เหมือนที่ตำนานวีรบุรุษหรือเรื่องเล่าปรัมปราไม่ได้มองว่า ‘การดื่มสุรา’ เป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักธรรมของชีวิต ในปกรณัมของยุโรปเหนือ (สวีเดน, ฟินแลนด์,นอร์เวย์, เดนมาร์ค และไอซ์แลนด์) นอกจากเหล้าจะถูกยกให้เป็นปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิตท่ามกลางความหนาวเหน็บแล้ว เหล้าบางชนิดยังถูกมองว่าสามารถสร้าง ‘ปัญญา’ หรือ ‘การเรียนรู้’ โดยเฉพาะในด้านศิลปวิทยาการให้กับผู้ดื่มได้
ในบทตอนหนึ่งที่มีชื่อว่า โอดินหาความรู้ ได้กล่าวถึงเหล้าวิเศษ หรือ ‘มธุรสสุรา’ ซึ่งทำให้ผู้ดื่มกลายเป็นปราชญ์ กลายเป็นกวี แน่นอนแม้เหล้าชนิดนี้อาจไม่ได้วางจำหน่ายในโลกจริง เพราะถ้ามีอยู่ก็คงเป็นเหล้าที่ผิดกฎหมายอย่างไม่ต้องสงสัย (ซึ่งเดี๋ยวจะทราบเหตุผลว่าทำไม?) แต่ตำนานของมธุรสสุราก็ยังเป็นที่น่าสนใจ และสามารถนำไปอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะ ‘การเมา’ กับ ‘การสร้างสรรค์’ ของนักคิดและศิลปินทั้งหลาย (ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกลับไปหาเรื่องราวของไดโอนิซุสเทพแห่งเหล้าองุ่นและศิลปะของกรีกในตอนที่ผ่านๆ มาได้ด้วยเช่นกัน)
ที่มาหรือสูตรผสมของ ‘มธุรสสุรา’ ออกจะแปลกประหลาด ชวนให้ขนลุกขนพอง และค่อนข้างทารุณตั้งแต่กระบวนการผลิตเลยก็ว่าได้!
ต้องเล่าก่อนว่า มธุรสสุรานั้นเกิดขึ้นหลังจากการหายตัวไปอย่างลึกลับของควาซิร์ หนุ่มรูปงามที่กำเนิดขึ้นจากมนตร์วิเศษของเทพโอดิน ควาซิร์เป็นตัวแทนของความรู้และวิทยาการต่างๆ ของเผ่าแอซิร์ และวานิร์ ความรู้ของเขานั้นกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเทพโดยทั่วๆ ไป (หรืออาจมากกว่าโอดินที่เป็นเทพแห่งความรู้ด้วยซ้ำไป) เขามีอุปนิสัยโอบอ้อมอารีและชอบท่องเที่ยวเผยแพร่สิ่งที่เขารู้แก่คนทั่วๆ ไป แต่โชคร้ายที่ควาซิร์ไปเจอคนแคระชั่วสองตนเข้า เขาจึงถูกล่อลวงไปฆ่า โลหิตของเขาก็ถูกนำมาผสมกับน้ำผึ้ง หมักด้วยส่าเหล้าวิเศษ แล้วกลั่นเป็น ‘มธุรสสุรา’
ตำนานเกี่ยวกับมธุรสสุราไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเรื่องราวเกี่ยวกับเหล้าวิเศษล่วงรู้ไปถึงโอดิน เทพผู้ค่อนข้างหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความรู้ ก็ปรารถนาจะได้เหล้าดังกล่าวมาครอบครองเสียเอง แต่บังเอิญว่า มธุรสุราของคนแคระชั่วตกไปอยู่ในมือของยักษ์ซุททุง ซึ่งมีพลังอำนาจและเวทย์มนตร์มากมาย การจะได้เหล้ามาของโอดินจึงเข้าทำนองของไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล โอดินปลอมตัวเป็นคนทำงานในไร่ เพื่อหลอกถามเอาข้อมูลจากเบากี น้องชายของซุททุง จนกระทั่งโอดินสามารถเจาะผ่านกำแพงหินไปสู่ที่ซ่อนของมธุรสสุรา ซึ่งที่นั่นมีน้องสาวของซุททุง กุนน์โลด ยักษิณีที่งามที่สุดในบรรดาหมู่ยักษิณีด้วยกันคอยเฝ้าอยู่ โอดินจึงแปลงเป็นยักษ์หนุ่มรูปงามเพื่อล่อหลอกให้นางหลงเสน่ห์ และเมื่อสบโอกาสโอดินก็ดื่มมธุรสสุราจนหมดเกลี้ยง จากนั้นก็กลายร่างเป็นนกอินทรีบินจากไป
เสียงกรีดร้องของนางกุนน์โลดภายหลังจากที่ทราบว่าถูกโอดินหลอกเรียกให้ซุททุงมาหานาง ซุททุงกลายร่างเป็นนกอินทรียักษ์ที่มีปีกโอบคลุมเส้นขอบฟ้าพุ่งทะยานตามโอดินมาติดๆ พลพรรคของโอดินรออยู่ที่เทพสถานอัสโกร์ด อันเป็นที่พำนักของพงศ์เทพก่อนแล้ว ทั้งหมดเตรียมที่จะโจมตีซุททุงจากพื้นดิน แต่ยังไม่ทันที่ลูกศรจะถูกปล่อยออกจากคันธนู แสงแรกของวันจากดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกก็ทำให้ซุททุงในร่างนกอินทรีคืนร่างเดิม และจากนั้นร่างของยักษ์ซุททุงก็ร่วงลงสู่พื้นดินในสภาพของก้อนหินเล็กๆ ก้อนหนึ่ง
โอดินที่คืนร่างเดิมจึงกล่าวกับทุกคนว่า “ตอนนี้เราเป็นผู้ครอบครองโลหิตแห่งควาซิร์แล้ว เมื่อถึงเวลา พวกเราจะมอบมันให้กับเหล่ามนุษย์ (…) พวกเขาจะเป็นกวีขับร้องถึงภารกิจของทวยเทพ และหมู่วีรบุรุษ ทั้งยังเล่าเรื่องวีรกรรมของเหล่าชายหญิงที่เก่งกล้า…”
ความน่าสนใจอีกประการ (นอกเหนือจากเนื้อหา) ของตำนานมธุรสสุรา คงเป็นการใช้ ‘เลือด’ เป็นอุปลักษณ์ของความรู้ ความลึกของอุปลักษณ์อันนี้อยู่ตรงที่ทำให้เรามองเห็นองค์ความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่แบ่งแยกเด็ดขาดจากชีวิต
ซึ่งเราสามารถคิดในทางกลับกันได้ด้วยว่า เมื่อเหล้าอยู่ในสถานะที่เทียบเท่ากับอาหารอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ สิ่งใดที่ขึ้นชื่อว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งนั้นก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความรู้ได้ ซึ่งในแง่นี้ความเมาที่ได้รับจากการดื่มอาจมิใช่เป้าหมายสูงสุด หากเป็นการดื่มเพื่อให้มีชีวิตรอด และสามารถดำรงอยู่เพื่อการสร้างสรรค์ ซึ่งคิดได้เช่นนี้ ตำนานพิสดารที่อาจถูกมองว่าพ้นสมัย ก็กลายเป็นเรื่องเล่าที่มีแนวคิด ซึ่งเป็นจริงมากๆ ได้เหมือนกัน
+++++++++++++++++
ผู้เขียน: กิตติพล สรัคคานนท์