ปรีชา ส่งวัฒนา

preecha-001

สำหรับแฟชั่นนิสตาในเมืองไทย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จโด่งดังไกลไปสู่ระดับสากลและมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจ อย่าง FLY NOW และบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจนั้นก็คือ คุณปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท FLY NOW ซึ่งเริ่มต้นก้าวแรกจากบริษัทเล็กๆที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน จนกระทั่งผ่านร้อนผ่านหนาวเติบโตฝ่าวิกฤตมาสู่บริษัทที่มีสาขามากมาย ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ผมเริ่มทำธุรกิจของ FLY NOW ตั้งแต่ปี 2526 เริ่มธุรกิจมาจากพนักงาน 14 คน ขยายเจริญเติบโตมาเรื่อยๆ จนมาถึงปี 2540 บริษัทก็เจอวิกฤตเหมือนหลายๆบริษัท เราก็ฟันฝ่าต่อสู้มาจนผ่านวิกฤต เปิดเป็นแฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤต ขยายจาก 1 สาขามาเรื่อยๆตอนนี้มี 7 สาขาในปัจจุบัน”

กลุ่มบริษัท FLY NOW ซึ่งมีธุรกิจในกลุ่ม 7 แห่ง ได้แก่ 1) บริษัท แอท แบงค็อก จำกัด ดูแลแบรนด์FLY NOW2) บริษัท เพาเวอร์ นาว จำกัด ตัดเย็บเครื่องแบบให้กับธนาคารและองค์กรต่าง ๆ 3) บริษัท นีโอ คีย์ จำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง 4) บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด 5) บริษัท ฟิกซ์ แอนด์ วอช เอทเซ็ททรา จำกัด ธุรกิจซักอบรีด และซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ต้องการการดูแลที่ดี 6) บริษัท ขนมจีน บางกอก จำกัด ธุรกิจอาหาร และ 7) บริษัท ซีอาร์ซี ครีเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องหนัง

“ตัว FLY NOWคุณสมชัย ส่งวัฒนา  น้องชายผมจะเป็นคนดูแล ผมจะดูทางด้านกรุ๊ปมากกว่า มันเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายการบริหารครับ เดิมผมเป็น CEO ก็ขยับมาเป็นประธานกรรมการบริหาร ส่วนลูกชายผมมาเป็น CEO แทน”

คุณปรีชาเปิดใจถึงเส้นทางความสำเร็จด้วยท่าทีสบายๆ ในวันคืนที่องค์กรเป็นปึกแผ่นมั่นคงและก้าวเดินไปสู่จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคตได้อย่างเข้มแข็งและสง่างาม

“ธุรกิจของผมเกิดจากความสามารถของคน ไม่ใช่เกิดมาจากการมีทุนเยอะ มีสัมปทาน หรือต่อยอดจากธุรกิจที่มันเกิดอยู่แล้ว ทั้งหมดเป็นการสร้างใหม่ ไม่ได้เริ่มมาจากความโชคดี เงินทุนเราน้อย เพราะฉะนั้นแนวคิดของเราก็คือ เราให้ความสำคัญเรื่องคน ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสินทรัพย์ขององค์กร วิธีบริหารงานของผม ผมจะทำให้บริษัทนี้เป็นครอบครัว ให้มีบรรยากาศการอยู่ร่วมกันเหมือนคนในครอบครัว เป็นพี่เป็นน้องกัน แต่ให้มีกฎระเบียบ กติกา เป้าหมาย มีกระบวนการจัดการให้เหมือนบริษัท แต่ใช้วัฒนธรรมให้เหมือนครอบครัว ดังนั้นความรู้สึกที่เรามีต่อกันก็จะเป็นเหมือนคนในครอบครัว”

การบริหารบุคคลผมเริ่มจากใจ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีความรัก ความชอบ คือฉันทะ ผมไม่อยากจะทำให้เพราะเขาคิดว่าจะได้รายได้ ทำเพราะไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไร หรือเขามาสมัครงานเพราะบังเอิญเรารับ งานทั้งหมดอยากให้เกิดขึ้นมาจากใจ การที่จะดูแลพนักงานที่ดี ใจเป็นสิ่งสำคัญ ใจเรากับใจพนักงานมันต้องเข้าหากันได้ ใจที่มีช่องว่างต่อกันมันก็จะไม่เกิด ทุกอย่างเริ่มจากทัศนคติ ถ้าเค้าอยากสำเร็จ เจริญเติบโต อยากพัฒนา มันจะทำให้การทำงานสนุก ได้พัฒนาตัวเอง การทำงานมันต้องมีทั้งประสิทธิภาพและความสนุกด้วย ไม่ได้มีประสิทธิภาพบนความกดดัน กดดันก็ได้แต่มันต้องท้าทาย ต้องสนุก อย่างเวลาเราเล่นกีฬาสนุกนะ แต่พอมีการแข่งขันเข้ามาจะรู้สึกกดดัน ผมอยากให้ทำงานกันเหมือนเล่นกีฬา มีกติกา มีสกอร์บอร์ด มีเป้าหมาย มีแรงดันบ้าง มีความล้มเหลว มีความสำเร็จบ้าง มันจะสนุก ไม่ใช่ทำไปเพราะถูกบังคับให้ทำ ทำไปเพราะหน้าที่ ผมอยากให้คนทำงานสนุก มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีเป้าหมาย รวมทั้งมีเป้าหมายชีวิตด้วย”

preecha-002

            ระยะเวลากว่าสองทศวรรษในฐานะผู้นำธุรกิจแฟชั่น ทำให้คุณปรีชามีวิสัยทัศน์และมุมมองที่เปิดกว้าง อีกทั้งยังรู้ลึกรู้จริงถึงปัญหาและอุปสรรคที่คนในอุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญร่วมกัน

“ประเทศไทยในอดีต เราผลิตพวกเสื้อผ้าเยอะมาก แต่ร้อยละ 90 เป็นการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ดังๆทั่วโลก เรียกว่า OEM ตอนนี้เราถูกเวียดนาม พวกจีน แย่งตลาดไป อีกหน่อยจะเป็นเขมร โดยภาพรวมส่วนใหญ่เราไม่ค่อยมีแบรนด์เป็นของตัวเอง และในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะการขายค่าแรงกับขายการจัดการ มันไม่พัฒนา ถ้าเรารับจ้างผลิตเราคือ ODM พัฒนามาจาก OEM เราเป็นคนออกแบบแล้วก็เอาสินค้าไปเสนอให้ลูกค้า การออกแบบถือเป็นลิขสิทธิ์ของเรา มูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นกว่า OEM คือเรารับแบบที่ผู้ว่าจ้างกำหนดวัตถุดิบ เราก็ไปซื้อวัตถุดิบแล้วก็มาสร้างมาผลิตให้ตามแบบซึ่งมูลค่าต่ำสุด อันที่ 2 คือ ODM ส่วนอันที่ 3 คือเรามีแบรนด์เป็นของตัวเอง เรียกว่าเริ่มเปลี่ยนจาก BTOB เป็น BTOC เราก็จะสัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรงได้ สามารถสื่อสารกับลูกค้า ส่วนลูกค้าจะมีความจงรักภักดีในแบรนด์มากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างยังไง เราจะผลิตสินค้าคุณภาพดีไหม ดีไซน์ดีไหม ราคาเป็นอย่างไร ภาพพจน์เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ FLY NOW ทำมาโดยตลอด แต่ในเมืองไทยคนที่ทำแบบนี้แล้วเข้าไปอยู่ในระดับสากลได้มีน้อย มันทำยากแต่ควรจะทำ สินค้าของไทยในแวดวงแฟชั่นควรจะต้องช่วยกันสร้างแบรนด์แล้วไปเติบโตในต่างประเทศ”

นอกจากนี้ คุณปรีชายังเผยมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคสำหรับธุรกิจไทยเมื่อเข้าสู่ AEC

“ถ้า AEC มาถึง คนเข้มแข็งได้เปรียบ คนอ่อนแอจะเสียเปรียบ ต้องเข้มแข็งในทุกมิตินะ เข้มแข็งในตัวของธุรกิจเองหรือโปรดักส์ บางคนองค์กรยังไม่ใหญ่แต่สินค้าเข้มแข็งมาก มันก็จะเปิดตลาดได้ใหญ่ จาก 60-70 ล้านคน มันก็จะกลายมาเป็น 500-600 ล้านคน เพราะตลาดใหญ่ขึ้น แต่การแข่งขันก็จะสูงขึ้นด้วย ถ้ามีการแข่งขัน คนที่มั่นคงแข็งแรงย่อมจะได้เปรียบ หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้องค์กรของเรามั่นคงและแข็งแรง นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ เราจะเข้มแข็งจะเจริญเติบโตได้ขนาดไหนต้องอยู่ที่ความสามารถของคนในองค์กร กับวิสัยทัศน์ของผู้นำว่ามองไปเห็นทิศข้างหน้าอย่างไร ถ้ามองชัดคนเดินตามเข้มแข็ง องค์กรก็จะไปได้อย่างดี”

หลายความสำเร็จมักมีบุคคลเป็นแรงบันดาลใจ แต่สำหรับนักบริหารแฟชั่นมือทองท่านนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองมากกว่าการเดินตามอย่างคนต้นแบบ

“ถ้าถามถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจผมไม่มีชัดเจน เพราะผมเชื่อมั่นในตัวเอง ความสำเร็จมันต้องเกิดจากตัวเรา เราจะพัฒนาตัวเองยังไง จะเติมคุณค่าให้ตัวเองสูงขึ้นได้ยังไง เข้มแข็งได้ยังไง ต้องพึ่งตัวเอง ไม่หยุดแสวงหาค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ผมชื่นชมคนที่มีวิธีคิดเริ่มจากปรัชญา อย่างพี่ประทีป ตั้งมติธรรม ก็เป็นบุคคลที่ผมก็ชื่นชมในฐานะนักคิด นักปฏิบัติ นักบริหาร เขาจะเก่งและแม่นเพราะเริ่มวิธีคิดที่มาจากปรัชญาเป็นหลัก สามารถจับแก่นของเหตุการณ์ของเรื่องราวได้ การเริ่มคิดจากปรัชญาก็เหมือนต้นไม้ที่มีรากแก้ว แต่คนส่วนใหญ่เห็นทำก็จะทำตาม เห็นเขารวยสำเร็จก็อยากจะรวยบ้างสำเร็จบ้าง โดยไม่รู้ว่ารากเขามาจากอะไร มันไม่ได้เห็นรากก็จะไม่ยั่งยืน ทำได้เหมือนกันแต่ไม่ลึกไม่คม คนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจจะต้องลึกและคม”

preecha-003

การพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จของนักบริหารที่ยิ่งใหญ่แต่ละท่านนั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างในรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือการมีรสนิยมที่ดีเลิศทั้งในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการหล่อหลอมทางศิลปะ นอกจากนี้คุณปรีชายังมีความสนุกกับการท่องเที่ยวเดินทางแสวงหาธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจ

ผมชอบงานศิลปะ เพราะมันหมดแล้วหมดเลย อย่างงานของอาจารย์ถวัลย์ก็ไม่มีอีกแล้ว ศิลปะถ่ายทอดอะไรบางอย่างได้ สมัยก่อนยังไม่ชอบงานอาจารย์ถวัลย์ แต่หลังจากได้คุยกับอาจารย์สองสามครั้ง รู้สึกว่างานของอาจารย์มีพลังชีวิต คนเราต้องมีพลัง ถ้าไม่มีจะอ่อนแอ หมดแรง ภาพของอาจารย์ถวัลย์ส่วนใหญ่จะแสดงพลังและปรัชญาในเชิงของหลักพุทธศาสนา มีภพ ภูมิ ความดีชั่ว ความดีเลว ความสงบร้อนระอุ แฝงไว้ด้วยปรัชญา ท่านวาดม้าที่แสดงอิริยาบถที่เปี่ยมด้วยพลังอย่างสูงสุด ส่วนใหญ่งานศิลปะที่ผมได้มา มันต้องช่วยผมคิดด้วย ผมเพิ่งไปซื้องานศิลปะของหลานสาวมา เป็นภาพพี่สาวกับน้องสาว ภาพมีโมเม้นท์สามารถสื่อสารออกมาได้ และมีงานของคุณติ๊ก ชีโร่ ส่วนหนังสือที่ผมชอบก็เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ที่บ้านมีเป็นร้อยเล่ม เอามาให้ลูกน้องดูบ้าง ผมชอบคนที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างทาดาโอะ อันโด และชอบพวกงานปูนเปลือย”

“แต่สำหรับงานอดิเรกจริงๆของผมคือการเปลี่ยนงานทำ ผมบริหารธุรกิจ วันหยุดที่ผมไปเที่ยวก็เพื่อไปดูธุรกิจ ไปดูที่ดินหรือไปเปลี่ยนธุรกิจใหม่ก็จะสนุกสนาน ฮอบบี้ของผมคือธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจเล็กๆ ผมไม่ชอบไปเที่ยวโดยไม่ได้อะไร ไปเที่ยวแล้วต้องได้อะไรบ้าง บางทีผมไปพักรีสอร์ทก็ต้องหาโจทย์ให้ตัวเองแล้วว่าสวยอย่างไร ประสบความสำเร็จได้ยังไง เขาทำอย่างไรให้เราประทับใจได้ ถ้าเราจะทำกุญแจแห่งความสำเร็จจะอยู่ตรงไหน คิดแบบนี้แล้วผมจะมีความสุขมากกว่าไปเที่ยวนอนพักเฉยๆ ผมชอบดู ชอบสัมผัส ไม่ใช่ในฐานะคนเชยชม แต่ในฐานะของผู้สร้าง หรือเวลาไปกินอาหารอร่อยที่ไหนผมจะคิดแล้วว่าเค้าทำยังไงถึงอร่อย ผมไม่ได้เสพที่ผล ผมสนุกกับการหาเหตุมากกว่าเชยชมผล

line

ที่มา: วารสาร Supalai@Home ฉบับ Q2-2015

เรื่อง & ภาพ : dp-studio.com

Related contents:

You may also like...