|
หน้าแรก >
KARLAKUM > Vahicle of god |
|
“ยาขนานที่ดีที่สุดสำหรับเยียวยาจิตใจอันโศกเสร้า และคลายปัญหาที่รุมเร้ามนุษย์ แท้จริงก็คือความเยาว์วัยที่ฝังอยู่ในส่วนลึกที่สุดในจิตใจเรา”
แม้ไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์จากนักจิตวิทยาสาขาใดๆ เราก็ตระหนักกันดีว่าวัยเด็กของแต่ละคนนั้นสำคัญและอวลอุ่นไปด้วยไอแห่งความสุขปานใด แต่เวลาที่วิ่งผ่านก็พรากวัยเยาว์ไปจากกายเราจนได้ในที่สุด
ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เด็กก็เป็นสัญลักษณ์ของความสุข ความบริสุทธิ์และการเริ่มต้น รูปลักษณ์ของเด็กจึงแฝงอยู่ในทุกๆสกุลศิลปะ ซ่อนปรัชญาชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ
จิตรกรรมหรือประติมากรรมอันเนื่องมาจากคริสตศาสนาคาทอลิก นอกจากเหล่าเทวดาผู้มีนามปัญญัติอย่างแน่นอนในพระคัมภีร์ เช่น อัครเทวดา(Archangel) ทั้ง 7 คือ มิคาเอล(Michael), กาเบรียล(Gabriel), ราฟาเอล(Raphael), อูรีเอล(Uriel), ซารีเอล(Sariel), เรมีเอล(Remiel) และราเกล(Raguel) แล้ว นิยมสร้างรูปเทวดาเป็นเด็กน้อยท่าทางสดใสร่าเริง บ้างก็ถือช่อดอกไม้ มาลัย บ้างก็ขับระบำรำฟ้อนเทวดาองค์น้อยๆเหล่านี้เป็นบุคลาธิษฐานของความสุขสดชื่นและความบริสุทธิ์บนสรวงสวรรค์ แน่นอนไม่ได้หมายความว่าบนสรวงสวรรค์ของคริสตชนจะละลานไปด้วยเด็กผู้ชายที่มีปีกงอกออกมากลางหลัง แต่หมายความว่าสรรพชีวิตที่รื่นรมย์อยู่ท่ามกลางอุทยานสวรรค์นั้นล้วนเปี่ยมไปด้วยความสุขและความบริสุทธิ์สดใสแบบเดียวกับที่ภาพเด็กหญิง เด็กชายผู้อ้วนท้วน เป็นเครื่องหมายมงคลที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของคนจีน ภาพเด็กๆนั้นมีทั้งที่อยู่เดี่ยวๆ เป็นคู่ หรือปรากฎร่วมกับสัญลักษณ์มงคลอื่นๆเช่น กิเลน ดอกบัว เทพซิ่ว ทองคำหรือเงินอีแปะ เป็นต้น
ในวัฒนธรรมจีน นอกจากเด็กจะเป็นสัญลักษณ์ของความชื่นบาน ความอุดมสมบูรณ์ และการเริ่มต้นแล้ว เด้กยังเป็นสัญลักษณ์ยอดปรารถนาเมื่อสื่อความหมายถึงความสมบูรณ์ของวงศ์ตระกูล การสืบทอดเชื้อสาย และความยืนยาวของสกุลวงศ์อีกด้วย ทำไมต้องเป็นเด็ก...
ในทางจิตวิทยาว่ากันว่ารูปลักษณ์ของเด็กชวนให้นึกถึงการเริ่มต้น แล้วเลยนึกไกลไปถึงความสุขสดชื่น อย่างที่กล่าวแล้วว่าน้อยคนที่จะมีความทรงจำอันขมขื่นในวัยเด็ก ดังนั้นรูปลักษณ์นี้จึงสะท้อนและสื่อความหมายถึงความสุขสดชื่น ความรื่นรมย์ได้อย่างเถรตรงที่สุด
เห็นได้ว่าประเพณีและพิธีกรรมโดยมากมักกระจุกรวมกันเมื่อมนุษย์ยังอยู่ในวัยเด็ก ก่อนที่จะเร่มห่างออกเมื่อเราโตขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ ก็เริ่มมีการสร้างขวัญกำลังใจ เสี่ยงทาย และขอพรให้เทพเจ้าคุ้มครองทารกในครรภ์
ชาวปาปัวนิวกินีเชื่อว่าสตรีที่ตั้งครรภ์จะได้รับการปกป้องเป็นพิเศาจากเทพารักษ์ ฉะนั้นจึงมักสร้างเพิงพักให้หญิงเหล่านี้อาศัยเป็นพิเศาที่ใต้ร่มไม้ ใหญ่ เพื่อเทพารักษ์จะได้แผ่บารมีปกป้องได้เต็มที่ และเมื่อจะคลอดก็คลอดที่เพิงนั้นทีเดียว
ชาวอินเดียและสยามให้ความสำคัญกับการคลอดลูกมาก อาจเป็นเพราะเป็นกระบวนการในชีวิตที่สามารถให้ชีวิตใหม่ได้เท่าๆกับการปลิดชีวิต อุบายและเคล็ดลางมากมายจึงเกิดขึ้นเนื่องด้วยการนี้ อาทิ ห้ามนั่งขวางประตู บันได หรือทางเข้าออกเมื่อมีหญิงกำลังคลอดลูก เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอิดลูกยากเป็นต้น
ชาวตะวันออกเชื่อว่าเมื่อแรกเกิด เด็กซึ่งได้รับการทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงจากคนรอบข้างจะทำให้ผีอิจฉา จึงต้องแกล้งหลอกผีเหล่านั้นด้วยการแสดงกิริยารังเกียจเด็ก เช่น นำเด็กใส่กระด้งร่อน แล้วร้องบอกว่าเด็กนี้เราไม่ต้องการ ใครอยากได้ก็เอาไป ในภาคกลางของไทย มักร้องเป็นบทว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ” แล้วจึงแต่งคนแกล้งทำเป็นขอซื้อ ในราคาต่ำ เพื่อแสดงว่าเด็กคนนี้ไม่มีค่า ไม่มีใครอยากได้ สันนิษฐานว่าการต่อมาความเชื่อเรื่องผีนี้เพี้ยนไป กลายเป็นความเชื่อเรื่องผีประจำวันที่มาคตอยปกปักรักษาเด็ก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชีย คือมีการเชื่อถือทั้งในอินเดีย, จีน, เกาหลี,ญี่ปุ่น,พม่า,ลาว กัมพูชา,ไทย,อินโดนีเซีย ฯ
สำหรับตำราแม่ซื้อ ซึ่งจารึกไว้บนคอสอง พระระเบียงหน้าพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร แบ่งแม่ซื้อตามวันไว้ดังนี้
วันอาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
วันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณานงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
วันอังคาร ชื่อว่า “ยักษาบริสุทธิ์” มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย) ผิวกายสีชมพู
วันพุธชื่อว่า ” สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
วันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
วันศุกร์ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
วันเสาร์ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ
นิยมเขียนรูปแม่ซื้อผูกหัวเปลไว้เพื่อให้รักษาเด็ก เชื่อกันว่าเมื่อทารกยิ้มหรือหัวเราะโดยไม่มีสาเหตุนั้นเพราะแม่ซื้อมาเล่นด้วย แต่ก็มีบางครั้งที่เด้กร้องไหโยเย โดยไร้สาเหตุก็ว่าแม่ซื้อมากวนต้องแก้เคล้ดด้วยการเขียนรูปท้าวเวสสุวรรณ ราชาแห่งยักษ์ลงบนผ้าแดง แคว้นไว้เหนือเปล นัยว่าให้กำราบแม่ซื้อ
แม่ซื้อของเด้กเอเชียชาติอื่นไม่ได้มีเจ็ดตน แต่มีตนเดียว และเป็นเทพเจ้า ในวัฒนธรรมจีน แม่ซื้อเป็นผู้หญิงสวยงาม ช่างมักสร้างให้รูปลักษณ์เจ้าเนื้อ บางครั้งก็วาดหรือปั้นให้อุ้มเด้กไว้ด้วย แม่ซื้อจีนนี้คงส่งอิทธิพลต่อแม่ซื้อญี่ปุ่น และแม่ซื้อเกาหลี เพราะรูปร่างคล้ายกันมาก
คนโบราณถือมากเรื่องการตั้งชื่อเด็ก ในระยะแรกมักตั้งชื่อสั้น ง่ายแก่การจำ และมักตั้งให้น่าเกลียดเพื่อหลอกผี ดังเช่นเมื่อแรกประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าเหม็น” จนเมื่อทรงโสกันต์แล้วจึงได้รับพระราชทานนามใหม่ ให้ตรงกับทักษาวันพระราชสมภพ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7นั้น เมื่อทรงพระเยาว์ พระญาติผู้ใหญ่ก็มักตรัสเรียกว่า ‘เต่า’กันทั้งนั้น จนอยู่มาวันหนึ่ง ขณะทรงเล่นกับบรรดาหม่อมเจ้าทั้งหลายอยู่นั้น ทรงถูกถามว่า “อยากเป็นเต่าบ้านหรือเต่านา” ทรงตอบว่า “เต่านา” จึงกลายเป็น ‘ท่านหญิงนา’ นับแต่บัดนั้น
จนเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนี้เอง ที่ชาวสยามกล้าตั้งชื่อลูกหลานให้เก๋ไก๋ ด้วยค่านิยมใหม่เรื่องชื่อเล่น เพื่อให้พ้องกับอารยธรรมต่างชาติ
ส่วนชาวคริสตังนั้น นิยมตั้งชื่อตัวหรือชื่อกลางของเด็กตามชื่อนักบุญต่างๆ หรือชื่อคนในครอบครัว ทั้งนี้เพื่ออาศัยบุญญาของนักบุญเหล่านั้น หรือความรักของคนในครอบครัว เช่น ปู่ย่า ตายาย ให้คุ้มครองลูกหลาน
อินเดียเชื่อกันว่าแต่แรกเกิดเด็กยังมิใช่มนุษย์สมบูรณ์ เมื่ออายุครบ 7 วัน พระพรหมมหาเทพจะเสด็จลงมาเขียนดวงชะตาไว้ที่กลางกระหม่อมของเด็ก เมื่อนั้นจึงเป็นมนุษย์ ถึงวันที่เด็กอายุครบ ผู้ปกครองต้องหาดินหรคุณ (ดินสีเหลืองใช้ในงานช่าง) ใส่ผ้าขาววางไว้ใกล้ๆเด็ก เพื่อให้พระพรหมทรงใช้ ชะตาที่ทรงเขียนไว้กลางหน้าผากนี่เองที่เรารู้จักกันในนาม ‘พรหมลิขิต’จากนั้นเด็กก็จากดำรงตนอยู่ในฐานะผู้บริสุทธิ์ กระทั่งหลายวัฒนธรรมใช้ความบริสุทธิ์นี่เองเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงพระผู้เป็นเจ้า
เรื่องเทวดาเด็กนี้ คงไม่มีที่ใดหวือหวาเท่า ‘กุมารี’(Kumari) เทวีผู้มีชีวิตอยู่ในเนปาล และได้รับการเคารพเทิทูนสูงสุด จากหลักฐานพบว่าลัทธิบูชากุมารีนี้ เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อราว 2,600 ปีมาแล้ว ก่อนที่ฮารี สิงห์ เดวา นักบวชผู้ลี้ภัยจากอินเดียเหนือเข้าไปในเนปาลราว คริสตศตวรรษที่ 6 และนำแนวคิดนี้เข้าไปเผยแพร่
ตำนานเล่าว่ากุมารีคือร่างทรงของเทวีตาเลจู (Taleju) ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระอุมา ศักติของพระศิวะ เทวีตาเลจูนี้ทรงอุปถัมภ์เมืองกาฐมาณฑุมาตั้งแต่เริ่มตั้งเมือง วันหนึ่งเมื่อกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มอลลากำลังทรงสำราญกับการทอยสกาอยู่นั้น พระเทวีก็เสด็จมาแล้วทรงร่วมเล่นด้วย พระราชาทรงพอพระทัยในความงามของพระนาง แต่พระทวีก็ทรงทราบความคิดนั้นยด้วยทิพญาณ พิโรธองค์กษัตริย์มาก จึงทรงสาปว่าต่อแต่นี้พระองค์จะไม่ปรากฎพระรูปอีก หากจะเสด็จกลับมาในร่างของเด็กหญิงจากวรรณะล่าง และพระราชาต้องเป็นฝ่ายไปเข้าเฝ้าพระองค์
นับตั้งแต่นั้นมา ชาวเนปาลก็ต้องคัดเลือกเด้กหญิงจากวรรณะล่างขึ้นมาดำรงตำแหน่งกุมารีประจำเมือง ที่เริ่มแรกมีเพียงกาฐมาณฑุที่เดียวแต่ต่อมาลัทธิบูชากูมารีก็กระจายออกไปสู่เมืองใหญ่ ส่งผลให้มีกุมารีประทับอยู่ตามเมืองต่างๆ
แต่กุมารีแห่งกาฐมาณฑุคือสุดยอดแห่งกุมารีทั้งมวล เด็กหญิงผู้นี้ต้องดำรงตนอยู่ในระเบียบประเพณีอันเคร่งครัด เธอและครอบครัวจะได้รับการดูแลอย่างดีในวังเฉพาะที่เรียกว่า ‘การ์ (Kar)’ เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ต้องแสงตะวัน ห้ามเหยียบเท้าลงบนพื้นดิน เวลาแต่ละวันของเธอหมดไปกับการต้อนรับผู้แสวงบุญที่เดินทางมาบูชาวันละนับพันคน และในระยะหลังเธอมีหน้าที่เยี่ยมหน้าออกไปที่หน้าต่างของการ์เพื่อให้ช่างภาพหลายร้อยคนบันทึกภาพ ซึ่งแน่นอนว่าช่างภาพเหล่านั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาลจำนวนมากพอดู
เพราะฉะนั้นนอกจากทรงเป็นที่พึ่งด้านจิตใจแล้ว กุมารียังบันดาลรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับรัฐบาลอีกด้วย
กุมารีจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อเธอมีเลือดออกจากร่างกาย หรือเมื่อถึงเวลามีประจำเดือน จากนั้นขั้นตอนการค้นหากุมารีพระองค์ใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น โหรหลวง, พราหมณ์ และสังฆราชาทั้ง 5 จะประชุมกันเพื่อค้นหานิมิตว่ากุมารีองค์ต่อไปอยู่ที่ใด จากนั้นก็จะออกค้นหาเด็กหญิงในนิมิตนั้น
ในระยะหลังพบว่ากุมารีมักสืบเชื้อสายมาจากตระกูลศากยะ(Sakya) ซึ่งในระยะแระเข้าใจกันว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระโคตมพุทธเจ้า แต่จากการศึกษาในระยะหลีงพบว่าสกุลเหล่านี้คล้ายกับแซ่ในวัฒนธรรมจีน คืออาจจะคล้ายกันหรือเหมือนกันได้โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงทางสายเลือด สกุลเหล่านี้อาจได้รับการตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่บรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ ดังนั้น สกุลศากยะของกุมารีกับศากยะวงศ์ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นคนละสายกัน
เมื่อค้นพบเด้กหญิงแล้ว โหร พราหมณ์ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเธอให้ถูกต้องตามบัญญัติ กุมารีต้องเป็นผู้มีรูปร่างเหมือนต้นกล้วย ขาเหมือนขากวาง หน้าอกเหมือนสิงห์ ลำคอเหมือนหอยสังข์ นํ้าเสียงสดใสและอ่อนนุ่ม เธอต้องมีอารมณ์เยือกเย็น ไม่ยิ้มหรือหัวเราะร่วน ร่างกายไร้รอยมลทิน ไฝ ฝ้า เมื่อตรวจสอบสำเร็จแล้ว เธอจะได้รับการแห่แหนไปรอบเมือง ทาหน้าผากด้วยชาด วาดตาที่สามสัญลักษณ์แห่งเทวีตาเลจูไว้ และเชิญเสด็จไปประทับที่การ์จนหมดวาระของพระองค์
ว่ากันว่าพระเทวีตาเลจูทรงเลือกเด็กหญิงจากวรรณะล่างมาเป็นพาหนะของพระองค์ก็เพื่อสั่งสอนกษัตริย์ผู้มากด้วยราคะพระองค์นั้น เด็กหญิงที่มาจากวรรณะล่างย่อมไม่ใช่ที่หมายปองของชายวรรณะปกครอง และยิ่งเป็นเด็กสาวด้วยแล้ว ย่อมเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ไร้รอยมลทินและตัณหาใกล้กันนั้น ในธิเบต เรารู้จักองค์ทะไลลามะกันดี และหลายคนคงทราบเส้นทางการครองราชย์ของพระโพธิสัตว์บนพื้นพิภพเหล่านี้ ทะไลลามะ คือชื่อตำแหน่งของพระสงฆ์ผู้ปกครองศาสนจักรและพุทธจักรธิเบต นามนี้แปลว่า “มหาสมุทรแห่งปัญญา” แต่พระองค์ทรงมีหลายพระนาม อาทิ เกียลวา รินโปเช หรือ คุนตุน เป็นต้น
เชื่อกันว่าทะไลลามะคือพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า ที่เสด็จอยู่บนพื้นพิภพแม้พระพุทธองค์จะเสด็จไปในแดนสุขาวดีแล้ว ในทรงธรรมปรัชญา ถือกันว่าพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณนี้ปรากฎในรูปบุคลาธิษฐาน เป็นพระโพธิสัตว์นามว่า “พระอวโลกิเตศวร” ฉะนั้น ชาวธิเบตจึงถือกันว่าทะไลลามะคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในภาคมนุษย์ นั่นเอง
เมื่อทะไลลามะพระองค์หนึ่งสิ้นพระชมน์ลง กระบวนการคัดสรรทะไลลามะพระองค์ใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น โดยพระผู้ใหญ่จะประชุมกันเพื่อกำหนดนิมิตว่าทะไลลามะพระองค์ต่อไป เสด็จอุบัติขึ้นที่ใด และจะจัดเจ้าหน้าที่ออกค้นหา บางครั้งจะได้ตัวเด้กชายอายุ 2 – 3 ขวบ มากถึง 5 คน
หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคัดสรร ซึ่งต่างจากการคัดเลือกกุมารีตรงที่การคัดสรรพระพิสัตว์ให้ความสำคัญกับญาณและปัญญาอย่างยิ่ง เด็กน้อยจะถูกทดสอบต่างๆ เพื่อหยั่งปัญญา
หลังจากนั้นการทดสอบขั้นสุดท้ายจะเกิดขึ้น ‘ข้าจะกลายเป็นบ่าว บ่าวจะกลายเป็นข้า’ พระสงฆ์ผู้มีศักดิ์สูงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าต่ำศักดิ์ พระสงฆ์ผู้น้อยจะเดินนำหน้าในอาภรณ์สำหรับพระผู้ใหญ่ ทะไลลามะในอนาคตควรแยกออกว่าใครคือบ่าว ใครคือข้า จากนั้นจะเสี่ยงทายให้พระองค์ทรงเลือกของใช้ของทะไลลามะพระองค์ก่อน เมื่อการคัดสรรจบสิ้นก็ถึงเวลาเฉลิมฉลอง
ไม่เพียงแค่สัญลักษณ์ของเทวดาเท่านั้น ทว่าเด็กยังเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับพระผู้เป็นเจ้า นั่นเพราะมโนทัศน์ที่ว่าเด็กคือสิ่งบริสุทธิ์ ไร้ซึ่งมารยา เดียงสา และความชั่วร้าย ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราเติบโตขึ้น ความงดงาม บริสุทธิ์ อุดมสมบูรณ์ที่เราเคยเชื่อมโยงนั้นหายไปอยู่เสียที่ใดหมดสิ้น ผู้ใหญ่ซึ่งบริสุทธิ์ ปราศมลทิน และสมบูรณ์พูนสุขมิมีหรือ
นักจิตวิทยาชาวสวีเดนเคยกล่าวไว้ในวารสารจิตเพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาอย่างน่าสนใจว่า “ยาขนานที่ดีที่สุดสำหรับเยียวยาจิตใจอันโศกเสร้า และคลายปัญหาที่รุมเร้ามนุษย์ แท้จริงก็คือความเยาว์วัยที่ฝังอยู่ในส่วนลึกที่สุดในจิตใจเรา มีปัญหาเล็กน้อยตรงที่ใครก็สกัดยาขนานนี้ออกมาไม่ได้ ยกเว้นเราเอง และแม้มันจะนอนนิ่งอยู่ในใจเรา ก็ใช่ว่าจะง่ายดายที่จะสกัดมันออกมาใช้ ”
Text: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ
++++++++++++++++++++++++
อัพเดทโดย : เบญจมาส วิชาสอน
วันที่ : 21 ต.ค. 53
editor@hiclasssociety.com |
|
|
Share |
|
|
|
Untitled Document
เชิญทำข่าว / ฝากข่าวลงใน HI-CLASS SOCIETY ติดต่อ
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร HI-CLASS
32 สุขุมวิท 85 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260 โทร 02-7426439 โทรสาร 02-3311618 อีเมล์ : editor@hiclassmagazine.com
Copyright 2004 www.hiclasssociety.com All Rights Reserved
|
|