|
หน้าแรก >
KARLAKUM > ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร โบราณว่า? |
|
ดิฉันก็ไม่ทราบว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่า ‘โลกนี้ดำเนินไปได้ด้วยความลำเอียง’ แต่ยอมรับเถอะค่ะว่า...ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ ความคิดดังกล่าวก็เป็นสัจธรรมที่เรามิอาจหลีกหนีได้ ความลำเอียงซึ่งมีชื่อจริงอันหรูหราว่า ‘อคติ’ นี้มีอิทธิพลเหนือชีวิตของมนุษย์ทั้งมวล ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตใจมนุษย์จะเข้าถึง และแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของวัฒนธรรม หรือหากจะพูดให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดก็ต้องบอกว่า ความลำเอียงนี่เองที่เป็นบ่อเกิดของอารยธรรม
ไม่ใช่ความลำเอียงหรอกหรือที่ทำให้มนุษย์พวกหนึ่งกดขี่มนุษย์อีกพวกหนึ่งว่าต่ำต้อย เกิดการแบ่งแยกชนชั้นและเหยียดสีผิว ไม่ใช่อคติหรอกหรือที่ทำให้ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเล่ห์สลับซับซ้อน และความลำเอียงนี่เองที่เป็นสิ่งตัดสินบทบาทและหน้าที่ของมนุษย์ซึ่งเพศสภาพแตกต่างกัน
อันที่จริงเรื่องทำนอง ‘ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน’นี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนานและไม่เคยล้าสมัยเลยสักที แต่การถกเถียงน้อยครั้งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ยิ่งถ้าวิจารณ์กันไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลาแล้วล่ะก็ ภัยจะตามาได้โดยง่าย เหมือนครั้งหนึ่งที่พระมเหสีของกษัตริย์สยามพระองค์หนึ่งต้อง ‘ตก’ เพราะทรงเขียนบทความประเด็นนี้ลงหนังสือพิมพ์ แม้เวลาต่อมาจะถือกันว่าพระมเหสีผู้อาภัพพระองค์นั้นทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาและเข้าพระทัยคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ อย่างลึกซึ้งก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าพระองค์ทรง ‘ผิดที่ผิดเวลา’ไปหน่อย
อ่านมาถึงตรงนี้คุณสุภาพบุรุษบางคนอาจจะรู้สึกฉุนเฉียวดิฉันบ้างไม่มากก็น้อย ไม่แปลกคนะคะ เพราะความรู้สึกนี้เป็นสันดานธรรมชาติของมนุษย์ผู้ซึ่งมีความทรนงในตนเองเป็นเจ้าเรือน แต่ดิฉันอยากจะขอให้คุณลองเปิดใจให้กว้างแล้วมองดูว่า นอกจากความแตกต่างนิดหน่อยของสรีระ ซึ่งเป็นข้อแม้ของธรรมชาติเพื่อให้เราทำงานประสานกันได้ดีแล้ว ผู้หญิงกับผู้ชายก็ไม่ได้มีความสามารถที่แตกต่างกันเท่าไรนัก
ส่วนตัวแล้วดิฉันมองว่าวัฒนธรรมโลกทำร้ายผู้หญิงค่อนข้างมาก ทำให้เพศแม่ไม่ค่อยจะได้ลืมตาอ้าปากหรือทำหน้าที่อื่นๆนอกจากเป็นลูกสาว เป็นเมีย แล้วก็เป็นแม่ แต่ผู้หญิงก้ไม่ได้นอนรอรับชะตากรรมไปวันๆนะคะ หลายครั้งที่พวกเธอลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง แล้วก็มีผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลก กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่ก็นั่นแหละค่ะ เมื่อเวลานานเข้าๆ ผู้หญิงก็พ่ยแพ้ต่อกระแสอันเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมอยู่ดี แล้วประวัติศาสตร์นั้นก็กลายเป็นตำนาน ในที่สุดตำนานก็กลายเป็นเทพนิยายเอาไว้เล่าให้เด็กฟังก่อนนอน
ยกตัวอย่างเรื่องศาสนา ซึ่งหลายๆคนมองว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามของสตรีนั้น จริงๆแล้วดิฉันมองว่าเกือบทุกศาสนาและลัทธิในโลกมีพื้นที่สำหรับสตรีเสมอ แต่ในเมื่อศาสนาได้ชื่อว่าเป็นหนทางสงบ ผู้หญิงซึ่งมีปรกติวิสัยวุ่นวาย ย่อมเชื่อมต่อได้ยากเป็นของธรรมดา
ในศาสนาพุทธ แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเห็นว่าสตรีเป็นเครื่องขวางกั้นจิตสงบของสมณะ ‘ประดุจเกาะแก่งกีดขวางการไหลเรื่อยของน้ำ’ ก็ตาม ในที่สุดพระองค์ก็ประทานพุทธานุญาตให้มีนักบวชหญิงเกิดขึ้นในศาสนาของพระองค์จนได้
เมื่อพระชนมายุ 40 ปี อันเป็นพรรษาที่ 5 หลังจากทรงสำเร็จโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้รับข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงพระประชวรหนักใกล้เวลาสวรรคต พระองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุได้เสด็จกลับไปกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเป็นครั้งสุดท้าย
คราวนั้นบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์แห่งศากยะโคตรได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมีสดับพระพุทธธรรมจากพระโอษฐ์และเป็นครั้งแรกที่จะได้เข้าเฝ้าแทบพระบาทหลังจากที่พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม หนึ่งในพระบรมวงศ์ที่ฝ้าแหนในครั้งนั้นคือพระนางปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา (น้า) ซึ่งทรงชุบเลี้ยงพระราชกุมารสิทธัตถะตั้งแต่พระชนมายุ 7 วัน เพราะพระมารดาสวรรคต พระนางปชาบดีโคตมีได้ทอดพระเนตรพระพุทธเจ้าทรงมีรัศมีพระวรกายผ่องใส พระจริยวัตรสงบงามสง่า ได้ฟังพระพุทธธรรมที่ลึกซึ้งและทรงพิจารณาธรรมนั้นตามลำดับจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีพระทัยใฝ่ในทางอุปสมบท
เมื่อพระพุทธบิดาสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไปประทับที่นิโครธารามนอกกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางปชาบดีเสด็จไปเฝ้า กราบทูลถามว่า ‘สตรีสามารถบวชในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่’ แต่พระพุทธเจ้าทรงบ่ายเบี่ยงตอบกลับไปว่า ‘สตรีอย่าได้ยินดีในการบวชเลย’ พระพุทธมาตุจฉาถึงกับทรงพระกันแสงเสียพระทัย พระนางปชาบดีทรงเพียรพยายามทูลอย่างนี้ถึง 3 ครั้งและพระพุทธเจ้าก็ทรงตอบแบบเดียวกันนี้ทุกครั้ง
หลังเสร็จกิจถวายพระเพลิงพระพุทธบิดา พระบรมศาสดาเสด็จกลับไปประทับที่กรุงไพศาลี คราวนั้นพระนางปชาบดีและสตรีบริวารจำนวนมากได้ปลงพระเกศา นุ่งห่มกาสาวพัสตร์เสด็จด้วยพระบาทเปล่าจาริกไปขอเข้าเฝ้าปรากฎว่ามิทรงอนุญาตอีก พระนางปชาบดีได้แต่ยืนกรรแสงคร่ำครวญที่หน้าประตูพระคันธกุฎี จนพระอานนท์เกิดสงสารจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า ‘สตรีเมื่อบวชแล้วสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงเฉกบุรุษได้หรือไม่’ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ‘สามารถ’ แต่เมื่อพระอานนท์ทูลขออุปสมบทพระนางปชาบดี กลับทรงปฏิเสธ พระอานนท์กราบทูลอ้อนวอนอยู่ ถึง 3 ครั้ง จนในที่สุดรับสั่งต่อรองว่าถ้าพระนางปชาบดีโคตมียอมปฏิบัติครุธรรม 8 ประการได้ ก็จะทรงอนุญาต อันประกอบด้วย
1. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว
2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
3. ภิกษุณีต้องไปถามวัตรอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น ได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
5. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน
6. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา
7. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ
8. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
นอกจากนี้ภิกษุณียังต้องถือศีล 331 ข้อมากกว่าภิกษุ เมื่อพระนางปชาบดีทรงตอบตกลง พระพุทธองค์จึงประทานอุปสมบทเป็นภิกษุณีองค์แรก และทรงบรรลุอรหันตผล ทรงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู คือเป็นเลิศในทางผู้มีประสบการณ์มาก
ศีลจำนวนมากและครุธรรมทั้ง 8 เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงมั่นพระทัยว่าสตรีมีข้อจำกัดมากมายในทางพระศาสนา จะด้วยอุปนิสัยตามเพศภาวะหรือข้อจำกัดด้วยสรีระก็ตาม แต่ในที่สุดภิกษุณีก็เป็นกำลังสำคัญอันหนึ่งในการเผยแผ่พระศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธในลังกาจำเริญมั่นคงขึ้นได้ด้วยการอุปถัมภ์ของภิกษุณีรูปหนึ่งซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชและเป็นพระขนิษฐาของพระมหินทรเถระ คือ พระสังฆมิตตาเถรี
พระภิกษุณีรูปนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าอโศกมหาราชให้อัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาลงเรือไปมอบให้กับลังกา ปรากฎว่าเมื่อเรือมาถึงฝั่ง พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งลังกาเสด็จลุยน้ำลงไปในทะเลลึกถึงพระศอ เพื่อรับกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ทูลเหนือพระเศียรขึ้นมาปลูกแล้วฉลองเป็นการใหญ่ คราวนั้นพระนางอนุฬาเทวีทรงเลื่อมใสวัตรปฏิบัติของพระเถรีจึงทูลของบวชพร้อมสตรีลังกามากมาย
ในปัจจุบันแม้ว่าภิกษุณีจะอันตรธานไปเป็นเวลานานแล้ว อันเป็นผลมาจากความยุ่งยากวุ่นวายของกฎเกณฑ์ซึ่งน้อยคนจะยอมทำตามได้โดยบริสุทธิ์สมความที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณามาแต่เดิม แต่วงศ์ภิกษุณีในลังกาก็ยังถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งและพยายามเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง แม้ในไทยเอง พระภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมกัลยาณี จังหวัดนครปฐมก็เป็นภิกษุณีสายลังกาวงศ์เช่นกัน
แม้ว่าจะเป็นที่ถกเถียงว่าการกำเนิดใหม่ของภิกษุณีในปัจจุบันต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่ก็ตาม สตรีที่เป็นอุบาสิกาทุกคนต่างก็มีส่วนในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะอุบาสิกาผู้สละโลกซึ่งเราเรียกว่า ‘ชี’ ซึ่งหลายต่อหลายท่านเป็นที่เลื่อมใสอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับศาสนาคริสต์ที่มี ‘ชี’ เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ศาสนา
เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา แม้ว่าชีจะไม่ได้รับการเคารพนับถือเท่ากับพระ แต่พวกเธอทำหน้าที่รับใช้พระผู้เป็นเจ้าด้วยความขยันขันแข็ง และถือเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการนำศาสนาเข้าไปสู่สังคม เพราะชีจำนวนมากเปิดสำนักอบรมเยาวชน เป็นรากฐานของศรัทธาที่เต็มเปี่ยมต่อไป
อย่างไรก็ตามในนิกายโรมันคาทอลิก ยังมีที่ว่างของสตรีในฐานะบุญราศีและนักบุญอีกมากมาย นับรวมถึงการให้ความสำคัญกับแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลอีกด้วย
มีเรื่องเล่าว่าเคยมีกระทั่งสมเด็จพระสันตปาปาที่เป็นผู้หญิง...!
ในฐานะผู้นำศาสนาซึ่งเคยมีอำนาจเหนือศาสนจักรและอาณักร ผู้รักษากุญแจประตูสวรรค์ และทายาทของนักบุญปีเตอร์ โป๊ปผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเป็นจริง ในมโนทัศน์ของคริสตชนทั่วโลก ในปี พ.ศ.2133 ขระที่เรื่องเล่านี้กำลังแผ่ขยายไปทั่วคริสตอาณาจักร สมเด็จพระสันตปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ได้ออกมาประกาศว่าคำร่ลือที่ว่าคริสตจักรเคยมีพระสันตปาปานามว่า โจอัน ซึ่งเป็นหญิงปลอมตัวมานั้น เป็นความเท็จ
ตำนานเรื่องนี้มีมากมายหลายสำนวน แต่ที่แพร่หลายที่สุดเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระสันตปาปาลีโอที่ 4 สิ้นพระชนม์ลง บุตรของพระองค์นามว่าจอห์น ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้แทน ต่อมาอีก สองปี สี่เดือน กับอีก 7 วัน ขณะที่โป๊ปจอห์นกำลังทรงม้าอยู่บนถนนสายเล็กๆในกรุงวาติกัน พระองค์รู้สึกเจ็บท้องและคลอดบุตรชายออกมา ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผลการสอบสวนปรากฎว่าที่จริงแล้วจอห์นเป็นหญิงชื่อเดิมคือ โจฮานนา แองลิกัส (Johanna Anglicus) ซึ่งเป็นธิดาลับๆของพระสันตปาปาซึ่งเพิ่งสิ้นพระชนม์ไป แต่ถูกซาตานแปลงร่างเป็นชาย ตำนานว่าต่ออย่างสับสนว่านางถูกตัดสินประหารชีวิต โดยยังหลงเหลือร่องรอยของรูปปั้นหินอ่อน, หลุมฝังศพปริศนา และเก้าอี้ซึ่งใช้ตรวจสอบเพศไอยู่ในวาติกัน แต่บางแห่งก็เล่าว่านางและบุตรชายถูกเลี้ยงดูอย่างดีในสำนักนางชี โดยการคุ้มครองของสมเด็จพระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 3 ซึ่งรับช่วงคริสตอำนาจต่อ
แน่นอนว่าไม่มีชื่อของสันตปาปาองค์นี้ในบัญชีพระนามสมเด็จพระสันตปาปา แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนมากมายสร้างสิ่งต่างๆ เช่น นวนิยาย และการค้นคว้าหลักฐานต่อ แม้แต่ไพ่ทาโรต์ใบหนึ่งก็เป็นรูปนักบวชหญิง เรียกว่าไพ่ High Priestess หรือ Popess ซึ่งสื่อความหมายถึงความผสมผสาน ความสมดุล ความเป็นคู่ ความเป็นรอง
แต่ในบริบทของศาสนา ดิฉันคิดว่าศาสนาพราหมณ์-อินดู คล้ายจะใจกว้างกับสตรีเพศมากที่สุด อาจเป็ฯเพราะหลักการคร่าวๆของศาสนานี้คือความสมดุลและการเคารพในหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่ละคน ดังนั้นผู้หญิงและผู้ชายในศาสนาพราหมณ์จึงมีเกียรติเท่าๆกัน ย้ำว่านี่พูดถึงบริบทของศาสนานะคะ
ตำนานกำเนิดโลกของพรามหณ์กล่าวว่า ทุกสรรพสิ่งในห้วงจักรวาลเกิดขึ้นด้วยอำนาจบันดาลแห่งพระปรพรหม หรือบางครั้งเรียกว่าปรมาตมัน พระปรพรหมนี้ไม่มีรูป ไม่มีปัจจัย ไม่มีภาวะ ที่สำคัญคอืคัมภีร์พราหมณ์ทุกสำนวนระบุตรงกันว่าพระปรพรหมเป็นนปุงสกลึงส์ คือไม่มีเพศที่แน่นอน ไร้เพศ หรือเป็นทั้งสองเพศก็ได้ ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงสร้างพระเป็นเจ้าและเทวดา จึงมีทั้งเทพเจ้าและเทวี ซึ่งเกื้อกูลกันและกันอยู่เสมอ
แต่ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่า หากพูดถึงสิทธิสตรีแล้ว คุณๆคงนึกไปถึงเรื่องของการใช้ชีวิต การทำงานและการเมืองอย่างแน่นอน
ดิฉันเคยได้อ่านพระราชปรารภในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถบทหนึ่ง ซึ่งทรงเล่าว่าผู้หญิงไทยนั้นเป็นคนเก่ง สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงเลือกที่จะทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือหน้าที่แม่ พระราชปรารภนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของผู้หญิง ขณะเดียวกันก็อธิบายภาพสิทธิสตรีในเมืองไทยได้อย่างเห็นภาพ
ส่วนในทางการเมืองนั้น ผู้หญิงไม่ได้ถูกกีดกันนะคะ เพียงแต่ผู้หญิงถูกวางไว้เป็นไม้สองสำหรับผลัดมือกับผู้ชาย เราเห็นได้จากกษัตรีย์ซึ่งมีรายพระนามมากมายในหลายวัฒนธรรม อาทิ พระนางคลีโอพัตรา (Cleopatra), พระนางเอสเธอร์ (Esther) , พระนางแห่งชีบา (Sheba) และพระนางโบดิเซีย (Boadicea) ซึ่งทั้ง 4 พระองค์นี้มีพระราชานุสาวรีย์เป็นไพ่ที่เราเล่นกันอยู่ทั่วโลก ซึ่งคุณๆที่คุ้นเคยกับการละเล่นชนิดนี้เรียกว่า ‘แหม่ม’
,พระนางซูสีไทเฮา, พระนางบูเชกเทียน,พระราชินีฮัตเชปซุต, พระราชินีแคทเธอรีนมหาราชินี เป็นต้น
ในกฎมณเฑียรบาลอยุธยาบ่งชี้ไว้ว่า ขุนนางชั้นสูงระดับเจ้าพระยาห้ามประชุมหารือกันโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นกบฏ แต่เมื่อจะมีขุนนางผู้ใดคิดการใหญ่ แม่และเมียของขุนนางเหล่านั้นั่นเองที่เป็นผู้แทนไปในการประชุมส่งข่าวและหารือนัดหมายกัน
แต่ดิฉันค่อนข้างแปลกใจนะคะที่สิทธิสิตรีในประเด็นหนึ่งมักไม่มีผุ้ใดนิยมนำมาพูดเท่าไรนัก นั่นคือประเด็นในทางเศรษฐกิจ ซึ่งสตรีมีบทบาทค่อนข้างมากและเป็นผู้นำมาตั้งแต่โบราณ สำหรับดิฉันไม่เคยสงสัยบทบาททางด้านนี้ของผู้หญิงเลยค่ะ เพราะหากอยากจะเข้าใจความเป็นไปของเศรษฐกิจยิ่งลงลึกระดับรากหญ้าเท่าใดก็ดี คุณต้องเชื่อใจผู้หญิงค่ะ เพราะพวกเธอนั่นแหละที่ปฏิสัมพันธ์กับวงการนี้โดยตรง ไม่ใช่พวกเธอหรือคะที่เดินตลาดจับจ่ายสินค้า ไม่ใช่พวกเธอหรือค่ะที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงหมดไปกับการช้อปปิ้ง ไม่ใช่พวกเธอหรือคะที่พินิจพิจารณาของที่จะซื้อแต่ละอย่างอย่างละเอียดเพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ ซื้อขาย, การกำหนดคัดสรรคุณภาพ ฯ ยิ่งผนวกกับนิสัยช่างคิด ช่างสงสัย คิดเล็กคิดน้อยของพวกเธอแล้ว ยิ่งต้องเชื่อมั่นค่ะ
อาจจะเป็นเหตุผลอย่างนี้เองทำให้ผู้หญิงเมื่อ 100 กว่าปีก่อนขึ้นไปได้รับเกียรติพิเศษให้เป็นผู้จัดเก็บภาษีตลาดและภาษีบ่อนเบี้ย ซึ่งเรียกชื่อตำแหน่งเก๋ไก๋ว่า ‘นายอากรตลาด’ มีหน้าที่เก็บส่วยอากรจากผู้ค้าขายในตลาดและโรงห่วย โรงบ่อน โรงฝิ่น รวบรวมเพื่อส่งส่วนกลาง โดยรัฐจ่ายค้าตอบแทนให้ตามแต่ความสามารถในการีรวบรวม ถือเป็นข้าราชการชั้นน้อย
บรรดาเจ๊ๆอากรตลาดเหล่านี้ จะมีบ่าวไพร่ทั้งหญิงชายมากมาย โดยพาะนักเลงที่ต้องออกไปเก็บเบี้ยอากร เห็นไหมล่ะคะว่าผู้หญิงเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการเศรษฐกิจจริง ๆ
ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี่ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ที่จริงแล้วสตรีไม่ได้ด้อยความสามารถอย่าวที่บางคนคิด แต่ในขณะเดียวกันโลกก้ไม่ได้ทอดทิ้งสตรีไปเสียทีเดียว สรรพสิ่งทุกอย่างมีที่ทางเป็นของตัวเองและต่างก็ต้องสัมพันธ์พึ่งพากัน อคติต่างหากที่ขวางกั้นให้เราไม่เข้าใจกัน
คุณผู้ชายจะได้สบายใจว่าดิฉันไม่ได้จ้องจะเอาผิดกับคุณ เรียกร้องสิทธิด้วยการเอาเรื่องเก่าๆขึ้นมาเล่าใหม่ๆทั้งที่รู้ว่าไม่เคยได้ผลเลย ส่วนคุณผู้หญิงก็จะได้รับดิฉันเข้าพวกด้วยอีกคน
อยากได้เท่านี้ล่ะค่ะ...
Text: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ
++++++++++++++++++++++++
อัพเดโดย : เบญจมาส วิชาสอน
วันที่ : 1 ก.ค. 53
editor@hiclassmagazine.com |
|
|
Share |
|
|
|
Untitled Document
เชิญทำข่าว / ฝากข่าวลงใน HI-CLASS SOCIETY ติดต่อ
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร HI-CLASS
32 สุขุมวิท 85 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260 โทร 02-7426439 โทรสาร 02-3311618 อีเมล์ : editor@hiclassmagazine.com
Copyright 2004 www.hiclasssociety.com All Rights Reserved
|
|