เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส
เวลา ในวิถีของความเป็นผู้หญิง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องประดับตกแต่งอันงดงามประณีตสูงสุดของโลก
คอลเลคชั่น เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส (Métiers d’Arts Fabuleux Ornements) คือการเชื้อเชิญให้ออกเดินทางสู่การร่วมเฉลิมฉลองความสวยงามของโลกแห่งเครื่องประดับตกแต่ง ที่ดึงเอาความงดงามมาจากศิลปะการแต่งประดับของหลากหลายวัฒนธรรม ด้วยแรงบันดาลใจจากความใฝ่ฝันและจินตนาการถึงดินแดนอันแสนไกลโพ้น และพร้อมที่จะเปิดประตูออกไปสู่โลกกว้าง ที่ยังคงเป็นหนึ่งในจิตวิญญาณซึ่งปลูกฝังมาอย่างเนิ่นนานของ วาเชอรอง คอนสแตนติน (Vacheron Constantin)
ซึ่งในวันนี้ได้มาบรรจบกับการเผยโฉมนาฬิกาสำหรับสุภาพสตรีทั้งสี่รุ่น ที่ถือกำเนิดขึ้นจากศิลปะของการฉลุเปลือยโปร่ง (สเกเลตัน) และการผสมผสานอย่างกลมกลืนของงานหัตถศิลป์ ด้วยฝีมือของเหล่าศิลปินระดับครูจากสิบสาขาที่แตกต่างกัน ที่ได้ร่วมกันมอบการตีความครั้งใหม่อันเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์สู่ สถาปัตยกรรมออตโตมัน (Ottoman architecture), งานเย็บปักถักร้อยของจีน (Chinese embroidery), บันทึกที่เขียนขึ้นด้วยลายมือของอินเดีย (Indian manuscripts) และงานลูกไม้ของฝรั่งเศส (French lacework) งานสร้างสรรค์อันงดงามวิจิตรสำหรับสุภาพสตรีเหล่านี้ยังล้วนติดตั้งด้วยกลไกแกะสลักด้วยมืออันอ่อนช้อย ที่สะท้อนถึงการประดับตกแต่งหน้าปัดอันล้ำค่า และเชิดชูแด่การผสมผสานอย่างลุ่มลึกระหว่างความสวยงามทั้งภายนอกและภายใน
การเดินทางสู่หัวใจของเทคนิคและการประดับตกแต่งอันล้ำค่า
หนึ่งในมุมอันน่าหลงใหลสูงสุดของธรรมชาติความเป็นผู้หญิงนั้น ก็คือความสามารถในการสร้างตัวตนอันเปี่ยมเสน่ห์ของพวกเธอ ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสนใจต่อโลก ในความหลากหลายของวัฒนธรรมที่อยู่รายล้อมรอบตัวเธอ วาเชอรอง คอนสแตนติน ได้ศึกษาและใช้ความเป็นอิสระในการสร้างสรรค์อย่างไร้พรมแดนที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งอุทิศให้กับเหล่าอิสตรี ซึ่งแน่นอนว่า นั่นรวมไปถึงการสร้างสรรค์เรือนเวลาข้อมือ ที่ก่อนหน้านี้ จะมีก็แต่เพียงนาฬิกาพกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามเท่านั้น ที่ผู้หญิงนำมาใส่เป็นสร้อยคอยาว แขวนลงมาจากโซ่คล้องแบบสร้อยเข็มขัด หรือปักเข้ากับชุดกระโปรง หรือซ่อนอยู่ด้านในของเข็มกลัด ทุกๆ ผลงานเรือนเวลาเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยจินตนาการที่หล่อหลอมขึ้นจากฝีมือความเชี่ยวชาญของศิลปิน ณ โรงงานการผลิตแห่งวาเชอรอง คอนสแตนติน – อันได้แก่ ช่างนาฬิการะดับครู เช่นเดียวกับช่างแกะสลัก, ช่างลงยา, ช่างแกะลายกิโยเช่, ช่างอัญมณี และช่างประดับอัญมณี – เพื่อให้บรรจบกับทุกความคาดหวังของลูกค้าที่มีความรู้ความเข้าใจในผลงานมากขึ้นทุกวันนี้
นาฬิกา เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส เชื้อเชิญให้ผู้หญิงได้ร่วมค้นพบกับความสวยงามของงานประดับตกแต่งจากทั่วโลกอีกครั้ง ซึ่งผสานเข้ากับท่วงทำนองการทำงานของกลไกนาฬิกาเทคนิคชั้นสูงอันล้ำค่า ผ่านวัฒนธรรมของจีนและงานเย็บปักถักร้อยอันเก่าแก่, หนังสือภาพเปี่ยมไปด้วยสีสันที่เขียนขึ้นด้วยมือของอินเดีย, สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน, และงานลูกไม้อันเลื่องชื่อของฝรั่งเศส: ทั้งหมดนี้คือแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจที่ได้ถ่ายทอดงานศิลปะของตน ผ่านสิ่งประดิษฐ์เปลือยโปร่งที่รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตโดยเหล่าศิลปินของโรงงานการผลิต ทั้งด้วยศิลปะการแกะลายกิโยเช่ (Guillochage), การลงยาแบบกรองด์ ฟู (Grand Feu), การประดับเพชร ไข่มุก และเปลือกหอยมุก เช่นเดียวกับการแกะสลัก, ศิลปะการเจียระไนเพชรพลอย และการประดับอัญมณีด้วยเทคนิคคลัวซอนเน (cloisonné effects): กลายเป็นศูนย์รวมแห่งศิลปะตามประเพณีดั้งเดิม ณ จุดบรรจบระหว่างวัฒนธรรมอันหลากหลาย ที่ได้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ ด้วยก้าวที่เป็นไปตามจังหวะการแกว่งของกลไกแกะสลักด้วยมือบางเบาโปร่งใสดุจอากาศอันแสนงดงามวิจิตร
กลไกฉลุเปลือยโปร่งอันล้ำค่า: เมื่อจักรกลได้กลายมาเป็นงานประดับตกแต่งอันประณีตเหมือนดั่งเครื่องประดับตกแต่งซึ่งเป็นที่มาของแรงบันดาลใจ
“ไม่มีความสง่างามภายนอกใดที่จะสมบูรณ์ได้ หากมันไม่ได้มีชีวิตชีวามาจากความสวยงามภายใน” ถ้อยคำที่เขียนขึ้นโดยกวีเอก วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) สะท้อนได้อย่างสมบูรณ์แบบถึงผลงานคอลเลคชั่น เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส ที่ซึ่งกลไกฉลุเปลือยโปร่งและผ่านการแกะสลักได้สร้างการจับคู่อย่างลงตัวให้กับงานประดับตกแต่งหน้าปัด
การแสดงออกถึงความเชี่ยวชาญของ วาเชอรอง คอนสแตนติน ในสาขาการประดับตกแต่ง ได้ถูกถ่ายทอดผ่านงานฉลุเปลือยโปร่งของกลไกบางพิเศษ คาลิเบอร์ 1003 (Calibre 1003) ทำจากทอง 18 กะรัต – ด้วยความบางเพียง 1.64 มม. – ที่ได้เปลี่ยนรูปไปสู่งานลายลูกไม้อันน่าทึ่งของบรรดารางเกียร์เฟืองแกะสลักงดงาม ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากการดึงเอาเนื้อวัสดุออกให้มากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนกลไกหลักที่จะทำให้มั่นใจได้ถึงความเที่ยงตรงในการทำงานของนาฬิกา ก่อนจะตกแต่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย คือการตกแต่งสะพานจักรทั้งหมดด้วยงานขัดมือด้วยตะไบ ขณะที่ทุกชิ้นส่วนเดี่ยวต่างๆ นั้น ผ่านการขัดขึ้นมุมอย่างพิถีพิถัน ก่อนจะตกแต่งลวดลายและเพิ่มความทันสมัยให้กับวิถีของการตกแต่งตามประเพณี เพื่อสร้างให้เกิดรูปทรงของโครงสร้างเปลือยโปร่งบางเบาดุจขนนก โดยความประณีตของการตกแต่งกลไกด้านหน้าปัดนั้นยังต้องอาศัยความแม่นยำสูงสุดในหน่วยที่เล็กที่สุดเกือบสิบเท่าของมิลลิเมตร ขณะที่บนด้านหลัง วาเชอรอง คอนสแตนติน ได้เลือกงานขัดขึ้นมุมพิเศษ และการตกแต่งด้วยงานขัดมือที่รักษาไว้ซึ่งภาพของความบริสุทธิ์และเปี่ยมเสน่ห์
เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส – บันทึกที่เขียนขึ้นด้วยลายมือของอินเดีย
(Métiers d’Art Fabuleux Ornements – India manuscript)
งานลงยากรองด์ ฟู ฌอมป์ลีฟ และการแกะสลักมือ
ล้อมกรอบด้วยตัวเรือนทองพิงค์โกลด์ ตกแต่งด้านบนด้วยขอบตัวเรือนประดับเพชร และเหล่าดอกไม้สีสันสดใสจากงานลงยาทั้งสิบดอกบนหน้าปัด เผยเป็นเฉดสีแวววับระยิบตาของดอกไม้เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจจากโลกตะวันออกที่เบ่งบานตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า ซึ่งช่างลงยาระดับชั้นครูได้บรรจงถ่ายทอดถึงความสดใส มีชีวิตชีวา และความรุ่มรวยอันเป็นภาพบรรยากาศต่างๆ ของอินเดีย ผ่านการผสมผสานอย่างลงตัวของงานลงยา ที่รายล้อมอยู่รอบกลไกคาลิเบอร์ฉลุเปลือยโปร่ง เหมือนดั่งลวดลายดอกไม้ที่ตกแต่งอยู่บนขอบของเหล่างานเขียนชิ้นเอกของโลกตะวันออกโบราณ โครงร่างรูปทรงของลวดลายการตกแต่งนี้เริ่มต้นจากการสร้างโครง ด้วยการใช้เทคนิค ฌอมป์ลีฟ (champlevé) เพื่อสร้างช่องซึ่งแยกจากส่วนอื่นๆ ด้วยผนังกั้นทำจากทองเส้นบางๆ เตรียมไว้สำหรับเติมด้วยงานลงยาในขั้นตอนต่อไป โทนสีที่แตกต่างกันถึงสิบโทนเหล่านี้ยังเป็นตัวแทนบ่งบอกถึงความท้าทายสูงสุดในแง่ของการควบคุมกระบวนการเผาอย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยทักษะของนักเล่นแร่แปรธาตุอย่างแท้จริง ขณะที่ลวดลายดอกไม้ ซึ่งเป็นงานแกะสลักอย่างอ่อนช้อยหลังจากการลงยานั้น จะช่วยเพิ่มรัศมีความเจิดจรัสให้กับนาฬิกา และสะท้อนความงดงามของงานแกะสลักกลไกคาลิเบอร์ฉลุเปลือยโปร่งได้เป็นอย่างดี นับเป็นหนึ่งในขั้นตอนอันละเอียดอ่อนประณีตสูงสุด ที่แม้แต่ช่างที่มือเบาประณีตมากที่สุด ก็มีโอกาสทำให้เกิดความเสียหายต่อผลงานทั้งชิ้นได้เหมือนกัน
เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส – สถาปัตยกรรมแห่งออตโตมัน
(Métiers d’Art Fabuleux Ornements – Ottoman architecture)
การขัดขึ้นมุม ประดับเปลือกหอยมุก และลูกปัดมุกซีก
กลไกคาลิเบอร์อันแสนบอบบางประณีตได้ถูกสะท้อนอย่างโดดเด่นด้วยลวดลายตะแกรง ทำจากทองพิงค์โกลด์ขัดขึ้นมุม ที่สร้างโครงรูปลวดลายขึ้นบนหน้าปัด และทุกๆ ขอบผ่านการขัดขึ้นมุมอย่างประณีตพิถีพิถันด้วยมือ จากการค่อยๆ เซาะอย่างละเมียดละไมลงบนฐานเปลือกหอยมุกสีขาว จนเกิดเป็นลวดลายตะแกรงทองที่ประดับแต่งเต็มพื้นที่ไปด้วยลูกปัดมุกซีก ซึ่งสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของลวดลายขดเลื้อยที่พบได้ภายในสถาปัตยกรรมของตะวันออกกลาง งานแต่งประดับนี้ยังขยายต่อไปยังวงแหวนอย่างพิถีพิถัน หรือที่รู้จักกันว่าโครง มิลเกรน (milgrain) เรียงร้อยเข้ากันเป็นฟั่นเชือกที่ร้อยเป็นวงกลมไปตามขอบ ยิ่งเพิ่มความมหัศจรรย์ให้กับงานฝีมือ และโลกอันแสนเปี่ยมเสน่ห์ของค่ำคืนแห่งอาหรับ ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปยังลวดลายแกะสลักมือสไตล์อาหรับที่ปรากฏอยู่ภายในกลไก
เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส – งานลูกไม้ของฝรั่งเศส
(Métiers d’Art Fabuleux Ornements – French lacework)
งานแกะลายกิโยเช่, งานลงยา กรองด์ ฟู และงานประดับอัญมณี
งานลูกไม้ทองไวท์โกลด์อันเรืองรองนั้นตกแต่งอยู่บนหน้าปัดลงยาแบบกรองด์ฟู แกะลายกิโยเช่กึ่งโปร่งแสงด้วยมือ ออกมาเป็นลวดลายลูกไม้ขดเลื้อยอย่างเป็นธรรมชาติและผ่านการขัดเงาอย่างประณีตนี้ ชวนให้นึกถึงประเพณีอันยิ่งใหญ่ของงานเย็บปักถักร้อยสไตล์ฝรั่งเศส หนึ่งในศิลปะเก่าแก่ที่ปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมของชาติ ด้วยสัมผัสและความรู้สึกที่ไม่มีวันสิ้นสุดของความบางเบา ที่แผ่กระจายกลายเป็นฉากอันงดงามนั้น เป็นผลลัพธ์มาจากความมุมานะอดทนและงานฝีมืออันละเอียดอ่อนที่รังสรรค์ขึ้นโดยการใช้เข็มถักลูกไม้หรือกระสวยด้าย ขณะที่ฐานของหน้าปัดทองยังประดับตกแต่งด้วยลวดลายกิโยเช่ที่ได้มอบมิติอันลุ่มลึกให้กับงานลงยาโปร่งใสชิ้นนี้
เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส – งานเย็บปักถักร้อยของจีน
(Métiers d’Art Fabuleux Ornements – Chinese embroidery)
ศิลปะการเจียระไนเพชรพลอย, งานประดับอัญมณีคลัวซอนเน และงานแกะสลัก
ประดิษฐ์จากทองพิงค์โกลด์ตามเทคนิคคลัวซอนเน กับหน้าปัดที่ปูพรมไปด้วยลวดลายดอกไม้ประดับทับทิม, คูไปร์ท และโกเมน (การ์เนต) เปรียบเหมือนดั่งเส้นใยผ้าไหมของงานเย็บปักถักร้อยจีนที่ประดับตกแต่งด้วยผืนผ้าอันล้ำค่า ความสง่างามอันทรงเกียรติของอัญมณี ผ่านการตัดและเจียระไนด้วยรูปทรงตามศิลปะการเจียระไนเพชรพลอย นำมาสู่การประดับตกแต่งด้วยรูปใบไม้และเกสรทองแกะสลักได้อย่างประณีตวิจิตร ด้วยความเอาใจใส่ในทุกๆ รายละเอียดสูงสุด เสมือนห่อหุ้มอยู่ในเส้นใบและรูปทรงกลมมนของกลีบดอก ซึ่งสร้างมิติลวดลายอันน่าหลงใหลให้กับงานการตกแต่งนี้ และนอกจากงานแกะสลักทับทิมอันละเอียดอ่อนพิเศษ การตัดและเจียระไนโอปอลสีชมพูอย่างพิถีพิถันยังถือเป็นหนึ่งในงานศิลปะอันท้าทายอย่างแท้จริง ก่อนจะนำมาปูเป็นพรมแห่งอัญมณีให้เกิดขึ้นบนหน้าปัด ซึ่งเตรียมพร้อมไว้แล้วด้วยการสร้างผนังกั้นจากทองไวท์โกลด์เส้นบางๆ แค่เพียง 0.5 มม. ความงดงามประณีตนี้เสร็จสมบูรณ์แบบได้ด้วยฝีมือของช่างเจียระไนพลอยและช่างแกะสลักระดับครู ที่อุทิศความตั้งใจให้กับงานศิลปะการตกแต่งตามประเพณีดั้งเดิมของงานเย็บปักถักร้อยที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปีของประเทศจีน
ผลงานสร้างสรรค์ที่ประทับด้วยตราสัญลักษณ์ ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา
นาฬิกาเมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส ประทับด้วยตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพอันทรงเกียรติ ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา (Hallmark of Geneva) ด้วยเกณฑ์การพิจารณาซึ่งกำหนดขึ้นโดยสภาผู้ออกบัญญัติแห่ง รีพับลิค แอนด์ แคนตัน ออฟ เจนีวา (Grand Council Republic and Canton of Geneva) ในปี ค.ศ. 1886 เป็นเครื่องรับประกันถึงแหล่งกำเนิด, ความทนทาน และความเชี่ยวชาญ โดยตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพอันทรงเกียรติสูงสุดจากองค์กรที่เป็นอิสระนี้ได้ถูกปรับข้อกำหนดกฎเกณฑ์พื้นฐานใหม่เมื่อปี ค.ศ. 2011และนับจากนั้นเป็นต้นมา ประกาศนียบัตรนี้ไม่ได้บังคับใช้เพื่อครอบคลุมเฉพาะกลไกเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรวมไปถึงความสมบูรณ์แบบของนาฬิกาทั้งเรือนด้วย – วิวัฒนาการก้าวสำคัญสำหรับการรับประกันถึงงานฝีมือนี้ยังคงได้รับการเคารพและสนับสนุนมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันโดย วาเชอรอง คอนสแตนติน
ศิลปะและเทคนิคของงานฉลุเปลือยโปร่ง
มากไปกว่าการเป็นสิ่งประดิษฐ์แห่งความล้ำเลิศด้านจักรกลสำหรับแสดงเวลา เรือนเวลา วาเชอรอง คอนสแตนติน ได้บรรจุไว้ด้วยแก่นแท้ของงานศิลปะ และสามารถเผยให้เห็นทุกๆ ความสวยงามทั้งหมดที่เกิดจากความเชี่ยวชาญเฉพาะหนึ่งเดียวอันร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์กว่า 260 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1755 ของโรงงานการผลิตแห่งนี้ ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์เสน่ห์แห่งความสวยงามให้กับผลงานของตน ผ่านงานฝีมือหัตถศิลป์จากเหล่าศิลปินผู้เปี่ยมด้วยทักษะ ซึ่งหนึ่งในเทคนิคอันล้ำเลิศสูงสุด และเป็นศิลปะอันเป็นที่ถวิลหามากที่สุด ก็คืองานแกะสลักด้วยมือ ที่ต้องอาศัยทั้งความมุมานะอดทนและความชำนาญพิเศษ เป็นงานศิลปะซึ่งถูกนำมาใช้นับตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของงานฉลุเปลือยโปร่งอันบอบบางประณีต โดยนาฬิกาเรือนแรกที่รังสรรค์ขึ้นโดย ฌอง-มาร์ค วาเชอรอง (Jean-Marc Vacheron) ในปี ค.ศ. 1755 ก็ได้ประกอบขึ้นด้วยคอหงส์บาลานซ์แกะสลักและฉลุเป็นงานเปลือยโปร่ง และนับจากนั้นเป็นต้นมา งานเปลือยโปร่งใสก็กลายเป็นที่ต้องการเสมอ โดยได้ขยายงานฝีมือนี้ไปยังการประดิษฐ์ชิ้นส่วนจักรกลอื่นๆ พร้อมกับการตกแต่งด้วยความทันสมัยประณีตมากยิ่งขึ้น กระทั่งนำไปสู่งานสร้างสรรค์ในปี ค.ศ. 1924 ของกลไกคาลิเบอร์ฉลุเปลือยโปร่งทั้งชุดเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งอยู่ ณ ใจกลางหัวใจของนาฬิกาพก ด้วยความเชี่ยวชาญในงานการประดิษฐ์อันละเอียดอ่อนประณีตสูงสุดนี้ ทำให้ วาเชอรอง คอนสแตนติน ได้มอบเส้นทางอันเป็นอิสระสู่การสร้างสรรค์งานของตน และกลายเป็นวิวัฒนาการของงานฉลุเปลือยโปร่ง ที่เกิดขึ้นกับทั้งในกลไกแบบเรียบง่ายและกลไกสลับซับซ้อนสูง ร่วมไปกับแรงบันดาลใจที่ได้มาจากงานหัตถศิลป์แขนงอื่นๆ รวมถึงการตีความความมหัศจรรย์ของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเล็กเหล่านี้ลงสู่นาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือ นับจากยุค 1960s เป็นต้นมา
ไม่เพียงการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้อยรายเท่านั้นที่สามารถสร้างสรรค์งานฉลุเปลือยโปร่งภายในกลไกสลับซับซ้อนสูง อาทิ จักรกลตีระฆังบอกเวลา, จักรกลปฏิทินตลอดชีพ และทูร์บิญอง ได้เช่นนี้ แต่ยังเป็นอีกครั้งที่วาเชอรอง คอนสแตนติน ได้ก้าวผ่านพรมแดนของงานศิลปะ ด้วยการคิดค้นและประดิษฐ์งานประดับตกแต่งขึ้นมาใหม่ให้กับทั้งเทคนิคและรหัสแห่งความสวยงามในการสร้างสรรค์ผลงานเรือนเวลา งานแกะสลักชิ้นส่วนต่างๆ ได้ถูกเนรมิตกลายเป็นงานประติมากรรม เฉกเช่นเดียวกับเส้นตรงต่างๆ ที่ได้เปลี่ยนรูปมาสู่เส้นสายโค้งซึ่งคล้องประสานกัน กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ เพื่อรังสรรค์มิติและเล่นกับแสงได้อย่างแสนวิเศษ
งานฉลุเปลือยโปร่ง หรือศิลปะแห่งความโปร่งใส และเวทมนต์แห่งจักรกลอันแสนเบาบาง
สัมผัสแรกที่สำคัญสูงสุด คืองานของช่างนาฬิกา
ขณะที่งานฉลุเปลือยโปร่งคือการเข้าถึงความสวยงามอันบริสุทธิ์ กระนั้นก็ได้นำพามาซึ่งความซับซ้อนที่เพิ่มเติมเข้ามาในแต่ละขั้นตอนของการสร้างสรรค์ เมื่อเปรียบเทียบกับกลไกเรียบง่ายอื่นๆ ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยกระบวนการอันยาวนานของการคิดค้นที่จะมาพร้อมกับงานฉลุเปลือยโปร่งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเป้าหมายของการเผยให้เห็นถึงความสวยงามภายใน และนั่นย่อมต้องอาศัยประสบการณ์ของเหล่าช่างนาฬิการะดับครูผู้มีฝีมือประณีตสูงสุดเท่านั้น เพราะมันเกี่ยวข้องถึงความสมดุลระหว่างการนำเอาเนื้อโลหะออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจได้ว่ากลไกนั้นจะยังคงทำหน้าที่และทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ การเจียระไนแนวความคิดให้เป็นรูปธรรม เรื่อยไปจนถึงการออกแบบ และการสร้างโมเดล จึงเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมง กว่าจะได้รูปทรงที่ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละขั้น ตามระดับของความซับซ้อนของกลไก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลไกสลับซับซ้อนสูง ก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ยาวนานมากยิ่งขึ้น
เดินทางเข้าสู่โลกแห่งศิลปิน
เมื่อค้นพบกับความสมดุลพร้อมแล้ว ศิลปินก็จะเป็นผู้รับช่วงงานต่อไป และเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงระยะเวลาอันยาวนานของการทำงานด้วยความมุมานะอดทน ด้วยความแม่นยำ และความท้าทายกฏเกณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นบนแท่นเครื่อง, สะพานจักร, กระปุกลาน และชิ้นส่วนจักรกลอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกเจาะและตัดออกจากโลหะออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ หลังจากนี้จะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบชั่วโมง กว่าที่ชิ้นส่วนเหล่านี้พร้อมจะเผยโฉมหน้าใหม่อันน่าหลงใหลและแสนดึงดูดใจออกมา การทำงานด้วยมือกับแต่ละชิ้นส่วน จะทำให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ภาพที่ตัดกันได้อย่างลุ่มลึกระหว่างการตกแต่งอันเงาวาวของการขัดขึ้นมุม ซึ่งจะช่วยให้ชิ้นส่วนนั้นๆ เล่นกับแสงไฟได้อย่างงดงาม และส่วนที่เป็นลายด้านจากการขัดมือก็จะช่วยเน้นให้เห็นถึงรัศมีของแสงได้อย่างโดดเด่นยิ่งขึ้น แต่ส่วนที่ถือว่าซับซ้อนยิ่งกว่า คือการเปิดช่องหน้าต่างโค้ง และการขัดตกแต่งมุมด้านในต่างๆ ซึ่งบางมุมก็แคบกว่า 45° เพื่อรังสรรค์ความน่าหลงใหลอย่างสมบูรณ์แบบให้กับงานฉลุเปลือยโปร่งเหล่านี้ โดยฝีมือของ วาเชอรอง คอนสแตนติน และเป็นงานที่ไม่มีเครื่องจักรใดสามารถทำขึ้นมาใหม่ได้
จากนั้นงานขัดขึ้นมุมและงานขัดมือก็จะตามมาด้วยงานแกะสลัก ด้วยระยะเวลาการทำงานราวหนึ่งสัปดาห์เต็มสำหรับกลไกแต่ละชุด ซึ่งช่างแกะสลักจะค่อยๆ แกะ และขึ้นรูปวัสดุด้วยการ เซาะอย่างละเมียดละไมพิถีพิถันด้วยเหล็กปลายแหลม เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายดั้งเดิมที่จินตนาการขึ้นโดย วาเชอรอง คอนสแตนติน มอบเป็นลวดลายนูนต่ำกลมมนอันน่าหลงใหล ในแต่ละครั้งของงานแกะต้องอาศัยความแม่นยำสูง – ซึ่งในบางครั้งก็มีความละเอียดอ่อนและเล็กเกือบสิบเท่าของมิลลิเมตร – โดยความสามารถและสัมผัสของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจะเป็นตัวกำหนดและควบคุมอย่างประณีตในการเจาะชิ้นส่วนกลไกแต่ละชิ้นให้มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะหนึ่งเดียวเท่านั้น
กลับไปสู่โต๊ะทำงานของช่างนาฬิกา
ในกระบวนการประกอบและปรับตั้งกลไกฉลุเปลือยโปร่ง ถือเป็นงานอันซับซ้อนพิเศษ เพราะการหายไปของเนื้อโลหะที่เป็นผลมาจากงานฉลุเปลือย ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนรูปโดยสิ้นเชิงของชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งสำหรับช่างนาฬิกา นั่นหมายถึง การทำงานเพื่อปรับชิ้นส่วนกลไกเหล่านี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง ไปจนกระทั่งพวกเขามั่นใจในการทำงานของกลไก ตลอดกระบวนการอันยาวนานนี้ ช่างนาฬิกาจะต้องมั่นใจว่าจะไม่มีฝุ่นละอองก่อตัวขึ้นภายในพื้นผิวที่ถูกขุดเป็นช่องหรือโพรงเหล่านี้โดยเด็ดขาด และยังต้องรักษามาตรฐานอันเข้มงวดสูงสุดที่กำหนดขึ้นโดย ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา พวกเขาต้องอุทิศความตั้งใจพิเศษให้กับชิ้นส่วนแต่ละชิ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ผ่านการขัดขึ้นมุม เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความสวยงามที่สมบูรณ์ และการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ความสมบูรณ์แบบนี้จะต้องผ่านการทดสอบคุณภาพอันเข้มข้นในระหว่างขั้นตอนของการประกอบเข้าตัวเรือนของกลไก และความเปลือยโปร่งที่ได้มาจากงานฉลุเปลือยนี้จะเผยให้เห็นทุกๆ มุมมองของความสมบูรณ์แบบ แม้แต่ในชิ้นส่วนเล็กๆ และก่อนจะเข้าสู่การเริ่มต้นกระบวนการทดสอบในขั้นตอนต่างๆ อันยาวนาน ทั้งการทดสอบประสิทธิภาพการกันน้ำ, ความเชื่อถือได้ และการทดสอบความเที่ยงตรง กลไกคาลิเบอร์ต่างๆ เหล่านี้จะถูกส่งกลับครั้งแล้วครั้งเล่าสู่โต๊ะทำงานของช่างนาฬิกาไปจนกระทั่งความสมบูรณ์แบบของกลไกจักรกลฉลุเปลือยโปร่งจะเริ่มต้นการประกอบกันขึ้นอย่างเชี่ยวชาญและสมบูรณ์ในขั้นตอนสุดท้าย และเฉกเช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ความพิเศษในแง่ของการเป็นเครื่องบอกเวลานั้น ย่อมได้มาจากการผสมผสานระหว่างความล้ำเลิศและความมุมานะอดทนของช่างนาฬิกาเช่นกัน
ข้อมูลทางด้านเทคนิค
เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส
หมายเลขอ้างอิง 33580/000G-9903 – งานลูกไม้ของฝรั่งเศส
33580/000R-9904 – งานเย็บปักถักร้อยของจีน
33580/000R-9906 – สถาปัตยกรรมแห่งออตโตมัน
33580/000R-9959 – บันทึกเขียนขึ้นด้วยมือของอินเดีย
เรือนเวลาที่ได้รับประกาศนียบัตร ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา
มีจำหน่ายเฉพาะที่ วาเชอรอง คอนสแตนติน บูติค เท่านั้น
คาลิเบอร์ 1003SQ, พัฒนาและประดิษฐ์ขึ้นโดย วาเชอรอง คอนสแตนติน
จักรกล, ไขลานด้วยมือ
แกะสลักด้วยมือ
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกลไก 21.1 มม. (9’’’ ¼)
หนา 1.64 มม.
สำรองพลังงาน ประมาณ 31 ชั่วโมง
ความถี่ 2.5 เฮิร์ตซ (18,000 ครั้ง/ชั่วโมง)
ชิ้นส่วนกลไก 117 ชิ้น
ทับทิม 18 เม็ด
การแสดง ชั่วโมง, นาที
ตัวเรือน ทองไวท์โกลด์ 18 กะรัต/ ทองพิงค์โกลด์ 5N 18 กะรัต
ขอบตัวเรือนประดับเพชร (เพชรเจียระไนกลม 64 เม็ด, น้ำหนักรวมประมาณ 0.89 กะรัต)
รุ่นลูกไม้ของฝรั่งเศส และงานเย็บปักถักร้อยของจีน: วงแหวนประดับเพชร (เพชรเจียระไนกลม 60 เม็ด น้ำหนักรวมประมาณ 0.20 กะรัต)
รุ่นสถาปัตยกรรมแห่งออตโตมัน: วงแหวนลายขดก้นหอย
รุ่นบันทึกเขียนขึ้นด้วยมือของอินเดีย: วงแหวนขัดเงา
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 37 มม., หนา 8.00 มม.
ฝาหลังกระจกคริสตัลแซพไฟร์โปร่งใส
การกันน้ำ ทดสอบ ณ ระดับความกดอากาศ 3 บาร์ (ประมาณ 30 เมตร)
หน้าปัด รุ่นลูกไม้ของฝรั่งเศส: แกะสลักมือกิโยเช่ และงานลงยากรองด์ฟู กึ่งโปร่งใส, แท่นเครื่องทอง 18 กะรัต ฉลุเปลือยโปร่ง, ประดับด้วยแซพไฟร์สีน้ำเงิน, สีชมพู และเพชร (แซพไฟร์ 13 เม็ด, น้ำหนักรวมประมาณ 0.06 กะรัต และเพชรเจียระไนกลม 40 เม็ด, น้ำหนักรวมประมาณ 0.13 กะรัต)
รุ่นงานเย็บปักถักร้อยจีน: แกะสลักมือประดับอัญมณีคลัวซอนเน (โอปอลสีชมพู), ศิลปะการเจียระไนของทับทิม, การ์เนต และคูไปร์ท (น้ำหนักรวมประมาณ 1.40 กะรัต)
รุ่นสถาปัตยกรรมแห่งออตโตมัน: เปลือกหอยมุกสีขาว ใต้แผ่นทอง 18 กะรัต ฉลุเปลือยโปร่ง, งานขัดขึ้นมุมด้วยมือ และตกแต่งด้วยมุกซีก
รุ่นบันทึกเขียนขึ้นด้วยมือของอินเดีย: งานลงยากรองด์ ฟู ฌอมป์ลีฟ และงานแกะสลักมือ
สาย สายหนังจระเข้มิสซิสซิปเปียนซิส (Mississippiensis) สีม่วง/ สีแดงเข้ม/ สีดำ/ สีน้ำเงิน, เย็บตะเข็บปลายด้วยมือ, ลายตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่
ตัวพับล็อค ตัวพับล็อคทองไวท์โกลด์ 18 กะรัต / ทองพิงค์โกลด์ 5N 18 กะรัต
หัวเข็มขัดสัญลักษณ์กากบาท มอลทิส ครอสส์ (Maltese cross) ครึ่ง
ซีก ประดับเพชร (เพชรเจียระไนกลม 21 เม็ด, น้ำหนักรวมประมาณ 0.21 กะรัต)
ผลิตจำนวนจำกัด 20 เรือนสำหรับแต่ละรุ่น
แกะสลักหมายเลขประจำตัวเรือน « N°X/20 » ไว้บนฝาหลังของเรือนเวลาแต่ละเรือน
เชิญแวะชม เมทิเยร์ เดอ’ อาร์ต ฟาบูเลอซ์ ออร์นีเมนท์ส จาก Vacheron Constantin ในเร็วๆนี้ที่ เพนดูลัม
เกษร พลาซ่า ชั้น 1 โทร. 0 2656 1116-7
เอ็มโพเรียม ชั้น G โทร. 0 2664 8377-8
สยามพารากอน ชั้น M โทร. 0 2610 9423
mayjaka
mayjaka@pendulum.co.th