แม้เราจะพอทราบกันว่านักเขียนหลายคนในโลกเป็นนักดื่มตัวยง แต่ใครกันเล่าจะรู้ว่านอกเหนือจากที่สุดของที่สุดอย่างเอฟ. ซี. สก็อต ฟิตเจอรัลด์และวิลเลียม โฟล์กเนอร์แล้ว ก็ยังมีนักเขียนอีกเป็นจำนวนมากตั้งแต่ยุคเอ็ดการ์ อลัน โป, อาตูร์ แรงโบด์ไล่เรียงมาเรื่อยจนถึงเชอร์วูด แอนเดอสัน และ เออร์เนส เฮมิงเวย์ ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นนักดื่มในระดับที่เรียกว่า ‘แอลกอฮอลไหลเวียนอยู่ในสายเลือด’ แทบทั้งสิ้น
ความสร้างสรรค์กับความเมาจึงกลายเป็นเหมือนคู่สมรสที่ในแวดวงวรรณกรรมรู้จักเป็นอย่างดี เหมือนอย่างทรูแมน คาโปเตในระหว่างเขียนนวนิยาย (ที่สร้างจากเรื่องจริง) In Cold Blood คาโปเตก็ดื่มไปด้วยแก้วต่อแก้ว มันจึงกลายเป็นมุขตลกที่ล้อเล่นกันในหมู่นักเขียนในยุคต่อมาก็คือ “เขาคงดื่มมากจนเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายของเขากลายเป็นแอลกอฮอล์ และแฮลกอฮอล์นั่นก็ช่างเย็นจริงๆ”
ไม่เพียงเท่านั้น เสียงร่ำลือในพฤติกรรมที่ร้ายกาจสุดทนของวิลเลียม โฟล์กเนอร์ก็มาจากตอนที่เขาเมาอาละวาดไม่ได้สติ แน่นอนการดื่มไม่ได้ทำให้นักเขียนนั่งลงเพื่อสงบสติอารมณ์เขียนงานหรือเคาะแป้นพิมพ์ดีดด้วยพลังสร้างสรรค์ทุกครั้งไป หากบ่อยครั้งเลยที่การดื่มทำให้เขาละทิ้งทุกอย่างเพื่อทำลายสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มิพักต้องพูดถึงชีวิตคู่ หรือครอบครัวที่มักจะพักราบลงไปก่อน ซึ่งนักเขียนในระดับตำนานของวรรณกรรมอเมริกันยุคใหม่อย่างเฮอร์แมน เมลวิลล์เองก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจแห่งความเมานี้
เรื่องแปลกๆ ของนักเขียนกับความเมาอีกเรื่องที่ควรเล่าลงไปตรงนี้ก็คือตอนที่แจ็ค ลอนดอนผู้ประพันธ์ผลงานคลาสสิคอย่าง Martin Eden ต้องการจะเขียนงานบันทึกสักเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า John Barleycorn ภรรยากลับแนะนำให้เขาเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า Alcoholic Memoir เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเป็นครั้งแรกของเขาเมื่อมีอายุได้ 5 ขวบ ไปกระทั่งไปเมื่อเขาโตขึ้นและดื่มชนิดหัวไม่ราน้ำ
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสียดเย้ยในตัวเองมากพอดูที่ลอนดอนไม่ได้ดื่มเลยแม้สักหยดเดียวในตอนที่เขียน หากเขาตั้งกฎเหล็กกับตัวเองเอาไว้ว่า เมื่อครบหนึ่งพันคำเมื่อไร เขาจะดื่มเพียงจิบหนึ่ง เขาอธิบายไว้ว่า “ยิ่งเขาดื่มมากเท่าไร เขาก็ยิ่งต้องการที่จะดื่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดผลที่เท่าเทียมกัน” ใช่ ดังนี้เองที่แจ็ค ลอนดอนจะได้งานเขียนเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เขาต้องการดื่ม นับว่าเป็นวิธีการทำงานที่แปลกอันหนึ่ง
ขณะที่เรื่องราวความเมาระหว่างบรรทัดของเฮมิงเวย์ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ใครที่อ่าน A Moveable Feast หรือชีวิตไม่จิรังของเขาย่อมจำได้ว่ามีหลายบทหลายตอนเลยทีเดียวที่เฮมิงเวย์ได้ทำการนินทาพฤติกรรมการดื่มของนักเขียนหลายต่อหลายคน
อาทิเช่น เอฟ. ซี. สก็อต ฟิตเจอรัลด์ ที่เขาบอกว่า “การที่ได้ดื่มเหล้าองุ่นขาวร่วมกันเพียงสองสามขวด นึกไม่ถึงเลยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในตัวสก็อต แล้วทำให้เขาเป็นตัวตลกถึงเพียงนี้” หรือนักเขียนที่เฮมิงเวย์เชื่อมั่นในความสามารถอย่างชนิดไม่เคยแม้แต่จะกล่าวกระทบกระเทียบเลยอย่างเจมส์ จอยส์เองก็ถูกพาดพิงถึง “จอยส์สั่งเหล้าเชอรี แต่ท่านจะอ่านพบเสมอๆ ว่าเขาดื่มเหล้าองุ่นขาวสวิสส์เท่านั้น”
หากสำหรับในชีวิตจริงๆ ของเฮมิงเวย์ ในปี ค.ศ. 1939 หมอสั่งให้ลดปริมาณการดื่มลง ซึ่งโดยปรกติแล้วเขาต้องดื่มวิสกี้ก่อนอาหารมื้อเย็น 3 แก้ว กระทั่งปีต่อมาเฮมิงเวย์จึงกลับไปดื่มทั้งวอดกา, แอบแซงธ์, วิสกี้, ยินโทนิค หรือแม้แต่บังคับให้ลูกที่มีอายุแค่ 10 ขวบดื่มเหล้าแรงๆ
ก่อนที่เฮมิงเวย์จะจบชีวิตลงด้วยวัย 62 ปี โดยการก่ออัตวิบากกรรม ว่ากันว่า เขาป่วยด้วยโรคร้ายที่เป็นผลติดตามมาจากโรคพิษสุราเรื้อรังอีกเป็นสิบๆ โรค
ทว่าก็มีนักเขียนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่วางตัวไกลห่างจากการดื่ม (ชนิดที่เรียกว่าไม่แตะต้องเลยก็ว่าได้) หนึ่งในจำนวนนี้มีเพื่อนของหลายคนที่เป็นนักดื่ม อย่างเช่น แนธเนียล ฮอว์ธอร์น (เพื่อนบ้านของเฮอร์แมน เมลวิลล์) ผู้ประพันธ์งาน The Scarlet Letter เขาเป็นผู้ที่ปฏิเสธการดื่ม เหมือนเช่นนักปรัชญาชาวอเมริกันคนสำคัญ ราฟ วาลดู อีเมอร์สันที่ควงแขนมากับเฮนรี เดวิด ธอโร หรือกวีหญิงเอมิลี ดิคกินสันเอง ที่แม้ชั่วชีวิตของเธอจะตกอยู่ในห้วงระทมทุกข์ แต่เธอเองก็ไม่เคยคิดที่จะพึงพาเหล้า หากเราสังเกตก็จะพบว่านักเขียนในกลุ่มที่ไม่ดื่มนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นหรือกลางศตวรรษที่ 19 แต่นักเขียนส่วนใหญ่ที่เราได้อ้างถึงในตอนแรกมักมีชีวิตอยู่ในต้นศตวรรษที่ 20
ดังนั้นจึงมีนักคิดบางคนที่เชื่ออย่างลึกซึ้งว่า “โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นโรคระบาดในหมู่นักเขียนของศตวรรษที่ 20” ซึ่งถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริงมันก็คงจะใช้กับศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน เพราะนักเขียนจำนวนมากที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่สร่างเมาเลย
+++++++++++++++++
ผู้เขียน: กิตติพล สรัคคานนท์