ปกติแล้วคนต่างชาติโดยเฉพาะสตรีในประเทศอินเดีย จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคมสักเท่าไร ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่มาก อัตราส่วนคนรวยกับคนจนนั้นมีมากมาย และมีมากชนิดที่เรียกว่า มิอาจะเปรียบเปรยกับอะไรที่สามารถจะจิตนาการออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ชีวิตของคนอินเดียส่วนใหญ่ปัจจุบัน ต้องถือว่าคนจนเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิในสังคมเท่าที่ควร และรวมไปถึงสิทธิของสตรีอีกด้วย
ทว่ามีสตรีผู้หนึ่งที่เข้ามาและกอบกู้ช่วยเหลือชาวอินเดียจำนวนมากให้พ้นทุกข์ จนได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นพลเมืองของประเทศกันเลยทีเดียว ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย จนเมื่อปี ค.ศ. 1979 ท่านจึงได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหลังจากที่ท่านถึงแก่กรรม สันตะสำนักโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้ท่านเป็น “บุญราศี” ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นของการเป็นนักบุญ มีนามว่า “บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา”
บุคคลผู้นั้นคือหญิงสาวต่างสัญชาติ ผู้ถือเชื้อสายบอสเนีย นามว่า Agnes Gonxha Bojaxhiu (แอ็กเนส กอนจา โบยาจู) เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1910 ที่เมืองสโกเปีย จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนีย) เป็นบุตรคนสุดท้องของบิดานิโกลา (Nikola) กับมารดา ดราเน (Drane Bojaxhiu) ครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายอัลเบเนีย บิดาเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในหลักศาสนา ซึ่งทำให้ตั้งแต่วัยเด็กแอ็กเนสชอบไปโบสถ์ฟังบาทหลวงเทศน์มาโดยตลอด
ขณะแอ็กเนสมีอายุ 9 ปี ในปี ค.ศ. 1919 บิดาของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ความอบอุ่นภายในครอบครัวที่แอ็กเนสได้รับก็ไม่ได้ลดลง ด้วยเพราะมารดายังให้ความรักความอบอุ่นและการเลี้ยงดูที่ดีมาตลอด แอ็กเนสเติบโตขึ้นเป็นเด็กร่าเริง และมีสุขภาพดี และไม่นานต่อมาเธอก็ได้รู้จักกับประเทศอินเดีย แต่ก็ได้รู้ว่าอินเดียในขณะนั้นมีระบบสาธารณูปโภคที่ยังล้าหลังอยู่มาก มีคนยากไร้มากมายในประเทศที่ต้องทนทรมาน และเริ่มสงสัยว่า จะมีวิธีใดบ้างไหมที่เธอจะได้ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในอินเดีย ซึ่งในช่วงเวลานี้นี่เองที่แอ็กเนสเริ่มมีความคิดที่จะบวชเป็นแม่ชี
ในปี ค.ศ. 1928 แอ็กเนสตัดสินใจขออนุญาตครอบครัวเพื่อขอบวชเป็นแม่ชี ตอนแรกครอบครัวคัดค้าน แต่ต่อมาไม่กี่วันทางครอบครัวก็ยอมให้เธอบวช แอ็กเนสเดินทางไปบวชที่ Loreto Abbey ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งการลาจากจากครอบครัวของเธอในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้เห็นหน้าของแม่และน้องสาว แอ็กเนสตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาที่นักพรตหญิงพึงได้เรียนเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดียในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนในเมืองดาร์จีลิง รัฐสิกขิม ทางเหนือของประเทศอินเดีย โดยเธอได้พักอยู่ที่แอบบีโลเรโตที่ตั้งอยู่ที่เมืองดาร์จีลิง
ค.ศ. 1931 แอ็กเนสตัดสินใจเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักพรตหญิงในแอบบีโลเรโต ในเมืองดาร์ลีจิงเป็นครั้งแรก และตอนนี้เองที่แอ็กเนสได้รับสมญาทางศาสนา (ชื่อทางศาสนา) ว่า “แม่ชีเทเรซา” และได้ปฏิญาณตนตลอดชีพ
ค.ศ. 1937หลังจากปฏิญาณตนตลอดชีพแล้ว แม่ชีเทเรซาได้เข้าเป็นครูวิชา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย ในเมืองเอนทาลี นครกัลกัตตา ไม่นาน ก็ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย พาตนเองและเหล่านักเรียนผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ที่เกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์รุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในอินเดียมาได้ด้วยดี
ค.ศ. 1946 ขณะที่นั่งรถไฟอยู่ ได้เกิดนิมิตจากพระเจ้า เธอจึงขออนุญาตไปทางพระสันตะปาปา เพื่อขอเข้าไปทำการเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ในสลัม และเข้าไปเริ่มเรียนด้านการพยาบาลที่รัฐพิหาร พร้อมก่อตั้งโรงเรียนกลางแจ้งในสลัม ในเวลานั้นเองเริ่มมีผู้คนเข้าขอร่วมเป็นหมู่คณะและร่วมงานครั้งนี้ โดยมีแม่ชีคนแรกที่ร่วมคณะโดยการขอบวช คือ สวาชินี ดาส
ค.ศ. 1950 ได้ก่อตั้ง คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า (Missionaries of Charity) โดยแม่ชีเทเรซาได้เป็นหัวหน้าองค์กร และก่อตั้ง บ้านของผู้รอความตาย” (Home for the Dying) ในกัลกัตตา (Calcutta) หรือโกลกาตา (Kolkata) ชื่อในปัจจุบัน เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก โดยขอยืมพื้นที่จากวัดฮินดู และประสบปัญหาการต่อต้านจากชาวฮินดูมากมาย แต่ก็ฝ่าฟันมาได้ โดยความช่วยเหลือจากตำรวจอินเดีย
ค.ศ. 1955 มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านเพื่อการกุศล แม่ชีเทเรซ่าจึงเปิดเป็นบ้าน รับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตั้งชื่อว่า “บ้านเด็กใจบุญ” (Children’s Home of the Immaculate Heart)
ค.ศ. 1957 เริ่มจัดหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ไปรักษาชาวไร่ชาวนา และพบว่า ชาวอินเดียป่วยเป็นโรคเรื้อนกันมาก จึงเริ่มหาทางแก้ไข และได้รับบริจาคที่ดินจากรัฐบาลเบงกอลตะวันตก เพื่อก่อตั้งสถานที่รักษาพยาบาลโรคเรื้อน แต่ก็มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงนำรถที่พระสันตะปาปาได้เคยให้ไว้ ออกมาประมูลโดยการ ออกสลากจับรางวัล จนได้จำนวนเงินมา เพื่อดำเนินและสนับสนุนโครงการ และหมู่บ้านสันติสุข ก็เกิดขึ้นในปี 1968
ค.ศ. 1979 แม่ชีเทเรซ่าได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ค.ศ. 1983 ขณะคุณแม่เทเรซาไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในอิตาลี ทานก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีอาการกำเริบครั้งแรก โดยมีหัวใจเต้นอ่อนเกินไป แต่ปลอดภัย หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซาก็ทำงานอยู่เหมือนปกติ แต่อาการโรคหัวใจก็มาเยือนอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุด คุณแม่เทเรซา ได้ยื่นจดหมายต่อพระสันตะปาปา ว่า ขอลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม พร้อมกับอยากให้มีการเลือกตั้งขึ้นเพื่อเลือกผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งจากตน ตอนแรกเหล่าภคินีต่างคัดค้าน แต่เมื่อรู้ว่าคุณแม่เทเรซาจะให้จัดการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง จึงเทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา แล้วผลการเลือกตั้งก็คือคุณแม่เทเรซาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นมหาธิการิณีคณะฯ อีกครั้ง
การทำงานของท่านก็มีอาการโรคหัวใจกำเริบมารบกวนท่านบ่อยขึ้น อาการป่วยในระดับหนักมากเกิดขึ้นกับแม่ชีเทเรซาอีกใน ค.ศ. 1989 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1996 หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซา ก็ป่วยหนักถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกนั่งไม่ได้
เมื่อคุณแม่เห็นว่าตนคงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1997 จึงได้ลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมอีกครั้ง ครั้งนี้เหล่าแม่ชีเห็นว่า คุณแม่เทเรซาควรได้พักผ่อน เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย จึงไม่คัดค้านในการลาออกของคุณแม่เทเรซา และไม่เทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา เพื่อให้คุณแม่ได้พักรักษาตัวไม่ต้องมีภารกิจ ดังนั้นภคินี นิรมลาจึงได้รับเลือกเป็นมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมแทนคุณแม่เทเรซา 5 เดือนครึ่งต่อมา ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1997 คุณแม่เทเรซาได้ถึงแก่กรรมลงที่บ้านของคุณแม่ในอินเดีย ขณะอายุ 87 ปี กับอีก 10 วัน โดยคำพูดคำสุดท้ายที่คุณแม่ได้พูดออกมาคือ “หายใจไม่ออกแล้ว” ทางการอินเดียได้จัดพิธีศพของคุณแม่เทเรซาอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานศพระดับชาติ (งานศพของบุคคลที่ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อประเทศนั้นๆ) ของทางการอินเดีย
ในช่วงเวลาที่คุณแม่เสียชีวิต คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้ามีแม่ชีมากว่า 4,000 คนและอาสาสมัครกว่าอีก 1 แสนคน ซึ่งอัตรานี้ครอบคลุมไปถึงกว่า 610 แห่ง 123 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันร่างของแม่ชีนอนหลับอยู่ที่บ้านคุณแม่ในอินเดีย
TEXT : Kittisak Kandisakunanont
Thanks to information and images from :
http://learningpune.com/?p=15859
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B2
http://www.excerptsofinri.com/mother-teresa.html
http://blessingsdivine.wordpress.com/2011/12/12/mother-teresa/
http://tunecedemalissedcontraaudentiorito.blogspot.com/2010/08/celebrating-blessed-mother-teresa-at.html
http://siouxlander.blogspot.com/2012/08/reading-mother-teresa-xxx-holy-italics.html
http://www.asianews.it/news-en/The-example-of-Mother-Teresa,-against-female-sex-selective-abortions-in-India-25724.html
http://www.paintingsilove.com/image/show/149499/tomother-teresa
http://wittieworld.wordpress.com/2010/10/11/wise-advice-from-mother-teresa/
http://wittieworld.wordpress.com/2010/10/11/wise-advice-from-mother-teresa/