ในแวดวงการทูตและประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและจีน น้อยคนนักจะปฏิเสธบทบาทสำคัญของผู้หญิงตัวเล็กๆนามว่าสิรินทร์ พัธโนทัยได้ ทั้งในฐานะสายใยที่ยึดโยงใจจีนและไทยเข้าด้วยกันในสมัยของนายกรัฐมนตรีโจว เอิน ไหลหรือในฐานะสตรีผู้มีส่วนสำคัญในการจัดการเจรจาลับระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศได้สำเร็จในเวลาต่อมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทยจีนที่เคยมืดมนนานถึง 20 ปีกลับมาสดใสอีกครั้งในปี พ.ศ.2518 และยืนยาวจนกระทั่งปัจจุบัน
ในฐานะธิดาบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอิน ไหล สิรินทร์ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสสังคมชั้นสูงของจีนมาตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบ กระแสการเมืองที่รุนแรงพัดพาภัยร้ายมาสู่เธอจนเข้าสู่วังวนแห่งช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ประสบการณ์เหล่านั้นเองที่สร้างมุมมองศิลปวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครให้แก่เธอ
“ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่หรือบุคคลที่อยู่รอบตัวเรานั้นมีความสำคัญมากแค่ไหน แรกๆดิฉันรู้สึกเพียงแค่ว่าคนที่นั่นเอาใจ พะเน้าพะนอพวกเรามาก ดิฉันกับพี่ชาย (วรรณไว พัธโนทัย) ซึ่งยังเป็นเด็กกันทั้งคู่ก็ต้องมีความสุขเป็นธรรมดา และเห็นว่าท่านโจวเป็นสุภาพบุรษที่น่านับถือมาก ท่านสอนอะไรพวกเราหลายอย่างและอีกหลายอย่างที่เรียนรู้ด้วยการสังเกตจากท่านเอง…
“จะว่าไปแล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย ดิฉันมองว่าหลังจากช่วงนั้นเป็นต้นมา แม้จีนจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเดิมอยู่ก็คือจิตใจที่เป็นจีนแท้ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก…
“เพราะฉะนั้นจีนจึงมีปัญหาเรื่องผลกระทบจากวัฒนธรรมภายนอกค่อนข้างน้อย เพราะเขารู้วิธีการจัดการ นั่นคือการผสมผสาน ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆและคุณก็คงเห็นแล้วว่าการจัดการวัฒนธรรมด้วยวิธีนี้ได้ผลอย่างมหาศาล นอกจากเราจะสามารถคงเอาศิลปะดั้งเดิมของเราให้คงอยู่ได้อย่างมั่นคงแล้ว เรายังสามารถประยุกต์เอาของพวกนั้นมากใช้ประโยชน์ได้ ถือเป็นการต่อลมหายใจศิลปะของบรรพบุรุษอย่างไม่มีวันจบสิ้น
“เรียนตามตรงว่าการที่ดิฉันต้องใช้ชีวิตอยู่ทั้งในเมืองไทย, ฝรั่งเศสและจีนในเวลานี้นั้น อาจจะทำให้ดิฉันมองบรรยากาศของแต่ละเมืองได้เพียงผิวเผิน แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือศิลปะกำลังเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่เป็นของประดับบ้าน วัดหรือวังแบบสมัยก่อนเท่านั้น แต่ศิลปะกำลังมีส่วนร่วมทั้งในภาคของการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของทุกภาคส่วนในโลก…
“คุณต้องมองให้ออกก่อนว่าศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของภาพเขียนหรือรูปปั้นอย่างเดียว เพราะหนังสือ, บทเพลงหรือแม้แต่หนัง, ละครล้วนเป็นศิลปะทั้งสิ้น เราต้องพบเห็นสัมผัสกับของพวกนี้อยู่แล้วในวิถีชีวิตประจำวัน แต่บ้างครั้งเราก็ลืมไปว่านี่ก็คือแขนขาของสิ่งที่เรียกว่าศิลปะด้วยเหมือนกัน
“ครั้งหนึ่งมีเพื่อนชาวต่างชาติประหลาดใจมากที่ดิฉันมีคนรู้จักอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงของจีนหลายต่อหลายคน ครั้งหนึ่งเพื่อนๆอยากเข้าไปเที่ยวที่จีนซึ่งเวลานั้นการเข้าประเทศจีนเป็นเรื่องยากมากๆ แต่ดิฉันสามารถจัดการเรื่องการเดินทางได้อย่างง่ายดายและเร็วด้วย และพวกเราก้ได้รับการดูแลอย่างดีตลอดการเดินทางมาก เพื่อนคนนั้นเดินเข้มาพูดกับดิฉันตรงๆว่า…สิรินทร์ เธอเป็นใครกันแน่… เพราะดิฉันไม่เคยเล่าเรื่องราวชีวิตให้เขาฟังเลย เมื่อเข้ารู้เขาก็บอกว่างั้นเธอต้องเขียนหนังสือแล้วล่ะ… ดิฉันก็กลับมาใช้เวลาอีกหลายปี ทั้งรวบรวมข้อมูลและเขียน จนในที่สุดก็สำเร็จเป็น ‘มุกมังกร’ ออกมาจนได้
“การที่หนังสือเล่มนี้ได้แปลมากถึง 7 ภาษาและมีคนสนใจนำมาทำเป็นละครทั้งในเมืองไทยและจีน อย่างน้อยก็เป็นเครื่องการันตีคำพูดของดิฉันเมื่อตอนต้นได้ว่าศิลปะยังมีคนสนใจอยู่ และศิลปะเองก็แฝงอยู่ทั้งในบริบทของเการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างแยกกันไม่ออก” สิรินทร์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-270 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
+++++++++++++++++++++++++