พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต รองแม่ทัพภาคที่ 1

4 รัฐประหาร + 1 ธรรมะใต้หัวโขน

“การเป็นทหารนั้น แทบไม่ต้องคิดอะไรเองเลยครับ เรามีหน้าที่ทำตามคำสั่ง เวลาผู้บังคับบัญชาสั่งให้เราไปรบ หรือสั่งให้เราไปตายก็ต้องไป เพราะเราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ให้รักและปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เมื่อมีคำสั่งมา จึงไม่มีการอิดออดว่าผมไม่อยากไป ไม่อยากทำ”

หนึ่งเสียงจากใจของสุภาพบุรุษแห่งกองทัพไทย พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่สะท้อนจิตวิญญาณที่พร้อมเสียสละเพื่อแผ่นดิน อันเป็นเสียงเดียวกันกับเหล่าทหารหาญในกองทัพ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่บนเส้นทางชีวิต ‘ทหารอาชีพ’ อย่างแท้จริง ภายใต้บุคลิกภายนอกที่ดูสุขุม อ่อนโยน และไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่าย รักสงบ ซึ่งหากปราศจากเครื่องแบบทหาร อาจมีน้อยคนที่จะรู้ว่า นายพลท่านนี้ ได้ผ่านประสบการณ์ปฏิวัติรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้วถึงสี่สมัย และจวบจนวินาทีนี้ ก็ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย!
“โดยส่วนตัว ผมเคยคิดว่าการปฏิวัติมันหมดสมัยแล้วสำหรับประเทศไทย ผมคิดไม่ถึงเลยว่าจะมีรสช. แต่ก็ยังมีเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็ยังมี 19 กันยา เป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใดประชาชนอยากจะเชียร์ให้เกิดรัฐประหาร เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา

มาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดที่ไม่มีทางออก ประชาชนก็รอว่าเมื่อไหร่ทหารจะออกมา เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ ประเทศเรามีการรัฐประหารเยอะที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คิดไม่ถึงว่าคนไทยบางกลุ่มจะเชียร์ให้เกิดรัฐประหารอีก
ในสมัยหนึ่งคนไทยเคยต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง เรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี การต่อต้านก็จบลงด้วยดี การเรียกร้องนั้นไม่มีจุดหมายอะไรเลย เราก็สรุปกันว่า นี่คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

แม้ในมุมมองของ พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต จะเห็นว่า บทบาทของทหารอาชีพนั้นควรจะมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนกับการเมือง แต่การวางแผนเส้นทางชีวิตที่แน่วแน่สูจุดสำเร็จในสายอาชีพทหาร ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบทบาททหารกับการเมืองที่แยกกันไม่ออก

“ตอนเป็นเด็กๆ ผมเคยฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีครับ (ยิ้ม) สมัยก่อนก็มองว่า เมื่อก่อนนายกรัฐมนตรีหลายท่านมาจากสายทหาร แต่พอโตมาความคิดก็เปลี่ยนไป คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน ทหารอาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในบางสถานการณ์ แต่ถ้าในสถานการณ์ปกติ ตำแหน่งนี้น่าจะเหมาะกับคนที่มีความรู้หลายด้านมากกว่า

ผมเองเติบโตมากับชีวิตครอบครัวทหาร คุณพ่อเป็นทหาร บ้านอยู่ในกรม ได้ยินเสียงแตรปลุกตั้งแต่เด็ก เห็นทหารเดินแถว นับแถว กินข้าว ถึงเวลาสอบ ผมก็เลยเลือกสอบเข้าเตรียมทหาร เผอิญติดก็เลยมาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เป็นนรต.รุ่นที่ 13

จบเตรียมทหารสมัยนั้นสามารถเลือกเรียนต่อได้ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ สมัยผมฮิตตำรวจมาก เลือกกันเป็นอันดับหนึ่ง ตำรวจมีแฟนเยอะด้วย ไปที่ไหนสาวๆ ชอบ ผมก็เคยคิดอยากไปตำรวจ แต่ว่าคุณพ่อเป็นทหาร เดี๋ยวท่านเสียใจ เป็นทหารดีกว่า ผมจึงเลือกเหล่าทหารบก

เมื่อเรียนจบนายร้อย เหตุผลในการเลือกหน่วยก็เพราะมีความทะเยอทะยาน ผมพิจารณาว่าผบ.ทบ.ส่วนใหญ่มาจากหน่วยไหนผมก็เลือกหน่วยนั้น จึงเลือกกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถือว่าเป็นหน่วยชั้นหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น

จากกรมททหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ตอนนั้ผมก็ศึกษาต่อไปว่าคนที่จะเป็นผบ.ทบ.เขาเรียนอะไรบ้าง ทราบว่าเรียนหลักสูตรชั้นนายพันที่สหรัฐฯ หลักสูตรทหารราบชั้นสูง Infantry Officer Advanced Course : IOAC ผมไปเรียนที่นั่น ระบบของเขาสอนที่หนึ่ง ระบบอาวุธก็ทันสมัย แต่เรียนกันน้อย สำหรับทหาร หรือเรียนวางแผนต้องเรียนอย่างจริงจัง จะเข้าตี-ตั้งรับ-ถอนตัวอย่างไร เราเรียนให้รู้จริงรู้ลึก หยิบอาวุธมาหลับตาถอดได้ เน้นปฏิบัติ ถ้าถอดอาวุธไม่ผ่านหรือถอดอาวุธมาให้เราถามว่าชิ้นนี้คืออะไรถ้าตอบไม่ได้ก็คือตก

แต่ถ้าให้มาประกอบอาวุธอีกทีตอนนี้ สารภาพว่า…ใส่แว่นยังมองไม่เห็นเลย (หัวเราะ)

ผู้บังคับบัญชาที่ผมมองย้อนไปที่ประวัติก่อนจะเป็นผบ.ทบ.ส่วนใหญ่เรียนเสนาธิการได้ที่หนึ่งจากการเรียนหลักสูตรนี้ ไม่ว่าจะเป็น พลเอก สุจินดา คราประยูร พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี ฯลฯ ผมจึงพยายามเรียนให้ได้ที่หนึ่ง แต่เมื่อผลสรุปออกมาผมได้ที่หก ความมุ่งหวังเดิมที่จะไปเรียนเสนาธิการทหารในต่างประเทศก็เลยไม่ได้ไป เมื่อกลับมาผมประจำอยู่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งผมได้เลือกอันดับหนึ่งคนแรกในเหล่าหลังจบเสธ.ว่าจะลงที่ไหน ด้วยสิทธิจากการที่เราติดท็อปเท็น

กลับมาอยู่หน่วยเดิม ได้มาเป็นผู้พัน การเป็นทหารนั้นการเป็นผู้พันคือสุดยอดของชีวิต ตอนนั้นผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว จบแล้วชีวิตทหารแค่นี้ ยศพันโทเป็นผู้บังคับกองพันคุมทหารพันคน ตอนนั้นอายุ 36 เป็นผู้บังคับกองพัน และแน่นอนครับว่า เมื่อมีรัฐประหารก็ต้องทำตามคำสั่ง”

ไม่มีบทบัญญัติข้อใดในรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทหารปฏิวัติ แต่รัฐประหารก็เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาโดยตลอด

“มีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารเกิดมาเรื่อย ตั้งแต่เป็นผมทหารเด็กๆ สมัยที่เรียกว่าเมษาฮาวาย ตอนนั้นพ.ท.ชัยณรงค์ หนุนภักดี เป็นผู้บังคับกองพัน ตอนนั้นผมยศร้อยโท ได้รับคำสั่งให้ไปที่อสมท.

การไปยึดสาธารณูปโภค เช่น โรงกรองน้ำประปาสามเสน โรงไฟฟ้า รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็นสูตรสำเร็จของการปฏิวัติ ผมได้อ่านหนังสือพบว่าสูตรนี้มีต้นตอมาจากการปฏิวัติของรัสเซียที่จะต้องยึดสถานที่สำคัญ แต่สำหรับเมืองไทยแค่เอารถถังเข้ามาก็รู้แล้ว โรงเรียนทหารไม่ได้สอนให้ปฏิวัติหรอกครับ แต่เรารู้เองว่าจะต้องรักษาพื้นที่สำคัญ ซึ่งแต่ละหน่วยต้องวิเคราะห์

ครั้งเมษาฮาวาย เครื่องบินโปรยใบปลิวให้ยอมแพ้ วางอาวุธเถอะ เราแพ้ครับไม่ต้องไปสู้แล้ว ผู้บังคับบัญชาท่านก็ไม่ว่าอะไร ผลสุดท้ายแพ้ก็จบ ผู้พันคือพ.ท.ชัยณรงค์ โดนย้าย

ถัดมาคือ กบฎ 9 กันยา  กำลังทหารอากาศ อากาศโยธิน ผู้นำโดยพล.ต.มนูญ รูปขจร บอกว่าจะมาแล้วไม่มา รอบนี้เราเป็นผู้ปราบปราม อยู่ฝ่ายรัฐบาล กว่าจะรู้ว่าเป็นฝ่ายไหนก็ต้องรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ตอนนั้นผมเป็นนายทหารยุทธการยศพันตรี

การปฏิวัติแบบไทยๆ ของไทยไม่มีทำร้ายกันครับ ผมเองก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะนายเขาสั่ง เมื่อต้องเผชิญหน้าเราคิดว่าไม่ได้ต่อสู้กัน ไม่ได้คิดว่าจะไปยิงใคร รู้จักกันหมด เมื่อเจอกันจริงๆ ก็บอก เฮ้ย! มึงออกไปเถอะ แพ้แล้ว เก็บของไป (ยิ้ม) เขารู้ ก็เก็บของบอกว่า ไปแล้วพี่ ผมไปนะ (ยิ้ม) ถ้าเป็นฝรั่งคงยิงทิ้ง แต่เราพวกเดียวกัน ทุกอย่างเป็นไปกลไกการเมือง เรื่องผลประโยชน์”

ด้วยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ทหารจึงมีหน้าที่ต้องเตรียมพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งอยู่เสมอ

“รอบที่สาม รสช. เข้ายึดอำนาจ จับพล.อ.ชาติชาย ก่อนที่จะเกิดเหตุ ท่านผู้การถามในที่ประชุมว่า ถ้าสั่งให้ปฏิบัติ ผู้พันจะปฏิบัติไหม ผมก็งงว่าแต่ก็ตอบท่านว่า ถ้าผู้การสั่งผมก็ปฏิบัติครับ ท่านก็ยื่นซองให้ที่ลานจอดรถแล้วบอกว่า เอาไป ขอให้โชคดี พูดแค่นี้ครับ พอผมเปิดซอง พบว่าเป็นคำสั่งให้จับ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ เวลาจะบอกทีหลัง

ผมก็เตรียมการไปตรวจดูภูมิประเทศก่อน ผมแต่งตัววัยรุ่น ตำรวจที่ด่านเขาไม่รู้หรอกพันโทอายุ 36 น้องๆ ที่ไปด้วยกันก็ 20 กว่าๆ ปลอมตัวไป ดูบ้านท่านนายกฯ ชาติชาย ตามคำสั่ง ซึ่งความจริงนายกฯ ชาติชายกับคุณพ่อเป็นเพื่อนทหารรุ่นเดียวกัน

ผมก็ไปตรวจดูว่าตรงนี้ทางแยกมีกี่จุด มีตำรวจกี่คน ข้างๆ นั้นบ้านใครบ้าง ข้างหลังบ้านออกได้ไหม ขึ้นไปอาคารใกล้ๆ ตรวจดูเบิร์ดอายวิว ดูหมดมีอะไรบ้างตรงไหน เสร็จแล้วก็คอยเวลา รับคำสั่ง ปรากฏว่าไม่มีการสั่ง” (ยิ้มโล่งใจ)
เหตุการณ์ครั้งนั้น สืบเนื่องมาสู่บทบาทของทหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“ตอนพฤษภาทมิฬ ทหารเรารู้อยู่แล้วว่า ถ้ามีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนเราแพ้ ทหารจะไปโดนตัวหรือทำร้ายประชาชนไม่ได้เลย ตอนนั้นผมมียศเป็นผู้บังคับกองพัน ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไป 1 กองร้อย สมัยนั้นไม่มีอุปกรณ์ปราบจราจล ผมกำชับลูกน้องว่า ถ้าจะออกไปทำงาน จะต้องจับปลดซองกระสุนให้หมด ที่ต้องกำชับหนักแน่นคือห้ามยิงประชาชน ห้ามทำอะไรทั้งสิ้น หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดให้ยิงขึ้นฟ้า

เจอเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ใช่ว่าทหารไม่กลัวนะ เห็นม็อบทหารก็ปอดเหมือนกัน เพราะทหารก็คือประชาชนที่จับมาใส่เครื่องแบบ เมื่อมีคนปาอะไรเข้ามา หรือเกิดความรุนแรงก็อาจทำให้ตกใจ ทหารคือปุถุชนครับเขาก็กลัวปะทะกับประชาชนเหมือนกัน แต่ผมยืนยันว่า ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่มีใครออกคำสั่งให้ทหารยิงประชาชนอย่างแน่นอน

หรือกรณีบางคนบอกว่า มีการเอาศพไปทิ้งในหน่วยอย่างกรมฯ 11 ไม่มีหรอกครับ ลองคิดดูว่า ทหารเกณฑ์เขามาจากหลายครอบครัว ถ้าทหารไปทำอย่างนี้จริง ข้อมูลมันต้องรั่วออกแน่ เมื่อเขาปลดประจำการ เขาคงจะพูดว่าผมยิงเอง แต่พอไปถามใครก็บอกว่าไม่รู้ ไม่มีใครสั่งให้ยิง ผมรับประกัน นอกจากเป็นอุบัติเหตุ อย่างกรณี พลเอก ชัยณรงค์ หนุนภักดี นั่นก็ถูกสังคมเข้าใจผิด หาว่าท่านไปสั่งยิงประชาชน ทั้งที่ความจริงท่านเป็นคนเรียบร้อย และเป็นสุภาพบุรุษ”

แม้เหตุการณ์รุนแรงในประเทศหลายครั้งที่ผ่านมาจะทำให้ พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต สรุปได้ว่า ทหารไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเครื่องมือปราบจลาจล ทหารควรกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติในกรมกอง เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดขึ้น และไม่มีใครบอกได้ว่า จะเป็นครั้งสุดท้าย

“มันไม่มีสุดท้ายน่ะสิ (หัวเราะ) รัฐประหารครั้งล่าสุดผมไม่ได้เกี่ยวข้องเท่าไหร่ครับ เราเป็นหน่วยมณฑลทหารบกที่ 11 มีแค่กำลังทหารสารวัตร ดูแลพื้นที่ตั้ง คือ กระทรวงกลาโหม ที่ตั้งกองบัญชาการทหารบก เท่านั้นเอง แทบจะไม่มีอะไร เพราะช่วงนั้นสถานการณ์เกื้อกูล

ปัจจัยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหาร จากการทำวิจัยทางวิชาการ ซึ่งผมเรียน วปอ. มีอยู่ 3-4 ประการด้วยกัน ประการที่หนึ่งคือรัฐบาลไม่สามารถปกครองประเทศได้ ขาดความชอบธรรม ไร้เสถียรภาพ ประการที่สองคือ มีการแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะการโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพ ประการที่สาม คือ มีการทุจริตคอรัปชั่น และประการที่สี่ เกิดเหตุการณ์จลาจลวุ่นวาย

เหตุการณ์ตอนนี้ ปัจจัยก็วนไปเวียนมา แต่ยังไม่ครบ และตอนนี้ก็พ้นช่วงการโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพไปแล้ว ซึ่งโผโยกย้ายนายทหารที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ยุ่ง เลยยังไม่ครบองค์ประกอบปัจจัยสี่”

ท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศที่กำลังยุ่งเหยิง รุมเร้าด้วยปัญหารอบด้านที่ยังไม่เห็นทางออก บทบาทความร่วมมือในการรักษาความสงบของประเทศตามวิถีของทหาร ย่อมขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชาสถานเดียว

“ในชีวิตการเป็นทหารของผมโชคดีที่ได้มีผู้บังคับบัญชาดีมาตลอด ตอนผมเป็นผู้พันนายของผม (ยศในขณะนั้น) ก็เช่น พ.ท.ชัยณรงค์ หนุนภักดี พ.ท.เชษฐา ฐานะจาโร พ.ท.วิชิต ยาทิพย์ พ.ท.ประมณฑ์ ผลาสินธ์  มาจนถึงผู้บังคับบัญชาในปัจจุบัน ทุกท่านเป็นนายทหารที่ประสบความสำเร็จ ผมจึงศึกษาเส้นทางชีวิตของทุกท่านเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินรอยตาม
วงการทหาร มั่นใจได้ว่าคนที่ได้รับเลือกเป็นผบ.ทบ.ทุกคนล้วนแต่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดีเยี่ยมไม่มีทางเลยที่คนไม่ดีจะขึ้นมาได้ถึงตำแหน่งนี้ ไม่เพียงแต่ทหารบกเท่านั้น ผู้บัญชาการเหล่าทัพอื่นๆ ก็ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเช่นเดียวกัน เป็นบุคคลที่ไม่เอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปฏิบัติงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ต้องมีลักษณะผู้นำสูง ต้องสั่งสมความดีมาโดยตลอด เหมือนการบำเพ็ญเพียรสั่งสมบุญบารมี โดยสรุปทหารที่จะไปถึงจุดสูงสุดนั้นได้ต้องเป็นคนดี อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นคนดี”

เช่นเดียวกับนายทหารทุกคนที่มีเป้าหมายสูงสุดในสายอาชีพของตน คือการก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ด้วยการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ แต่ในโลกส่วนตัวของ พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต ก็มีอีกหนึ่งเป้าหมายที่รอคอยอยู่ นั่นคือความสุขสงบในจิตใจ

“ถ้าพูดตามตรง ทหารทุกคนอยากเป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่มันจะลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น บางคนบอกว่า ทหารเรา…ถ้าได้เป็นนายพลก็เยี่ยมแล้ว แต่ผมคิดว่า เมื่อเป็นนายพลแล้ว ได้เป็นผู้บังคับหน่วยก็เป็นความสุดยอดอีกระดับหนึ่ง (ยิ้ม) ผมเองก็ดีใจที่ได้เป็นผู้บังคับหน่วยมากที่สุดคนหนึ่ง จากผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเพชรบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 1 ถึง 3 หน่วย บางคนบอกว่าเส้นทางการเติบโตในอาชีพของผมช้า หมุนวน แต่ความจริงผมก็ได้เพื่อนได้ลูกน้องอีกเยอะ

สำหรับกองทัพบก แม้นายพลจะไม่ได้ก้าวขึ้นเป็นผบ.ทบ. กันทุกคน ก็ยังมีตำแหน่งสำคัญที่มีเกียรติอีกมากมายหลายตำแหน่งให้ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ และอย่าลืมว่าตำแหน่งทั้งหลายนั้น ที่แท้แล้วเป็นเพียงหัวโขน

ผมเป็นผู้บังคับหน่วยมาเยอะ พอหมดหน้าที่ ถอดหัวโขนออก ก็คนละเรื่อง เสร็จภารกิจก็จบ พอใส่ก็เต้นได้ตามบท สมมติเขาให้ผมเป็นรองแม่ทัพภาคฯ ผมก็เต้นตามหัวโขนไป แต่พอเกษียณแล้ว ชีวิตก็อีกแบบหนึ่ง ลองคิดดูว่า เมื่อถึงเวลานั้น ใครจะมาทำได้แบบเรา เดินเล่นได้ทั่วประเทศ แฮปปี้ได้ตลอด

ถ้าเกษียณแล้วไม่มีเรื่องบวช ผมก็อยากจะเที่ยว อยากไปไหนสบายๆ เราไปมาเยอะแต่ไปในหน้าที่ ผมอยากดูธรรมชาติ ดูชีวิตผู้คน ปกติเวลาไปไหนในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะไม่ค่อยได้เห็นอะไรมาก เพราะถูกจับเข้าห้องรับรองเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมยังไม่รู้ว่าจะมีบุญขนาดได้บวชรึเปลา ต้องเป็นบุญ เป็นกุศลที่ชักนำให้เราไปถึงขนาดนั้น บางทีเรามีกิเลสอย่างเป็นโน่นอยากเป็นนี่ ปัจจุบันผมคงยังไปไม่ถึงขั้นตัดกิเลสได้ขนาดนั้น ทุกวันนี้ก็สวดมนต์เช่นบทสวด อิติปิโสฯ

คนไทยเราโชคดีอย่างยิ่งที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ผมนั่งสมาธิ สวดมนต์ ทุกเช้าเย็น เผอิญช่วงหนึ่งผมมีเวลาว่าง คิดได้ว่าผมไม่ได้บวชเรียน เมื่อมีเวลาผมอยากจะทำอะไรที่เราไม่เคยทำเลย มีโอกาสได้ไปวัด นุ่งขาวห่มขาว สวดมนต์  นั่งกรรมฐานถึงตีสองทุกวัน ตอนเช้าผมถือปิ่นโตเป็นลูกศิษย์พระเดินตามพระบิณฑบาต ได้ดูคน เห็นประชาชนว่าขนาดเขายากจนมีกับข้าวเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังพยายามจะใส่บาตร ได้ดูภูมิประเทศ ได้เห็นปัญหาของชาวบ้าน ทำให้ได้คิดต่อไปว่า ทำไมเราไม่ช่วยทำบ้านให้เขาอยู่มีสุขลักษณะ อันนี้เป็นผลพลอยได้ แต่ที่ได้แก่กับตัวเองคือความสงบสุขทางใจที่ได้ปฏิบัติธรรม ได้ลองใช้ชีวิตเป็นลูกศิษย์พระ การปฏิบัติธรรมทำให้จิตเราสงบนิ่งได้เร็ว ”

ความสนใจในศาสนาของ พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต นอกจากจะนำไปสู่การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิแล้ว ยังปรากฏได้จากพระพุทธรูปมากมายที่สะสมไว้บูชา นอกเหนือจากกรุของเก่า งานศิลปะ ของสะสมอันสวยงามล้ำค่ามากมายที่มีอยู่ทั่วบ้าน ราวกับพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ

“ผมชื่นชอบของเก่าที่มีศิลปะ ชื่นชมฝีมือของคนโบราณที่ยากจะหาได้ในปัจจุบัน ควรคู่กับการเก็บรักษาเอาไว้ แต่ไม่ได้ชอบถึงกับต้องแสวงหา ผมเก็บสะสมของเก่ามาเป็นสิบๆ ปี ยามว่างก็ออกเดินเที่ยวชมแหล่งที่มีของเก่า อย่างจตุจักรมีหลากหลายแต่แพงกว่าศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้

ผมศึกษาเรื่องของเก่ามานาน บางทีเขาเอาให้ฟรีก็มีเพราะเราเป็นลูกค้าประจำของเขา และอยู่ในวงการนี้จนคุ้นเคย ของปลอมผมก็เจอมาเยอะ เก้าอี้ที่คุณนั่งอยู่ก็ซื้อมาจากอังกฤษของเก่ามาจากเซฟฟิลด์ ได้มาจากเพื่อนคนไทยที่อยู่ยุโรป อายุเป็นร้อยปีครับ

ส่วนการสะสมพระพุทธรูปนั้น เพราะผมมีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธรูปนั้นมีพลังอยู่ข้างใน การสะสมพระไม่ใช่เพื่อแสดงความมั่งคั่งร่ำรวย แต่คิดว่าพระท่านมีพลัง และก็เจออย่างนั้นด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ตามเสด็จฯ ไปที่วัดป่าวังยาง ทางอีสาน หลวงพ่อท่านบอกว่าท่านเคยนิมิตเห็นคนแก่ให้ไปขุดตรงที่ท่านนั่งกรรมฐาน จึงให้คนไปขุดได้พระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นมา ท่านบอกว่าเป็นพระอธิษฐาน ให้เรายกดูเสี่ยงทาย สมมติ…ผมเสี่ยงทายว่าจะได้เป็นพลโทไหม ถ้าไม่ขึ้นให้รู้สึกว่า ผมยกไม่ขึ้นผม แล้วผมก็ยก ตอนแรกก็ยกขึ้นง่ายๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย ผมบอกว่าก็ยกได้นี่ครับ รุ่นพี่ที่ไปด้วยจึงบอกให้ผมยกมือตั้งนะโมฯ สามจบก่อน อธิษฐาน รวบรวมพลังจิต ผมก็อธิษฐานเสี่ยงทายอีกครั้ง ปรากฏว่าคราวนี้ผมกลับยกไม่ขึ้น ทั้งที่เมื่อสักครู่ยังยกขึ้นอยู่เลย

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเชื่อว่าพระพุทธรูปมีพลังอยู่จริง ผมเปรียบเทียบว่าพระกับเรานั้นเหมือนมีพลังแม่เหล็กเชื่อมโยงกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เชื่อประสานกัน จะเกิดพลังเป็นเกราะอย่างน้อยก็ไม่ให้เราทำชั่ว”

รอยยิ้มรื่นรมย์บนมาดสุขุม ของ พลตรี จิระเดช โมกขะสมิต ปรากฏขึ้นเมื่อพูดคุยถึงเรื่องราวของสิ่งที่ทำให้จิตใจเป็นสุข แม้ว่าภารกิจ ณ ปัจจุบันในตำแหน่งนายพลนั้นจะหนักอึ้ง และเส้นทางสู่เป้าหมายสำคัญในชีวิตยังคงเปี่ยมด้วยการแข่งขัน
“ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ทหารในกองทัพเรามีความเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง เรามักจะได้ยินใครต่อใครพูดคำว่า ทหารอาชีพ กันเรื่อย ในหลายบริบท และหมายความต่างกันไป

คำว่า ทหารอาชีพ สำหรับผมหมายถึง เราต้องมีความรอบรู้ในอาชีพเราตามลำดับชั้น ถ้าเป็นพลทหารต้องยิงปืนในระยะที่กำหนดให้ถูกเป้า ขุดหลุมได้ตามที่สั่ง ต้องเดินตามเข็มทิศได้ไม่หลงทาง ต้องประสานกับคนข้างเคียงได้ ต้องติดต่อวิทยุทหารได้ ต่อสายโทรศัพท์ให้ได้ตามแนวทาง คุณมีหน้าที่แค่นี้ ทำให้ได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับหน้าที่อื่น ด้านผู้บังคับหมู่มีหน้าที่ปกครองคนจำนวนเท่านี้ต้องรู้ตามแนวทาง เขียนแผนการยิงได้ ถอดประกอบปืนกลได้ วางอาวุธยิงให้ได้ประโยชน์สูงสุด ติดต่อสื่อสารได้ ซึ่งเมื่อเป็นผู้หมวด ผู้กอง ผู้พัน ก็ความรอบรู้ในหน้าที่ก็ควรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับชั้น นี่คือการทำงานเป็นอาชีพไปที่ไหนก็ชนะ ยกตัวอย่างเล่นหมากรุก เป็นม้าเดินสองตา เรือเดินตรงได้ เบี้ยพอไปถึงตรงกลางก็สลับเดินเอียง นี่คือทหารในอุดมคติ เราจะต้องเดินแบบนั้น แต่ถ้าเราเป็นทหารที่ไม่ได้รับการฝึก การกำหนดแบบที่ผมบอก ถ้าผู้บังคับบัญชารู้ว่าเราเป็นม้า สมมติข้าศึกมาจับมันเดินไม่ได้ ก็เพราะฝึกมาแค่นี้ ที่ดีคือถ้าเป็นม้า ก็ต้องฝึกแบบม้า เป็นเรือต้องฝึกแบบเรือ ไปรบที่ไหนก็ชนะ รวมถึงต้องได้คนวางแผนดี แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าวางแผนดีลูกน้องเราไม่เป็นไปตามนั้นก็แพ้
ณ วันนี้ ถ้าถามผมว่า อะไรคือลำบากที่สุด…ไม่มีนะ การนอนใต้ต้นไม้ นอนบนดินแล้วบอกว่าลำบากก็ไม่ใช่ สนุกดี หรือเดินเหนื่อยก็ไม่ใช่ความลำบาก แต่ละวัยสิ่งที่เจอแล้วเห็นเป็นความลำบากมันไม่เหมือนกันครับ แต่ถ้าตอนนี้เหรอ…ถ้าให้ประกอบปืนโดยไม่มีแว่นก็อาจจะลำบากได้ (หัวเราะ)

และถ้าถามถึงความสุขที่สุด…เชื่อไหมว่า ผมเป็นอะไรก็ไม่เห็นมีความสุขเลย ตอนเป็นผู้พันก็คิดว่าจะสบาย แต่พอได้เป็นจริงๆ ก็ไม่เห็นสบาย จากนั้นก็คิดต่อไปว่าเราเป็นผู้การคงเท่น่าดู พอเป็นผู้การก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ถึงวันนี้ได้เป็นนายพล ได้เป็นผบ.มณฑล ก็ไม่เห็นสบาย

แล้วเราจะเป็นอะไรต่อไป ผมยังไม่รู้เลย ไม่เห็นมีอะไรดีจริงๆ สักอย่าง
สนุกตรงที่เป็นหัวโขนเท่านั้นเอง”

 

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...