ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ชื่อของสตรีทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกกลับยังอยู่ในหัวใจของชนอินเดียไม่เสื่อมคลาย อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดีย ภาพอินทิรา คานธี คือ ปีศาจร้ายที่ปลดปล่อยยุคเอเมอเจนซีหรือยุคมืดที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของอินเดีย เมื่อนักการเมืองฝ่ายค้านถูกไล่สังหารอย่างโหดร้าย ฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก และเสรีภาพสื่อที่อินเดียเคยภูมิใจหนักหนา ต้องตกอยู่ในภาวะถูกใส่ตะกร้อครอบปากอยู่นานถึง 19 เดือน ในขณะที่อีกมุมหนึ่งเธอคือ แม่พระของคนยากจน
นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) มีชื่อเดิมว่า อินทิรา ปรียทรศินี เนห์รู (Indira Priyadarsini Gandhi) เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 เป็นลูกสาวของชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย กับนางกมลา เนห์รู นางอินทิราสมรสกับนายเฟโรซ คานธี ซึ่งมีนามสกุลเดียวกับมหาตมะ คานธี แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน แต่นางก็คุ้นเคยและรู้จักมหาตมะ คานธี เป็นอย่างดี เพราะเติบโตมาในท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพให้อินเดียในช่วงนั้น ในฐานะที่เป็นลูกสาวของ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียนับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ ทำให้อินทิราเติบโตขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียภายในครอบครัวการเมืองชั้นนำของประเทศ
นางอินทิรา คานธี สำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิศวะ-ภาระตี (Visva-Bharati) ที่รัฐเบงกอล (Bengal) และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในอ็อกฟอร์ด ในปี ค.ศ. 1938 นางได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคองเกรสแห่งชาติ (National Congress) เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานฝ่ายยุวชนของพรรคอินเดียนเนชั่นแนลคองเกรส (Indian National Congress) ในปี ค.ศ.1956 ก่อนจะได้รับเลือกเข้าสภาแทนเก้าอี้ของพ่อที่เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1964 ส่วนสามีที่ระหองระแหงกันอย่าง เฟโรซ คานธี ก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 นางอินทิรา คานธี ได้อุทิศตัวเพื่อความก้าวหน้าของประเทศในท่ามกลางปัญหาต่างๆที่รุมเร้า
ในขณะนั้น นางอินทิราถูกมองว่า เป็นพวกมีวุฒิภาวะทางการเมืองน้อยและถูกตั้งชื่อเล่นเจ็บแสบว่า “กูกี กูดิยา” หรือ “ตุ๊กตาหน้าโง่” เมื่อจู่ๆ บรรดาแกนนำพรรคคองเกรสเลือกเธอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี ค.ศ. 1966 ด้วยความหวังจะใช้เธอเป็นหุ่นเชิด แต่ภายในเวลา 5 ปี เธอก็ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ในปี ค.ศ. 1967 นางอินทิรา คานธี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบ ประชาธิปไตย และในปี ค.ศ. 1971 นางก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้ง ด้วยสโลแกนหาเสียง คือ “ขจัดความยากจน” นางอินทิรา เป็นนักการเมืองที่เข้าใจถึงความสำคัญของอำนาจ และรู้ว่าควรจะจัดการกับอำนาจได้ดีกว่านักการเมืองคนอื่นๆ โดยภายใต้การนำของสตรีเหล็กผู้นี้ทำให้อินเดียชนะสงครามกับปากีสถานและปลดปล่อยบังกลาเทศได้
เธอยังเป็นผู้ริเริ่มการปฏิวัติสีเขียวเพื่อรับประกันความมั่นคงทาง อาหารให้แก่อินเดีย ดึงธนาคารเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อลดผลกระทบของอินเดียที่มีต่อภาวะถดถอย ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมทั้งยุบรวมรัฐอินเดียเก่าๆ ที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย พร้อมนำแดนโรตีเข้าร่วมสมาชิกประเทศที่มีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และนำอินเดียก้าวกระโดดครั้งใหญ่เข้าสู่งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน ยุคของเธอก็ทำให้อินเดียตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งการใช้กฎหมายอย่างทารุณ และการบริหารประเทศอย่างเข้มงวดจนทำให้การบริหารบ้านเมืองและเศรษฐกิจของ ประเทศเป็นไปอย่างลำบาก ส่วนงานด้านระหว่างประเทศ อินทิราเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งผู้กล้าต่อกรกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดีความแข็งแกร่งที่สุดของเธอกับอยู่ในความสามารถที่จะเข้าถึงคนยากจน ที่ฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองเท่านั้น ด้วยมรดกที่อินทิราทิ้งไว้ให้ ทุกวันนี้บรรดาแกนนำพรรคคองเกรสก็ยังคงเดินหน้าหาเสียงโหวตจากพื้นที่ชนบทภายใต้ชื่อ “อินทิรา อัมมา” หรือ “แม่อินทิรา” โดยบ้านหลายหลังทางตอนใต้ของประเทศ ถึงกับสักการะเธอไปพร้อมๆกับสิ่งบูชาในศาสนาด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเอเมอเจนซีคือสิ่งที่พรรคคองเกรสตั้งใจจะกวาดไปซุกไว้ใต้พรม โดยมัลโหตร นักชีวประวัติของนางอินทิรา ยังถึงกับอธิบายยุคเอเมอเจนซีว่าเป็น 1 ในบาป 7 ประการของนางอินทิรา แต่ก็ยอมรับว่าด้วยเวลาที่ผ่านไป ความโกรธแค้นที่มีต่อยุคมืดในครั้งนั้นก็ลดน้อยลงไปมาก
ด้วยความต้องการจะแสดงจุดยืนไม่เอาท่าทีแข็งกร้าวของนางอินทิรา ทำให้บรรดา ส.ส.ลงมติโหวตอินทิราออกจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1977 ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังยุคเอเมอเจนซี แต่สุดท้ายก็เลือกเธอกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปีค.ศ. 1979 โดยหลังจากที่กลับมาครองอำนาจ อินทิราสามารถสร้างความจงรักภักดีขึ้นภายในสมาชิกพรรคคองเกรสและเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมนี้ไว้ให้สืบทอดกันมาภายในพรรคจนถึงทุกวันนี้ นางอินทิรายังทำในสิ่งที่ครอบครัวของเธอทำมาตลอดนั่นคือการให้ตระกูลการเมืองของเธอเป็นอมตะ โดยตอนแรกเธอสนับสนุนลูกชายคนเล็ก สัญชัย คานธี เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค แต่เมื่อสัญชัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี ค.ศ.1980 เธอก็ทำให้มั่นใจว่า ราจีฟ คานธี บุตรชายคนโตจะได้รับการมองว่า อาจเป็นผู้นำตามที่คาดหวังเอาไว้
จากนั้นไม่นาน ราจีฟ อดีตนักบินที่กลายเป็นนักการเมือง ก็ได้รับเลือกจากพรรคคองเกรสให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอินเดียจริง หลังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1984 เมื่อชาวซิกข์หนึ่งในบอดี้การ์ดส่วนตัวของนางอินทิราได้จ่อยิงเธอจนเสียชีวิตคาบ้านพัก อันเป็นผลจากความต้องการแก้แค้นที่เธอเป็นผู้สั่งการให้ทหารอินเดียเปิดฉากต่อสู้ที่วิหารทองคำวิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิกข์ เพื่อขับไล่กลุ่มติดอาวุธชาวซิกข์ที่ใช้วิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่มั่น
การเสียชีวิตของนางอินทิรา ตามมาด้วยเหตุจลาจลทางเชื้อชาติครั้งใหญ่เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อชาวกรุงนิวเดลีที่รักนางอินทิราและโกรธแค้นในการกระทำนี้ออกมาไล่ล่า ฆ่าฟันชาวซิกข์ในเมืองหลวงจนเสียชีวิตมากกว่า 3,000 ศพ ไม่นับเมืองต่างๆที่มีชาวซิกข์ตกเป็นเหยื่อแห่งความโกรธแค้นนี้อีกไม่น้อยกว่า 4,000 ศพ
สำหรับชาวอินเดียส่วนใหญ่ นางอินทิรายังคงเป็นบุคคลสำคัญที่มีแนวคิดก้าวหน้าและมีอุดมการณ์ ขณะที่บ้านพักของเธอในกรุงเดลี ที่ซึ่งเธออาศัยและถูกยิงเสียชีวิต ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นอนุสรณ์สถานที่สามารถเรียกผู้เข้าชมได้มากถึงวัน ละ 1 หมื่นคน โดยภายในบ้านพัก ห้องแต่ละห้องก็จะเต็มไปด้วยภาพถ่าย และรางวัลมากมาย รวมทั้งผ้าส่าหรีเปื้อนเลือดที่เธอใช้สวมใส่ในวันที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย
“My grandfather once told me that there were two kinds of people: those
who do the work and those who take the credit. He told me to try to be in
the first group; there was much less competition there.”
ใครจะเลือกเป็นคนกลุ่มแรกหรือคนกลุ่มที่สองก็แล้วแต่จะคิดจะเลือกกัน แต่ดิฉันเห็นด้วยกับท่านว่า คนทำงานจริง ด้วยความรักและมีความสุขกับการทำงาน ก็คงไม่ต้องแข่งขันอะไรกันมาก ตรงข้ามกับกลุ่มที่จะเอาเครดิตจากการทำงาน จะเกิดความเหนื่อยเพราะต้องแข่งขัน แย่งชิง เพื่อให้ได้มา ไปจนถึง การทุจริต เพื่อให้ได้ผลงาน มีโอกาสไปตามค่านิยมของคนโลภที่ชอบพูดกัน “ใครๆก็โกง”
Indira Gandhi
Text : Kittisak Kandisakunanont
Thanks to image from :
http://th.wikipedia.org/wiki/อินทิรา_คานธี
http://en.wikipedia.org/wiki/Indira_Gandhi
http://www.famous-india.com/people-in-india/indira-gandhi.html
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/416893
http://childhood-images.blogspot.com/2012/07/indira-gandhi-childhood-pictures.html
http://idiva.com/photogallery-entertainment/50-best-indian-faces-of-all-time/7260/9
http://photogallery.indiatimes.com/news/india/Remembring-Indira-Gandhi/articleshow/5226423.cms