Professional CFO ปฏิภาณ สุคนธมาน
ขณะที่วิกฤตการณ์ปัญหาน้ำมันกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลก ความเครียดสุมรุมอยู่ในหัวอกของผู้ใช้รถทั้งส่วนตัวและสาธารณะ อีกฝ่ายที่เครียดไม่แพ้กันก็คือบริษัทพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อันตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องคอยตอบคำถามสารพัดสารพันแก่สื่อไม่เว้นแต่ละวัน ในความกดดันเช่นนี้ หากเป็นคนธรรมดาก็อาจยิ่งเครียดหนักไปใหญ่ แต่สำหรับผู้บริหารมือทองที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีวิธีบริหารชีวิตที่ดี ย่อมมีรอยยิ้มสดใสเสมอแม้ในวิกฤต
ในวันที่แดดร่มลมตก ผมกับพี่บรรณาธิการได้มีโอกาสนั่งสนทนากับ ปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้บริหารด้านการเงินในบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ที่ยังคงร่าเริงและยิ้มแย้มแจ่มใสแม้กระแสภายนอกจะกดดันและบีบคั้น บทสนทนาของเราเป็นไปอย่างสบายๆ เคล้าเสียงหัวเราะและข้อคิดแห่งชีวิตจากผู้ชายคนนี้
“ชีวิตในวัยเด็กของผมก็เหมือนเด็กสมัยก่อนทั่วๆ ไปครับ เรียนบ้างเล่นบ้าง แล้วผมอยู่โรงเรียนที่เขาสอนให้เล่นมากกว่าเรียน คือที่วชิราวุธวิทยาลัย อย่างที่ทราบกันว่าเด็กวชิราวุธต้องเล่นกีฬา ต้องมีกิจกรรมสังคม ต้องเล่นดนตรี และเรียนไปด้วยตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนที่ตั้งไว้ เผอิญผมเล่นมากกว่าเรียน เป็นนักรักบี้ของทีมโรงเรียน เรียนปานกลาง ไม่ได้เก่งมาก ขึ้นมศ.5 แล้วก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองจะไปเรียนต่อคณะอะไร รู้แต่เรียนสายวิทย์เพราะนึกอยากจะเป็นวิศวกร แต่ด้วยความที่เป็นนักกีฬา ต้องไปเก็บตัว ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน เรียนเคมีเริ่มท่องสูตรไปได้ 5-10 ตัว ไปเก็บตัวกลับมาเขาไปตัวที่ 40 กันแล้ว (หัวเราะ) จบเห่ คิดว่าถ้าเรียนวิทย์ต่อไปคงไม่รอด จึงดร็อปแล้วไปต่อศิลป์-คำนวณ
“ด้วยความที่ไม่อยากเป็นข้าราชการ เพราะมันอยู่ภายใต้กฎระเบียบ แล้วก็ทำงานค่อนข้างช้า สมัยก่อนที่คนพูดถึงข้าราชการคือสวัสดิการดี แต่ทำงานเช้าชามเย็นชาม และเงินเดือนน้อย ผมอยากทำสายธุรกิจเพราะเงินเดือนเยอะกว่า (พูดกลั้วหัวเราะ) จึงเลือกคณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ วิชาเอกการบริหารงานคลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมาเส้นยาแดงผ่าแปด คือได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เขาตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องได้ 3.25 ผมได้ 3.26 ก็ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 มา”
ใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปีครึ่ง จึงทำให้มีเวลาเล็กน้อยไปทำงานที่ปูนซีเมนต์ไทยประมาณ 1 ปี ก่อนจะบินลัดฟ้าไปต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ณ The American University วอชิงตันดีซี เลือกศึกษาต่อคณะบริหารธุรกิจหรือ MBA สาขาไฟแนนซ์ กระทั่งจบภายใน 2 ปีกว่าๆ จึงบินกลับสู่บ้านเกิด เริ่มต้นชีวิตการทำงานอย่างจริงจัง ตั้งแต่บริษัทชลประทานซีเมนต์ หรือ ‘ปูนเล็ก’ ในบรรดา 3 ปูนของสมัยก่อนอันประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ไทย ปูนซีเมนต์นครหลวง และชลประทานซีเมนต์
“ผมเข้าไปทำเกี่ยวกับการตลาดครับ วิจัยตลาด มีการออกไปดูพื้นที่ ถามบรรดาตัวแทนจำหน่าย ไปนั่งเฝ้าบรรดาตัวแทนจำหน่ายของคู่แข่ง ดูปริมาณซื้อปูน รถขนปูนเข้าไปกี่คัน นั่งนับเพื่อจะรู้ยอดขายของคู่แข่งเทียบกับยอดขายของเราเป็นยังไงบ้าง อยู่ประมาณ 3 ปี สนุกดี ก่อนจะย้ายมาที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งวันนี้ไม่มีแล้ว เข้าไปทำในตำแหน่งผู้จัดการส่วนการเงิน ถูกใจเพราะตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา ทำอยู่ประมาณ 10 ปี จากผู้จัดการส่วนก็ได้เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ จนตำแหน่งสุดท้ายคือเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี”
ก่อนจะมีคนชวนไปอยู่ที่บริษัท เดอะ โคเจเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ COCO บริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ที่ขายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมและขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการก้าวไปสู่บททดสอบสำคัญ
“ที่เข้าไปทำเพราะตอนนั้น COCO เขามีปัญหาเรื่องหนี้ เพราะในช่วงวิกฤติปี 2540 กู้เงินดอลล่าห์มาเยอะ ถึงเวลาเงินบาทอ่อนตัวก็ทำให้หนี้มีเยอะเกินไป หน้าที่หลักตอนนั้นคือเข้าไปแก้หนี้ ตำแหน่งคือ CFO หรือ Chief Financial Officer ปรับปรุงโครงสร้างการเงิน ทำได้ประมาณปีครึ่ง COCO ก็ถูกขายให้กับบริษัทต่างชาติ ตอนนั้นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ COCO คือบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) พอ COCO ถูกขายเขาจึงชวนผมมาอยู่บ้านปูในตำแหน่ง CFO ในบริษัทลูกของบ้านปู ชื่อบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด บริษัทนี้ทำหน้าที่หลักอย่างเดียวคือลงทุนในโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งหลาย หน้าที่หลักในตอนนั้นคือดูแลพอร์ตการลงทุนและหาเงินกู้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า BLCT กำลังผลิตประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ใช้เงินทุนประมาณ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หน้าที่ผมคือต้องหาเงินกู้มาสำหรับโครงการนี้ประมาณ 1,100 ล้านเหรียญฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ปีก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมๆ กับหมดความท้าทาย จนมีคนชวนมาสมัครที่บางจาก
“ตอนนั้นบางจากในปี 2546 มีปัญหาเรื่องการเงินจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งทุกบริษัทที่กู้เงินดอลล่าห์มีปัญหาหมด ทีนี้ธุรกิจน้ำมันตอนนั้น บริษัทอื่นที่เป็นโรงกลั่นน้ำมันเขามีเจ้าของที่แท้จริง เขามีเชลล์ มีเอสโซ่เป็นบริษัทแม่ พอมีปัญหาการเงินก็เพิ่มทุนแก้ปัญหาหมด แต่บางจากวันนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐไม่ต้องการจะใส่เงินเพิ่มเข้ามา คือให้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ฉะนั้นสิ่งที่บางจากทำตอนนั้นคือรอเวลา หลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมาสภาพเศรษฐกิจไม่ดีเลย ความต้องการใช้พลังงานแย่มาก บางจากตอนนั้นก็เลี้ยงตัวมาให้พออยู่รอดได้เท่านั้น รอจังหวะจนกระทั่งเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ประมาณปี 2546 เริ่มมีโครงการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด เพราะเดิมกู้เงินระยะสั้นมาหมุนเท่านั้น จึงต้องการ CFO คนใหม่ ซึ่งเขาก็เลือกผมเข้ามา หน้าที่หลักคือปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ (เน้นเสียง) เนื่องจากมีเงินกู้ที่จะต้องคืนเจ้าหนี้ในเวลา 4-5 เดือนข้างหน้า ต้องปรับให้ทันในเวลาแค่นั้น ซึ่งสุดท้ายก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
จากวันนั้นจนวันนี้ เขาก็ยังมีความสุขดีกับหน้าที่อันสำคัญยิ่งยวดที่ทุกบริษัทไม่อาจปฏิเสธได้
“เสน่ห์ของสายงานด้านการเงินคือมันเป็นปราการด่านสุดท้ายของท่านชายมั้งครับ (หัวเราะร่า) เสน่ห์ของมันก็คือว่า สุดท้ายแล้วปัญหาอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้น จะจากการผลิตก็ดี การตลาดก็ดี มันแปลงมาเป็นปัญหาด้านการเงินหมด ดังนั้นถ้าเกิดเราดูแลไม่ดี เราควบคุมไม่ดีตั้งแต่ต้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครต้องรับผิดชอบ การเงินก็ต้องรับผิดชอบ สมมติโรงกลั่นกลั่นไม่ได้ความเจ๊งมันอยู่ที่ไหน ก็คือเงินไม่มี เพราะว่าลงทุนไปแล้วเงินไม่เข้า จ่ายคืนเจ้าหนี้ไม่ได้ ฉะนั้นเสน่ห์ของงานการเงินก็คือว่าเราต้องรู้มันทุกเรื่องเลย เราต้องควบคุมดูแลธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ มิเช่นนั้นแล้วเราเองเป็นผู้รับปัญหาและแก้อยู่คนเดียว
“คอนเซ็ปต์ของ CFO สมัยใหม่ผมเชื่อว่ามันต่างจากสมัยเก่าแล้ว สมัยเก่าเราบอกว่า CFO คือคนที่ดูแลด้านการเงินและบัญชี คือจ่ายเงิน รับเงิน ลงบัญชีให้ถูก กรอกงบการเงินให้ถูก ทันเวลา แค่นั้นน่าจะพอ แต่เวลาผมไปเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ ผมจะบอกคนอื่นว่า CFO จริงๆ มีอยู่ 3 อย่าง
“อย่างแรกคือ เซลส์แมน ทุกคนงง คำว่าเซลส์แมนของผมก็คือว่า เรามีหน้าที่ขายความเชื่อมั่น ขายเครดิตของเราให้กับนักลงทุน ให้กับเจ้าหนี้ ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เวลาเรากู้เงินเราก็ต้องไปขายความเชื่อมั่น ขายเครดิตของเราให้กับเจ้าหนี้ ให้เขามั่นใจว่าธุรกิจของเรามีความมั่นคง สภาพคล่องมีอยู่เหลือเฟือ ให้เขามั่นใจแล้วก็ปล่อยเงินกู้มาให้ ผมไม่ได้ขายน้ำมัน แต่ผมขายเครดิตทั้งหมด ดังนั้นถ้าเราไม่รู้เรื่องการผลิตของบริษัท เราไม่รู้เลยว่าเราทำมาหาได้ยังไง เราขายน้ำมันได้กำไรเท่าไหร่ ธุรกิจการตลาดของเราดีไม่ดี ถ้าเราไม่รู้พวกนี้เราก็ขายไม่ได้ เซลส์แมนต้องรู้ทั้งหมดของบริษัท รู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนด้านการผลิตของเราคืออะไร จุดแข็งจุดอ่อนด้านการตลาดของเราเป็นยังไง จุดแข็งจุดอ่อนด้านการบริการ การบริหารทั่วไปเป็นยังไง และจะแก้ปัญหา จะปรับปรุงมันอย่างไร นี่คือหน้าที่แรกของ CFO
“อย่างที่ 2 คือเป็นกระเป๋าสตางค์ คือรับ-จ่ายเงิน ลงบัญชี บันทึกต้นทุน วิเคราะห์ผลประกอบการ
“และอย่างที่ 3 ตราบใดที่เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนมองการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหน้าที่ของ CFO คือเป็นมือขวาของ CEO ต้องคู่กันไปเลย CEO มีแผนการอย่างไร เราก็ต้องแปลแผนการนั้นมาเป็นรูปของธุรกิจ พร้อมทั้งวางแผนที่จะสนับสนุนธุรกิจนั้นให้มีคุณภาพตามเป้าหมาย ตรงตามระยะเวลามากที่สุด ต้องอยู่ข้างๆ CEO ต้องควบคุมดูแล วิเคราะห์ผลประกอบการต่างๆ แล้วก็พูดคุยกับ CEO โดยตรง”
คุยอยู่กับผู้บริหารในบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศทั้งที หากไม่วกเข้าเรื่องวิกฤตน้ำมันสักหน่อยก็ดูจะกระไรอยู่
“จริงๆ แล้วผมว่า ณ วันนี้แทนที่คนไทยจะมาบ่นกันเรื่องน้ำมันแพง คนไทยควรจะปรับวิถีชีวิตในการใช้น้ำมัน เราทำอะไรไม่ได้กับน้ำมันแพง อย่าบอกว่าโรงกลั่นกำไร ต้องลดราคาหน้าโรงกลั่น ไม่มีใครที่ไหนทำกัน เพราะว่าต้นทุนมันแพง โลกมันแพง ทุกคนเขาซื้อน้ำมันราคาเดียวกัน
“เพราะว่าบริษัทน้ำมันทั้งหลายเราใช้ราคาน้ำมันที่อิงกับตลาดกลางสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาที่โรงกลั่นสิงคโปร์นะครับ คนมักเข้าใจว่าเราใช้ราคาที่โรงกลั่นสิงคโปร์ผลิตออกมาแล้วขาย ไม่ใช่! เหมือนท่าข้าวกำนันทรงน่ะ กำนันทรงไม่ได้ปลูกข้าวเองและเกี่ยวข้าวเองแล้วขาย กำนันทรงเป็นเจ้าของตลาด คนนำผลิตภัณฑ์มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดกำนันทรง แบบเดียวกับที่สิงคโปร์ ราคาน้ำมันจากที่ต่างๆ ส่งมอบไปที่ตลาดสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐาน เป็นราคากลาง การที่เรามีตลาดกลางเพื่อให้ชัดเจนในการอ้างอิงทั่วไป เราก็ใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์ ถ้าเราจะซื้อน้ำมันเบนซินและดีเซลเข้ามา เราก็ต้องซื้อที่ราคาตลาดกลางสิงคโปร์ และทำยังไงให้มาถึงบ้านเราได้ ก็ต้องขนมา ก็คือราคาตลาดกลางสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง บวกค่าโสหุ้ยในการนำเข้า ก็เป็นราคาที่เมืองไทย นี่คือเหตุผลที่ราคาน้ำมันเราไปอิงกับราคาตลาดกลางที่สิงคโปร์
“ทีนี้ราคาตลาดกลางสิงคโปร์เป็นราคาที่เป็นยูเอสดอลล่าห์ ฉะนั้นเราก็ขายที่ราคาเดียวกัน แต่บวกค่านำเข้า ซึ่งเป็นราคายูเอสดอลล่าห์เหมือนกัน แต่แปลงเป็นบาททุกวันที่อัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละวัน พวกนี้คือปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในปัจจุบัน”
ผ่อนลมหายจบเรื่องปัญหาบ้านเมืองไป แล้วสูดหายใจวกกลับมาสู่เรื่องชีวิต คุณปฏิภาณยิ้มสดใสแสดงทัศนะถึงสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีวันนี้
“ผมมองว่ามี 2 ส่วนนะครับ ส่วนแรกเชื่อไหมว่าเป็นโชค เพราะตอนเรียนหนังสือผมก็ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่ง Top of Class แต่ก็เรียนในระดับดีนะครับ แล้วเพื่อนที่เรียนเก่งกว่าผมก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกคน ฉะนั้นผมเชื่อว่าตัวเองมีโชคที่เราได้เข้ามาในบริษัทที่ดี เรามีโอกาสทำงาน เรามีนายที่ดี ผมว่านายที่ดีต้องถ่ายทอด สอนงาน ให้ข้อคิดในการทำงาน ทุกบริษัทที่ผมผ่านมา อาจจะใหญ่บ้างเล็กบ้างแตกต่างกันไป แต่ผมมีนายที่ดีทุกคนเลย แล้วเขาสอนผมตั้งแต่วันแรก เช่นที่ปูนซีเมนต์ไทย เข้าไปวันแรกนายคนแรกในชีวิตเรียกผมเข้าไปสอนผมด้วยปรัชญาการทำงานอันแรกเลยว่า การทำงานนี่ผิดได้ แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่ง ผิดแล้วผมจะสอนคุณว่าคุณผิดยังไง และขออย่าให้ผิดแบบเดียวกันอีก แต่คุณผิดต่อไปได้นะ ผิดเรื่องใหม่ แต่อย่าผิดซ้ำซาก คุณจำตรงนี้ไว้ นี่คือปรัชญาการทำงานอันแรกที่ผมได้รับจากนายผม แล้วต่อมาก็เปลี่ยนบริษัทเปลี่ยนนาย ทุกคนดีทั้งนั้นเลย ให้โอกาสทำงาน ทุกคนให้แนวทาง ให้ข้อคิด แล้วก็พร้อมจะช่วยเราแก้ปัญหา ผมว่านี่คือโชค
“ส่วนที่ 2 พอมีโชคแล้วมันอยู่ที่ตัวเราด้วยนะ ว่าจะใช้โอกาสตรงนั้นเพื่อความก้าวหน้าหรือเพื่อความสำเร็จของเราได้อย่างไร ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วตอนนี้ ว่าเราขวนขวายที่จะหาความรู้ไหม เรามีการคิดเป็นระบบ คิดให้ครบทุกด้านหรือไม่ นี่เป็นอีกตัวหนึ่งที่เป็นปัจจัยว่าจะทำให้ทำงานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
“ซึ่งเรื่องพวกนี้ผมโดนฝึกมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว ครอบครัวไม่ค่อยมีผลครับ เพราะผมอยู่โรงเรียนประจำ โรงเรียนสอนให้มีวินัย ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก ถูกสอนให้มีระเบียบวินัย ให้รู้ว่าเวลางานก็คือเวลางาน ทำงานก็ทำงานซีเรียสจริงๆ แต่ผมไม่ได้เป็นพวกบ้างานนะ จริงๆ ต้องยอมรับว่าเป็นคนขี้เกียจก็ได้ (หัวเราะ) แต่คำว่าขี้เกียจก็คือผมก็มีเวลาเป็นของตัวเอง คือไม่ทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีทาง! ในช่วงที่ผมอยู่กับตัวเองใครเอางานมาให้ทำผมไม่ทำ (หัวเราะ) ผมอยากจะอยู่เฉยๆ อยากนอนอ่านหนังสือ อยากนอนดูดีวีดี แต่ใครอย่ามายุ่งกับผม แต่เวลาทำงานต้องเสร็จ ต้องให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องรู้จักใช้นาย เรามีนายนี่ ไม่ใช่ว่านายจะสั่งงานอย่างเดียว คุณสั่งผมได้ ผมก็ใช้คุณได้เหมือนกันเวลาผมมีปัญหา ผมต้องติดต่อกับ CEO ของธนาคาร คุณไปกับผมหน่อยสิ เป็นต้น
“ลูกน้องเขาว่าผมดุมาก (หัวเราะ) แต่เวลาเราดุลูกน้องเราไม่ได้ดุเขาจมดินนะ เราไม่ได้ดุเพราะเราโกรธเกลียดเขา เราดุก็เพราะว่าผิดตรงนี้เพราะอะไร และสอนเขาด้วยว่าคุณต้องคิดยังไง คุณต้องทำยังไง คุณพลาดเพราะอะไร แล้วผมไม่ได้เป็นนายแบบว่าผมสั่งแล้วคุณต้องทำตามที่ผมสั่ง ผมต้องการให้ลูกน้องเขาคิด แล้วหาเหตุผลมาแลกเปลี่ยนกับผม เราทำงานไม่ใช่เราเก่งคนเดียว ผมไม่ใช่วันแมนโชว์ ให้ผมทำทุกอย่างผมทำไม่ได้หรอก ผมกระตุ้นเขาให้เขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเรา การคุยกันทำให้เราได้เรียนรู้จากเขาด้วย
“หมดจากงาน เวลาว่างผมก็ดูทีวีครับ ไม่ก็ดูนาฬิกาเพราะชอบนาฬิกา เดินเล่น ตีกอล์ฟบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตีกอล์ฟผมเลือกตี ไม่ได้บ้าตีกอล์ฟ แต่ผมจะเลือกตีกับคนที่ผมชอบ เป็นการรีแลกซ์ ผมไม่ตีกอล์ฟเอาจริงเอาจังหรอก เราตีเพื่อผ่อนคลาย การได้ตีกอล์ฟ การได้แซวเพื่อน การได้แซวแคดดี้ (หัวเราะ) มันก็มีความสุขแล้ว
“ความฝันในอนาคตของผม คือวันนี้ผมเป็นพนักงานบางจาก แต่ผมเป็นสัญญาจ้างนะครับ ไม่ได้เป็นพนักงาน%