เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า “บุญ” กับ สิ่งที่เรียกว่า “กุศล” บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถในการพินิจพิจารณา แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็นคนละอย่างหรือเรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมายของรูปศัพท์แห่งคำสองคำนี้ทีเดียว
บุญ
เป็นสิ่งที่ทำให้ ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่าตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ทำบุญเอาหน้าเอาเกียรติอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าได้บุญเหมือนกัน แม้จะเป็นบุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อเอาบุญกันจริงๆก็ยังอดฟูใจ ไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามแต่ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติอย่างไรก็ตาม ฉะนั้นความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ ฟูใจ และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีกไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้
กุศล
เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่งสิ่งต่างๆอันเป็นเหตุให้พัวพันอยู่ในกิเลส ตัณหา อันเป็นเครื่องนำให้เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมายกวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการโอบรัดเข้ามาหาตัวให้มีเป็นของของตัวมากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศลก็เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นความโง่เขลาขนาดเข้าไปกอดรัด งูเห่าทีเดียว ฝ่ายข้างกุศลหรือที่เรียกว่าฉลาดนั้น ต้องการจะปล่อยวาง หรือผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่นให้ปล่อยวางหรือผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศลจึงถือว่าฝ่ายข้างบุญนั้นยังเป็นความมืดบอดอยู่
เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆเราต้องพิจารณาดูที่ตัวอย่างต่างๆที่เรากระทำกันอยู่จริงๆคือ ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือเอาของตอบแทนเป็นกำไร หรือเพื่อผูกมิตรหาพวกพ้อง หรือแม้ที่สุดแต่เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้เรียกว่าให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ
แต่ถ้าให้ทานอย่างเดียวกันนั่นเองแต่ต้องการเพื่อขูดความขี้เหนียวของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนาเอาไว้ เพราะเห็นว่าศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ของโลก หรือให้เพราะเมตตาล้วนๆโดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่าให้ไปเสียมีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่าให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล
ซึ่งมันแตกต่างไปคนละทิศละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเองที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทานจนกลายเป็นผลร้ายขึ้นในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทานถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูงพ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลาความขี้เหนียวในจิตใจของเขา ก็ยังมีปัญญารู้จักเหตุผลว่าควรให้ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญจึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ห้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร
Credit : inwza.com