบ่มเครื่องดื่มจากน้ำผึ้ง ผลไม้ และธัญพืชมามาไม่น้อยกว่าเก้าพันปี ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการเริ่มต้นผลิตเบียร์และการหมักบ่มไวน์ในตะวันออกกลาง สูตรในการผลิตถูกพบในแผ่นจารึกของชาวเมโสโปเตเมีย ที่แสดงให้เห็นการดื่มโดยการใช้หลอดดูดเครื่องดื่มที่หมักบ่มอยู่ในภาชนะบรรจุขนาดใหญ่
ในอารยธรรมกรีกโบราณ ชาวกรีกดื่มไวน์ประกอบการรับประทานอาหารมื้อเช้า และสำหรับการประชุมดื่มที่เรียกว่า symposia กระทั่งย่างเข้าศตวรรษที่ 1 ทั้งชาวกรีกและโรมันก็ยังคงนิยมดื่มไวน์ประกอบกับมื้ออาหาร ชาวกรีกและชาวโรมันดื่มไวน์โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง ไปจนกระทั่งหนึ่งต่อสี่ (ไวน์ 1 ส่วน น้ำ 4 ส่วน)
ช่วงยุคกลางคือราวศตวรรษที่ 11-13 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะไวน์นั้นมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของชาวคริสต์อย่างเหนียวแน่น คือการผลิตและจัดจำหน่ายเหล้าประเภทไวน์เป็นธุรกิจที่เกือบจะถูกผูกขาดโดยชาวคริสต์ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นกลับเป็นชาวอิสลาม ซึ่งการดื่มสิ่งของมึนเมายังไม่กลายเป็นสิ่งต้องห้ามหรือข้อบัญญัติที่ระบุบอกอย่างชัดเจน มีการคิดวิเคราะห์ไปว่า การห้ามดื่มสิ่งมึนเมาหรืออันที่จริงก็คือไวน์ของชาวคริสต์จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ความขัดแย้งที่เป็นการเมืองระหว่างศาสนาอิสลามและคริสต์
หากสำหรับเบียร์กลับเป็นเครื่องดื่มอีกประเภทที่ผลิตและดื่มกินด้วยเหตุผลที่ต่างไป เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหลายทฤษฎีว่า การดื่มเบียร์ในยุคเริ่มต้นอารยธรรมอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เมาเพียงอย่างเดียว เพราะเบียร์มีสถานะเทียบเท่าได้กับอาหาร หรืออันที่จริงความเมาไม่ได้เป็นเป้าหมายหรือสารัตถะแท้ๆ แต่อย่างใด
เพราะในยุคนั้นการเก็บสำรองพืชพรรณธัญญาหารหลังการเก็บเกี่ยวยังคงเป็นปัญหาใหญ่ การเปลี่ยนธัญญาหารเหล่านั้นเป็นเบียร์แท้จริงเป็นการแปรรูปเพื่อรักษาผลผลิตเหล่านั้นให้นานยิ่งขึ้น หมายความว่าเบียร์ในอารยธรรมโบราณเทียบเท่าได้กับอาหารแปรรูป ที่ผู้คนในยุคนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียหรือถูกรบกวนโดยหนูหรือแมลง หรือแม้กระทั่งผ่านพ้นมาสู่ยุคกลาง เบียร์ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในย่านยากจนมีน้ำดื่มซึ่งไม่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาห์
แอลกอฮอล์กับบทบาท
แอลกอฮอล์ หรือในความหมายที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปคือเอทานอล (CH3CH2OH) มีฤทธิ์โดยตรงต่อสมองส่วนกลาง มันสามารถเดินทางผ่านระบบการไหลเวียนของโลหิต และซึมแทรกสู่สมองในรูปของโมเลกุลเล็กๆ อิทธิพลของแอลกอฮอล์เป็นไปในหลายลักษณะ ทั้งต่อร่างกาย การควบคุมอวัยวะ หรือความนึกคิดต่างๆ
อย่างเช่นการมีแอลกอฮอล์ในร่างกายปริมาณหนึ่ง (ตั้งแต่ 0.1-0.4 % ขึ้นไป คำนวณจากน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย 54 กิโลกรัม) จะทำให้ระบบประสาทที่สั่งการทำงานไม่เป็นปรกติ และยิ่งระดับของแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไร ประสิทธิภาพของการเดิน การพูด การมองเห็น หรือสมดุลของร่างกายก็จะยิ่งเสียไป
สภาวะที่แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบการทำงานร่างกายที่เราเรียกกันว่า ‘อาการเมา’ นั้นอาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบมากน้อย หรือแตกต่างไปตามแต่บุคคล ผู้ที่เคยชินกับการดื่มค่อนข้างมากย่อมสามารถต้านทานฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มมาก่อน
อาการตาลาย (Blurring) หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่าเบลอนั้น มีที่มาสาเหตุจากการเมตาบอลิซึมของกลูโคสในสมองบริเวณที่เรียกว่า occipital lobe ซึ่งทำหน้าที่ในการรับภาพ ถ้าระดับกลูโคสในบริเวณดังกล่าวน้อยกว่า 29 % ภาวะขาดกลูโคสก็จะส่งผลให้การทำงานของ occipital lobe ทำงานผิดปรกติไป ซึ่งก็ส่งผลกับการมองโดยตรง ความสุขจากการมองของคนเมาจึงไม่ใช่การมองเห็นทุกอย่างคมชัด หากเป็นอะไรที่ดูคลุมเครือ สิ่งที่เรียกว่าเป็นความงามของคนเมาจึงเป็นความงามที่มองข้ามข้อบกพร่องปลีกย่อยไป
อาการวิงเวียน (Vertigo) อาการวิงเวียนแม้จะไม่ใช่อาการเดียวกันกับอาการตาลายแต่ก็เรียกว่าเป็นผลกระทบที่เกี่ยวพันสืบเนื่องกัน อาการวิงเวียนที่เรารู้จักโดยทั่วไปก็คือการรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมนั้นหมุนไปรอบๆ ตัวเรา เพราะสมดุลของของเหลวในบริเวณช่องหูที่เรียกว่า vestibular system เสียไป
ระบบสมดุลของร่างกายนี้ทำงานผ่านกลไกหลักๆ คือ semicircular canals (ซึ่งเกี่ยวโยงกับส่วนที่เรียกว่า labyrinth หรือ ‘วงกต’ อันเป็นกลไกที่ทำงานสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็น การได้ยิน และการรักษาสมดุล) โดยปรกติของเหลวในส่วนนี้จะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรม แอลกอฮอล์ทำให้พื้นที่หรือช่องว่างภายในของกลไกดังกล่าวเสียรูป และอาการเสียสมดุลดังกล่าวจึงเป็นเหมือนการกระซิบบอกสมองว่าโลกรอบข้างนั้นกำลังเคลื่อนไหว
ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและมองเห็นทุกอย่างหมุนเหวี่ยงอย่างไม่สัมพันธ์กับสภาพเป็นจริง (ซึ่งแน่นอนอาการวิงเวียนไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น หากยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสมดุลของของเหลวในช่องหู) หากมองจากภายนอกแล้วอาการวิงเวียนของคนเมาจะดูใกล้เคียงกับอาการที่เรียกว่า ataxia ซึ่งเป็นอาการที่สมองส่วนกลางทำงานได้อย่างไม่เป็นปรกติ ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่มาจากการดื่มอย่างหนัก เป็นโรคเก่าแก่จากการดื่มที่ถูกค้นพบก่อนอาการอื่นๆ หรือถูกนำไปอธิบายถึงสภาวะของคนที่วิกลจริตเป็นอาการแรกๆ
อาการหลงลืม (Forgetting) การทำให้ลืมถือว่าเป็นประโยชน์และโทษอย่างแรกๆ ของแอลกอฮอล์ที่มนุษย์ค้นพบ แอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบต่อ NMDA receptors ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขความพึงใจก่อนในช่วงระยะเวลาแรก แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่เพิ่มขึ้น NMDA receptors ก็จะหยุดทำงานและส่งผลต่อกรดอะมิโน (ที่เรียกว่า gamma-aminobutyric acid) ที่เกี่ยวข้องกับระบบความจำโดยตรง กรดอะมิโนชนิดนี้มีหน้าที่ในการบันทึกและรวบรวมความทรงจำ การที่คนเมาจำอะไรไม่ได้ก็เพราะสมดุลของกรดอะมิโนชนิดนี้เสียไปนั่นเอง
อย่างไรก็ดีการรับเอาแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องยาวนานจะไม่เพียงส่งผลกับตับเหมือนอย่างที่เราทราบกันเท่านั้น หากแอลกอฮอล์ยังทำให้เซลสมองตายลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อโรคหัวใจ หรือกระทั่งเป็นสาเหตุของมะเร็งในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปาก ลำคอ หรือตับ
ว่ากันว่าในทวีปเอเชียและอัฟริกามีผู้ที่ป่วยเป็นโรงมะเร็งตับถึง 50 คน ใน 100,000 คนต่อปี และจำนวนมากถึง 30% ที่พบว่าผู้ป่วยมีประวัติการดื่มอย่างหนัก
สำหรับผลจากแอลกอฮอล์ต่อความรู้สึกนึกคิดหรือร่างกายสามารถแบ่งเป็นระดับได้ดังต่อไปนี้
คลึ้มอกคลึ้มใจ (euphoria) คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ 0.03-0.12 % ผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในระดับนี้จะกลายเป็นคนที่มีความใจหรือมีความกล้าที่จะแสดงออกขึ้นมา แต่ความสนใจหรือสมาธิก็จะลดน้อยลง การตัดสินใจต่างๆ จะไม่สู้รัดกุม อาจจะเลือกหรือตัดสินด้วยความคิดอะไรที่เข้ามาในชั่วขณะนั้นทันที อาจเริ่มที่จะมีปัญหากับการควบคุมลายมือในการเขียน หรือลงลายมือชื่อ ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจจะทำให้ลายมือเปลี่ยนไป
ตื่นเต้น (excitement) ปริมาณแอลกอฮอล์ระหว่าง 0.09-0.25 % ในระดับนี้จะมีอาการง่วงเข้ามา และมีปัญหากับความทรงจำระยะสั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าแม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อครู่ก็อาจไม่ปรากฏอยู่ในความทรงจำเลย การตอบโต้หรือปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวค่อนข้างช้า การทำงานของร่างกายไม่ค่อยเป็นไปอย่างสัมพันธ์กัน ขณะที่เดินหรือเคลื่อนไหวสูญเสียสมดุลได้ง่าย ภาพที่มองเห็นจะเลือนรางคลุมเครือไม่ชัดเจน และเริ่มมีปัญหากับการรับรู้ต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการรับรส กลิ่น ได้ยิน หรือกระทั่งสัมผัส
สับสนงุนงง (confusion) ปริมาณแอลกอฮอล์ระหว่าง 0.18-0.30 % ค่อนข้างรู้สึกสับสนอย่างชัดเจน เริ่มไม่รู้แล้วว่าชั่วขณะนั้นอยู่ที่ไหน หรือทำอะไรอยู่ วิงเวียนและเดินโซเซ อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในขณะนั้นจะเริ่มเอ่อล้น ไม่ว่าจะเป็นความก้าวร้าว ความเศร้าซึม หรือความรู้สึกด้านอื่นๆ การมองเห็น การได้ยิน และการระมัดระวังตัวสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอวัยวะ การโต้ตอบต่อความเจ็บปวด อาการที่มักเกิดติดตามมาจากนี้คือการเวียนศีรษะอย่างรุนแรงและอาเจียน
ซึมเซื่อง (stupor) ปริมาณแอลกอฮอล์ระหว่าง 0.25-0.4 % สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวเกือบจะโดยสิ้นเชิง ก้ำกึ่งระหว่างมีสติและหมดสติ ในระยะนี้สามารถเปลี่ยนไปสู่ระดับอาการโคมา ไม่รับรู้สิ่งบริบทแวดล้อม เวลา หรือการกระทำ ซึ่งทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เป็นพิษ และการอาเจียนที่ทำให้อาหารเข้าไปติดในหลอดลม โดยที่ไม่รู้ตัว
โคมา (Coma) ปริมาณแอลกอฮอล์ระหว่าง 0.35-0.5 % สติปลาสนาการ การโต้ตอบทางร่างกายไม่มี (รูม่านตาไม่มีปฏิกิริยาต่อแสงสว่าง) หายใจช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจต่ำ และมีโอกาสเสียชีวิตสูงในขั้นนี้
เสียชีวิต ปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 0.5 % ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางล้มเหลวและเป็นเหตุให้เสียชีวิต
ความเมาและความบ้าในโลกคู่ขนาน
ความบ้าหรือความวิกลจริตนั้นเป็นผลผลิตทางความคิดที่มีมาเนิ่นนาน หากนิยามหรือการสร้างความหมายให้กับความบ้าในแบบปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่นั้นเป็นผลิตจากยุโรปในศตวรรษที่ 18
คนบ้าหรือคนที่ตกอยู่ใต้การครอบงำของความบ้าคือคนที่ถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ปรกติ แต่ความปรกติซึ่งอาจดูเหมือนจะกินความหมายกว้าง กลับถูกใช้อย่างจำเพาะเจาะจงลงไปที่ความมีเหตุผล การมีงานทำ หรือรู้หน้าที่ของการเป็นพลเมือง คนที่อยู่นอกเหนือความปรกติ หรือคนบ้านั้นจึงไม่รู้จักสองสามสิ่งที่กล่าวมา
เช่นกันคนเมาคือคนที่บกพร่องและละเลยที่จะใช้เหตุผล บางขณะก็ไม่สามารถทำงานได้ หรือยิ่งกว่านั้นเมื่อเมาหนักเข้าๆ หน้าที่พลเมืองก็จะไม่ใช่ธุระสำคัญสำหรับเขาหรือเธอแต่ประการใด ความเมาจึงมีสถานะที่เทียบเท่าได้กับความบ้า ณ ชั่วขณะหนึ่ง
ดังนั้นศตวรรษที่ 18 คนบ้า คนเมา คนว่างงาน คนเร่ร่อนและขอทาน จึงถูกจัดให้ในหมวดหมู่เดียวกันคือบุคคลที่ต้องถูกกวาดต้อนไปกักขัง เพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงความประพฤติ
คำถามว่า ทำไมมนุษย์จึงต้องทำให้วเองเมา? อาจตอบรวมๆ ได้ว่า เพราะมนุษย์ต้องการปฏิเสธ ‘ตัวตน’ หรือสภาวะที่เป็นอยู่ เหมือนเช่นที่มนุษย์หนีความกลัวไปสู่ความกล้าด้วยหนทางแห่งความเมา
ในหนังสือ Arts of Intoxication (1871) เจ. เอส. เครนได้ยกเอาบทหนึ่งใน Ulysses ของโฮเมอร์มาอ้างอิง เป็นบทตอนที่เฮเลนผสมเครื่องดื่มที่เรียกว่า nepenthe ให้แก่เทลามาคุส (ne ในภาษากรีกเป็นอุปสรรคแปลว่า ไม่ ส่วน penthe แปลว่า ทุกข์โศก)
(…) จากอรุณรุ่งสู่สนธยา ไม่เคลื่อนไหวและสุขสงบ
บุรุษผู้พบเห็นภาพความตายที่ดาดดื่น
แต่โอสถนี้กลับหยิบยื่นความเป็นมิตรแด่ความพึงใจแห่งชีวิต…
ประเด็นที่เครนต้องการนำเสนอก็คือการชี้ให้เห็นว่า ความสามารถที่จะทำให้ตัวเองเมานั้นมีอยู่ในรากของอารยธรรมของมนุษย์ ในคัมภีร์พระเวทเองก็มีการกล่าวถึงสูตรเครื่องดื่มที่เรียกว่า โสม (soma) ซึ่งผลิตมาจากน้ำหวาน หรือกระทั่งอ้างอิงไปว่าโสมคือพลังแห่งจักรวาลที่ทำให้เกิดความมีชีวิตชีวา
นอกเหนือจากโสมจะหมายถึงเครื่องดื่มมึนเมา โสมตามคติของฮินดูยังหมายถึงพระจันทร์ ขณะที่พระจันทร์ในรากภาษาลาติน lunar มีความเชื่อมโยงที่น่าสนใจอยู่ประการหนึ่งตรงที่ชาวตะวันตกมีความเชื่อว่า ความบ้าเป็นผลพวงมาจากการปรากฏของดวงจันทร์บทท้องฟ้ายามค่ำคืน คนบ้าในรากภาษาละตินจึงเรียกว่า lunatic ซึ่งทำให้เราพอมองเห็นได้ว่าความคิดทั้งเรื่องโสมของชาวฮินดู และพระจันทร์ (lunar) ของชาวตะวันตกทำให้เราเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่แนบชิดระหว่าง ‘ความเมา’ และ ‘ความบ้า’
มิแชล ฟูโกต์กล่าวไว้ว่า “อันตรายของความบ้านั้นเกี่ยวโยงกับอันตรายจากความลุ่มหลง…” ในกรณีของคนเมาสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการข้างต้นด้วยเช่นกัน
ความเมาในบางครั้งจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอุปนิสัย ตลอดจนพฤติกรรมที่เคยมีอยู่ก่อนในตัวคนคนหนึ่ง หากได้เปลี่ยนสถานภาพของคนคนนั้นไปสู่อีกคนหนึ่ง หรือกระทั่งล่วงพ้นความเป็นคนไปสู่ ‘สิ่งอื่น’ (ปิศาจร้ายหรือสัตว์ป่าจึงกลายเป็นภาพเสนอของความเมาหรือพฤติกรรมของคนเมา) เพราะความเมามายถือเป็นการปลดปล่อยหรือผลักดันให้มนุษย์แสดงออกอย่างที่จะไม่แสดงออกในตอนที่ไม่เมา
แต่ความแตกต่างระหว่างคนเมาและคนบ้าที่เราไม่ควรลืมก็คือคนเมาสามารถตื่นจากความบ้าได้ แต่คนบ้าไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ (อันที่จริงเมื่อคนบ้าฝัน คนบ้าไม่อาจแยกแยะระหว่างความฝันและเรื่องที่เป็นจริงได้เลยด้วยซ้ำ) ดังนั้นคนเมาจึงยังคงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทุกอย่างของเขาหลังจากที่พ้นจากความเมาแล้ว
คนบ้าและคนเมาโต้ตอบกับสภาพเป็นจริงอย่างไร ตัวอย่างง่ายๆ คนบ้าหรือคนเมาอาจหัวเราะให้กับความเศร้า ความตาย แต่ร้องไห้ให้กับเรื่องชวนหัว ในทางจิตวิทยาความเมาและความบ้าได้ล่วงพ้นจากความมีเหตุผล/ไร้เหตุผลไปสู่ภาวะที่อยู่ ‘เหนือเหตุผล’
หากภายใต้ข้อบังคับหรือกรอบเกณฑ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ความเมาและความบ้ามักสร้างปัญหาให้กับการปฏิบัติตามข้อบังคับหรือกรอบเกณฑ์นั้น พูดให้ตรงขึ้นความเมาและความบ้าทำให้มนุษย์ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการถูกปกครอง และผลจากการสถาปนาแนวคิดในศตวรรษที่ 18 นั่นเองที่ทำให้ความบ้า และความเมาที่เป็นกลายเป็นจุดจบหรือจุดสิ้นสุดใหม่ของ ‘ความเป็นมนุษย์’ เพิ่มขึ้นจาก ‘ความตาย’ ซึ่งเคยฝังรากอยู่ในระบอบความคิดของมนุษย์ในทุกแว่นแคว้น
+++++++++++++++++
ผู้เขียน: กิตติพล สรัคคานนท์