เชิดชัย จิรการุณย์พงศ์ กับ รถคลาสสิคสุดหวง Jaguar XJ 5.3 C ’1977

เหมือนดั่งพรหมลิขิตให้คนที่ต้องการมีรถซึ่งหายากและพร้อมพรั่งไปด้วยรายละเอียดและสมรรถแบบผู้ดีอังกฤษจากทศวรรษ 1980 อย่าง เชิดชัย จิรการุณย์พงศ์ ได้พบกับเจ้าเสือขาว 2 ประตู Jaguar XJ 5.3 C ’1977 แค่เพียงได้พบทำให้วันรุ่นขึ้นถึงกับไม่รอช้าจัดการจนกระทั่งได้มาครอบครองเป็นของส่วนตัว

“ผมน่าจะเป็นเจ้าของคนที่ 3 คันนี้ถูกนำเข้ามาในช่วงหนึ่งที่รัฐบาลเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์มือสอง ซึ่งเป็นช่วงที่จากัวร์ส่วนมากถูกนำเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว รุ่น Twelve นี้ ผลิตออกมาประมาณ 8,000 คัน โดยเป็นรถพวงมาลัยขวา 4,000 คัน ที่เหลืออีกครึ่งเป็นแบบพวงมาลัยซ้าย”

ซึ่งหากข้ามไปยังฟากอเมริกาจะเป็นที่รู้จักกันในรุ่น 12 C จึงมีชื่อที่นักขับทั่วไปรู้จักในชื่อ ‘Jaguar 12’ จนถึงปัจจุบันอายุอานามก็ปาเข้าไป 34 ปี แต่ยังดูโฉบเฉี่ยวไม่แพ้รถรุ่นใหม่เลยทีเดียว

“เครื่องยนต์ 5,300 ซี.ซี. แต่ว่าผมเองนั้นด้วยความที่ค่อนข้างทะนุถนอมรถจึงมีขีดจำกัดในการทำความเร็วสูงสุดแค่ 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแค่นั้นก็ไม่กล้าเหยียบแล้วเดี๋ยวเบรกไม่อยู่ (หัวเราะ) ตอนที่ได้เขามาสภาพไม่ได้เป็นแบบนี้แม้ว่าจะมีสีเดิมเป็นสีขาวแต่ก็หม่นหมองไปตามกาลเวลาโดยผมไปพ่นสีขาวเพิ่มใหม่ สำหรับหลังคายังเป็นของเดิมที่เป็นหลังคาหนัง Hard top ซึ่งเป็นมาตรฐานของรุ่น”

“แฟนผมเขาไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่เขาก็ไม่ได้ห้ามนะครับเมื่อเราชอบก็ซื้อ คันนี้ผมเจอโดยบังเอิญนะอยู่ในเต้นท์หนึ่งผมเห็นแล้วก็ขอซื้อจากเขามาเร็วขนาดที่ว่าเห็นวันนี้พอวันรุ่งขึ้นก็ไปขอซื้อเลยล่ะ แต่สภาพตอนนั้นที่ผมเห็นไม่ได้เป็นอย่างเราได้ดูในตอนนี้นะ เพราะเจ้าของเดิมเขาไปแปลงเป็นซีรี่ย์ 3 ซึ่งมันไม่ใช่ของที่เขาเป็นผมใช้เวลานานถึง 1 ปีกว่าในการซ่อมแซมจนใช้ได้ จนถึงวันนี้เขามาเป็นของผมได้ 3 ปีแล้วล่ะ”

“มันเป็นรถที่ผมว่าเรียบร้อยดีนะและที่สำคัญคือขับนิ่ม ผมชอบมาตั้งแต่นานแล้วล่ะแต่ว่าหาซื้อที่ถูกใจแบบ 2 ประตูไม่ค่อยมีซึ่งจะว่าไปก็มีเหมือนกันแต่มันมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 4 ประตูมากกว่า แล้วเผอิญรุ่นนี้เป็นเครื่องใหญ่ผมจึงรีบซื้อไว้เพราะโดยมากจากัวร์รุ่นนี้แบบ 2 ประตูนั้นเป็นเครื่องยนต์เล็กคือ 4.2 เครื่อง 6 สูบ

“คันนี้เป็นรถที่ดีนะแต่ว่าคุณต้องมีเวลาดูแลมันพอสมควรนะเพราะเรื่องเครื่องยนต์นั้นค่อนข้างจุกจิก การจะใช้เขาก็ต้องระวังถ้าหากไปวิ่งรถติดๆ ในเมืองมันไม่ดีนะ แต่โชคดีที่ผมอยู่ชานเมืองจึงมีโอกาสได้ใช้งานเขาบ่อยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งถ้าเลือกขับคันนี้ก็เลือกขับไปยังจุดหมายใกล้ๆ ในรัศมีสัก 20 กิโลฯ กำลังดีและเราก็สบายใจ แต่เรื่องที่จะขับไปชายทะเลก็ยังไม่อยากใช้งานเขาหนักขนาดนั้น

“เวลาล้างรถผมก็ต้องล้างเองไม่กล้าล้างโดยใช้เครื่องล้างรถ การบำรุงรักษานั้นค่อนข้างยากนะช่างซ่อมก็หายาก เครื่องยนต์รุ่นนี้ในบ้านเรามีคนซ่อมน้อยจึงใช้เวลาซ่อมถึงปีกว่าๆ แต่สำหรับอุปกรณ์ด้านในนี่เป็นของเดิมที่ใช้งานได้มาถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งเกียร์ออโตเมติกก็เป็นของเดิมที่ยังใช้ได้ดี มีจุดที่ไม่ใช่ของเดิมอีกอย่างหนึ่งคือเบาะที่เราต้องหุ้มใหม่ยิ่งมาอยู่ในเมืองร้อนด้วยก็ทำให้สภาพของเบาะหนังเสื่อมไป ส่วนคอนโซล หน้าปัดไม้ก็เป็นของเดิมที่เป็นแผ่นไม้จริงที่มีลายเนื้อไม้เงาจากการขัดอย่างพิถีพิถันให้สัมผัสที่เราจับดูแล้วนุ่มมือและ นี่คือคุณสมบัติของรถอังกฤษที่มันละเอียด ”

“เอาไว้ใช้ขับแบบโฉบฉวยฉุยฉายคันนี้ดีทีเดียว แต่ถ้าคาดหวังว่าจะเอาไปใช้สมบุกสมบันในชีวิตประจำวันมันไม่ได้นะ เพราะมันเป็นรถที่อยู่เมืองหนาวไม่ใช่รถเมืองร้อนซึ่งเราต้องระมัดระวังในการใช้งาน”

เมื่อคืนรูปกลับมางามอีกครั้งก็ต่างมีผู้นิยมชมชอบต่างแวะเวียนมาขายขนมจีบอยู่ไม่ขาดสาย แต่เจ้าของยืนยันเป็นเสียงเดียวชนิดที่ทำให้หลายต่อหลายคนต้องอกหักไปตามๆ กันว่า  “มีคนมาถามขอซื้อแต่ผมบอกว่ายังไม่ขายเอาไว้ก่อนผมยังแฮปปี้ที่มีเขา เป็นรถที่ผมหามานานแล้ว”

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-267 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...