ผศ.วรรณา พิเชฐพฤทธ์ ศาสตร์แห่งศิลป์ จากจิตวิญญาณสู่การถ่ายทอด

แม้ว่างานศิลปะจะถูกกลั่นกรองออกมาจากอารมณ์ พรสวรรค์และความใฝ่ฝันส่วนตนของศิลปินก็ตาม  แต่การจะดำรงศิลปะให้ยืนอยู่คู่สังคมได้นั้น จำต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากศิลปินรุ่นหนึ่งสู่อนุศิลปินอีกรุ่นหนึ่ง ‘ครูศิลปะ’ ที่มีคุณภาพจึงต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์หลอมรวมอยู่ในคนๆเดียวกัน สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความคิดแยบคายและอารมรมณ์อันลึกเร้นของศิลปินให้ผู้อื่นเข้าใจและนำไปใช้อย่างได้ผล

ผศ.วรรณา พิเชฐพฤทธ์ หนึ่งในจำนวน ’ครูศิลปะ’ ผู้สร้างทั้ง ‘งานศิลป์’ และ ‘คนศิลป์’ มาอย่างช่ำชอง เล่าถึงหัวใจของการสอนศิลปะให้เราฟัง ท่ามกลางงานศิลปะฝีมืออาจารย์เองอย่างน่าสนใจว่า

“การทำงานศิลปะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เรามีให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจและนำไปต่อยอดเป็นความคิดของเขาเองนั้นยากกว่ามาก คนที่จะสอนศิลปะได้จึงไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องเข้าใจศิลปะ เข้าใจการถ่ายทอดและที่สำคัญที่สุดคือเข้าใจคน การสอนศิลปะก็เหมือนการวาดรูป เราต้องเข้าใจลักษณะของสี เลือกเทคนิคที่ถูก ควบคุมอารมณ์และการสร้างสรรค์ให้ดี รูปที่ออกมาก็จะดีตามไปด้วย

“ตอนแรกที่อาจารย์ตัดสินใจเรียนศิลปะนั้นทางบ้านไม่เห็นด้วยเลย ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัยนั้นทัศนคติของคนไทยต่อศิลปินค่อนข้างเป็นไปในทางลบ ฉะนั้นการที่เราซึ่งเป็นผู้หญิงบอกว่าจะเรียนศิลปะจึงถูกต่อต้านอย่างมาก แต่ดิฉันก็พยายามอธิบายความรักที่มีต่องานศิลปะให้ทุกคนฟัง จนที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้เรียนได้

“ต่อมามีโอกาสได้เรียนศิลปะกับอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ได้สัมผัสจิตวิญญาณความเป็นครูของท่าน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากเป็นครูบ้าง จนกระทั่งได้เข้ามาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เห็นว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ทุกๆคนได้เรียนอย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน ได้เห็นความเป็นครูที่เอื้อเฟื้อของ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ก็ยิ่งทำให้เรารักการเป็นครูยิ่งขึ้น

“เวลานี้รู้สึกว่าค่านิยมของสังคมต่อการเรียนศิลปะเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปินได้รับเกียรติมากขึ้นในสังคม การเรียนศิลปะก็เริ่มได้รับการยอมรับ แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปเสียทีเดียว ยังมีบางคนที่คิดคล้ายๆเดิมอยู่บ้าง ก็หวังว่าวันหนึ่งความคิดเหล่านี้คงเปลี่ยนไป ทัศนคติที่เปลี่ยนไปนี้เองที่ทำให้เด็กเริ่มหันมาเรียนศิลปะกันมากขึ้น และที่น่ายินดีคือมีคนจำนวนหนึ่งศึกษาศิลปะอย่างลึกซึ้ง ต่อยอดไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะทำงานศิลปะต่อไปในฐานะศิลปินอาชีพ

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเรียนศิลปะเป็นกระแสเหมือนกัน ยิ่งบวกกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีด้วยแล้ว มีส่วนทำให้การเรียนศิลปะแตกต่างจากเดิมไปบ้าง บางครั้งเด็กก็มีความอดทนการทำงานน้อยลง มีความละเอียดละออน้อยลงเพราะมัวเอาเวลาไปสนใจอย่างอื่น อาจารย์เองในบางครั้งก็อาจรู้สึกแปลกแยกกับเด็กๆ ทำให้ไม่เข้าใจกัน แต่ในทางกลับกันความทันสมัยของเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือโลกทัศน์ใหม่ของเด็กๆนั่นเองที่ทำให้เกิดแนวทางการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่เป็นตัวของเขาเอง และสามารถสื่อสารกับยุคสมัยของเขาได้ นับว่าเป็นการต่อยอดวงการศิลปะออกไปได้อย่างดี

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ครูต้องรู้จักการเชื่อมโยงความคิดและสังคม ปรับตัวให้ทันและตั้งใจจริง เชื่อมั่นว่าประสบการณ์ที่เรามีเป็นสิ่งมีค่าที่ควรถ่ายทอดให้เขา และถึงอย่างไรเด็กๆก็สนใจตรงนี้มาก เพราะ เป็นสิ่งที่เขาไม่อาจหาจากที่ไหนได้ และสามารถจุดประกายให้เขาต่อยอดความคิดของพวกเขาในการทำงานต่อไปได้อย่างดี” อาจารย์วรรณาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มสดใส

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-269 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต
 ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...