บัวย่อมมีใบอันหยาดน้ำไม่อาจเกาะติดได้ฉันใด ผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้วก็ย่อมมีจิตอันธุลีกิเลสไม่อาจเกาะติดได้ฉันนั้น
จิตปราศจากธุลี คือ อะไร ?
ธุลี แปลว่า ฝุ่นละอองที่ละเอียดมาก ในที่นี้หมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่เกาะ ซึม แทรก หุ้มใจของเราอย่างซ่อนเร้นบางๆ ทำให้ความผุดผ่อง ความใสสะอาดเสียไป ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นไม่รู้
จิตปราศจากธุลี หมายถึง จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียด อย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางฟื้นกลับเข้ามาในใจได้อีก ทำให้จิตสะอาดผ่องใส นุ่มนวลควรแก่การงาน ได้แก่จิตของพระอรหันต์
ประเภทของกิเลส
กิเลสในใจคนมีอยู่ 3 ตระกูลใหญ่ คือตระกูลราคะ โทสะ โมหะ กิเลสแต่ละตระกูลก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ที่หยาบมากๆ เห็นได้ชัดเจนเหมือนขยะมูลฝอยและเล็กลงเหมือนฝุ่นผงจนถึงที่ละเอียดมากๆเหมือนธุลี บางคนเจอแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส มองไม่ออก ดังนี้
1.ตระกูลราคะหรือโลภะ คือความกำหนัดยินดี รัก อยากได้ ในคน สัตว์ สิ่งของ หรืออารมณ์ที่น่าใคร่ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ดังนี้
- อภิชฌาวิสมโลภะ ความโลภอย่างแรงจนกระทั่งแสดงออกมา เช่น ปล้นจี้ ลักขโมย
- อภิชฌา ความเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น จ้องๆ จะเอาของเขาละ แต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงออก
- โลภะ ความอยากได้ ความโลภ
- กามราคะ ความพอใจในกาม รักเพศตรงข้าม ยังมีความรู้สึก ทางเพศ หรือยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส รูปราคะ ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้รูปฌานแล้ว
- อรูปราคะ ความติดใจยินดีในอารมณ์ของอรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึก สมาธิจนได้อรูปฌานแล้ว
- ข้อ 3-5 นี้แที่จัดเป็นกิเลสละเอียด ที่เรียกว่า ธุลีในตระกูลราคะ
2.ตระกูลโทสะ คือความไม่ชอบใจ ความคิดร้าย คิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ดังนี้
- พยาบาท ความผูกอาฆาต จองเวร อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย บางทีข้ามภพข้ามชาติก็ยังไม่ยอม เช่น พระเทวทัตผูกพยาบาทพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าตั้งแต่ภพในอดีตมา
- โทสะ ความคิดร้าย คิดทำลาย เช่น คิดจะฆ่า คิดจะเตะ คิดจะด่า คิดจะเผาบ้าน คิดจะทำให้อาย ฯลฯ
- โกธะ ความเดือดดาลใจ คือคิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร
- ปฏิฆะ ความขัดใจ เป็นความไม่พอใจลึกๆ ยังไม่ถึงกับโกรธ แต่มันขัดใจ(จัดเป็นธุลี กิเลสละเอียดในตระกูลโทสะ)
3.ตระกูลโมหะ คือความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป ส่วนความไม่รู้วิทยาการต่างๆ ไม่ใช่โมหะ คนที่มีความรู้ วิทยาการมากเพียงใด มีปริญญากี่ใบก็ตาม หากยังไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำละก็ ได้ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะทั้งนั้น กิเลสตระกูลโมหะ มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียดดังนี้
- มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่า พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น
- โมหะ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
- สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เช่น คิดว่าร่างกายนี้เป็น ของเราจริงๆ
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม เช่น ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าบุญบาปมีจริงไหม ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ
- สีลัพพตปรามาส ความติดอยู่ในศีลพรตอันงมงาย เช่น เชื่อ หมอดู เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อพระเจ้า
- มานะ ความถือตัว ถือเขาถือเรา
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อยๆ ยัง ไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์ไม่ได้หมายถึงความฟ้งซ่าน ไม่รู้เหนือรู้ใต้อย่างที่คนทั่วไปเป็น
- อวิชชา ความไม่รู้พระสัทธรรม เช่น ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน
โดยสรุป ธุลี หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดทั้ง 3 ตระกูล รวม 10 ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ทั้ง 10 ประการนี้เรียกว่า สังโยชน์ 10
พระโสดาบันจะสามารถละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตน-ตรัยเต็มที่ ไม่มีความลังเลเลย ส่วนพระสกิทาคามีก็ละได้ 3 ข้อแรก เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่กิเลสข้อที่เหลือเบาบางลง ส่วนพระอนาคามีละได้เพิ่มอีก 2 ข้อ คือกามราคะและปฏิฆะ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละสังโยชน์ธุลีกิเลสทั้ง 10 ประการ ได้อย่างสิ้นเชิง มีจิตผ่องใส บริสุทธิ์ตลอด
ระดับโทษของกิเลสทั้ง 3 ตระกูล
ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า คนจะรักกันอยู่กันฉันสามีภรรยาถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่าไปนอกใจหรือไปมีชู้ก็แล้วกัน โทษของราคะไม่ค่อยหนักนัก แต่การจะเลิกนั้นยากมาก คลายช้า คนลองรักกันแค่ไม่เห็นหน้าไม่กี่วันก็ทำท่าจะตายเอาให้ได้ บางทีตายแล้วเกิดใหม่ใจยังผูกพันกันอยู่เลย จะให้เลิกรักเลิกยาก
โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว เวลาโกรธขัดใจขึ้นมาฆ่ากันได้ บางทีถึงขนาดฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้ มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว ถ้าเขามาขอโทษขอโพยเอาอกเอาใจไม่นานก็หาย โทสะคลายเร็วอย่างนี้
โมหะมีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย ความหลง ความไม่รู้พระสัทธรรม นี้มีโทษมาก ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง และแถมเจ้าโมหะความหลงนี้ยังคลายช้าอีกด้วย คนลงไม่รู้จักบุญจักบาปละก็ กว่าจะแก้ได้ท่านว่าหืดขึ้นคอเลย บางทีก็ต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไปโน้นมาโปรด ยังไม่รู้ว่าจะแก้หายหรือเปล่า
ข้อควรปฏิบัติ
เราต้องทราบว่ากิเลสทั้ง 3 ตระกูลนี้ มันฟู มันงอกงามได้ เช่น คนบางคนเดิมอาจจะเป็นคนไม่โลภอะไร พอใจอยู่กับของของตน แต่ไม่ระวังตัวเผลอไปหน่อยเดียว มีลาภยศมาล่อมากๆเข้าอาจกลายเป็นคนโลภไปทำบาป ทำชั่วเพราะความอยากได้ก็มี บางคนเดิมอาจเป็นคนใจเย็นแต่ถูกยุถูกแหย่มากๆเข้ากิเลสก็อาจงอกงามกลายเป็นคนเจ้าโทสะไปได้เหมือนกัน หรือเดิมก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เข้าใจธรรมะบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บุญบาปก็แค่สงสัยว่ามีหรือไม่ แต่ไปคบคนพาลเข้ากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ปฏิเสธนรกสวรรค์ คิดว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตัวเองก็เป็นไปได้เช่นกัน
เราจึงต้องระวังตัวไม่ประมาทในการทำความดี ตั้งใจทำสมาธิภาวนาไปตามลำดับ ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งก็คงจะทำใจหยุดใจนิ่งเกิดปัญญา เห็นอริยสัจจ์ ทำนิพพานให้แจ้ง และกำจัดธุลีกิเลสทั้งหลายให้ล่อนหลุดไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ เข้าถึงสุขอันเป็นอมตะได้เหมือนกัน
ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ความโลภย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้วไม่ประทุษร้ายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย
โทสะย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น เหมือนผลตาลสุกหล่นจากขั้ว
ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้วไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ผู้นั้นย่อมกำจัดความหลงได้เหมือนอาทิตย์อุทัย ขจัดความมืดให้หมดไปฉะนั้น
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๘/๒๙๕-๒๙๖
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
Thanks to images from http://wachalife.com/pic/all-other/other000005/imgs/793386.jpg
http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2010/11/lordBudha.20130425.png