เห็นเด็กๆบางโรงเรียนทยอยปิดภาคเรียนกันบ้างแล้ว แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่สุขภาพไม่แข็งแรงในช่วงนี้ ตามโรงพยาบาลเต็มไปด้วยเด็กและคุณพ่อคุณแม่ที่พามานั่งรอคิวตรวจ แต่ก็ไม่วายจะไอและจามขณะรอ ซึ่งในที่สุดพ่อแม่ก็ติดจากเด็กข้างๆไปโดยปริยายและก็แพร่เชื้อกัน สลับกันไปมา แลดูหายยาก
จะว่าไปแล้วขณะนี้อากาศบ้านเราเอาแน่เอานอนไม่ได้ เช้าก็มีแดดพอประมาณ เที่ยงก็ร้อนสาหัส บ่ายฟ้าครึ้มๆ และเย็นมีลมโกรกแรง กอปรกับใครที่มีเชื้อหวัดเป็นทุนแล้วด้วยช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่คุณอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ไอจาม มีน้ำมูก และถึงขั้นไม่มีเสียงเลยทีเดียว อาการที่ว่านี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หวัดลงคอ” แต่ก็ไม่ใช่ภาวะเสมหะไหลลงคออย่างที่เข้าใจและไม่ใช่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นโรคหวัดประเภทหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Rhino virus) ซึงมีผลต่อช่องคอโดยตรง ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน(Acute nasopharyngitis)” ทำให้เกิดการบวมตามเยื่อบุคอและกล่องเสียง จนเกิดอาการเสียงแหบเสียงแห้ง จุกแน่นคอ เจ็บคออย่างเห็นได้ชัด โดยอาจพบมีอาการไอ น้ำมูกไหลร่วมด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดหวัดลงคอก็คือภาวะภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น กรำแดดเปรี้ยงๆแล้วเข้าทำงานในห้องแอร์ การกินน้ำแข็งหรือของเย็นมากก็มีส่วนส่งเสริมให้มีโอกาสเป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตามหวัดลงคอไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่จะมีอาการให้ได้รำคาญและทรมาน แต่มีข้อดีคือให้มองว่าเป็นเพียงแค่หยุดพักการใช้เสียงชั่วคราว พูดให้น้อยที่สุด ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ภายใน 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด แต่หากหลังจากนั้นถัดมาอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันภาวะเส้นเสียงอักเสบเรื้อรังต่อไป
กลไกในการติดต่อ
ไวรัสเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการเข้าไปในเซลล์ที่หุ้มกล่องเสียงอยู่ จากนั้นมันจะทำการแพร่พันธุ์ตนเองแบบทวีคูณ ทางเข้าหลักของไวรัสเหล่านี้คือผ่านทางตาและจมูก ผ่านทางท่อนาโซไครมัล (Nasocrymal duct) แล้วจึงเข้าไปในกล่องเสียง โดยปากนั้นไม่ใช่ทางเข้าหลักของเชื้อ และเชื้อมักจะไม่ติดต่อผ่านการจูบกัน…
อาการของโรคระยะฟักตัว
ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น 1-3 วัน คนที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปมีอัตราการเป็นโรคสูงถึง 95% อย่างไรก็ตามมีเพียง 75% เท่านั้นที่แสดงอาการออกมา โดยการแสดงอาการจะเกิดขึ้น 1-2 วันหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการของโรคหวัดจะเริ่มต้นด้วยอาการเจ็บคอ และไม่มีอาการติดขัดใดๆ ในระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเอง อาการจะเกิดขึ้นจากกลไกการสกัดกั้นเชื้อโรคของร่างกายได้แก่ อาการจาม น้ำมูกไหลไอเพื่อขับเชื้อออกไป การเกิดอาการอักเสบเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงาน ผู้ป่วยอาจมีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใสจาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูง และชักได้ มีอาการท้องเดินได้ หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย ถ้าเป็นเกิน 4 วัน หรือถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียวหรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆแทรกซ้อนตามมาซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน ตรวจพบ ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอลซิลโตแต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง
หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคหวัดแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดที่ผู้ป่วย เพิ่งประสบมาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่มากมาย ภูมิคุ้มกันนี้จึงให้การป้องกันที่จำกัด ดังนั้นคนที่หายจากโรคหวัดมา อาจเป็นได้อีก ถ้าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กระบวนการและอาการทั้งหมดเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง
Credit : bionutrics-hy
(http://www.bionutrics-hy.com/tag/%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%AD-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/)
Thanks to image from : http://munfitnessblog.com/wp-content/uploads/2008/01/man-having-flu-with-medicine.JPG
http://www.healthcastle.com/sites/default/files/imagecache/article-lead-image-570×200/man_coughing_570.jpg