องค์ประกอบของต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน

สำหรับต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย แบ่งง่ายๆ เป็น ๒ หมวด และทั้ง ๒ หมวดประกอบด้วยพลังต่างๆ ๕ พลัง คือ :-

  • ต้นทุนชีวิตภายใน (internal assets) พลังตัวตน
  • ต้นทุนชีวิตภายนอก (external assets) พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม พลังชุมชน

“พลังทั้ง ๕ ด้านนี้ มีการแบ่งเป็นต้นทุนภายในกับต้นทุนภายนอก แต่ทั้ง ๒ ส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน…”

ต้นทุนชีวิตภายนอกมีความสำคัญมากกับการสร้างต้นทุนภายใน เช่น พ่อแม่สอนมาอย่างไร ทำแบบอย่างให้ดูอย่างไร แบบอย่างเหล่านั้นก็จะเข้าไปนั่งในใจลูก หล่อหลอมให้เกิดเป็นตัวตนของเด็กขึ้นมา ดังนั้น ๔ ด้านที่เป็นต้นทุนภายนอกคือ พลังชุมชน พลังเพื่อนและกิจกรรม พลังครอบครัว และพลังการสร้างปัญญา จึงมีความหมายอย่างมากต่อการพัฒนาพลังตัวตนซึ่งเป็นต้นทุนภายใน

พลังตัวตน
คนเรามีต้นทุนติดตัวมาด้วยตั้งแต่แรกเกิดทุกคน แต่เป็นต้นทุนพื้นฐานที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนที่เหลือจะมาจากการหล่อหลอมของครอบครัว และสถาบันการศึกษา พลังตัวตนจึงไม่ได้เกิดขึ้นเองตั้งแต่แรกเกิดทั้งหมด แต่เป็นต้นทุนที่ต้องสร้างเสริมขึ้นมาในภายหลัง พลังตัวตนจึงเป็นพลังที่มีความสำคัญมากสำหรับคนทุกวัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงชีวิตวัยรุ่น พลังตัวตนถือเป็นแกนสำคัญที่มีความหมายมาก โดยเฉพาะการรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ข้อนี้เป็นเหมือนดังฟางเส้นสุดท้ายกรณีที่พลังอื่นๆ อ่อนแอ ซึ่งถ้าเด็กยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ก็จะพอดำเนินชีวิตต่อไปได้ ไม่คิดสั้น ไม่คิดฆ่าตัวตาย แต่ถ้าทุกพลังอ่อนแอ แล้วกระทบมาถึงคุณค่าในตัวเอง คนคนนั้นก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เลย

มีข้อน่าสนใจว่า จากการสำรวจพลังตัวตนของเราพบว่าข้อที่อ่อนที่สุดคือ การพูดจริง ความซื่อสัตย์ แม้กระทั่งเด็กเรียนดี ก็ได้คะแนนข้อนี้ต่ำ เรื่องนี้สะท้อนเรื่องการรักษาคำมั่นสัญญา ซึ่งผู้ใหญ่เป็นคนทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

ถามว่าทำไมเด็กต้องโกหก เด็กทำเพื่อปกป้องตัวเองหรือไม่ ถามต่อว่าเราทำไมต้องปกป้องตัวเอง แสดงว่าความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง (sense of security) ไม่มีเลยใช่หรือไม่ นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้เด็ก เราไม่ได้คลุกวงในแบบจับถูกเพื่อที่จะเรียนรู้จริงๆ เกี่ยวกับปัญหาว่าคืออะไร เรามักจะหาคนผิดมากกว่าจะช่วยกันหาวิธีแก้ไข เด้กก็เลยเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าอย่างนั้น ก้อย่าพูดความจริงเสียเลยดีกว่า

พลังครอบครัว
พลังครอบครัวเป็นพลังที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๓ ขวบ เพราะเด็กยังต้องมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับครอบครัว เป็นช่วงของการหล่อหลอม พลังครอบครัวจึงมีน้ำหนักมากในช่วงนี้ เด็กยิ่งเล็กเท่าไหร่ พลังครอบครัวก็จะยิ่งมีความหมายมากเท่านั้น และครอบครัวนี่เองที่จะช่วยสร้างพลังตัวตนให้เด็กในภายหลังด้วย

พลังครอบครัวจะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันชีวิต เพราะเมื่อไหร่ที่คนคนนั้นตกอยู่ในพฤติกรรมเสี่ยงที่รายล้อมรอบตัว ถ้ามีพลังครอบครัวที่เข้มแข็งก็อาจจะช่วยดุลกันไว้ได้ ทำให้ไม่เฉไฉออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป หรือถึงจะเฉไฉไปบ้างก็ไม่รุนแรง

ตัวชี้วัดที่มีความหมายของพลังครอบครัว คือ สัมพันธภาพที่ดีภายใต้ความรักและความอบอุ่น เพราะเราพบว่าถ้าเด็กควานหาความรักจากครอบครัวไม่พบ เขาก็อาจจะไปหาข้างนอก ซึ่งอาจได้รับความรักปลอมๆ ที่เป็นอันตราย อาจเป็นเพราะพ่อแม่ให้ความรักแก่เด็ก แต่ไม่ถึงมือเด็ก ซึ่งอาจจะตกหล่นระหว่างที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ หรืออาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่เคยรับฟังเด็กจริงๆ ว่าเด็กต้องการอะไร

พลังสร้างปัญญา
พลังสร้างปัญญาจะมีความหมายสำคัญมากในช่วงวัยเรียน เป็นช่วงที่ ๒ ของชีวิตต่อจากพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งครูจะมีบทบาทสำคัญมาก บางครั้งอาจมากกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ในช่วงวัยเรียน พ่อแม่กับครูจึงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเด็กแบบตีคู่กันมา ซึ่งพลังปัญญานี้ก็จะช่วยหล่อหลอมให้เกิดพลังตัวตนได้ด้วย

น่าสังเกตว่า พลังการสร้างปัญญาในสังคมไทยจะมีเฉพาะการเรียนในระบบ ขณะที่การเรียนรู้นอกระบบ และการสืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงามยังไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องขวนขวายเรียนรู้กันเองในบางชุมชน

พลังเพื่อนและกิจกรรม

พลังนี้มีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา ศาสนา เป็นต้น เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเพื่อนและกิจกรรมเป็นหลัก เป็นวัยที่มีพลังมาก ศักยภาพสูง เรี่ยวแรงมาก อยากรู้ อยากลอง อยากออกความคิดเห็น อยากทำกิจกรรมหลายอย่าง วัยรุ่นชอบทำกิจกรรมเป็นกลุ่มกับเพื่อน เช่น เล่นกีฬา ถ้าให้ว่ายน้ำคนเดียว จะไม่น่าสนใจพอ วิ่งคนเดียว ไม่วิ่ง ถ้าวิ่งเป็นกลุ่ม… วิ่ง

เพื่อนและกิจกรรมจึงมีความสำคัญกับวัยรุ่นอย่างมาก ถ้าวัยรุ่นมีเพื่อนและกิจกรรมไปในทางที่ดี ก็จะมีผลต่อการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตที่ดี แต่ถ้ามีเพื่อนในกลุ่มเสี่ยงที่ชักนำกันไปทำกิจกรรมที่ไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตตามมา

พลังชุมชน
ปัจจุบันพลังชุมชนในบ้านเราค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กในเมืองมีแนวโน้มจะอ่อนแอเรื่องพลังชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พลังชุมชนจะอ่อนแอ แต่ถ้าพลังอื่นๆ ยังเข้มแข็ง เช่น พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา หรือพลังเพื่อนและกิจกรรม เด็กก็ยังดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ เพียงแต่ว่าจะสมบูรณ์แบบหรือไม่เท่านั้นเอง

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรา เห็นความสำคัญของพลังชุมชนได้ชัดเจนมากขึ้น คือ เรื่องจิตอาสา ซึ่งมีความหมายมาก เพราะจิตอาสาจะทำให้เกิดการสร้างพลังตัวตนผ่านทางพลังชุมชน ทำให้พลังตัวตนเข้มแข็งขึ้น จากการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมนอย่างสมานฉันท์

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
อาจารย์กุมารแพทย์ สถาบันร่วมผลิตแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต, หัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
***********************************************************
Thanks to images from ;-
http://www.hivehealthmedia.com/families-with-dogs-have-healthier-children/
-children/index.jsp

Related contents:

You may also like...