ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)

คุยกับ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร Big Boss บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)

หากย้อนเวลาไปสักสามสี่ทศวรรษ การที่เด็กหนุ่มจากครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนย่านเยาวราช เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรพลังงานยักษ์ใหญ่และมีความสำคัญที่สุดของประเทศ คงเป็นหนึ่งใน ‘ความสำเร็จก้าวแรก’ ของตัวเขาเองและครอบครัว จากการมุ่งมั่นทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งความสำเร็จของเขาในครั้งนั้น เกิดขึ้นด้วยหลักวิธีคิดง่ายๆ นั่นคือ “ตั้งใจทำทุกวันให้ดีที่สุด” แต่น้อยคนจะเชื่อว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง ‘ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่’ ในการก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเดิมในวันนี้ ที่หมายถึงการเป็นผู้นำภารกิจการบริหารจัดการและรับผิดชอบธุรกิจพลังงานระดับชาติและในระดับนานาชาติของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ก็เกิดจากความมุ่งมั่นด้วยหลักวิธีคิดแบบเดียวกัน

“ผมคิดแต่ว่า…ในทุกๆวัน และในทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้น ผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ถ้าผมเรียนหนังสือ ผมก็จะเรียนให้ดีที่สุด ถ้าผมทำงานผมก็จะทำงานให้ดีที่สุด”

เรื่องราวที่น่าประทับใจบนเส้นทางความสำเร็จของนักบริหารมือทองแห่ง ปตท. เริ่มต้นขึ้นแบบสบายๆ ในห้องรับรองบรรยากาศอบอุ่น ตกแต่งอย่างมีรสนิยมด้วยภาพศิลปกรรมงามวิจิตร และรอยยิ้มอย่างเป็นมิตร

“ผมเกิดที่เยาวราช เป็นลูกคนจีนครับ ตอนมัธยมเรียนสวนกุหลาบ มาต่อวิศวะจุฬา เรียนจบสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ไปต่อปริญญาโทกับเอกที่ญี่ปุ่น อยู่ที่ญี่ปุ่นหกปี กลับมาเมืองไทยในช่วงกำลังลดค่าเงินบาทพอดี ตอนจบใหม่ๆ อยากสอนหนังสือมาก ได้สอนที่จุฬาราวปีนึง ในอัตราลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือนสี่พันห้า ผมจบปริญญาเอกนั่งรถเมล์ไปทำงาน (ยิ้ม) จนกระทั่งปี 28 มีท่านอาจารย์ที่วิศวะบอกว่า อย่ามาสอนหนังสือเลย … เสียดาย ท่านก็พามาสมัครงานที่ ปตท. ครับ

“ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เข้าไปบุกเบิกมาบตาพุด ก็ทำอยู่สามสี่ปี ตอนนั้นก็มีความคิดว่า เรารู้เรื่องวิศวะแล้ว สร้างโรงงานก็เป็น ก็อยากจะรู้เรื่องการเงินด้วย จึงตัดสินใจเปลี่ยนงาน โดยออกตามเจ้านายทั้งกลุ่มใหญ่มาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพครับ ทำมาจนถึงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทที่ผมดูแลอยู่ในเครือของธนาคารกรุงเทพถูกขายไปให้ ปตท. ตัวผมเองก็เป็นเหมือนทรัพย์สินที่ติดมากับธนาคาร ก็เป็นโอกาสที่ได้กลับเข้ามาร่วมงานกับ ปตท. อีกครั้งหนึ่ง มีโอกาสได้รับผิดชอบหลายส่วนครับ ทั้งเป็นผู้ช่วยฯ และได้ทำหลายบริษัทในกลุ่ม ปตท. ภายหลังได้ขึ้นเป็นรองฯ จากนั้นได้เป็น CEO ของ IRPC และล่าสุดก็กลับมาที่ ปตท. อีกครั้ง รับตำแหน่งเป็น CEO เมื่อประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้วครับ ซึ่งอายุการทำงานของผมก็คงจะจบที่นี่”

ด้วยประสบการณ์ยาวนานของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ใน ปตท. ทำให้มองเห็นและเข้าใจระบบขององค์กรอย่างลึกซึ้ง ภารกิจสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ แต่กระนั้นก็ต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่

“ปตท.เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครับ มีกลุ่มธุรกิจครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ แค่ยอดขาย ปตท.อย่างเดียว ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ให้เปรียบว่าใหญ่แค่ไหน ก็คือ…เท่ากับงบประมาณประเทศไทย

“ปตท. ปีนี้อายุสามสิบสี่ เราเกิดขึ้นด้วยพระราชบัญญัติเมื่อสามสิบปีที่แล้ว จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจชื่อว่า ปตท. มูลเหตุสำคัญคือตอนนั้นเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน ซึ่งยุคนั้นธุรกิจน้ำมันของเมืองไทยอยู่ในมือของพวกบริษัทข้ามชาติ เช่น เชลล์ เอสโซ โมบิล ฯลฯ สถานการณ์พลังงานที่มีแนวโน้มไม่ดี ทำให้รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาคานอำนาจกับบริษัทข้ามชาติ จึงเกิด ปตท. ขึ้น ทำหน้าที่พัฒนาแก๊ส ขุดเจาะเอาพลังงานขึ้นมาใช้ และให้หลักประกัน ทุกวันนี้เราจึงเห็นว่า ภาวะน้ำมันขาดแคลนไม่เคยเกิดขึ้นอีก ตั้งแต่มีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ แม้กระทั่งในภาวะน้ำท่วม เราแทบจะต้องว่ายน้ำเอาน้ำมันไปส่งให้ตามปั๊ม ตามแหล่งค้าต่างๆ ไม่ว่าจะภาคเหนือ หรือภาคใต้ ก็ไม่เคยขาดน้ำมันแม้ช่วงน้ำท่วม เหตุการณ์นั้น…ผมเรียกว่า Big Bang ขั้นที่หนึ่ง

“ขั้นที่สองเกิดขึ้นเมื่อปี 44 ประมาณสิบปีที่แล้ว กฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการแปรรูป ปตท. จากบริษัทที่มีทุนจากรัฐเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชน หลังจากเราเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ปตท.เจริญเติบโตเร็วมากขึ้นเป็นก้าวกระโดด และก็ยังก้าวต่อไปเรื่อยๆ”

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ภาพการเปลี่ยนแปลงที่ ดร. ไพรินทร์ ปรารถนาจะนำพาองค์กรไปสู่สถานะที่ดียิ่งขึ้นสำหรับการแข่งขันในธุรกิจพลังงานบนเวทีโลก สำหรับกรอบวาระการทำงานในตำแหน่ง CEO 4 ปี จึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

“ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของผมเรียกว่า ตรีสดมภ์ หนึ่งต้องมีขนาดที่ใหญ่เรียกว่า BIG สองเรียกว่า LONG คือยาว หมายความว่า เราจะต้องทำธุรกิจให้ครบ VALUE CHAIN คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และสุดท้ายคือ STRONG หมายความว่า เราต้องเข้มแข้งจากภายใน ต้องมีระบบบบริหารจัดการที่ดีเลิศ ระบบบริหารบุคคลที่ดีเลิศ มีระบบบริหารค่าตอบแทนที่ดีเลิศ มีการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ของตัวเอง

นอกจากนี้ ผมกำลังเสนอว่าสิ่งที่ปตท.ควรจะเป็นไม่ใช่แค่ National Oil Company หรือ NOC แต่เราควรจะเป็น TAG+NOC ย่อมาจาก Technological Advance and Green National Oil Company คือการทำธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนองค์กรขนาดมหึมาที่มีความสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ย่อมเป็นงานที่หนักและท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง

“การเป็นผู้บริหารที่ดี มันต้องผ่านการขัดเกลาครับ ผมมีหลักง่ายๆ คือ จะไม่เอางานไปทำที่บ้านเด็ดขาด ทำงานอยู่ดึกที่ออฟฟิศก็ได้ เพื่อให้แยกว่าเมื่ออยู่บ้านผมสามารถผ่อนคลายได้ เพื่อที่เวลากลับมาออฟฟิศแล้วมีแรงทำงานต่อได้ ผมเองเริ่มงานเจ็ดโมงเช้านะครับ ระหว่างเจ็ดโมงเช้าถึงเก้าโมงเช้า ใครก็มาหาผมได้โดยไม่ต้องมีนัด แต่คุณต้องมาเช้าเหมือนผม พบคุณเสร็จผมก็มีนัดต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบที่ดินเนอร์แล้วก็กลับบ้านดึกๆชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เราต้องบริหารจัดการตัวเอง

“สุขภาพจิตสำคัญครับ ต้องมีความอึดพอสมควรที่จะรับกับปัญหาหนักๆประจำวันได้ องค์กรใหญ่อย่างปตท.มีเรื่องราวต่างๆมากมายเกิดขึ้นทั้งในทุกมุมโลก ผมเป็นคนเฉียบขาด ถูกก็คือถูกผิดก็คือผิด ในฐานะผู้บริหารสูงสุด เราไม่สามารถที่ยอมรับกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ วัฒนธรรมองค์กรจะถูกกำหนดโดยผู้บริหารสูงสุด ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ถ้าผมเป็นคนมาเช้าทั้งองค์กรต้องมาเช้าตามผม ถ้าผมเป็นคนโลเลองค์กรผมเป็นคนโลเล ถ้าผมมาเย็นๆผมหยิบดินสอ ยางลบกลับบ้านไปใช้เนี่ย ทุกคนก็หยิบดินสอยางลบกลับบ้านไปใช้เหมือนกันหมด หยิบมากกว่าผมอีก ผู้บริหารสูงสุดจึงต้องเป็นตัวอย่าง ถ้าเราบอกถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด เป็นเรื่องสำคัญมาก

“เรามีหน้าที่ในการแก้ปัญหา หลักในการทำงานก็คือเราในฐานะที่แก้ปัญหา คือต้องไม่เป็นส่วนนึงของปัญหา พอไม่เป็นส่วนนึงของปัญหา เราก็จะเห็นช่องทางทางออก ผมเชื่อมั่นในหลักศาสนาพุทธ เพราะเป็นสิ่งที่เรียบง่าย คือให้มองทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น”

แม้งานในหน้าที่จะหนักแค่ไหน แต่นักบริหารท่านนี้ ก็ไม่เคยละเลยที่จะเจียดเวลาให้กับการพักผ่อนและงานอดิเรกที่โปรดปราน

“ผมชอบอ่านหนังสือครับ ชอบคอมพิวเตอร์ ผมชอบอ่านเรื่องรถยนต์ อาวุธปืน ทหาร ฯลฯ และจะไม่ยัดเยียดข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับงานที่ทำมาใส่สมองในยามว่างเป็นอันขาด พยายามหาอะไรที่มันจะฉีกแนวออกไป เหมือนกับเราได้ไปพักผ่อน ตอนนี้ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ว่ากันว่า…คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะย้อนกลับไปหาอดีต ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ในวัยนี้เป็นวัยที่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วสนุกที่สุด ไม่เชื่อลองดู เพราะเรามีข้อมูลเยอะแล้ว ผิดกับตอนเด็กๆ เราถูกบังคับให้เรียนประวัติศาสตร์ โดยเราไม่มีฐานองค์ความรู้ก็จะไม่สนุก”

และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการให้เวลาคุณภาพกับครอบครัว

“ผมพยายามจัดสมดุลระหว่างงานกับครอบครัวให้ลงตัวเสมอครับ ผมเพิ่งเริ่มตีกอลฟ์มาไม่นานนี้เอง เพราะที่ผ่านมา ลูกยังเล็ก ผมต้องการใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์อยู่กับลูก ในขณะเดียวกันผมจะไม่ตีกอลฟ์ระหว่างทำงาน เพราะมันจะเสียเวลาทำงาน แต่เดี๋ยวนี้ลูกๆ โตแล้ว เราก็เริ่มห่างกันได้บ้าง เพราะลูกๆก็จะมีโลกส่วนตัวของเค้า

“ถ้าพูดถึงหน้าที่การงาน อาจกล่าวได้ว่า ผมเดินมาได้สูงสุดขณะนี้ แต่อนาคตผมไม่รู้ครับ ไม่ได้วางเป้าอะไรไว้ พบครบวาระ ภาระผมก็จบแค่นี้ จากนั้นผมก็จะไป enjoy ชีวิต มันมีผลวิจัยว่าคนที่ enjoy มากที่สุด คือคนที่เลือก early retire เพื่อที่เขาจะได้นำเงินไปหาความสุขกับชีวิต ส่วนคนที่ทำงานต่อไปเรื่อยๆไม่ยอมหยุด อาจไม่มีเวลาใช้เงินที่เขาหามาได้ ผมไม่มีความทะเยอทะยานใดๆทั้งสิ้น และหลักศาสนาพุทธก็ยังใช้ได้ดี คือเราอย่าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่งั้นใจมันไม่ได้เป็นกลาง มันเป็นทุกข์เพราะเราก็จะไปยึดโยงกับลาภ ยศ สรรเสริญ ในฐานะเป็นผู้บริหารองค์กรผมคิดว่า การปล่อยวางเป็นสิ่งที่สำคัญ และการยึดติดเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก”

จากบทสนทนาในช่วงเวลาเพียงไม่นาน กับ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ทำให้เราสรุปได้ไม่ยากว่า นักบริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้เก่งแค่เรื่องการบริหารงานในหน้าที่ แต่ยังต้องเป็นนักบริหารชีวิตได้อย่างสมดุล ซึ่งไม่ว่าจะต้องพบกับงานที่หนักและยากเพียงใด เขาก็จะยังมีหลักคิดดีๆ มาช่วยนำพาให้ตนเองและคนรอบข้างสามารถพบกับความสุขได้เสมอ

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...