PLOTINUS PLINLIMMON

image2

นักเขียนในจินตนากรรมที่เราจะพูดคุยกันในหนแรกสุดนี้มาจาก Pierre, or the Ambiguity (1852) นวนิยายสุดอื้อฉาวของยอดนักเขียนชาวอเมริกัน เฮอร์แมน เมลวิลล์ ( Herman Melville ) ซึ่งตีพิมพ์ไล่หลังผลงานเรื่องยิ่งใหญ่ Moby-Dick (1851) เพียงปีเดียว

 

ความล้มเหลวทั้งด้านยอดขายและเสียงตอบรับจากจากนักวิจารณ์แทบจะทำให้ Pierre, or the Ambiguity ถูกสกัดออกไปจากทำเนียบวรรณกรรมอเมริกันด้วย เพราะบางคนรับไม่ได้กับประเด็นล่อแหลมทางศีลธรรม อันมาจากความสัมพันธ์ร่วมสายเลือด (incest) ของตัวเอกปิแยร์กับพี่น้องต่างมารดาอิซาเบล ขณะที่บางคนก็ทนไม่ได้กับสำนวนภาษาที่ยอกย้อนเยิ่นเย้อ และเต็มไปด้วยคำขยายยืดยาวเยื้อยเฟื้อยจนแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าผู้เขียนกำลังกล่าวถึงเรื่องใด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป การได้อ่านผลงานดังกล่าวด้วยสายตาของคนยุคถัดมาจึงทำให้เริ่มมองเห็น และเข้าใจว่าเมลวิลล์ต้องการนำเสนออะไร การเล่นล้อกับวรรณกรรมแบบกอธิกที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าดัดจริต เริ่มจะถูกจริตและเข้าถึงใจผู้อ่านมากขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศสที่อ้าแขนรับงานของเมลวิลล์เป็นอย่างดี) และกลายเป็นงานคัลท์คลาสสิกที่ถูกกล่าวขานถึงกันมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลกวรรณกรรม

สำหรับคอภาพยนตร์คงจำกันได้ว่า Pierre ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยเลโอการากซ์ ( Leo Carax ) ในชื่อ Pola X (ที่ว่ากันว่ามาจากร่างที่สิบของบทภาพยนตร์) ซึ่งการถ่ายทำฉากรักอล่างฉ่างในเรื่องก็ได้สร้างความฮาฮืออื้อฉาวไม่แพ้กันและอาจเรียกได้ว่าล้มเหลวในเชิงรายได้และเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดุจเดียวกัน

 

แน่นอนครับว่าปิแยร์ตัวละครเอกของเรื่องถือได้ว่าเป็นนักเขียน หรือเป็นบุคคลที่พยายามจะเขียนอย่างนักเขียนอาชีพ ถึงกระนั้นนักเขียนในจินตนากรรมคนแรกสุดก็ไม่ใช่ปิแยร์ แต่กลับเป็นตัวละครที่มีบทบาทเล็กๆทว่าคงมีความสำคัญให้กล่าวถึง ค่าที่เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และมุมมองของตัวเอกอย่างปิแยร์อย่างมากมาย ซึ่งกล่าวได้ว่าการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตอย่างโลดโผนพิสดารผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติที่มีในโลก ก็เป็นผลมาจากการที่ปิแยร์ได้อ่านข้อเขียนของพลอทินัสพลินลิมมอน (Plotinus Plinlimmon) โดยบังเอิญนั่นเอง

 

image1

 

ในบทที่ 9 The Journey and the Pamphlet เมื่อคืนค่ำแห่งการครุ่นคิดคำนึงล่วงเลยมาถึงอรุณรุ่งในช่วงระหว่างแสงเงินแสงทองสาดส่องเข้ามาในรถม้า (พยายามเลียนแบบความเยื้อยเฟื้อยของบทบรรยายในเรื่องที่สวิงสวายและมีลีลาโอ้เอ้วิหารรายกว่านี้มาก) จนปิแยร์สามารถเพ่งพินิจพิจารณาภรรยาทั้งสอง (อิซาเบลและเดลลีหญิงแปลกหน้าและหน้าแปลกที่เขารับมาเป็นเมีย) ขณะกำลังหลับไหลเขาก็พลันเหลือบไปเห็นปึกกระดาษจากหนังสือที่ย่นยับและหมึกซีดจางวางอยู่

 

เขาหยิบขึ้นมาพิจดูจึงเห็นว่ามันเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มใหญ่ที่เป็นไปได้ว่าเจ้าของหนังสือฉีกมันออกมาใช้แทนผ้าเช็ดหน้า (ส่วนจะไปใช้เช็ดอะไรนั้นคงยากที่จะหยั่งรู้) มันเป็นหน้าเปิดของ EI หนังสือรวมคำบรรยายทางปรัชญาสามร้อยสามสิบสามบท โดย พลอทินัสพลินลิมมอน ที่เริ่มต้นด้วย On chronometricals and horologicals บทที่ว่าด้วยความแตกต่างของกลไกแห่งเวลาสองแบบที่ดำรงอยู่ในตัวของมนุษย์

 

พลินลิมมอนได้ยกตัวอย่างระบบเวลาของกรีนนิชที่มีความแม่นยำเที่ยงตรงและเป็นระบบจักรกล ซึ่งให้ประโยชน์แก่นักเดินเรืออย่างมากมาย กลไกของเวลานี้สอดรับกับระบบเหตุผลหรือองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญาของฟรานซิสเบคอนก็วางอยู่บนกาลเวลาแบบที่ว่านี้ และก็เป็นความจริงด้วยว่ามนุษย์เราได้สมาทานเวลาดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้นๆ จนทำให้เราละทิ้งเวลาอีกรูปแบบหนึ่งเวลาของพระเจ้าซึ่งมิได้ดำเนินไปตามกลไกที่เราคิดค้นขึ้นมา

 

การมีอยู่ของเวลาประเภทหลังนี้ เป็นสิ่งที่ลี้ลับและอธิบายได้ยาก หากทว่าก็เป็นจริงและมีอยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์เรา ครั้งหนึ่งเมื่อเยซูเดินดุ่มไปเพื่อเสนอเวลาแห่งพระคริสต์แก่ชาวยิว ชาวยิวก็ผลักไสหรือเย้ยหยันเพราะชาวยิวนั้นยึดถือเวลาแบบเยรูซาเลม

 

เนื้อหาของ On chronometricals and horologicals จบแบบไม่จบ เพราะส่วนที่เหลือขาดหายไป แม้กระนั้นการได้อ่านเพียงส่วนเสี้ยวความคิดของพลินลิมมอนก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ปิแยร์ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตของเขาเสียใหม่ และไม่สนใจหากมันจะไม่ระบบเวลาแบบเดียวกับเพื่อนมนุษย์

 

แม้จะมีประเด็นชวนให้ครุ่นคิดแต่ผู้อ่าน/นักวิจารณ์ร่วมยุคร่วมสมัยกับเมลวิลล์กลับมองว่าสาระสำคัญใน Chronometricals and Horologicals “หากจะมีความหมายใดบ้างนั้นก็แปลความอย่างง่ายๆว่าคุณธรรมและศาสนามีไว้สำหรับทวยเทพและไม่ควรที่มนุษย์จะไปเลียนแบบ”[1] ซึ่งถ้าพิจารณาผ่านกรอบคิดร่วมสมัยก็จะเห็นได้ว่ากลไกแห่งเวลาของพลินลิมมอนใน On chronometricals and horologicals อาจพอเทียบเคียงได้กับแนวคิดเรื่อง leap of faith ของโซเรนเคียเคกอร์ด (Søren Kierkegaard) นักเทววิทยาชาวเดนมาร์กที่มองว่าการกระโจนสู่ความศรัทธาคือหนทางเดียวในการล่วงสู่ความจริงทางศาสนา มิใช่การถกเถียงหรือการแสดงออกว่าตนมีความเชื่อ เพราะความจริงทางศาสนาเป็นประสบการณ์เฉพาะที่เกิดกับบุคคล และเป็นการตระหนักผ่านตัวบุคคลเพียงคนเดียว ดังนั้นต่อให้โลกมองเห็นเราเป็นตัวตลก เป็นเหมือนคนบ้า แต่มันก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงที่เราตระหนักหรือรับรู้ด้วยตัวเราเอง (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไปยาวๆได้)

 

 

พลินลิมมอนปรากฏตัวในบทที่ 21 โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้พำนักใน The Apostle ดินแดนอพยพสำหรับปิแยร์และบรรดาคนนอกสังคมทั้งหลาย เพียงแต่เป็นที่ทราบกันว่าเขาไม่อ่านไม่เขียนอะไรทั้งสิ้น มีคนพยายามนำเอาเครื่องเขียนและตำรับตำรามากมายไปให้เขา แต่เขาก็ไม่แตะต้องสิ่งเหล่านั้นและต้องการก็แต่เพียงเหล้าคาราโซ

 

พูดให้ง่ายนักเขียนในจินตนากรรมผู้นี้กลายเป็นเพียงคนบ้าคนหนึ่งและปิแยร์ก็ไม่มีโอกาสได้อ่านส่วนที่เหลือของ On chronometricals and horologicals


[1] George Duyckinck,  New York Literary World, August 21 1852

 

Related contents:

Kittiphol Saragganonda

คอลัมน์: นักเขียนในจินตนากรรม (The Non-Existential Writer) โดย: กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และเจ้าของร้าน หนังสือและสิ่งของ (Books & Belongings)