บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราพบว่า ประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวอันน่าประทับใจซึ่งสามารถสรรค์สร้างแรงบันดาลใจ หรือเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิต ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเดินทางไกลไปยังดินแดนต่างถิ่น หรือมีระยะห่างกับถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมๆของเรามากมายนัก เพราะยังมีหลายสถานที่ หลายเรื่องราวใกล้ตัวที่มีคุณค่า คู่ควรแก่การไปสัมผัสเยี่ยมเยือน ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ และเราน่าจะเปิดหู เปิดตา เปิดใจรับรู้ความเป็นมาและเป็นไปของสถานที่นั้นๆ ด้วยทัศนะใหม่ที่เปิดกว้าง ปราศจากอคติ หรือการมองข้ามความสำคัญ อันเป็นผลมาจากความคุ้นชิน
ข้อดีประการหนึ่งของการท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้ๆ คือเราไม่ต้องตระเตรียมอะไรมากนักสำหรับการเดินทาง เพียงแต่พกพาหัวใจของนักเดินทางผู้รักการแสวงหา และสายตาเปี่ยมสุนทรีย์แบบศิลปินเพื่อการมองเห็นแง่งามได้ในทุกฉากทุกมุมของชีวิต โดยเฉพาะผู้รักการถ่ายภาพทั้งหลายที่ต่างรู้ดีว่า เราอาจเก็บภาพสวยๆน่าประทับใจออกมาได้มากมายอย่างน่าทึ่ง บนถนนบางสายหรือสถานที่บางแห่งที่เราเคยคุ้น เพียงแต่ปรับมุมมอง เช่นเดียวกับการปรับขนาดหรือปรับระยะของเลนส์กล้องถ่ายรูปให้แตกต่าง เราก็จะได้ภาพใหม่ที่ดูสวยแปลกตา
ถนนเยาวราชเป็นถนน ‘ขวัญใจช่างภาพ’ สายหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่ถูกใจนักท่องเที่ยวทั้งใกล้และไกล เพราะสีสันชีวิตที่ฉูดฉาดบาดตา และรายละเอียดที่ดึงดูดใจคนที่มาช็อป ชม และชิม ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ถนนมังกร” โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน 8 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2434 – พ.ศ. 2443 เพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ “ถนนยุพราช” และได้โปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนเยาวราช” ตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย และสิ่งที่โด่งดังคู่กับเยาวราชมาตลอดก็คือสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่งในอดีต ปัจจุบันสำเพ็งเป็นแหล่งสินค้าขายส่งขนาดใหญ่ของประเทศ
ถนนหรือย่านเยาวราชเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นย่านธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครโดยได้รับการขนานนาม “ไชน่าทาวน์” (China Town) จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
เยาวราชเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ ดังที่เราทราบกันดีว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพัฒนาระบบคมนาคมครั้งสำคัญของประเทศไทย มีการตัดถนนหลายสาย นอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ยังมีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น โดยเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ) เสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ ถนนราชวงศ์ ถนนอนุวงศ์
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434 ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย
ปรากฏในเอกสารของกรมโยธาธิการว่าเมื่อเจ้าพนักงานไปวัดที่ตัดถนนบริเวณตำบลตรอกเต๊านั้น ราษฎรร้องเรียนว่าเจ้าพนักงานไม่ยุติธรรม เพราะถ้าวัดปักไม้ถูกบ้านของผู้มีบรรดาศักดิ์ก็จะเลี่ยงไปปักที่ใหม่ ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ทำให้แนวถนนไม่ตรง ราษฎรที่ตรอกเต๊าจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงเสนอให้มีเงินค่าเวนคืนที่ดินหรือคำทำขวัญขึ้นเช่นเดียวกับที่คนในบังคับต่างประเทศได้รับ โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาในที่ประชุมรัฐมนตรีสภา ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า “ถนนสายเดียวซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขัดขวางยอมให้ทำล่วงไปแล้วจะไม่ได้รับรางวัล จะได้แต่ผู้ที่ร้องขัดขวางเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสงสารอยู่” แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบในการจ่ายค่าที่ดินแก่คนไทยเช่นเดียวกับคนในบังคับต่างประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบคนต่างประเทศ
เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ๆ นั้นมีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น จัดเป็นย่านธุรกิจสำคัญที่ยังคงมีความสำคัญมาจนปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก ช่วงปี พ.ศ. 2500 ถนนเยาวราชเคยมีรถเมล์สาย 23 หรือที่เรียกกันว่า “เมล์แดง” และรถเมล์สาย 24 ที่เรียกกันว่า “ไทยประดิษฐ์” วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกช่องทางหนึ่ง ถนนเยาวราชถูกใช้เป็นที่จัดงานประจำปีอยู่เนือง ๆ โดยจะปิดการจราจรชั่วคราว เป็น “ถนนคนเดิน” มีการขายอาหารจีนที่มีชื่อเสียง มีการแสดง และออกร้านมากมายจากร้านค้าที่อยู่สองข้างทาง ธุรกิจการค้าในเยาวราชมีมากมายหลายหลาก อาทิ เช่น เทปสวดมนต์ของจีน เต็งลั้ง เสื้อผ้าไสตล์จีน โคมไฟ ผ้าแดงมงคล ปฎิทินจีน ทองคำ ยาจีน ฯลฯ
ร้านอาหารจีนในเยาวราชนั้นนับได้ว่าเป็นความสุดยอดประการหนึ่งของนักกิน ไม่ว่าจะเป็นหูฉลาม รังนก ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า กระเพาะปลา ฯลฯ ทุกเย็นย่ำค่ำดึกบนถนนเส้นนี้จึงพร่าวพราวสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากร้านอาหารและแสงไฟจากรถราของเหล่านักช็อปนักชิมซึ่งต้องแอบวงเล็บว่ากระเป๋าหนัก เพราะอาหารอร่อยย่านเยาวราชนี้แม้ร้านจะไม่หรู แต่คุณภาพชนะเลิศ ราคาก็จะสูงเป็นธรรมดา จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณอาจพบนักธุรกิจชั้นนำ หรือนักการเมืองคนดังระดับประเทศกำลังโซ้ยหูฉลาม หรือแทะก้ามปูอย่างเอร็ดอร่อยในภัตตาคารอาหารจีนแบบดั้งเดิม
สำหรับคนที่ชิมและช็อปจนหนำใจแล้วและอยากแปลงกายเป็นนักท่องเที่ยวหรือตากล้องอารมณ์ศิลป์ จะพบว่าถนนสายนี้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะความผสมกลมกลืนและความขัดแย้งของสิ่งเก่าๆ จากอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่กับสิ่งใหม่ในปัจจุบันนั้น ต่างเบียดเสียดเยียดยัดอวดแข่งกันอยู่ในเยาวราชได้น่าดูชม บนทางเท้าที่มีหญิงสาวนำสมัยเดินเฉิดฉายคุยเสียงแจ้วๆ ด้วยอุปกรณ์สื่อสารรุ่นล่าสุด เป็นเส้นทางเดียวกันกับอาม่าวัยใกล้ฝั่งกำลังให้บริการประทินผิวแก่ลูกค้าริมทางด้วยศาสตร์บำรุงความงามจากภูมิปัญญาจีนดั้งเดิม มีซาวด์แทร็คเป็นเสียงแตรรถยุโรปป้ายแดงแข่งกับเสียงไล่ขอทางจากซาเล้งและรถเข็น รวยรินด้วยกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของร้านยาจีนและสมุนไพร เสียงเรียกเชื้อเชิญของบรรดาพ่อค้าแม่ขายริมทาง สอดประสานด้วยเสียงงิ้วจากลำโพงดังเจื้อยแจ้วที่อาจทำให้เผลอนึกไปว่ากำลังเดินอยู่ในอดีต
Text : Wannasiri Srivarathanabul, Executive editor
Thanks to images from
http://www.phuketdata.net/main/index.php?option=com_easygallery&act=photos&cid=382&Itemid=26
http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=27351
http://www.oknation.net/blog/nard/2011/02/03/
http://www.duetdiary.com/eating/%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A