วรวรรณ ธาราภูมิ Smart & Happy Money Guru รวยน้ำใจ รวยทรัพย์ รวยปัญญา รวยอารมณ์ขัน

worawan001

เกือบ 30 ปี ในแวดวงการเงินการลงทุน ส่งให้ชื่อ  “วรวรรณ ธาราภูมิ” เป็นอันดับต้นๆ ที่ผู้คนรู้จักและยกให้เป็นไอคอนด้านการลงทุน เป็นทั้ง พี่ตู่ ป้าตู่ ของเพื่อนพ้องในแวดวง และประชาชนทั่วไปที่ติดตามรายการที่เคยจัดและติดตามอ่านในเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/people/วรวรรณ-ธาราภูมิ)

ในวัย 64 ปี วรวรรณ ยังไม่เกษียณ ยังสนุกกับการทำงานในหลายบทบาทหน้าที่ ได้แก่ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ท่ามกลางภารกิจหน้าที่การงานรัดตัว เธอยังสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัวเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ และทำภารกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบ

การลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม

โดยตำแหน่งหน้าที่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านองค์กร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ชื่อ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” (BKIND) จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด “กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง”

เป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ หรือ Impact Investment เป็นเรื่องที่มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยการลงทุนรูปแบบนี้ เป็นการสนับสนุนเงินทุน เพื่อหวังผลต่อสังคมอย่างจริงจัง หวังให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน ต่อยอดความคิดของผู้ประกอบการ หรือองค์กรให้หันมาทำประโยชน์เพื่อสังคม และให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น โดยที่สหรัฐอเมริกา และในตลาดทุนของประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายแห่ง เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ Impact Investment

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี กองทุน BKIND ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 46 โครงการ ครอบคลุมปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Good Governance) และ ต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption) ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน เช่น โครงการสุจริตไทย ก่อตั้งขึ้น ภายใต้แนวคิดว่า “ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์จากการคอร์รัปชัน” โครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” จ.ลพบุรี โดยโครงการนี้ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะติดบ้าน ติดเตียง และขาดทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาล โดยใช้โมเดลผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนกันเอง

“ชอบทำอะไรที่มัน Real ทำแล้วมันเกิด Impact กับสังคมจริงๆ ไม่ชอบงานที่ทำเพื่อเอาภาพเท่านั้น ซึ่งที่เราทำผ่านองค์กรก็มี กองทุนรวม คนไทยใจดี เป็นกองทุนแรกของไทย ที่ต่างชาติมาขอสัมภาษณ์บ่อย ทาง World Bank มาขอเราเป็นโมเดล เพราะไม่มีกองทุนไหนที่แบ่งเงินรายได้ในการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน เพื่อสนับสนุนโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้มากเท่านี้

อย่างเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องยากที่เราจะบอกให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม ลดความสะดวกสบายส่วนตัวลงเพื่อส่วนรวม แต่ถ้าเราไม่ทำกันเลยไม่ได้ เราทุกคนค่อยๆ ทำไป ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด มันไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันจะลด

ตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้ คือ ฝุ่น เกิดจากการสะสมของทุกๆ คน  การเผาไหม้หรืออะไรหลายๆ อย่างประกอบกัน แต่นโยบายรัฐไม่มีเรื่องนี้ ประเทศเราก็ยังถือว่าไม่พัฒนาเลยเรื่องนี้ คนทำธุรกิจก็คิดแต่ธุรกิจ ไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อภายนอก ถ้าเราไม่ช่วยกันเริ่ม ทุกคนก็ได้ผลกระทบกันไปหมด คุณจะเอาแค่สะดวกสบายตัวคุณเองในระยะสั้นหรือ ไม่มีใครอยากมีต้นทุนเพิ่ม แต่ถ้าทุกคนไม่ยอมก็โดนกันไปหมด

กฎเกณฑ์ของรัฐก็ต้องมี เช่น ถ้าบริษัทไหนทำธุรกิจโดยคิดถึง เอสซีจี (SCG) ได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีต่างๆ  แทนที่จะเก็บภาษีจากคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ควรจะมีอย่างอื่นเพิ่ม เก็บภาษีธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะๆ หรือภาษีน้ำตาล ภาษีอากาศหายใจ ธุรกิจที่เขาทำดีก็สนับสนุนเขา”

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ถกกันมากในช่วงนี้ และมีทิศทางที่ดี เพราะคนเจเนเรชั่นใหม่ให้ความสำคัญมากกว่าคนรุ่นกินหมากกินพลู

“คนไทยเราเรื่องสิ่งแวดล้อมยังให้ความสำคัญน้อย แต่น่าดีใจที่ได้เจอเด็กรุ่นใหม่ อายุยี่สิบกว่าถึงสามสิบต้นๆ เพิ่งจบมาจากต่างประเทศ เขาสนใจทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก

เรื่องความรับผิดชอบ เป็น อยู่ คือ รอบตัวเรา ที่เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม เราทุกคนทำกันได้ การทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น”

worawan003

ธนาคารเวลา…อนุสาวรีย์ชีวิต ภารกิจที่ภาคภูมิใจ

วรวรรณ บอกว่า “ในชีวิตหนึ่งของมนุษย์ ควรมีอนุสาวรีย์ชีวิต” ซึ่งเธอเองก็ได้ก่อร่างสร้างอนุสาวรีย์ชีวิตไว้หลายอย่าง ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าว และปิดทองหลังพระ ทว่าในช่วงเวลานี้ สิ่งที่วนเวียนอยู่ในความคิด คือ “ธนาคารเวลา” (Time Bank) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยากทำ ให้เกิดขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า

เธอได้ไอเดียธนาคารเวลามาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีมา 46 ปีแล้ว ก่อตั้งเป็นที่แรกของโลก โดย เทรุโกะ มิซุชิมะ ผู้มีแนวคิดใช้เวลาทำงานช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน แต่เปลี่ยนจากเงินเป็นเวลา แล้วนำเวลาไปออมในบัญชีธนาคาร ในอนาคตถ้าต้องการให้คนอื่นมาช่วยเราบ้าง ก็ไปเบิกเวลาจากธนาคารที่ฝากเวลาไว้แล้วธนาคารจะส่งคนที่เป็นสมาชิกมาช่วยเหลือเตามเวลาที่เราฝากไว้นั่นเอง

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนแก่เยอะ แต่คนดูแลคนแก่น้อยลง ส่วนใหญ่มีแต่คนแก่ดูแลกันเอง คนหนุ่มสาวน้อย ดูแลในที่นี้ คือ พาไปช็อปปิ้ง ดูหนัง หาหมอ ตัดผม คือเป็นเพื่อนกัน ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ ก็ทำกันแล้ว มีอีกหลายประเทศที่สนใจเรื่องธนาคารเวลา

เพิ่งเริ่มสนใจธนาคารเวลาเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง คุยเรื่องธนาคารเวลาตรงนี้เป็นที่แรก ช่วงนี้คิดแต่เรื่องนี้ สนใจมาก น่าจะเป็นอนุสาวรีย์อันหนึ่งของแต่ละคนสร้างให้ตัวเอง แต่เราไม่รีบ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันศึกษา รัฐบาลใครมาก็ช่างมัน เรามีโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ ทำเล็กๆ ไปก่อน

ที่สนใจเพราะ หนึ่งเรามองเห็นซอฟต์แลนดิ้งของตัวเอง ไม่ใช่ฮาร์ดแลนดิ้ง แก่มาแล้วชีวิตกระแทกพื้น สองไม่จำกัดแค่กลุ่มคนสูงอายุดูแลกันเอง กระจายไปทุกวัย เราเห็นเด็กจำนวนมากอยากใช้เวลากับสังคมที่ดี งานนี้เขาได้เซฟเวลาเพื่อตัวเองในอนาคต ซึ่งอยากทำให้เป็นรูปเป็นร่างใน 2-3 ปี ก็จะชวนคนอื่นๆ ที่สนใจ คุยกันในวงเล็กๆ ก่อนค่อยขยาย คิดว่ามีคนสนใจมากแต่เราต้องคัดคน สิ่งสำคัญต้องเอาผู้ร้ายออกให้ได้ (หัวเราะ)

แล้วต้องนำแนวคิดนี้ไปจัดการปรับให้เหมาะสมกับบ้านเรา ทำให้คนเริ่มเข้าหาคนอื่น ไม่เป็นสังคมที่ทอดทิ้งกัน ซึ่งเหมาะกับบ้านเราที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วมีปัญหาความต่างของยุค มีการเมืองมาผสมโรง ถ้ามีเวลาแบบนี้ก็จะช่วยดึงเขาไว้ได้ ธนาคารเวลามีประโยชน์เยอะ การใช้เวลาให้ถูกต้อง แปรไปเรื่องของสุขภาพได้ด้วย ถ้าสะสมตั้งแต่เด็กก็ดี ”

ธนาคารเวลา สามารถก่อเป็นรูปร่างได้ จากจุดเริ่มต้นของคนที่มีใจเป็นจิตอาสา เพราะหากประวิงเวลารอให้รัฐบาลสนใจ หวังรอผลักดันให้เป็นวาระของชาติ เราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นธนาคารเวลาในประเทศไทย

worawan002

เงินทองต้องรู้ ต้องวางแผน

คนไทยเราเรื่องการวางแผนการเงินยังเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งที่เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องจำเป็นของปากท้อง เมื่อสั่งสมประสบการณ์ ถึงจุดหนึ่งวรวรรณมีแนวคิด อยากถ่ายทอดให้คนไทยได้ตระหนักถึงการเก็บอดออม เพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือยามแก่เฒ่า

“เรื่องการเงินที่ได้รับรู้มาตั้งแต่เด็กมีอย่างเดียว มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ไปตลาดฟาดให้เกลี้ยงอย่าเหลือหลอ เจอของดีฟาดให้เกลี้ยงอย่ารีรอ (หัวเราะ) แต่เราซึบซึมเรื่องการเงินที่บ้านคุณยายใหญ่ ไม่ได้สอนด้วยปาก แต่ทำให้เห็น อย่างเวลาลูกหลานมาบ้านอยุธยา คุณยายจะหากุ้งแม่น้ำดีๆ มาให้กิน ให้ทุกคนกินก่อนแล้วคุณยายกินที่เหลือ ตอนเด็กๆ เราก็งง ไม่ได้คิดอะไร แต่มันจำ พอโตเราก็รู้ว่า การให้ลูกหลานกินดีอยู่ดีเรามีความสุข คุณยายประหยัดในส่วนของคุณยายแต่ให้ลูกหลาน

ตอนเด็กๆ ก็พับถุงกระดาษ พับเร็วที่สุดเลย คุณยายไม่ได้บังคับ แต่เราเห็นเป็นเหมือนของเล่นสนุก หรือเวลามีคนเอาปลามาให้ คุณยายก็จะแล่ตาก ไม่มีเศษอะไรเหลือ น้ำพริกกะปิเหลือเอาไปทำแกงรัญจวน ซึ่งสิ่งเรานี้เราเห็นจากการใช้ชีวิตปกติ แล้วเราก็ซึมซับ

พอมาอยู่อุตสาหกรรมการเงินการลงทุน 25 ปี ทำให้เราสั่งสมความคิดเรื่องการเงินขึ้นมา เราสามารถเผยแพร่ให้ครอบครัวไทยเข้าถึง เข้าใจเรื่องเงินๆ ทอง เพราะเราเองก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก

เรื่องของการเก็บเงินไม่มีในหัว ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าเราจะต้องแก่ไม่มีรายได้อื่น  ถ้าไม่ผูกมิตรกับเจ้าอาวาสก็เตรียมแก่ลำบากได้เลย ถ้ายังไม่รู้จักลงทุนเก็บเงิน อยากให้ทุกคนรู้เรื่องนี้ และเราเองในตลาดทุนก็เป็นลีดเดอร์ เขียนบทความแนวคิด ให้คนรู้จักวางแผนการเงิน รู้จักตัวเอง รักครอบครัว คิดเรื่องเงิน เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ได้บอกให้ทุกคนบ้าเงิน

เรา (บัวหลวง) เป็นแห่งแรกในอุตสาหกรรมกองทุนที่ให้ซื้อกองทุนขั้นต่ำ 500 บาท สมัยก่อนถ้าให้ออมทุกเดือน 5000 บาท เงินเดือนใช้ไปก็ไม่เหลือมาออมแล้ว เราก็ลดลงมา 500 บาท แต่ถ้า 500 บาท ยังเริ่มไม่ได้ยังไม่ต้อออม รอให้มี 500 บาท ค่อยมาออม

โชคดีที่ตอนนั้นทำรายการ เงินทองไม่ต้องเครียด อยู่ช่วงหนึ่งประมาณ 4 ปีที่แล้ว เราไม่ได้อยากดัง แต่อยากให้เรื่องการออมการลงทุนไปสู่คนจำนวนมาก ทำให้การเงินเป็นเรื่องเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม เราพูดแบบบ้านๆ ให้คนเก็ต ใส่ความสนุกสนานเข้าไป เพราะคนที่ไม่ค่อยรู้ปัญหาการเงินก็คือชาวบ้าน

จากการทำตรงนั้นได้ผล (หัวเราะ) ไปตลาดคลองเตยแม่ค้าแถมของเยอะมาก เรียกคุณตู่ๆ  ไปโรงแรมพนักงานเปิดประตูก็บอก หวัดดีครับป้าตู่ ผมออมทุกเดือน ผมรู้ว่าตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง แต่ออมตรงนี้มีผลระยะยาวครับ เขาพูดประเด็นที่เราอยากบอกให้ชาวบ้านเข้าใจ จะไปสนามบินก็เจอคนทักคุยเรื่องการออม ทำให้เห็นว่าเราเข้าถึงทุกกลุ่ม ระดับบนเราไม่ทิ้ง  แต่เราให้ความใส่ใจกับคนกลางๆ ไปถึงล่าง ถ้าเขาเข้มแข็ง เข้าใจการเงิน ครอบครัวก็จะไม่แตกแยก ปัญหาครอบครัวระหว่างเงินกับผัว ฉันก็เลือกเงิน (หัวเราะ) ได้ทองเท่าหัว ใครจะเอาผัวก็เอาไป สังคมไม่แตกแยก ประเทศก็ดี

การเงินเราต้องทำให้เป็นเรื่องสนุกสนาน ปกติสามัญในชีวิต ไม่ใช่โปรโมตเป็นนักลงทุนแบบนักเล่นการพนัน ทำให้เป็นเรื่องของปากท้อง

ตอนนี้คนไทยเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ถือว่าดีขึ้นเยอะ แต่ต้องทำให้มากขึ้น ต้องทำต่อเนื่อง เราต้องเก็บออมด้วยตัวเราเอง อย่ารอเรื่องระบบการศึกษาสอนการลงทุน เพราะเรื่องการเงิน ต้องบอกว่าเราไฟว์เรื่องนี้มานาน เคยเอาหนังสือที่ตลาดหลักทรัพย์ช่วยกันเขียนกับพวกเราไปสอน ก็หาย ไม่ต้องความช่วยเหลือในระบบการเมือง รัฐบาล เราต้องช่วยตัวเองก่อน”

ทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง

นอกจากการวางแผนเรื่องการเงินการลงทุนแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง วรวรรณแทบจะไม่ได้กะเกณฑ์อะไรกับชีวิต เพียงมีสิ่งหนึ่งที่ยึดเป็นสิ่งสำคัญ คือ ขณะปัจจุบันทำให้ดีที่สุด

“ไม่เคยวางแผนว่า เราจะต้องทำงานอะไร ต้องไปตำแหน่งไหน อย่างเดียวที่ทำคือวางแผนการเงิน เรื่องของโอกาสมีมาก็ปล่อยหลายครั้ง รู้สึกไม่ใช่สำหรับเรา เราดีไม่พอหรือเราดีเกินไปก็มีนะ (หัวเราะ) ต้องรู้ว่าจังหวะไหนเหมาะกับตัวเรา ไม่ได้ตั้งเป้า ปล่อยไปตามธรรมชาติหมด พอเรามีหน้าที่อะไรก็ทำเต็มที่

เวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาวันนี้ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่วันพรุ่งนี้ ถ้าเราผ่านวันนี้ได้ดี มีความเจ็บปวดในอดีตก็จบ อนาคตก็มีรากฐานจากวันนี้

ความจริงใจ ไม่โกหก ความซื่อสัตย์ ความสามารถ มีทีมงานที่ให้เกียรติกันและกัน กล้าสร้างคน เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ”

ยามเจอวิกฤติปัญหาก็มีหนทางในการจัดการ

“ไปเชียงใหม่ไม่ได้มีเส้นทางเดียว เมื่อมีปัญหาถ้าเกิดจากการทำงานของทีมยังไม่ต้องไปหาว่าใครทำแล้วลงโทษ แต่ให้หาสาเหตุแล้วแก้ไขก่อน จากนั้นจึงไล่เรียงว่าใครทำ เพราะอะไร แล้วช่วยกันวางระบบวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอีก

ในการทำงานก็มีทั้งทำเป็นทีมและใช้ความสามารถส่วนตัวเมื่อมีงานอะไรก็ทำทำให้ดีที่สุด เวลาตัดสินใจก็ต้องคิดถึงผลดีเสียอย่างรอบคอบเมื่อได้ Solution แล้วก็ต้องกล้าเสี่ยง เมื่อมีภาระงานมากก็ไม่ท้อ ลูกท้อเขามีไว้ให้ลิงถือ”

เมื่อมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ก็ส่งต่อสู่อิสรภาพในการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ได้

“ทำมาหลายอย่างแล้ว งานก็ทำมาเยอะ มี 2 ปีหลังที่มีคนมารับตำแหน่งซีอีโอแทนเราก็มีเวลามากขึ้น สิ่งที่อยากทำมากที่สุด คือ อ่านหนังสือ

ซื้อหนังสือจากอินเตอร์เน็ต เดือนละ 50 เล่ม อ่านหมดทุกแนว แต่ช่วงนี้ชอบอ่านนิยายจีน ได้หลายๆ อย่าง ได้ประวัติของเขาที่มีการแต่งเติม ประเพณี ได้ภาษาบ้าง ได้ความคิดของนักปราญช์สมัยโบราณของเขา ได้ความบันเทิง บางเรื่องอ่านขำมาก

แต่ก่อนอ่านหมดนิยายไทย ฝรั่ง ชอบเรื่องประวัติศาสตร์มาก เป็นการเรียนรู้คน เรียนรู้ที่มาที่ไป ถ้าคนเราไม่มีรากไม่รู้จะเดินไปทางไหน อ่านประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนทางนี้คิดแบบนี้ คนทางนี้คิดต่าง ก็เป็นการสอนตัวเรา ทุกวันนี้อ่านก็ยังได้ประโยชน์

อย่างเรื่องของพม่า เราเรียนมาต้นฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไทยฮีโร่มาก หรือนิยายไทย นางเอกไทยก็อภินิหาร เซเลอร์มูนก็สู้ไม่ได้ ไปอ่านประวัติศาสตร์ไทยพม่าที่คนอังกฤษ คนดัตช์เขียน คนพม่าเขียนก็ได้อีกมุมหนึ่ง อ่านหลายๆ ด้านก่อนตัดสิน อ่านโดยไม่โกรธเคือง อ่านแล้วเข้าใจ แต่ละที่บันทึกไม่ได้จริง 100 เปอร์เซ็นต์ เขาเขียนด้วยความเชื่อของเขา ด้วยคัลเจอร์ของเขา เราเรียนแบบนี้ทำให้เรามองอะไรได้ชัดเจนขึ้น นิยายไทยก็ชอบอ่าน เพชรพระอุมา ศิวาราตรี ของพนมเทียน ชอบมาก ของทมยันตีก็อ่าน”

ไม่ได้เป็นเพียงเป็นนักอ่านตัวยัง วรวรรณยังเป็นนักคิดนักเขียนด้วย ใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์ แฟนเพจเฟซบุ๊ค เพื่อสื่อสารระหว่างเธอกับผู้อ่าน ซึ่งนำเสนอมุมมองแนวคิด ทั้งเรื่องการเงิน การเมือง สังคม หลายประเด็นที่สื่อสารออกไปก็เปลืองตัว หากเป็นคนดังหลายคนคงไม่พูดเขียนเรื่องที่จะทำให้เปลืองตัว หากแต่วรวรรณคิดต่าง

จากนักบริหารการเงินสู่เนตไอดอลรุ่นใหญ่สายการลงทุน

“เริ่มเล่นเฟซบุ๊ค จากที่ไม่เป็นเลย เข้ามาก็ลุยเลย เขียนๆ เลย เพราะต้องการให้คนเข้าใจเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ช่วงแรกที่เขียน วิกฤติอเมริกัน เป็นซีรี่ส์แรก 20 กว่าตอน เป็นสิ่งใหม่ ตอนนั้นไม่มีใครคิดแบบนี้ คนติดตามอ่านเยอะขึ้นๆ ก็เริ่มไปเขียนเรื่องอื่น เป็นช่องทางในการสื่อสารส่วนตัว ถ้าตลาดมีแพนิคก็ออกมาเขียน เดิมให้สัมภาษณ์ แต่เรามาเขียนเองเต็มร้อยมากกว่า

เขียนทุกอย่างที่คิดว่า เป็นตัวตนของเรา มีวิธีการเขียน ทุกครั้งก่อนจะเขียนคิดว่า คนจะอ่านเข้าใจไหม ภาษาที่ใช้อย่าเยิ่นเย่อ พุ่งประเด็นเลย อยากให้คนที่อ่านรับรู้เรื่องอะไร ก่อนรบต้องเตรียมให้พร้อม เผื่อพลาดต้องทำยังไง คิดไว้ด้วย

อย่างเรื่องการเมือง มีหลายกลุ่ม หลักๆ 2 กลุ่ม แต่เรามองกลุ่มที่ 3 ที่เข้าใจหลุดพ้นจากคน 2 กลุ่ม เข้าใจภัยคุกคามจากชาติต่างๆ ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยก

เราต้องสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราศึกษาคนที่อยู่ในเฟซบุ๊คด้วยนะ เขาตอบอะไรมาอ่านทุกอัน เราได้เห็นพัฒนาการของเรา Relation ถึงไหน เขาเข้าใจสิ่งที่เราเขียนถูกต้องไหม บางคนมีความคิดอื่น แต่ละช่วงแฟนคลับของเราแบบไหน เขาแชร์ต่อส่งให้กลุ่มของเขาอ่าน

คนติดตามเรามาจากการเงิน แต่หลังๆ มาเรื่องการเมืองสังคม ความคิดเห็นต่างก็มี เข้ามาถล่มอวัยวะเพียบ เดิมลบความคิดเห็นแบบนี้ตอนนี้ไม่ลบ เราไม่สน ใครจะพูดอะไร คนอื่นเขากลัวเปลืองตัวก็ไม่มาเขียนแบบนี้หรอก แต่มาเชียร์ให้เราเขียนเจอแบบนี้ตลอด(หัวเราะ) เราไม่ได้กลัวกระทบหน้าที่การงาน คนอื่นแยกแยะไม่ได้ปัญหาของเขาไม่ใช่ของเรา รู้จักวางตั้งแต่เล็ก เป็นธรรมชาติของเรา คนมาด่าว่าเรา เราทำให้มันเป็นแผลในใจเราเอง เราทำตัวเป็นเครื่องรับ กระจายมันออกไป อย่าไปจับ”

ทุกวันนี้วรวรรณเป็นต้นแบบที่หลายคนชื่นชอบ ส่วนตัวเธอเองก็มีคุณยายใหญ่เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต “คุณยายใหญ่สอนโดยไม่พูด แต่ทำให้ดูทุกอย่าง การกระทำอย่างเดียว ทำงานไม่หยุด ทำนั้นนี้ในบ้านให้เห็น สิ่งหนึ่งในชีวิตที่ไม่เคยเห็นเลย คือ คุณยายใหญ่ไม่เคยนินทาใคร แล้วเรื่องความยุติธรรม เรื่องการเงิน”

เราสามารถจัดการบริหารความสุขได้

ความสุขเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เราสามารถจัดการบริหารความสุขได้ “ไม่มีวันไหนที่ไม่หัวเราะ ตั้งแต่เด็กๆ ชอบแกล้งคน มีอารมณ์ขันเยอะ วันไหนไม่หัวเราะคงไม่มี เวลามีความเครียดก็ขำในความเครียด โดยนายด่าก็แหมนายโคตรปากเหม็น น้ำลายกระเด็นโดนหน้าเรา (หัวเราะ)  เราเห็นมุมอื่นที่คนอื่นกำลังหมองอยู่ เป็นคนความคิดบรรเจิด ความคิดเป็นภาพตลอดก็ขำขึ้นมา

ความสุขสร้างง่ายๆ ที่ตัวเราเอง คิดอะไรมากมาย ตอนเด็กพ่อไปส่งที่โรงเรียน รถติดมีจราจรยืนโบก เราก็เปิดหน้าต่างรถดึงเอาปืนของจราจรมา พ่อหันมาตกใจที่ถือเรามีปืน พ่อต้องจอดรถวิ่งเอาปืนไปคืนจราจร เราก็หัวเราะลั่นในรถ พี่น้องเดินผ่านเราสะดุ้งทุกคนกลัวโดนแกล้ง แต่โตมาไม่แกล้งแล้ว

ความสุขในแต่ละช่วงวัยปรับเปลี่ยนไปตามอายุ ตอนเล็กๆ แค่ได้กินอิ่ม ได้ทำเรื่องสนุก ได้กลั่นแกล้งคนก็สุขล้นแล้ว พอเข้ามหาวิทยาลัยความสุขก็เปลี่ยนไปเพราะมีเรื่องเพื่อน เรื่องความรับผิดชอบในการเรียน เริ่มอยากทำงานที่ตัวเองรัก เมื่อทำงานแล้วก็อยากก้าวหน้า อยากมีตำแหน่งอยากมีเงิน อยากประสบผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ อยากมีคู่ชีวิตที่ดี อยากให้ลูกเป็นอภิชาตบุตร

พอถึงวัยปลาย ความสุข คือ การมองกลับไปแล้วเราเห็นรอยเท้าของเรา เห็นคุณค่าที่เราเคยสร้างเคยทำให้ส่วนรวม และพอมองไปข้างหน้าก็เห็นความสุขในวัยต่อจากนี้ น่าจะเป็นการมีสุขภาพดี การได้ทำสิ่งมีคุณค่าแก่คนในวงกว้างกว่าเดิมภายใต้ข้อจำกัดที่ทำได้ตามอายุ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรวัยไหนก็ต้องมีความพึงพอใจมีความเพียงพอต่อความสุขช่วงนั้นๆ โดยไม่ต้องเอาตัวเราไปเทียบกับใครเมื่อมีความสุขแล้วก็ต้องรู้จักหยุดรู้จักใช้เวลาชื่นชมในความสุขที่มี มิฉะนั้นจะไม่เคยมีความสุขในชีวิตเลย ถ้าเรามัวแต่หาในสิ่งที่ขาดก็จะพลาดในสิ่งที่มี มัวแต่หาในสิ่งดีๆ สิ่งที่มีก็จะหายไป”

อย่าเหมารวมว่าคนทำงานเกี่ยวกับการลงทุนจะเคร่งเครียด เพราะถ้าคนใกล้ชิดสนิทสนมเสียงที่ได้ยินจาก วรวรรณบ่อยที่สุด คือ เสียงหัวเราะ

line

Text & Photo: มัลลิกา นามสง่่า

 

 

 

 

 

 

 

Related contents:

You may also like...