ศาสนากับเหล้า

bacus-and-ariadne

“หลุมฝังศพข้าคงจะตกอยู่ในที่อันหนึ่ง
ซึ่งลมเหนืออาจจะพัดพรรณะบุพชาติมาร่วงโรยท่วมทับไว้”
โอมาร์ คัยยาม

โอมาร์ ฮะกิม คัยยาม (Omar Khayy?m 1050-1121) เป็นปราชญ์หัวก้าวหน้าชาวอาหรับที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของความรอบรู้หลากหลายแขนงวิชา ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือโดยเฉพาะคณิตศาสตร์ ซึ่งท่านได้เป็นผู้คิดค้นการคิดเลขแบบอัลเยบรา จวบจนกระทั่งทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความสามารถของโอมาร์ คัยยามอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือความช่ำชำนาญในเชิงอักษรศาสตร์ เมื่อได้มีการแปลคัมภีร์ที่จารึกบนหนังแกะ (ที่ถูกเก็บไว้ในหอสมุดของมหาวิทยาลับออกซ์ฟอร์ด) ออกมาเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกๆ เมื่อปี ค.ศ. 1859 โดยเอ็ดเวิร์ด ฟิตเจอร์รัลด์

รูไบยาธ (กาพย์) ของโอมาร์ คัยยามถือเป็นลัทธิความเชื่อใหม่ที่ใกล้เคียงกับสิ่งเราเรียกว่า ‘โลกียธรรม’ หรือในทางปรัชญาแล้วก็คือ ‘สัจนิยมเชิงอัตวิสัย’ (ซึ่งจะเกิดขึ้นในตะวันตกในอีกหลายร้อยปีต่อมาโดยบาทหลวงบิชอบจอร์จส์ เบิร์คลี่ย์เจ้าของถ้อยคำที่ว่า Esse est percipi หรือ การมีอยู่คือการถูกรับรู้)

โอมาร์ คัยยามเริ่มต้นชีวิตครึ่งแรกด้วยการนับถือศาสนาอิสลาม ท่านศึกษาคัมภีร์อัลกุหร่าน และประพฤติปฏิบัติตามหลักอิสลามอย่างเคร่งครัด และเหมือนอย่างที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์กล่าวไว้ในว่า “ครั้นมีความรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรมเพียบพูนมากขึ้น กลับสิ้นศรัทธาพระมะหมัดหลอกลวงหลงไหลเหลวทั้งเรื่อง…ลงท้ายจึงประกาศศาสนาโลกิยะทิฎฐธรรมอย่างใหม่ขึ้นตามเห็น”

คำสอนของโอมาร์ คัยยามโดยรวมแล้วก็คือไม่เชื่อในสิ่งใดที่อยู่นอกการประจักษ์ได้ด้วยผัสสะและการรับรู้ทั้งปวงที่มีอยู่กับตัวเรา เหมือนอย่างที่ท่ารจนาไว้ในรูไบยาธบทที่ ๓๙

๏ป่วยถาม, ยามนี้      ไปไหน ชีพเอย
ป่วยซัก, ใยจักไป       จากนี้
ขอดื่ม, ปลุกปลื้มใจ    จวบลุ ฤกษ์เทอญ
ขอรริก, ซิกซี้ขี้            เกียจชเง้อเจอสวรรค์

และที่ดูเหมือนจะสุดโต่งยิ่งกว่านั้นก็คือท่านหันไปให้ความสำคัญกับความบันเทิงเริงรมย์และการดื่มกิน ที่ยังคงไม่แน่ชัดว่าที่โอมาร์เรียกว่า ‘เหล้าองุ่น’ หรือ ‘ผลองุ่น’ นั้นหมายถึง ‘เหล้า’ แท้ๆ หรือเฉพาะในความหมายที่เป็นอุปมาอุปไมยของ ‘ชีวิต’ ที่มีคำแทนอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำแห่งชีวิต (eau de vie) ซึ่งที่แน่ๆ โอมาร์นั้นมองเห็นความพึงใจทางผัสสะเป็นสัจจะความจริงสูงสุดแทนความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้า (ที่ท่านเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล)

ชีวิตของโอมาร์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงละม้ายคล้ายคลึงกับกวีเอกของไทยสุนทรภู่ที่ถือกำเนิดขึ้นในเกือบสหัสวรรษต่อมา ตรงที่ต้องตกระกำลำบากจนต้องหาเลี้ยงชีพยามขัดสนนั้นด้วยการร่อนเร่นิพนธ์บทกวี และสุนทรภู่เองก็ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับความเป็นจริงทางเนื้อหนังมังสามากกว่าสัจธรรมจากศาสนา ผิดก็แค่ความสลับซับซ้อนในวิธีคิดแบบนักปราชญ์อาจจะถูกแสดงออกในงานของสุนทรภู่เลย

กระทั่งเมื่อโอมาร์ได้ประพันธ์รูไบยาธอันเป็นเหมือนปฐมเทศนาของนิกายความเชื่อในเชิงโลกียธรรม หรือ ‘โลกิยะทิฎฐธรรม’ เหมือนอย่างที่กรมพระนราธิปฯกล่าว ผลงานชิ้นเอกที่อัดแน่นไปด้วยวิญญาณขบถไม่เพียงแต่ประกาศตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า พระอัลเลาะห์ หรือกับศาสดาทั้งหลาย หากรูไบยาธยังทำให้ที่ยืนของท่านในความเป็นจริงหดสั้นลง ซ้ำยังสร้างความอึดอัดและลำบากใจให้แก่ชาวอิสลามทั้งหลายที่ครั้งหนึ่งเคยยกย่องศรัทธาท่านในฐานะปราชญ์ชาวอาหรับผู้ยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างบทตอน ๖๙ ของรูไบยาธที่โอมาร์บริพาทจาบจ้วงพระเจ้าไว้อย่างรุนแรงว่า

๏ไฉนเยื่อ, เชื่อพระเจ้า   จึ่งเจริญ ทวีเฮย
พระอาจแช่ง, ฤาพเอิน    จวบคล้าย
พระพร, พระสรรเสริญ      สมมนุษย์ นิยมนา
พระสาป, พระแช่งร้าย    เลือดเนื้อเหลือกลืน

หรืออีกบทตอนหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ท่านไม่ต้องนับญาติกับกับชาวมุสลิมกันอีกเลยก็คือ บทที่ ๑๒

๏มาไป, เสวยสุขแคว้น            สวนขวัญ พี่เทอญ
หว่างป่า, หว่างสธาสวรรค์       แหวกสร้าง
มไหยะราช, กับทาษถวัลยะ    ชาติแผก ไฉนเลย
เอกกว่า, อาหล่าค้าง               แค่ฟ้าแฝงคน

ในบทที่ ๑๒ นี้จะเห็นได้ว่า คำเชิญชวนไปเสวยสุขของโอมาร์เป็นการถากถางและท้าทายความเชื่อเก่าของท่านเองอย่างถึงรากถึงโคน เพราะท่านได้เชิญให้เราไปยังดินแดนที่ชื่อของสุลต่านและทาส หรือแม้แต่นามของพระอัลเลาะห์ไม่เป็นที่รู้จัก หรือที่สำคัญมันที่ที่อยู่ระหว่าง ‘โลกนี้’ ซึ่งถูกปกครองด้วยความคิดและความเชื่อที่โหดร้ายราวกับ ‘ป่า’ และ ‘โลกหน้า’ ที่เป็นจินตนากรรมของความเชื่อดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าบทกวีของโอมาร์นั้นสะท้อนให้เห็นแนวคิดบางอย่างที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และเรียกได้ว่าถูกจริตของโลกตะวันตกร่วมสมัยที่ศาสนาถูกลดความสำคัญลง

แต่หากจะวิเคราะห์หรือตีความ ‘เหล้าองุ่น’ หรือ ‘ผลองุ่น’ ที่โอมาร์มักอ้างอิงถึงบ่อยๆ ในรูไบยาธ ก็อาจจะเห็นได้ว่าทั้ง ‘เหล้าองุ่น’ หรือ ‘ผลองุ่น’ หมายถึงการตักตวงสุขให้แก่ชีวิต หรืออย่างน้อยก็เป็นความพยายามหลังจากความเชื่อในเรื่องโลกหน้าถูกหมดไปแล้ว เฉกเช่น องุ่นสด (ทั้งในรูปของน้ำและผลจริง) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งของกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ก็คือโอมาร์ คัยยาม อาจจะไม่เคยดื่ม “เพราะหมดห่วงโลกหน้าเสียแล้วจึงชวนโลกให้ดื่มน้ำองุ่นสด หาได้หมายความว่าชวนเสพสุราเมรัยไม่ เป็นอุปไมยเพราะอาสวดีเป็นน้ำเมาแต่สดชื่นโอชารส ทำนองเบญจกามคุณ คือสรรพเหตุที่สำเริงตา สำเริงหู สำเริงจมูก สำเริงลิ้น และสำเริงกาย”

หากกระนั้นคำสอนของโอมาร์ก็ยังไม่พบหลักฐานว่า มีคนยึดถือปฏิบัติอย่างแพร่หลาย นอกจากสานุศิษย์ของโอมาร์เพียงหยิบมือเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวคิดที่ทันสมัยอย่างมากของโอมาร์นั้นดูจะใกล้เคียงกันกับฟรีดริช นิทเช (1844-1900) นักปรัชญาที่ประกาศความตายให้กับพระเจ้าในอีกกว่า 800 ปี และที่สำคัญสัญลักษณ์สำคัญที่นิทเชใช้ หรือกระทั่งเขาชื่อว่า (เขาเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะวิปลาสไป) ก็คือ ไดโอนิซุส (หรือบัคคัส) ผู้เป็นเทพแห่งเหล้าองุ่น

+++++++++++++++++

ผู้เขียน: กิตติพล สรัคคานนท์

Related contents:

You may also like...