เรื่องความรวยความจนของคนเรานั้น เป็นเรื่องของปัจเจก คนบางคนมีทรัพย์สินนับพันหมื่นล้าน แต่ก็ยังไม่หยุดวิ่งหาเงินทองเพื่อเพิ่มความร่ำรวย แต่บางคนมีหลักหมื่นหลักแสน ก็อาจมีชีวิตที่ดูสบายๆ ดูสมบูรณ์พูนสุขดี ความรวยหรือจนจึงน่าจะเกี่ยวกับความรู้สึกเสียมากกว่าบัญชีทรัพย์สิน
ในฤดูกาลที่มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของเหล่านักการเมืองหน้าใหม่ ก็มักเป็นกระแสที่ค่อนขอดกันไม่จบทีเดียวว่า คนเป็นข้าราชการทหารรับใช้ประเทศชาติ ทำไมจึงได้มีเงินฝากหลักร้อยล้านในบัญชี เงินเดือนทหารเท่าไหร่กัน เก็บเงินยังไงหรือมีวิธีลงทุนแบบไหน เงินทองถึงได้งอกเงยออกมามากมายเช่นนี้
พูดก็พูดเถิด ใครจะว่าผู้เขียนดัดจริตหรือใฝ่ใจเข้าข้างใคร ก็คงห้ามไม่ได้ การที่นายทหารมีเงินในบัญชีเยอะแยะนั่นก็น่าคิดอยู่ แต่ความเป็นจริงของแวดวงการเงินและการลงทุน สำหรับบุคคลทุกอาชีพที่ทำงานหนักมาตั้งแต่เรียนจบจนถึงวัยใกล้เกษียณนั้น เราต่างก็รู้กันดีว่า การมีทรัพย์สินมูลค่าร้อยล้านขึ้นไปถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก ในทางกลับกัน ใครที่ทำงานหนักตั้งแต่เป็นหนุ่มเป็นสาวมาจนแก่แล้วยังมีทรัพย์สินไม่ถึงร้อยล้านนี่สิ คงต้องสำรวจตัวเองแล้วว่า คุณเลือกอาชีพผิด หรือบริหารความมั่งคั่งของตัวเองผิดวิธีหรือเปล่า เงินของคุณถึงไม่งอกเหมือนคนอื่นเขา
ฐานเงินเดือนเริ่มต้นของคนจบใหม่ส่วนมากโดยเฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ การมีเงินเก็บหลักแสนในขวบปีแรกๆของชีวิตการทำงานได้ย่อมถือเป็นความเก่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ เพราะเด็กไทยส่วนมากที่เพิ่งจบจะยังคงมีครอบครัวเป็นที่พึ่งพิง จึงไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตด้วยตัวเองทั้งหมด ทัศนะในการบริหารเงินเก็บที่หาได้เองแสนบาทแรกของคนเรา จะเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดอนาคตทางการเงินในระยะยาวได้เป็นอย่างดี คนบางคนอาจนำเงินก้อนนี้ไปลงทุน บางคนอาจนำไปซื้อของที่อยากได้ บางคนเก็บไว้ในธนาคารเป็นเงินฝากประจำ แม้จะได้ดอกเบี้ยไม่มากมาย แต่ยังดีใจว่าเงินยังอยู่ไม่หายไปไหน
คนที่นำเงินไปซื้อของ ถ้าเป็นของที่มีประโยชน์ต่อการสร้างฐานะและมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต ก็ถือเป็นเรื่องดี เช่น ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ถึงจะเป็นเพียงการผ่อนดาวน์ที่มีหนี้ต้องแบกไปในระยะยาว แต่ของที่ซื้อน่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากจะได้ใช้อยู่อาศัยแล้วยังถือเป็นการลงทุนในเวลาเดียวกัน
ส่วนคนที่นำเงินเก็บไปลงทุน แน่นอนว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะไปลงทุนทำธุรกิจ หรือลงทุนด้วยวิธีอื่น เช่น ลงทุนในตลาดหุ้น กองทุน ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรหรือปล่อยเช่า โอกาสที่จะขาดทุนบางส่วน ขาดทุนทั้งหมด หรือถึงขั้นติดลบเป็นหนี้ อาจเกิดขึ้นได้หากตัดสินใจผิดพลาดหรือโชคไม่ดี แต่คนที่ตัดสินใจลงทุนย่อมมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนมากกว่าคนที่ฝากเงินไว้เฉยๆ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่พลิกชีวิตไปสู่ความรวยแบบก้าวกระโดดจากเงินแสนแรก เช่น ซื้อใบจองคอนโดฯในทำเลทองไปขายต่อได้กำไรอย่างรวดเร็ว 200% หรือจองซื้อหุ้น IPO และขายทำกำไรได้อู้ฟู่เมื่อราคาวิ่งกระฉูด หรือบางคนเอาไปลงทุนทำธุรกิจบางอย่างที่ถูกจังหวะสุดๆกลายเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงและทำเงินมหาศาลได้ในระยะเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าผลตอบแทนจากเงินแสนแรกจะมากมายหลายร้อยเปอร์เซ็นต์แค่ไหน ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ใครกลายเป็นคนรวยหลักร้อยล้านในทันที แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ความสำเร็จของการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆนั้น มักเป็นแสงเทียนนำทางให้ก้าวไปสู่การลงทุนที่ทำให้เงินงอกเงยยิ่งๆขึ้นไปอีกในอนาคตได้ และถ้าหากพลาดพลั้งในช่วงแรกๆ ก็เป็นเงินที่ไม่มากนัก และยังมีเรี่ยวแรงหาเงินใหม่จากการทำงานได้อีกนานเพราะเป็นการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย
มีหนังสือดีๆหลายเล่มที่พูดถึงความสำเร็จในการลงทุนจากเงินน้อยๆ จนกระทั่งเติบโตไปเป็นเงินสิบล้านร้อยล้าน และส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงความสำเร็จจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาจทำให้เงินลงทุนเติบโตได้ถึง 1000% หรือ 10 เท่าในระยะเวลา 10 ปี ส่วนการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนต่างๆที่ไม่หวือหวา มีสถิติที่บอกว่าเราน่าจะได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยขั้นต่ำประมาณ 10% ต่อปี ในระยะเวลา 10 ปีถ้าตลาดไม่พลิกผัน เงินลงทุนมีโอกาสจะเติบโตขึ้นราว 250-300%
หนึ่งในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนได้น่าอ่าน เข้าใจง่าย และดำเนินรอยตามได้ไม่ยากนัก ก็คือ หนังสือ ‘ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน’ เขียนโดย กิติชัย เตชะงามเลิศ คนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในการบริหารการเงิน จนมีเงินหลักร้อยล้านตั้งแต่อายุยังน้อย ใครที่สนใจลองหามาอ่านกันดู
สำหรับคนที่ทำราชการ ถึงเงินเดือนจะไม่มาก แต่มีสวัสดิการดี ถ้าตัดเอาประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นออกไปก่อน (เพราะยังไม่มีหลักฐานจะไปกล่าวหาใครเข้าก็จะกลายเป็นหมิ่นประมาทเสียเปล่าๆ) การมีทรัพย์สินหลักร้อยล้านก็ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เริ่มทำงานประจำตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ หลังทำงานไปสัก 9-10 ปี อาจมีเงินเก็บขั้นต้นสักหนึ่งล้านบาท เงินล้านบาทแรกเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนถือว่าเยอะ ถ้าไปซื้อที่ดินเขาใหญ่สมัยที่ราคาไร่ละสองสามแสนก็อาจได้หลายไร่ ซื้อทิ้งไว้สักห้าปีสิบปี เขาใหญ่บูมมาก ที่ดินไร่ละสองสามแสนเปลี่ยนเป็นไร่ละสองสามล้าน บางทำเลอาจพุ่งไปถึงไร่ละห้าล้าน ตัวเลขบัญชีทรัพย์สินจะโตขึ้นมาจากหนึ่งล้านเป็นห้าสิบล้านในระยะเวลาสิบยี่สิบปีถือว่าธรรมดา ไม่ต้องคดโกงใครก็มีเงินห้าสิบล้านได้ไม่ยาก
หรือบางคนซื้อที่ดินแปลงเล็กๆกลางกรุงเอาไว้ในราคาไม่ถึงล้านสำหรับปลูกบ้าน วันดีคืนดีทำเลนั้นมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน มูลค่าที่ดินอาจกลายเป็นห้าล้านสิบล้านก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ถ้าตัดใจขายเอาเงินก้อนใหญ่ไปซื้อบ้านชานเมืองก็ยังเหลือเงินสดอีกมาก เมื่อสินทรัพย์เดิมเปลี่ยนรูปเป็นเงินทุนก้อนโต เจ้าของเงินนั้นอาจเปลี่ยนการลงทุนจากที่เคยหวือหวามาสู่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำแต่มั่นคงและอาศัยพลังอำนาจมหาศาลของสิ่งที่ไอน์สไตน์เรียกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 ของโลกก็คือ “ดอกเบี้ยทบต้น” ผ่านไปอีกสักสิบปี คนธรรมดาๆก็จะกลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านให้คนสงสัยแกมอิจฉาว่า ไม่เห็นมีรายได้เยอะแยะจากการทำงานหรือทำธุรกิจอะไรเลย ทำไมถึงมีเงินในบัญชีมากมายนัก อย่างที่กำลังเป็นกระแสพูดกันบ่อยๆเวลาที่มีรายการแจงบัญชีทรัพย์สินอย่างตอนนี้เป็นต้น
ใครนึกไม่ออกผมจะคำนวณเล่นๆให้ดู สมมุติมีเงินต้น 5 ล้าน ได้ผลตอบแทนปีละ 10% จากการลงทุนทุกประเภทรวมกัน (เช่น หุ้น กองทุน พันธบัตร ค่าเช่าอสังหา) และสมมุติว่าผลตอบแทนนี้เป็นแบบทบต้น
เงินต้น เงินต้น
5000000 10000000
ปีที่ 1 5500000 11000000
ปีที่ 2 6050000 12100000
ปีที่ 3 6655000 13310000
ปีที่ 4 7320500 14641000
ปีที่ 5 8052550 16105100
ปีที่ 6 8857805 17715610
ปีที่ 7 9743585 19487171
ปีที่ 8 10711794 21458888
ปีที่ 9 11789738 23579476
ปีที่ 10 12968712 25937424
จากตัวเลขที่นำมาให้ดูนี้ คงช่วยอธิบายได้ว่า ภายในเวลาเพียงสิบปี กับผลตอบแทนเพียง 10%ต่อปีแบบทบต้น ทำให้เงินต้นสามารถเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 250% คนมีเงินต้นห้าล้านจะโตเป็นสิบสองล้าน เงินต้นสิบล้านโตเป็นยี่สิบห้าล้าน ดังนั้น การมีเงินในบัญชีนับร้อยล้านหลังการทำงานหนักและอดออมมาสามสิบสี่สิบปีบวกกับการลงทุนที่เหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังขา และเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนน่าจะถือเป็นเป้าหมายเสียด้วยซ้ำ
ส่วนที่จะไปตรวจสอบว่า ใครรวยมาจากไหนนั้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ใครรวยเพราะทำดีก็ควรสรรเสริญ ใครรวยเพราะคดโกงก็ควรถูกลงโทษตามกฎหมาย
รู้เช่นนี้แล้ว อย่ามัวแต่นั่งตาร้อนคอยจับผิดคนที่เขารวยกว่า แต่จงรีบมาบริหารการเงินของเราให้รวยอย่างเขาบ้าง จะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์กว่า
Reported by : Attakamon Piriyasakul
www.HiClassSociety.com
www.facebook.com/HiClassSociety