พจน์ วิจิตรานนท์ การกลับมาของเพื่อนเก่า Mercedes-Benz 300 SL ’1955 Gullwing

เพิ่งเสร็จสมบูรณ์และได้อวดโฉมสู่สายตาสาธารณะเมื่องาน Mercedes-Benz Day 2008 ที่ผ่านมา สำหรับ Mercedes-Benz 300 SL ’1955 Gullwing สุดแสนภูมิใจของพจน์ วิจิตรานนท์ Managing Partner บ.Neo Plus หลังจากได้มาครอบครองถึง 4 ปี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการบำรุงรักษาในทุกรายละเอียดให้กลับคืนสภาพดีที่สุด

ย้อนกลับไปในวัยเด็กเขาและเพื่อนใหม่รายนี้เคยได้รู้จักมักคุ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ด้วยโชคชะตาทำให้ต้องห่างเหินกันไปพร้อมการเติบโตของเด็กชายเป็นหนุ่มใหญ่ซึ่งในที่สุดแล้วมีโอกาสได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของคนที่ 3

“เมื่อนับอายุดูก็ 53 ปีแล้ว แต่บอกไว้ก่อนว่าผมอายุน้อยกว่ารถคันนี้อีกนะครับ คุณอาผู้เป็นเจ้าของคนแรกคือเพื่อนของคุณพ่อผมจึงได้เห็นคันนี้เมื่อสมัยยังเด็กสัก 40 ปีก่อนเพราะบ้านคุณอาอยู่ซอยเดียวกับโรงเรียนของผม และผมได้เห็นเขาวิ่งอยู่บนท้องถนนคิดว่าอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง กระทั่งเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วคุณอาท่านขายไปให้นักสะสมอีกท่านหนึ่งซึ่งในที่สุดผมก็ได้รับช่วงต่อมา

แม้จะได้พบเห็นในตอนนั้น แต่ ด.ช.พจน์ กลับรู้สึกว่าแปลกตาและสวย โดยความชื่นชอบอย่างจริงจังนั้นบังเกิดขึ้นในตอนโต “เพราะรู้สึกว่า 300 SL ทั้ง Gullwing และ Roadster เป็นรถอมตะรุ่นหนึ่งในไม่กี่รุ่นของแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์”

“ตอนที่ทราบข่าวว่าครอบครัวของเจ้าของรายที่ 2 ท่านประสงค์ที่จะขายผมค่อนข้างตื่นเต้นรีบไปดูและตกลงกันได้ ผมเป็นคนไม่เชื่อเรืองดวงสักเท่าไหร่กลับคิดว่าของพวกนี้เป็น Hobby เขาอยู่กับเราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุดเมื่อวันหนึ่งที่จะต้องจากกันมาถึงเขาก็ต้องไปอยู่กับคนอื่น

“ผมทำรถหลายแบบไม่ใช่แค่รถคลาสสิคเท่านั้น ช่วงที่เราทำรถทำให้ผมเอ็นจอยกับสิ่งนี้ ในกรณีของรถโบราณก็เหมือนกับการให้ชีวิตใหม่กับเขา เราเป็นคนชอบงานช่าง คุยกับช่างก็สนุกไปด้วย ที่จริงก็เกือบๆ เสร็จมานานแล้วแต่ผมต้องการให้เขาสมบูรณ์ที่สุดพอขาดนู่นขาดนี่ก็แก้ไขเรื่อยมา เรายก ‘กระดอง’ ตัวถังออก เป็น Frame Off Restoration ทำการปรับปรุงสภาพของตัวถังและทุกส่วนของรถกระทั่งภายในทุกจุด”

“โชคดีที่ผมได้ผู้ประสานงานกับ HK Engineering ที่เยอรมนีซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของอะไหล่ทั้งหมดบริษัทนี้เชี่ยวชาญและรับบูรณะ 300 SL ทั้ง 2 รุ่น เมื่อสำเร็จออกมาเขาก็สวยงามและใช้งานได้ดีเสมือนเมื่อครั้งแรกที่ออกจากโรงงาน Stuttgart ประเทศเยอรมนี เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว หลายคนที่ทำรถคลาสสิคคงมีความตั้งใจเดียวกันคือเก็บรักษารถให้สมบูรณ์และอยู่ในสภาพดั้งเดิมที่สุด”

“เขาไม่ได้สร้างมาให้ติดแหง็กอยู่กลางถนนสุขุมวิท การจะเลือกมาขับก็ต้องเลือกวันขับสักหน่อย เช่น วันอาทิตย์ที่ไม่ต้องไปติดอยู่บนการจราจรแออัด แต่เมื่อทำแล้วก็ต้องนำออกมาขับ พามาให้คนอื่นได้เห็นบ้าง ปกติผมจะขับอยู่ในเมืองไม่ได้ไปไหนไกลสักเท่าไหร่ วางแผนเอาไว้ว่าในอนาคตคงจะต้องขับเขาเร็วๆ บนทางด่วนบ้างเพราะเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี. หัวฉีด 240 แรงม้า อัตราเร่งกับความเร็วปลายขึ้นอยู่กับเฟืองท้ายของแต่ละคัน โดยของผมนั้นเป็นเฟืองท้ายที่ให้ความเร็วปลายมากกว่าความเร็วต้น ซึ่งความเร็วปลายนั้นเกิน 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแน่นอน ทำให้ต้องพาเขามาออกกำลังกายเอาแรงในวันสบายของผมและรถจะต้องสบายบนท้องถนนด้วย”

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-266 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...