สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ สงบแล้วจากบาป สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้ “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่ทำกิจวัตร มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะนั้น จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”
เด็กต้องการตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดีจากสมณะฉันนั้น สมณะคือผู้ที่ต้องมีการฝึกฝนและต่อสู้กับกิเลสอย่างยิ่งยวด สมณะคือผู้สงบกายคือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวนหรือเฮโลยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่นแย่งที่อยู่ที่ทำกินกันอันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหนย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า “ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมากแต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวนดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญแต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย”
นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึงสมณสารูปคือจะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย สงบวาจา ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระหรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆก็ผิดสมณสารูป นอกจากสงบกายแล้วสมณะต้องสงบใจซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเพียรเป็นตัวกลั้นกิเลสเป็นอย่างมากคือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายในสงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้งสาม ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่สองคำที่ใช้ชมความงามของคนคือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า “สวยงาม” แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า “สง่างาม” เป็นความงามที่สง่าและยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม แต่ไม่จ๋องไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ
“สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”
ทำไมจึงต้องเห็นสมณะ ?
ความสุขทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ
- ความสุขที่ต้องอิงวัตถุกามหรือกามสุข เป็นความสุขทางเนื้อหนัง เช่น ได้เห็นรูปส่วย ได้ฟังเพลงเพราะๆ ได้กลิ่นหอมๆ ได้กินอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ฯลฯ จัดเป็นความสุขภายนอกที่เห็นกันได้ง่าย
- ความสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเจริญ ภาวนาให้ใจสงบและเกิดปัญญา เป็นความสุขของผู้เข้าถึงธรรม จัดเป็นความสุข ภายใน เมื่อเทียบกันแล้ว ความสุขภายในอันเกิดจากความสงบนั้นเป็นสุขที่เลิศกว่าอย่างเทียบไม่ได้ แต่เห็นและเข้าใจได้ยากกว่า
ความสุขภายในนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเราคาดคะเนไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติธรรมยังไม่เคยพบกับความสุขชนิดนี้ก็จะไม่คุ้น แม้อ่านจากตำราก็ยากจะเข้าใจ เช่น พระท่านบอกว่าผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีจิตที่ร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรมจะนึกค้านทันทีว่าคนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องคอยระวังกลัวจะผิดศีล สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ จะดื่มเหล้าก็ดื่มได้ จะเที่ยวก็เที่ยวได้ เห็นพวกขี้เมาร้องรำทำเพลง เชียร์มวยแทงม้าส่งเสียงกันอึงคะนึงร่าเริงสนุกสนานกว่าตั้งเยอะ แล้วมาบอกว่ารักษาศีลแล้วจิตจะร่าเริงแจ่มใส อย่ามาหลอกกันให้ยากเลย เราไม่ยอมเชื่อหรอก
ต่อเมื่อใดได้พบคนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ เห็นคนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดีเยี่ยม หน้าตาท่านก็ผ่องใส ไม่บึ้งไม่ตึง พูดจาก็ไพเราะ ถึงได้เชื่อว่า “จริง” คนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดี เขาร่าเริง แต่ร่าเริงอีกอย่างไม่เหมือนที่เราเคยเห็น ไม่เหมือนที่เราเคยรู้จัก ถึงแม้ยังไม่ปักใจเชื่อแต่อย่างน้อยก็คิดที่จะทดลองทำตาม แม้ไม่ได้ทำตามอย่างน้อยก็ฉุกคิดถึงการทำความดีบางอย่างขึ้นมาได้ คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้คือสมณะ ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึงธรรม เหมือนระเบิดที่จุดชนวนแล้วย่อมแสดงอานุภาพออกมาเต็มที่ สติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ จะได้รับการกระตุ้นจากการเห็นสมณะให้นำมาใช้สร้างความดีได้เต็มที่
ชนิดของการเห็นสมณะ
การเห็นของคนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
- เห็นด้วยตา เรียกว่า พบเห็น คือเห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยามารยาทอันสง่างาม และสงบของท่าน
- เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น คือนอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณะบุคคลแล้ว ยังพิจารณาตรองดูด้วยใจ จนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ หรือเรียกว่าเห็นถึงสมณธรรมของท่าน
- เห็นด้วยญาณ เรียกว่า รู้เห็น คือไม่ใช่เป็นเพียงการคิดคาดคะเนถึงคุณธรรมของท่านเท่านั้น แต่เห็นด้วยญาณทัศนะ เห็นด้วยปัญญาทางธรรม ทีเดียวว่า ท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาดีแล้ว จนเข้าถึงธรรมกายในตัว แล้วอาศัยญาณทัสนะมองทะลุเข้าไปในใจคนอื่นได้ การเห็นชนิดนี้ชัดเจนถูกต้องแน่นอนไม่มีการผิดพลาด
ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ
- สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร
- สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง
- สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาแต่ นั่งๆ นอนๆ แต่บำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ เช่น การสวดมนต์ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่
- สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส เป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ อยู่ธุดงค์ ก็ตาม
เหตุที่ชาวโลกอยากให้สมณะหรือพระมีศีลไปเยี่ยมบ้าน
เมื่อสมณะหรือพระผู้มีศีลบริสุทธิ์เข้าสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ด้วยฐานะ 5 ประการ ดังนี้
- จิตของเขาย่อมเลื่อมใสเพราะได้เห็นสมณะ เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์
- เขาย่อมพากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่สมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง
- เขาย่อมกำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ ในสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันยิ่งใหญ่
- เขาย่อมแจกจ่ายทานตามสติกำลังในสมณะผู้เข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคะใหญ่
- เขาย่อมไต่ถาม สอบสวน ฟังธรรม จากสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่
Thanks to images from : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/6d/Monk_examinations,_Bago,_Myanmar.jpg
http://cdn.tinybuddha.com/wp-content/uploads/2012/06/Monk.jpg