แม้ว่าคุณจะไม่ใช่นักฟังเพลงตัวยง แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คงมีหลายครั้งที่บทเพลงซึ่งแต่งโดยนักแต่งเพลงแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง จักราวุธ แสวงผล ผู้ได้รับพรจากเทพเจ้าแห่งเสียงดนตรีให้สร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ประสบความสำเร็จในฐานะเพลงดัง ที่อีกมิติหนึ่งหมายถึงความสำเร็จเชิงธุรกิจมูลค่ามหาศาลให้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่และศิลปินดังมาแล้วนับไม่ถ้วน ผ่านโสตประสาทเข้ามาขับกล่อมบรรยากาศรอบตัวคุณอยู่เนืองๆ ทั้งทางสื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจกรรมบันเทิงอย่างคอนเสิร์ต งานปาร์ตี้ เรื่อยไปจนถึงสื่อร่วมสมัยอย่างสื่อออนไลน์ ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น นิวมีเดียอีกต่อไป เพราะมีสิ่งใหม่กว่าเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิตอลหลากแพลตฟอร์ม หรือโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้วัฒนธรรมการฟังเพลงทั่วโลกเปลี่ยนไป จนมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจดนตรีในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีใครทำนายได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของวงการเพลงและผู้คนหลากวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้จะพลิกผันไปอย่างไร แต่ไม่ว่ารูปแบบการผลิตและช่องทางการบริโภคดนตรีแต่ละยุคจะเปลี่ยนไปแบบไหน สิ่งหนึ่งที่จะยังคงอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานคือเสียงเพลง การสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ตราบเท่าที่สัมผัสด้านการฟังจะยังคงอยู่กับมนุษย์ นั่นหมายถึงอาชีพนักแต่งเพลงก็จะไม่มีวันหายไปจากโลกนี้ ต่อให้สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงจะรุนแรงและโหดร้ายสักเพียงใด
ซึ่งการก้าวเดินอย่างมุ่งมั่นบนถนนสายดนตรีกว่าสองทศวรรษของนักแต่งเพลงชื่อ จักราวุธ แสวงผล ผู้ข้ามผ่าน ‘ยุคทอง’ มาสู่ยุคที่ธุรกิจเพลงต้องต่อสู้อย่างสุดชีวิต ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คนที่จะอยู่รอดได้ในทุกกระแสความเปลี่ยนแปลงคือ ‘ตัวจริง’ ที่ไม่ใช่แค่เก่งหรือมีพรสวรรค์ แต่หมายถึงคนที่พร้อมปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เป็นจริงตลอดเวลา
.
HICLASSSOCIETY.COM รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จ ทัศนะ และมุมมองที่มีประโยชน์ ของ จักราวุธ แสวงผล หนึ่งในหมุดหมายแห่งวงการดนตรีร่วมสมัยของประเทศไทย ให้คนรักเสียงเพลงได้สัมผัสตัวตนในแง่มุมน่าทึ่งเบื้องหลังบทเพลงฮิตมากมายจากการสร้างสรรค์ของเขา ที่ยังคงยืนหยัดยาวนานประดุจแมวเก้าชีวิต จากยุคเริ่มต้น ยุคทอง มาสู่ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่มีใครกล้าตั้งชื่อว่า…ยุคอะไร
ชีวิตวัยเด็กและครอบครัวที่หล่อหลอมให้กลายมาเป็นนักแต่งเพลงอาชีพชื่อ จักราวุธ แสวงผล ในวันนี้ เป็นอย่างไร
พี่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นทหาร ครอบครัวพี่มีลูกชายสองคน พี่ชายคนโตเสียชีวิตไปเมื่อสิบปีก่อน ด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ วัยเด็กของพี่โตมาในค่ายทหาร และวันหนึ่ง…พ่อก็จากไปในสงคราม แม่ก็เลยไม่อยากให้ใครเป็นทหาร อยากให้พี่เป็นหมอ
.
ทุกครั้งที่ใครถามว่า…อยากเป็นอะไร จริงๆอยากเป็นทหารนะ แต่ด้วยความที่พี่เป็นทั้งลูกแหง่ เป็นทั้งเนิร์ดด้วย เราก็จะบอกใครๆเสมอว่า แม่อยากให้เป็นหมอ แต่ไม่เคยบอกว่าตัวเราอยากเป็นหมอ โตขึ้นมาเริ่มชอบดนตรี เริ่มชอบศิลปะชอบวาดรูป แล้วพอดูคะแนนสอบแล้ว โห ดีแต่พูดเท่านั้นแหละว่าจะเป็นหมอน่ะ และเราก็ไม่ได้รู้สึกอยากจริงๆ แค่แม่อยากให้เป็น
.
พ่อเสียตอนพี่อายุ4ขวบ ย้ายเข้ากรุงเทพ ได้เรียนไวโอลินที่สาธิตเกษตร กับอจ สุทิน ศรีณรงค์ คุณพ่อของ Vie trio เรียนกีต้าร์กับญาติรุ่นพี่ เล่นวงออเคสตร้าโรงเรียน เล่นวงร็อคกับเพื่อน ชอบมาก แล้ววิชาเรียนที่ชอบก็เป็น ออกแบบ วาดรูป ศิลปะ ตอนเรียนมัธยม ก็เลยเลือกแผนการเรียนที่จะเข้าสถาปัตย์ได้ แต่อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าถ้าคุณเลือกสอบเข้าครุอาร์ทน่าจะได้ชัวร์ เราเลยเลือกเข้าครุอาร์ทอันดับหนึ่ง ทั้งๆที่ตอนนั้นคะแนนน่าจะเข้าคณะออกแบบอุตสาหกรรม(ID) สถาปัตย์ จุฬาได้ พี่สอบติดครุอาร์ท เลยเรียนครุอาร์ทอยู่ปีนึง เเล้วอ่านหนังสือเตรียมเอนท์ใหม่เข้าสถาปัตย์ตั้งแต่วันแรกที่เรียน เพราะเราเริ่มรู้แล้วว่าที่นี่ไม่เหมาะกับตัวเอง แต่เราก็ตั้งใจเรียนไปไม่มีโดดซักวิชา ได้เกรดดีด้วย ชอบเพื่อนๆ พี่ๆที่นั่นนะ แล้วท้ายที่สุดก็ไปสอบใหม่เข้า ID จุฬา จนได้ พอเข้าไปได้…เกรดก็ร่วงเลยเพราะมีความสุขอย่างมาก เริ่มทำกิจกรรม เล่นรักบี้ เล่นดนตรี เล่นละคร เเต่งเพลงละคร แล้วตอนปีสี่ขึ้นปีห้าพี่ดี้ชวนไปเรียนเขียนเนื้อเพลง เพราะเห็นเราแต่งเพลงคุณยายตายสนิท ในละครเรื่องบางกอกศอกกลับ เลยไปเรียนกับพี่ดี้…และเข้าแกรมมี่เมื่อเรียนจบ
ศิลปะการแต่งเพลงเป็นสิ่งที่สามารถสอนหรือเรียนกันได้ด้วยหรือ
พี่ว่าทุกอย่างมันเรียนได้นะ พี่ไปเรียนเป็นดีเจเปิดแผ่นไวนิล ต่อเพลง..ก็เรียนได้ ส่วนการแต่งเพลงสอนได้ เพราะหลักการคือ ถ้าดนตรีมีโครงสร้างเป็นยังไง ให้ความรู้สึกอะไร คำร้องก็จะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่พี่ดี้สอนไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าเรื่องของคอนเซ็ปต์ วิธีการพูด ภาษาที่ใช้ คาแรกเตอร์ของนักร้อง คาแรกเตอร์ของดนตรี ซึ่งดนตรีเป็นศาตร์ โครงสร้างของดนตรีเป็นวิทยาศาตร์ ไม่มีใครลบล้างกฏของดนตรีได้เลยซักคนเดียว ไม่มีใครค้านว่า…เฮ้ย ไม่จริงโน๊ตไม่จำเป็นต้องเจ็ดตัว แล้วมีครึ่งเสียงห้าตัว เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับไปแล้ว เหมือนการยอมรับว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกแล้วตกทางตะวันตก ดนตรีนับเป็นเป็นศาสตร์ที่แข็งแรงมาก
.
ดังนั้นเมื่อโครงสร้างของดนตรีนี้เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวทำนองเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว เราสามารถทำให้เนื้อร้อง…ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเพลงเป็นวิทยาศาตร์ไปด้วย ทั้งสองอย่างมันแปลกคือทำนอง และคำร้อง มันเป็นเรื่องของความรู้สึกทั้งคู่แล้วเอามาแนบกันได้ ทำให้มันเต้นรำคู่กันไปได้ เช่นทำไมเมโลดี้และดนตรีแบบนี้จะต้องมีเนื้อเพลงประมาณนี้ เพราะฉะนั้นวิชาการแต่งเพลงจึงสามารถเขียนเป็นหลักสูตรและร่างขึ้นมาเป็นขั้นตอนได้
.
พี่ดี้บอกมันมีกฏห้าข้อในการเขียนเนื้อเพลง ซึ่งไม่ได้เป็นความลับที่หวงห้ามอะไรเลย บอกได้สบายมาก มันง่ายมาก แค่บอกทุกคนก็อ๋อ คือ นักร้องเป็นใคร ภาษาที่เราใช้ คอนเซ็ปต์ที่เราเลือก กิมมิคของมันที่น่าสนใจ นี่พูดถึงในกรณีที่มีเมโลดี้ขึ้นมาแล้วนะ ยกตัวอย่างเพลงสมัยเก๋ากึ๊ก อย่างเพลง กลับดึก ของใหม่ เจริญปุระ คำว่ากลับดึกนั้นเป็นฮุกของเพลง เพลงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจแล้ว เราก็เติมรูปหล่อกล้ามใหญ่ เติมเรื่องราว ให้เพลงรู้เรื่อง และมีความลงตัว ก็เสร็จ พูดได้ว่าโครงสร้างหรือสูตรสำเร็จของเพลงที่ดังๆของโลก มันไม่พ้นองค์ประกอบหรือกฎเหล่านี้หรอก มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มันก็เลยสอนกันได้ พี่ไปเรียนปีนึงแล้วจบมาเข้าทำงานกับแกรมมี่
.
รวมจำนวนเพลงที่แต่งตั้งแต่ปี 2532 มาจนถึงตอนที่ออกจากแกรมมี่ 5-6 ปีที่แล้ว พี่มีเพลงอยู่ที่แกรมมี่ 295 เพลง โดยจำนวนนี้ไม่ได้นับเพลงที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้นับเพลงไม่เกี่ยวกับการขาย ไม่นับเพลงโฆษณา ซึ่งมีอีกนับไม่ถ้วนเลย หลังจากนั้นออกมาทำสหภาพดนตรี แต่งเพลงที่นั่นประมาณ 40-50 เพลง ตอนนี้ก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ยังคงทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพลง
ในช่วงชีวิตที่มีฐานะเป็นนักแต่งเพลงซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ในยุคนั้นบริษัทมีความมั่นใจในตัวเราขนาดไหนจนถึงขั้นจ้างให้มาเป็นคนแต่งเพลงประจำ ทำไมเขาไม่เลือกซื้อเอาเฉพาะเพลงที่ดี หรือเพลงที่ขายได้
ในเมืองนอกมันเป็นระบบ Publisher ค่ายเพลงจะเลือกช็อปเอาจากเพลงที่มีคนแต่งเพื่อขาย จึงมีกรณีที่ว่านักแต่งเพลงของไทยสามารถขายเพลงให้ บียอนเซ่ หรือ เทรซี่ แช็ปแมน ได้ แต่ระบบของแกรมมี่ถือเป็นการลงทุนที่ฉลาด คือนักแต่งเพลงเป็นพนักงาน ผลงานทุกอย่างเป็นของบริษัทหมดเลย ไม่ต้องขออนุญาตนักแต่งเพลงเวลาที่จะเอาเพลงของใครในบริษัทมาทำอีก ไม่ว่าจะทำคาราโอเกะกี่ครั้งก็ไม่ต้องขออนุญาต เพราะผลงานทั้งหมดจะถือลิขสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่งระหว่างนักแต่งเพลงกับบริษัท โดยที่ครึ่งของนักแต่งเพลงนั้นดูเหมือนไม่มีบทบาทอะไรเลย นอกจากการรับผลประโยชน์ มีคำบ่นว่าเราจะเอาเพลงที่เราแต่งไปทำอะไรเองมันยากเหลือเกิน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็ดูแลผลประโยชน์ให้เราตลอดอายุลิขสิทธิ์ โดยมีระบบเหมือนเมืองนอก เช่น มีระยะเวลาที่ทายาทจะสามารถถือลิขสิทธิ์ รับผลประโยชน์ได้หลังเจ้าของสิทธิ์ตาย เมื่อก่อนบอกว่าเป็นระยะเวลาห้าสิบปี อะไรพวกนี้ก็เป็นระบบทำนองเดียวกัน ซึ่งพี่ก็โอเคมากกว่าไม่โอเค
ในยุคที่จบสถาปัตย์ใหม่ๆแล้วเลือกมาทำงานเป็นนักแต่งเพลงอาชีพแทนที่จะเป็นนักออกแบบ ถือเป็นงานที่มั่นคงไหม ครอบครัวรู้สึกอย่างไรกับอาชีพนี้ ระหว่างสถาปนิกจบใหม่กับนักแต่งเพลงหน้าใหม่ อะไรรายได้ดีกว่ากัน
ตอนที่แกรมมี่รับเราทำงานดีใจสุดชีวิต แม่ไม่เคยว่า จะเรียนอะไรแม่ให้เรียนไปเลย ไม่หมอก็ไม่หมอ จบมาจะทำอะไรก็เรื่องของลูกไม่เป็นไร เงินเดือนแกรมมี่ปีแรก 8,000 บาท น้อยกว่าคนจบสถาปัตย์ แต่ระยะต่อมารายได้โตแบบก้าวกระโดด เพราะอยู่ในยุคทองของวงการดนตรี รายได้ก็เลยจะแซงหน้านักออกแบบไประยะนึง จนมาถึงยุค 90 ไม่แน่ใจ ชุดนิโคล หัวใจเดินทาง เป็นชุดหลังสุดช่วงฟองสบู่แตก แล้วเราก็ยังได้ผลประโยชน์จำนวนใกล้เคียงเดิม ก่อนจะเป็นขาลงมาแนบพื้นอย่างในวันนี้ เรารู้สึกว่าการที่แกรมมี่และพี่เต๋อตั้งกฏการแบ่งรายได้แบบนี้ขึ้นมา มันเก็บผลประโยชน์ให้ทั้งเราด้วย ให้เขาด้วย เป็นเรื่องที่ win-win กันอยู่พอสมควร ทำให้สายป่านยาว คนทำงานที่เป็นนักแต่งเพลงในยุคนั้นจะอยู่กับแกรมมี่นานๆ
นักแต่งเพลงแกรมมี่ในยุคแรกๆเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัทด้วยไหม
พี่บูลย์ (คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ให้หุ้นมา เราได้เงินส่วนแบ่งของหุ้นนั้นซื้อขนมได้หลายแสนห่อเลย และในบางครั้งเราจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นบางส่วนไปเพื่อประทังเศรษฐกิจ ที่เขาให้นี่คือโคตรใจดีเลย โคตรรักเราเลยเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเขา
KPI ของบริษัทเพลงที่ใช้พิจารณาว่านักแต่งเพลงแต่ละคนใช้ได้ในระดับไหนหรือใช้ไม่ได้คืออะไร
ยุคนั้น…ถ้าเราแต่งได้เดือนละเพลงหรือสองเพลงก็เอาแล้ว ตอนนั้นมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เรายังใหม่ เราไม่เคยรู้สึกเหนื่อยกับมัน มาประชุมก็อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ส่งเพลง รับบรีฟเพลงใหม่แล้วก็กลับไปแต่งมาส่ง แล้วสนุกฉิบหาย เพราะทำงานบ่ายสอง ที่ทำงานก็ผ่อนคลายได้ นั่งกินเบียร์ตั้งแต่บ่ายสอง ตกเย็นพี่บูลย์ก็มาชวนว่าจะไปกินข้าวที่ไหน แล้วพวกเราก็แห่ไปกินข้าวกัน รูปแบบนี้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร
.
ในยุคทอง อยากกินอะไรก็ไปกิน แม้กระทั่งส้มตำหลังสวน มันสนุกในบรรยากาศ จนกระทั่งเราไม่ได้นึกถึงรายได้ ซึ่งมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้เราสบายมาก ตอนแรกๆเอาเงินให้แม่หมดเลย มันไม่ลำบาก ยุคทองด้วย บางเดือนพี่แต่งได้ถึง4เพลง ในทีมเนื้อเพลงก็มีคนถนัดเพลงครบทุกอย่าง พี่ถนัดเพลงเร็วบางคนถนัดเพลงช้า บางคนถนัดเพลงพิเศษซึ่งมันมีให้เเต่งไม่บ่อย ก็ทำยอดได้ไม่มาก แต่ผลประกอบการรวมของทีมมันพาทุกอย่างฝ่าไปเหมือนเรือเจาะน้ำแข็ง มันทำลายทุกภูเขาน้ำแข็งแบบราบคาบหมดเลย ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ทำให้ kpi รวม okมาก
.
ในสมัยนั้นเวลาที่ยอดขายยังไม่ล้านเราไม่คุย บางชุดขายถึงสามล้านตลับ ไม่นับแผ่นเสียง บางชุดสองล้าน ชุดที่ได้เจ็ดแสนไม่คุยกันถือว่าสอบตก ทุกวันนี้ยอดขายขนาดนี้ไม่มีแล้ว Physical มีไว้แค่ประดับว่ามีขายนะ ก็แค่นั้น ไม่ใช่รายได้หลักอีกต่อไป เมื่อก่อนนักแต่งเพลงเข้าใหม่ รับเป็นเงินเดือน พี่เข้ามาปี 2532 เราทำงานพิสูจน์ตัวเองมาเรื่อยๆ ทำงานมา4ปี จนถึงชุด”ร้อยแปดพันเก้า” ของ เจ เจตริน ถึงได้ส่วนแบ่งจากยอดเทป พิสูจน์แล้วว่าเราเป็นผู้ถูกว่าจ้างที่approvedแล้ว เออ อีกอย่าง เราไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นนายจ้างเรา แต่เขาเป็นพี่เรา พี่ถูกสปอยล์ด้วยแกรมมี่ในยุคนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ มีความสุขมาก นานนานทีก็ไปเที่ยวต่างจังหวัดยกทีม แทบไม่เคยโดนดุเลย ยกเว้นมาสาย
กฏระเบียบของอาชีพนักแต่งเพลงคืออะไร
กฎการส่งงานให้ตรงเวลา แก้ไขกลับมาให้ทันร้อง ทันปิดอัลบั้ม ส่งเครดิตให้ถูกต้อง สะกดไม่ผิดเพื่อไปพิมพ์ปกตามเดดไลน์ เรื่องนี้อยูในเนื้องานอยู่แล้ว มาประชุมให้ตรงเวลา บ่ายสองมาเลทไปห้านาทีปรับ 100 บาท พี่บูลย์บอกว่าใช้วิธีนี้ไม่ดีนะ ถ้ามาไม่ตรงเวลาพวกนี้ก็มีจ่าย พอจ่ายแล้วก็ว่าอะไรไม่ได้ เพราะถือว่าลงโทษไปแล้วนี่ มันโคตรใช่เลย มีวิสัยทัศน์แบบนี้ เป็นความเห็นเล็กๆน้อยๆที่ชัดเจนมาก จะว่าไป กฎระเบียบน้อยมาก เราคุยเล่นสนุกสนานกันแบบเป็นเพื่อนรุ่นพี่ มันก็เลยสนุก โดนสปอยล์ ชีวิตตอนนั้นน่าอิจฉามาก ว่ายน้ำ วิ่งออกกำลัง แข็งแรง ไปดำน้ำ อยู่บ้าน ใช้เวลา Educate ไปกับงาน กระโดดใส่งาน นี่พี่ไม่ได้คุยนะ ในสมุดทำงาน หน้าแรกแต่งเพลงดัง หน้าสองเพลงหนึ่งหน้าเอ ถัดไปอีกหน้าเป็นเพลงโปรโมท ต่อกันสามเพลง ดอกไม้บานมาก เราคิดออก เพลงแรกๆที่ดังคือเพลง ‘กลับดึก’ ตอนส่งงาน กำลังเขียนเนื้อเพลงขึ้นกระดานให้พี่ๆตรวจ ก็มีเสียงแซวจากพี่เอกพี่ดี้ว่าอะไรของมันวะ รูปหล่อกล้ามใหญ่ กลับดึกอะไรว้า พอเพลงขึ้นเท่านั้น ทั้งสองพี่บอกว่า เออ…จริงของมัน คำนี้เป็นแรงบันดาลใจมากเลย “จริงของมัน” เวลาหาไอเดียเนื้อเพลง พี่ก็จับแพะชนแกะ เช่นที่บ้านพี่เวลาทำงานจะเปิดพัดลม ไม่ชอบแอร์ เห็นพัดลมเวลาทำงานส่ายหน้าไปมา พี่ก็นั่งทำนั่งดูพัดลม พูดกับมันว่าหลายทีแล้วนะมึงไม่เคยพยักหน้าให้กูเลยส่ายหน้าตลอด พอน้องพลับมาก็เลยได้เพลง ‘ใครๆก็ไม่รักผมขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย’
.
ทุกเพลงมันมีเหตุมีผล เราไม่ได้ครีเอทีฟไปบนอะไรก็ไม่รู้ เราไม่ได้เขียนไปแบบเลื่อนลอย แล้วพี่ๆทุกคนก็พูดว่า…เออ “จริงของมัน” กับพี่บ่อยๆ คำว่าจริงของมัน เป็นเหมือนคำชมสำหรับพี่ เพลงครีเอทีฟจะเป็นอย่างนี้เสมอ อย่างเพลงเพลงปี2000 พี่แต่งเพลงให้วงฟลายว่า ปี 2000 แล้วมันก็ไม่เท่าไหร่ ปี 2000 ไหนมันก็เหมือนเดิม ก็ยังเป็นฉันคนเดิม สหัสวรรษ ฉันก็ยังอัตคัต มันก็มีเหตุผล แล้วก็ เออ…จริงของมัน
.
มีสิ่งหนึ่งเป็นกฏข้อสุดท้ายของดนตรี ที่บอกว่าทำยังไงก็ได้ให้เพลงฟังดี ทำงานมาระยะนึงเราก็ลืมกฏ5ข้อ6ข้อพวกนั้นไปแล้ว คงเหมือนสถาปนิกที่เขาว่าองค์ประกอบศิลป์มีอะไร เส้นนอน เส้นตั้ง ฮาร์โมนี เทกซเจอร์ สี พอทำงานไปซักพักเขาไม่ได้นึกถึงแล้ว เขาเห็นภาพงานสำเร็จแล้ว บางทีลูกค้าบอกเรื่องบ้าน บอกความต้องการ สถาปนิกก็เห็นภาพแปลนมาแล้ว เพลงก็เหมือนกัน เราก็ทำไป ไม่ได้นั่งนับกฎ5ข้ออะไรแล้ว แต่ยังไงก็ตามทั้งหมดนี้ไม่เคยมีเพลงไหนที่ไม่ใช้ความรู้สึก และไม่ใช้ความสนุกสนานในการแต่ง
.
มีเพลงนึงของ คริสติน่า อากีลาร์ ที่ลำบากที่สุด แต่งแล้วไปส่งยังไงก็ไม่ผ่าน จำไม่ได้ว่าเพลงอะไร ในที่สุดเขาก็ยกเลิกทำนองนั้นไป พี่แต่งอยู่สิบหน้ากระดาษ ในสมุดทำงานเล่มที่ 46 พี่กรีดออกสิบแผ่นแล้วไปเผาไฟเลย อันนี้กูแพ้ แพ้จริงๆ มันเหนื่อยจนกระทั่งปากนกกระจอกขึ้น สู้ไม่ได้และไม่เข้าใจ
.
งานแต่งเพลงเป็นงานที่พี่ชอบ เพราะเราได้เป็นคนอื่นตลอดเวลา เราไม่ได้เป็นเรานะ คนเขียนเนื้อเพลงคือนักแสดง ที่มาเล่าเรื่องราวของคนๆนั้น ไปสวมวิญญาณของคนๆนั้น เช่นของเด็กอายุเก้าขวบ ของผู้หญิงเซ็กซี่จำนวนสามคน บอยแบนด์ วงร็อค เราสวมวิญญานแล้วก็บรรยายมันออกมา พี่เคยแต่งเพลงที่พูดถึงอันธพาล แวนท์ พี่ต้องไปเปิดดูคลิปเนวัดดาว ไปดูพวกแอลโอรส เปิดยูทูป ดูว่าเขาพูดอะไร มึงเข้าใจป่ะ มึงมาเจอกูสิ กูรถถังฝั่งธน มึงจะได้วิ่งตีนแตก คราวนี้กะโหลกกะลาอย่างมึงไม่เหลือ ร้องไห้หาแม่ มันไม่ลึกซึ้งอะไร แต่โคตรมันส์ โคตรครีเอถีฟ พี่ก็เอามาเขียนเป็นเนื้อเพลง มันมาก สำหรับพี่มันเหมือนเราได้ไปเที่ยวในโลกอื่นๆนอกจากชีวิตของเรา
.
มีอยู่ครั้งนึงแต่งเพลงของ นัท มีเรีย คราวนั้นได้เป็นผู้หญิงเต็มตัว มีคนเดินเข้ามามองเรา อย่าเข้ามาใกล้นะเพราะว่าอยู่ห่างกันแค่นี้มีความสุขมากแล้ว ฉันขอซื้อสายตาเธอเก็บไว้ได้หรือเปล่า และจะบังคับให้เธอมองแต่ฉันคนเดียว ฮุคไม่มีอะไรเลย ฮุคบอกว่า ดีจังเลย ดีจังเลย แล้วนัทร้องออกมาเซ็กซี่มาก สำหรับพี่นะ กูรู้สึกเป็นผู้หญิงเลยละค่ะ เฟมินีนขึ้นมาเลย (ยิ้ม)
.
ถ้าถามว่าเพลงคืออะไร สั้นที่สุดคือ เพลงคือความรู้สึก เพลงคือการอธิบายความรู้สึก เพลงคือความรู้สึกที่ส่งผ่านภาษา ส่งผ่านเมโลดี้ เวลาเพลงมันเป็นคำถาม “พรุ่งนี้เธอจะยังรักฉันไหม” เห็นไหมว่าทำนองเพลงก็เป็นคำถามไปด้วยนะ ดนตรีก็เป็นคำถามด้วย แล้วส่งมาสรุปตรงคำตอบท้ายฮุคว่า “ได้ไหม ให้ฉันยังมีเธออย่างเดิม” จบบริบูรณ์ คือถ้าคำถาม ข้อสรุป คำตอบ เป็นความรู้สึกที่ร้อยเรียงมาด้วยกันแล้ว ถ้ามันคล้องจองกันทั้งคำร้อง ทำนอง ดนตรี แล้ว และคนที่ร้องมันออกมาก็รู้สึกอย่างนั้น คนที่ฟังเพลงนั้นสัมผัสได้กับความรู้สึกนั้น ก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว
ก่อนที่จะมาเป็นนักแต่งเพลง เคยฝันอยากเป็นศิลปินเป็นนักร้องเองบ้างไหม
ไม่เคย พี่ชอบร้องเพลงแต่ไม่เคยอยากเป็นนักร้องเองเลย วันที่พี่แต่งเพลงคุณยายตายสนิท อยู่ในละครบางศอกกลับ ซึ่งคนที่ชวนพี่ บรีฟให้พี่ไปแต่งคือพี่สังข์ 108มงกุฎ ออกมาเป็นเพลง คุณยายตายสนิท ละครจบแล้วเราก็ยังอิ่มเอมว่าคนกรี๊ดกับเพลงนี้ หลังเสียงหัวเราะคือเสียงไอ แสดงว่าหัวเราะขำสุดสุด ความปลื้มนี้ทำให้เรารู้แล้วว่าอยากเป็นอะไร ทั้งๆที่เรียนไอดีนะ มีห้าสาขาวิชา มีสิ่งทอ มีออกแบบกราฟฟิก โปรดักส์ เซรามิค อยากทำงานสาขาที่ 6 สาขาดนตรี อยากแต่งเพลง อยากเขียนเนื้อเพลง
.
ผ่านไปแค่1คืน จากความรู้สึกว่าอยากเป็นคนเขียนเนื้อเพลง พี่ด้วง ดวงฤทธิ์ บุนนาค บอกให้โทรไปหาพี่ดี้ พี่ดี้บอกว่าให้หาคนที่แต่งเพลงคุณยายให้หน่อย แว่นโทรไปนะ นี่เบอร์ เฮ้ย ไม่เอาน่า คนอื่นก็ตามหาฝันกันสุดขอบฟ้า เขาไปขั้วโลกเหนือทะลุแสงเหนือไปแล้วเขายังไม่เจอฝันเขาเลย ฉันฝันวันนี้พรุ่งนี้ฉันเจอแล้วเหรอ แค่ยืนอยู่หน้าประตูนี่โอกาสก็จะเปิดให้แล้วเหรอ หรือว่าตอนเด็กๆเราลำบากจนกระทั่งเทวดาเขาเห็นใจ ลำบากโดยที่ไม่รู้ตัว
ระหกระเหินย้ายบ้าน 8 ครั้ง ย้ายโรงเรียน 7 ครั้ง ช่วงเเรกของชีวิตนายลำบากมาพอแล้ว เอารางวัลไปมั่งนะ ความฝันมันวิ่งมาชนเราเร็ว เราก็ชนแหลกเลย โทรหาพี่ดี้ แกชวนไปเรียนแต่งเพลงโดยใช้เพลงที่ทำงานในแกรมมี่จริงๆให้ฝึกเขียน 6เดือนไม่ผ่านเลยซักเพลง แต่ไม่เคยเจ็บปวด ไม่เคยท้อ คิดแต่ว่าทำไมมันไม่ผ่าน เราจะทำยังไงให้มันผ่าน อะไรที่เรายังขาดอยู่ เติมอะไรได้บ้าง สู้แบบวัวกระทิงลงสนามไม่ยอมเลิก มันสนุกมาก
ความทุกข์ของอาชีพนักแต่งเพลงคืออะไร
ในสิบปีแรก ในยุคทอง ทุกข์มากๆก็คือเขียนเพลงแล้วมันไม่ผ่านซักที แต่ทุกข์น้อยกว่าสุขมาก จะเอาอะไร เวลาว่าง เงิน ชื่อเสียง มีตามสมควร
เคยถึงทางตัน จนคิดไปว่าเป็นจุดจบของอาชีพบ้างไหม เหมือนนักบาสอาชีพที่วันหนึ่งพบว่า ชู้ตอย่างไรก็ไม่ลงห่วงอีกแล้ว
ไม่คิดว่าตันนะ ย้อนกลับไปคิดถึงวันแรกๆ ที่ชู๊ตไม่ลงเลย และมีวันแรกที่แต่งเพลงได้ จนถึงวันแรกที่เพลงดังติดชาร์ท ผ่านมาครบ เพลงแรกในชีวิตคือเรียนอยู่กับพี่ดี้ ชื่อเพลงทะเลคนของพี่อ้อม สุรสีห์ แล้วหลังจากนั้นแต่งไม่ได้เลย 6 เดือน ทุกคนในห้องเรียนก็ผ่านมั่งไม่ผ่านมั่ง ส่วนใหญ่จะไม่ผ่าน มีคนมาเรียนห้าสิบถึงหกสิบคน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ผ่าน ผ่านเข้ามาได้ทำงานประมาณ 4-5 คน น้อยมาก เราทำงานและเรียนรู้จากความผิดพลาดตลอดเวลา เรียนรู้จากความสำเร็จ มันเปลี่ยนวัวตัวใหม่ เปลี่ยนสนามแข่ง เปลี่ยนเรื่องใหม่ด้วย เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่ เปลี่ยนสไตล์ดนตรีด้วย มันเป็นเรื่องใหม่เราก็เอามาใช้ แต่จะมีบางอย่าง เช่นยังไงภาษาไทยก็ต้องพูดให้รู้เรื่อง ยังไงภาษาไทยก็ต้องไม่ร้องให้ผิดวรรณยุกต์ เราใช้หลักอันนี้ได้ ก็ไม่เคยตันนะ
.
เรื่องเศรษฐกิจในช่วงสิบกว่าปีแรกไม่มีปัญหา เมื่อมาถึงยุคที่ไม่ใช่ยุคทองแล้วสตุ้งสตาค์ยังพอมี พี่ก็ยังไม่ได้เอะใจอะไร พอมีสตางค์ก็เอาไปซื้อบ้าน ซื้อรถ แล้วเราก็ไม่มีงานอดิเรกอะไรแพงๆ ไม่ได้ไปซื้อกีตาร์ตัวละแสน เราก็ไม่ได้เป็นคนซื้อเฟอร์รารี่เพราะตังค์ไม่พออยู่แล้ว(หัวเราะ) ไม่ได้แต่งรถ ไม่มีกิจกรรมอะไรถลุงเงิน พี่เป็นเนิร์ดอ่ะ ก็มีสะสมเครื่องดนตรีบ้าง ไม่แพง เงินก็เลยไม่ฝืดมาก แต่เราก็ค่อยๆเริ่มรู้สึกได้ว่าเงินที่ได้มันน้อยไปจากที่เคย มาเริ่มรู้สึกลำบากจริงๆเอาช่วงหลัง คือช่วงที่ธุรกิจดนตรีมันพะงาบๆ อย่างช่วงนี้ มันมีอาการอย่างนั้นมากกว่า แต่ก็ไม่คิดว่าถึงทางตัน
ภาวะความลำบากที่ว่านี้หมายถึงอย่างไร
ถ้าพูดถึงการทำงานในบริษัท ความลำบากที่ว่าคือความคาดหวังที่ว่าเพลงที่นักแต่งเพลงแต่ง จะดังและปลดแอกให้บริษัททุกอย่าง เพลงๆนึงได้ถูกคนจำนวนมากในทุกตำแหน่งหน้าที่คอยคาดหวังอยู่ พี่พูดในฐานะที่เป็นฟรีแลนซ์นะ ผู้ที่เป็นผู้บริหารทุกคนนั่งตรวจเพลงในที่ประชุม ด้วยความคาดหวังว่ามึงต้องเป็นพระเอกขี่ม้าขาวให้กู มึงต้องกอบกู้บริษัท แล้วพอประชุมเพลงนี้จบ ก็เอาม้าอีกตัวมา ก็คาดคั้นอย่างนี้อีก มันจะไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันนี้ จะไม่มีเพลงที่จรรโลง หรือเพลงที่เผื่อสำหรับวันพรุ่งนี้ เราควรทำเพลงให้เด็กๆ เขาหน่อยไหม ทำเพลงให้เด็กเล็กๆ แล้วก็เกี่ยวก้อยสัญญากันว่าเราจะรักกันนะ เราจะโตไปด้วยกัน แล้วก็อุดหนุนกันจนแก่ คือมันไม่มีเวลาคิด เมื่อก่อนมีเวลาก็ไม่คิด ไอ้สิ่งนี้พยายามทำกี่ทีๆก็ไม่สำเร็จ
.
พี่เคยทำอัลบั้มเพลงการ์ตูน พากย์เสียง ร้องเพลงการ์ตูน เป็นรายการในทีวี แฮปปี้มาก คนก็ชอบกันนะ หาซื้อวีซีดีกันใหญ่เลย เอาไปให้ลูกดู ในที่สุดก็จบ โครงการนั้นจบไปเลย ประเด็นความทุกข์หรือลำบากใจในวงการเพลง คงเป็นเรื่องนี้แหละ เรื่องที่มันไม่มีใครอยากลงทุนปูทางเพื่อวันพรุ่งนี้มากกว่าความสำเร็จระยะสั้น และการที่บังคับว่ายูจะต้องแต่งเพลงที่ดังสุดๆให้ได้ เพลงคือความรู้สึก แต่มันกลายเป็นว่าเพลงนั้นคือความคาดหวัง เพลงแม่งคือแพะ เพลงแม่งคือสิ่งที่…ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ถ้ามันแป๊ก ก็จะต้องโทษเพราะว่าเพลงมันไม่ดี แล้วเขาก็มองเห็นคุณค่าของเพลงลดลงๆ มองหาอย่างอื่นที่จะทำ ทั้งๆที่เพลงมันต้องมีขึ้นมาใหม่ทุกวัน บางครั้งให้เพลงเป็นเพลงบ้างก็ได้ อย่าให้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมากขนาดนั้น เห็นน้องๆพี่ๆที่ยังทำงานอยู่ในบริษัทเป็นพนักงาน เขาเหนื่อยมาก เหนื่อยมากเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับ มันไม่บาลานซ์กัน
ศิลปินมีวันหมดยุคของตัวเอง วันนี้ไม่ดังเท่าเมื่อวาน บางคนรับไม่ได้…ฆ่าตัวตาย นักแต่งเพลงมีวันหมดยุคไหม นักแต่งเพลงปรารถนาความเด่นดังมีชื่อเสียงแบบศิลปินหรือเปล่า
เพลงเหมือนลูกนะ ลุ้นตั้งแต่ดูอุลตร้าซาวด์ เริ่มรู้ว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงแล้ว ดูแขนขา หัวใจ มันออกมาจากท้องจะหน้าตาเป็นไง แต่งเสร็จคลอดเพลงออกมา ก็ตามดูอีกว่าจะรอดไหม ดังขายหรือจ๋อยๆ พี่รู้สึกว่าเพลงทุกเพลงเหมือนลูก ไม่เคยเกลียดเพลงไหน ยกเว้นเพลงที่แต่งไม่เสร็จเหมือนมันแท้งไป พี่ไม่เคยไม่ชอบเพลงไหนของตัวเอง ไม่เคยรู้สึกว่าเกลียดเพลงไหน ไม่เคยเลย
.
มีนักแต่งเพลงที่ทำตัวดัง และมีนักแต่งเพลงที่อยากดัง แต่ก็ไม่ดัง มีทุกแบบ เหมือนกับศิลปินแหละ ปัจจุบันการดังมันช่วย โซเชียลมีเดียมีผล การดังมันทำให้คนเชื่อในตัวเขามากกว่าในเพลงของเขา เพลงของพี่คนนี้แต่งแม่งต้องดี เขาดัง แต่พี่เองไม่คิดอะไร ตัวจะดังไม่ดัง พี่อยากให้เขาตกหลุมรักเพลงของพี่ อยากให้เขารักลูกพี่ ฟังแล้วอินเลิฟ บางคนบอกพี่แม่งใจร้ายฉิบหาย แต่งเพลงทำร้ายผม บางคนบอกว่า…เพลงเพื่อเธอตลอดไป หนูฟังแล้วอยากมีเพศสัมพันธ์กับแฟนเลย เอ้อ เรารู้สึกดีแฮะ เป็นความรู้สึกหาซื้อด้วยเงินไม่ได้
พี่เป็นคนที่ดูคอนเสริต์แล้วหันหลังดู พี่จะหันหลังไปดูตั้งแต่สมัยมาบุญครอง พี่ดูเพลงเร็วแล้วร้องไห้ คิดมโนไปว่า คนทุกคนมีปัญหาของเขา แต่ในสามนาทีที่เขาฟังเพลงเรา เขาลืมไปหมดเลย เราปลื้มมาก เพลง…ก็ใครมันจะไปรู้ล่ะ เต้นจนลืมเมื่อวาน เต้นลืมอายุเลย ไปดูคอนเสิรตถ่ายคลิปมาโอ้โห มันไม่มีอะไรที่ขัดขวางเขากับเพลงได้เลย เต้นลืมทุกข์ ลืมโลก แล้วเราจะไม่มีความสุขเหรอ
.
ดังนั้นถ้าถามว่าความทุกข์หรือความลำบากมีมากแค่ไหน พี่จึงคิดว่า มันเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งดีๆที่เราได้รับ บางคนจะบอกว่าไม่เอาแล้ว อย่าไปทำแม่ง อย่าไปแต่งเพลงแม่ง ไม่ต้องยุ่งกับวงการเพลง อย่ายุ่งอีกเลย แต่พี่มีความเห็นอีกแบบ ยังหาวิธีอยู่กับเพลง ยังต้องมีวิธีได้สตางค์จากเพลงสิ มีสุภาษิตอันนึงที่พี่ชอบมากเลย “ไม่มีคำขอบคุณสำหรับท้องน้ำที่แห้งขอด” หมายความว่า คนที่เดินทางมาทะเลทราย เจอโอเอซิส อยากกินน้ำ แล้วมาเจอบ่อน้ำที่แห้งเหือด เขาม่พูดหรอกว่า ไม่เป็นไรนะครับ ยังไงพี่บ่อน้ำได้เคยดับกระหายผม แต่เขาจะก่นด่าว่าน้ำหายไปไหนวะ ไอ้ชิบหาย เทพเจ้าแห่งเสียงดนตรีเคยให้เรามาทุกอย่าง ให้มาทั้งชีวิตแล้ว พี่กล่าวหาเขาไม่ได้หรอก พี่อาจน้อยใจ ผิดหวังบ้าง แต่พี่ด่าเขาสาดเสียเทเสียไม่ได้
.
ทุกวันนี้ ความตั้งใจคือต้องอยู่ให้ได้ด้วยเพลง และจะขอเป็นคนที่ทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเสียงเพลงต่อไป
มีความคิดอยากให้ลูกๆมาทำงานเกี่ยวกับเพลงไหม
ไม่เคยแนะนำ ไม่เคยบอกให้ทำ เขาเลือกเอง เล่นดนตรีทั้งคู่ คนโตเรียนก็ธุรกิจดนตรี เขาไม่ค่อยรู้จักเพลงพี่เท่าไหร่ ก็ตามวัยตามสมัย ลูกสองคนชอบเพลงไม่เหมือนกัน เราเองกลับฟังตามเขา เขาเปิดโลกทัศน์ให้พี่ เขาไม่ต้องรู้จักว่าเพลงบิดาของท่านเป็นเพลงอะไร จนมาถามเองว่า เพลงนี้นั้นใช่เพลงพ่อไหม เพื่อนถามมา แล้วพี่ก็สนุกมากเวลาเข้าไปในคอนเสิร์ตที่ตามลูกไปดู ลองเข้าไปในวงมอสพิท ที่เขาผลักกันไปมา อ่อมันเป็นอย่างนี้เอง เข้าใจแล้ว สนุกมาก เขาไม่ได้ต่อยกัน ไม่มีปัญหาอะไร มันคือการปลดปล่อย
.
เมื่อก่อนดูคอนเสิร์ตตอนเราเด็กๆเราจะเห็นคนไทยเป็นซอมบี้ เดี่ยวนี้ไม่เป็นแล้ว สั่งเต้นเป็นเต้น คอนเสิร์ตที่แปลกมากวงนึง คาราบาว ไม่ต้องสั่งให้เต้นเลย ตั้งแต่เพลงแรกเพลงสุดท้ายไม่มีนั่ง ฉันอยู่กับพี่แอ๊ด พี่เล็ก พี่เทียรี่ฉันมีความสุขที่สุดแล้ว ฉันร้อง ฉันเต้น เห็นแล้วก็บอกตัวเองว่าทำไมเราถึงจะไม่ขอบคุณโลกนี้ล่ะ ที่ให้โอกาสเราทำงานแบบนี้ เพลงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเลย พี่ทิ้งโอกาสนี้ไปทำอย่างอื่นไม่ได้หรอก แล้วก็ไม่ใช่ว่าแกไม่ทำตังค์ให้ฉันอย่างเดิมแล้ว ฉันสาปส่ง วันก่อนนายเป็นบ่อน้ำบ่อทองคำให้เรา วันนี้เราก็อยู่ที่นี่แหละ อยู่ไปแบบน้ำพุเล็ก เราไม่ทู่ซี้ดันทุรังอยู่นะ เราอยู่แบบให้เราได้แต่งเพลง ไม่อยากไปทำอย่างอื่น
พออุตสาหกรรมดนตรีมันเปลี่ยนโฉมหน้าไปหมด แพลตฟอร์มดนตรีและสื่อต่างจากเดิม มองว่ามันเป็นยุคอะไรสำหรับคนดนตรีในภาพรวม
จะว่ายุคมืดก็ได้สำหรับคนที่ไม่เห็นแสงสว่าง แต่พี่ไม่เห็นว่าเป็นท้องน้ำที่แห้งขอด มันมืดแต่พี่ก็ไม่เห็นว่าไฟมันดับทุกดวง พี่ไม่คิดว่าเป็นอะไร คนบอกว่ามันยุคมืดก็ยุคมืด
เคยคิดจะก้าวไปสู่การทำงานระดับสากลบ้างไหม
พี่เป็นคนเขียนเนื้อเพลง พี่ว่าการเขียนเนื้อเพลงไทยยากมาก มันยากด้วยตัวของมันเอง เหมือนปีนเขาเอเวอร์เรสต์เลย ถ้าเราจะแต่งเพลงฝรั่งให้ได้อย่างที่เราแต่งเพลงไทย เราต้องเกิดที่โน่น เราต้องเกิดอเมริกา เราถึงจะรู้ว่าน้ำหนักการพูดน้ำหนักไหนที่มันเป็นคำนั้นจริงๆ มันไม่ได้ออกมาจากวิญญาณ เพราะฉะนั้นเราไม่กล้าจะเข้าไปเขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ แล้วถ้าพูดถึงการแต่งทำนองเพื่อโกอินเตอร์มันก็ไม่ใช่อาชีพหลักของพี่ มันเป็นสิ่งที่พี่ทำเสริม จะให้ทำนองพี่ไประดับสากลคงยาก แต่งเพลงฝรั่งส่งออกนี่ไม่กล้า กระทั่งพี่เต๋อยังบอกเลยว่ายากมาก เคยมีคนมาแต่งเพลงแกรมมี่เป็นภาษาอังกฤษ เขาทำอาชีพอะไรของเขาก็ไม่รู้ พี่เต๋อบอกคนที่มันไม่ได้เกิดที่แอลเอ มันแต่งเพลงภาษาแอลเอไม่ได้หรอก มึงเป็นนักแปลจดหมายของหน่วยงานอะไรก็ไม่พอ ต้องมีวิญญาณแอลเอ นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่อีกอย่างที่เราไม่คิด พี่ไม่กล้าแต่งเพลงฝรั่ง แต่ว่ามีเพลงที่ใช้เพลงภาษาอังกฤษเข้าไปแทรกบางประโยค เพื่อสีสรร อันนั้นพี่กล้าใช้ พี่คิดว่าภาษาอังกฤษของพี่สื่อสารได้ในเพลงไทย
.
ถ้าพี่เป็นคนทำดนตรี เรียบเรียงดนตรี พี่อาจจะคิดถึงการไปทำงานระดับสากล และพี่ยังคิดเลยว่า เพื่อนที่มีความสามารถมากๆอย่างเช่น บรูโน บรุญยาโน ถ้าไปทำงานต่างประเทศ ป่านนี้อาจมีบ้านอยู่ที่โน่นสามหลัง แต่ บรูโน บอกว่าที่นั่นแถวยาวกว่าที่นี่ คนเขาเก่งจริง เวลาเราฟังเพลงอะไรที่มันเกิดขึ้นใหม่ๆที่มาจากทางตะวันตก อย่างพี่ ได้ยินเพลงของ Justin Bieber เพลง Love yourself ครั้งแรก โอ้โห แม่งฆ่าไม่ตายจริงๆ วงการเพลงอเมริกันแม่งฆ่าไม่ตาย เจอ Ed Sheeran มึงฆ่าไม่ตาย
.
ใครบอกว่า Abba เชย พี่เถียงขาดใจ เอาสุ้มเสียงซาวนด์เชยๆยุคนั้นออก ลองไปฟังว่าเขาแต่งอะไรในนั้น พี่ฟังเพลงพวกนี้พี่ยกมือไหว้ทุกครั้งเลย แม่งเทพ ฟังไปจนถึง The sound of music ไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเชยได้เลยว่ะ มึงเชยเพราะภาพเก่าๆเพราะเป็น Julie Andrewและอีกอย่างบทหนังมันก็ไม่เชยด้วยนะหนังมันถึงอมตะ ออเคสเตรชั่นที่อยู่ข้างในเพลง นั่งเลือกฟังเฉพาะเสียงฟลุตก็สิ้นชีพแล้ว ของดีก็คือของดี ข้ามเวลาก็ยังดี เพลงที่อมตะของโลก มันประกอบไปด้วยตัวประกอบดีเด่น ที่รู้บทบาทของตัวเอง มีตัวพระเอกโคตรหล่อ นางเอกโคตรมีเสน่ห์ ลงตัวไปหมดทั้งเพลง และไม่ว่าจะเป็นอันไหนโอเค…ถ้าตัวประกอบอันนั้นมันเชย ตัดตัวใหม่ใส่เข้าไป
.
เสียงที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเพลงเชยมากๆในเพลงแต่ละยุค ก็มี เสียงกลอง กับ เสียงเบส และก็อาจจะเป็นเสียงเอฟเฟ็คของกีตาร์ ลองเอามันออก ลองเปลี่ยนชิ้นดนตรีให้มันกลายเป็นเดี๋ยวนี้ มันก็หายเชยแล้ว นี่แหละเพลงอมตะ คนเดี๋ยวนี้โปรดิวเซอร์เก่งๆเรียนมาสูงๆและมีพรสวรรค์มากๆหลายต่อหลายคน และในเวลาเดียวกันมันก็มีวัฒนธรรมฮิปฮอป วัฒนธรรมที่ทำเพลงได้ง่ายขึ้น วัยรุ่นเรียนไม่ได้เรียนดนตรีก็ทำเพลงฮิตได้ การทำเพลงมันง่ายขึ้น อัดที่บ้านทำกันเองก็ได้ มันทำตามความฝันได้ง่ายขึ้น เขาก็หากิมมิคมากกว่าหารายละเอียด ตัวคู่แข่งมันก็มากเข้าเพราะทุกคนทำได้ แทนที่จะต้องไปเรียนมา แต่อย่างว่า ถ้าคุณไม่เรียน ไม่ศึกษาศิลปอย่างเข้มข้น คุณก็จะไม่รู้หรอกว่า Rembrandt เขาวาดด้วยฝีแปรงอย่างนั้น เขามีอะไรในนั้นอีก เขาไม่ใช่สักแต่ว่าป้ายๆ ถ้าคุณไม่ได้ไปศึกษาตรงฝีแปรง ลองคุ้ยดูรอยแปรงตรงกอหญ้าต้นไม้ของเขา คุณก็จะไม่รู้ที่มาอันแท้จริง เหมือนคุณถ่ายรูปแล้วเข้า Rembrandt App ก็ออกมาคล้ายๆ แต่ไม่ใช่ ความสำเร็จของคนทำดนตรีเมื่อก่อนมันคือการแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เครื่องมือก็ไม่ดี ระบบเสียงก็ใช้ไม่ได้ เครื่องดนตรีก็แย่ ต้องออกไปเล่น ร้อง เต้น เขาถึงจะเห็นเรา เหนื่อยโคตรๆ ต้องเก๋า ต้องเก่ง หรือสมัยที่เริ่มมีมิวสิควีดีโอ จะไปหาดูที่ไหนวะ ต้องไปเปิดทีวีรอดู สมัยนี้อยู่ในมือถือโลด
.
พี่รู้สึกว่าดนตรีเป็นงานของพี่ พี่อยู่กับมันแล้วรู้สึกมีความสุข เมื่อก่อนมีคนบอกว่าอย่าทำงานอดิเรกให้มาเป็นงานอาชีพ เดี๋ยวจะเบื่อ เราไม่เห็นเบื่อเลย คนสมัยก่อชอบคิดอย่างนี้ ชอบเล่นโดรน ห้ามมาทำเป็นอาชีพ ไม่เอาๆ เขามาจ้าง เฮ้ย เอาโดรนขึ้นถ่ายให้กูหน่อยให้ห้าหมื่น ไม่เอาๆมันเป็นงานอดิเรก โง่รึเปล่า สมัยก่อนคุณอาแนะว่า ลูกแต่งเพลงเป็นงานอดิเรกไหม แล้วรับราชการ จะได้มั่นคง นึกในใจตอนนั้นว่า การแข่งขันสูงนะ แล้วเขาเรียกให้ไปทำงานมีตำแหน่งมีเงินเดือน มันไม่ได้มีเกิดขึ้นมาง่ายๆ หรอกนะ ลูกแต่งเพลงเป็นอาชีพได้หรือลูก ปีที่หนึ่งทำงานเป็นไงลูก ก็เงินเดือนขึ้นแล้วคุณอา เท่าไหร่แล้ว แต่รับราชการก็พิจารณาไว้นะลูก เป็นห่วง ถามทุกปี พอเลยมาถึงได้ส่วนแบ่งจากยอดขาย แกก็ไม่ได้พูดอะไรอีกแล้ว นอกจาก เก็บเงินดีๆนะลูก
ความมั่นคงในชีวิตนักแต่งเพลงอาชีพยุคนี้เป็นเรื่องที่ต้องกังวลไหม
ต้องคิดแหละ แต่จะให้ไปทำอาชีพค้าขายเลยเพื่อความมั่นคง มันไม่ใช่ฝันของเราที่ กูทำอยู่อะไรก็ได้ที่มันประทังชีวิต ที่มันหล่อเลี้ยงชีวิต แล้วกูก็ไปทำบ้าบอคอแตกเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ หรือรอพักร้อน งานนี้พักร้อนทุกวัน จับปากกามานี่…ฟังเดโม จับกีต้าร์ คิดออกแล้ว กูได้เป็นคนโน้นคนนี้อีกแล้ว ไปขี่จักรยานอีกแล้ว วาดรูปอีกแล้ว พี่มีความสุขกับมัน พี่จะต้องจะหาวิธีอยู่ด้วยมันให้ได้
ชีวิตครอบครัวกับงานมีข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหน
ไม่มี ก็เข้าใจ เรามีความสุขในการทำงานแล้วก็สามารถดูแลได้ ดูแลชีวิต ดูแลครอบครัวได้ถ้าทำสิ่งนี้แล้วมีความทุกข์ ดูแลชีวิตไม่ได้ พี่เองก็จะไม่ทำแล้ว ถ้ารู้สึกว่าการเป็นนักแต่งเพลงทำให้เราสูญเสียมากจนเกินไปแล้วในการทำงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเอาเปรียบ การไม่ดูแลงานของเรา เกิดความทุกข์ เสียสุขภาพ บั่นทอนชีวิต พี่ก็คงต้องพิจารณามัน แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ใช่ เรายังมีความสุขและมัน และมีช่องทางที่มันตอบการดูแลชีวิตได้ ก็เลยไม่ได้คิดถึงอาชีพอื่น ยังคงทำเพลงด้วยวิธีต่างๆเพือตอบโจทย์ต่างๆ
ลักษณะงานเพลงที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ สามารถทำงานให้ได้ทุกสถาบัน งานเพลงของแกรมมี่ก็ยังทำอยู่ในฐานะฟรีแลนซ์ รวมถึงงานอื่นๆข้างเคียง เช่น เพลงประกอบ ทำซิงเกิ้ล แม้กระทั่งไม่มีเนื้อเพลงก็ทำได้เพราะมีทีมพร้อม ล่าสุดมีงานทำเพลงบรรเลงให้คอนโดของเพื่อน เพิ่งส่งงานไปสี่คลิป อะไรก็ตามที่เป็นเพลงขอให้บอก เพลงไทย ฝรั่ง อะไรก็ตาม ทำได้หมด
ในมุมมองผู้บริโภคหรือผู้ที่ต้องการมีเพลงหรือดนตรีของตัวเองสำหรับงานต่างๆ การติดต่อนักแต่งเพลงอาชีพหรือโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของประเทศมาทำงานให้ เป็นเรื่องที่น้อยคนจะคิดว่าทำได้ง่ายๆ หรือราคาอาจจะสูงจนไม่มีใครกล้าจ้าง ทำให้เลือกจ้างเด็กๆ หรือทีมงานเล็กๆที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก แทนที่จะมาติดต่อเรา มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่ อย่างไร
ตรงสิ่งนี้คือสิ่งที่พี่ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหา แต่พยายามตีโจทย์ให้แตก ถ้ามองภาพรวม ในฐานะคนทำงานก็ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไป เราสามารถวิ่งเข้าหางาน ถ้ามีสิ่งไหนจำเป็นต้องทำก็จะทำเลย รวมถึงการประชาสัมพันธ์เมื่อมีโอกาส และมีเป้าหมายที่ชัดเจน
.
ในการรับงาน คนที่มาพร้อมกับบริษัทใหญ่ เขาจะหาตัวเปรียบเทียบ ถ้าเขาอยากได้เรา เขาก็หาเรา ถ้าเขาไม่มีงบจะจ่ายเขาก็ต่อรอง เราก็พิจารณารับหรือไม่รับงานเข้ามาตามขั้นตอนของธุรกิจทั่วไป บางครั้งเพื่อขับเคลื่อนทีม เพื่อให้งานมันเกิดขึ้น
จากผลงานเพลงที่แต่งแล้วดังมานับไม่ถ้วน มีคำตอบที่ชัดเจนหรือยังว่า ส่วนผสมความสำเร็จของเพลงที่จะดังคืออะไร พอจะแนะนำนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ได้ไหม
พี่ว่าได้คำตอบแล้วนะ คือ…จงเป็นคนที่ไปร้องเพลงนั้น จงเป็นส่วนนึงของบรรยากาศนั้น ของกีตาร์เสียงนั้น ของกลองชุดนั้น แล้วเป็นคนที่พูดภาษาของคนนั้น จงรู้สึกกับมัน แล้วถ้าอยากให้คนอื่นชอบมันก็จงชอบกับมันก่อน
นักวาดรูปเขาคงมีกิมมิคของเขา รูปวาดของเขาที่ราคาแพงๆ นอกเหนือจากค่าตัวคนวาด คือรูปนั้นจะต้องสวยก่อนเลย โดยไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นคนวาด รูปที่ดี เห็นปุ๊บ…เราจะพูดออกมาว่าสวย พูดแบบกำปั้นทุบดินว่า…จงรู้วิธีนั้นซะ ย้อนกลับเข้าไปตรงรูปภาพนั้นก็ได้ ศึกษาให้มาก ฟังให้เยอะ ดูเพลงที่สำเร็จ ดูเพลงที่ชอบ ดูเพลงที่ไม่ชอบแต่ดัง ส่วนเพลงที่มันไม่ทำให้เรารู้สึกอะไรเลย ก็ไม่ต้องไปฟังมัน จงมีวิธีของตัวเอง
ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในวงการเพลงที่พิสูจน์ด้วยผลงานหลายร้อยชิ้นตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีของ จักราวุธ แสวงผล และการปรับตัวอย่างมีชีวิตชีวาพร้อมก้าวสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมดนตรี คงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งยืนยันว่า เขาเป็นมากกว่าตัวจริงเสียงจริงของวงการนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นแมวเก้าชีวิตตัวโปรดของเทพเจ้าแห่งเสียงดนตรี ที่ยังคงเปี่ยมด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ และสนุกสนานกับการได้ทำงานที่รักอย่างไม่สิ้นสุด ก้าวผ่านยุคผ่านสมัยมาได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ยึดติดกับกับดักความสำเร็จเก่าๆบนหอคอยงาช้างหรืออัตตาที่ปล่อยวางไม่ลง ทำให้งานดนตรีฝีมือขั้นเทพของเขากลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็จับต้องได้ เข้าถึงได้ ในโลกที่แบนราบลงอย่างทุกวันนี้ และทำให้เขามีความสุขกับชีวิตในฐานะคนทำงานศิลปะที่ไม่ได้เป็นแค่บุคคลในตำนาน แต่เป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตที่น่าตื่นเต้นของวงการเพลงต่อไปอีกนานเท่านาน
Reported by : Wannasiri Srivarathanabul