๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
วนิดามีชื่อเล่นว่ามด ซึ่งเกิดในสกุลไทยเชื้อสายจีน ในระดับชนชั้นกลาง ที่มีอัครฐานพอสมควร พี่น้องทุกคนที่ร่วมบิดามารดา ล้วนได้รับการศึกษาดี และแทบทุกคนอุทิศตนให้กับสังคม หากมดดูจะแหวกแนวไปยิ่งกว่าคนอื่นๆ ตรงที่ร่วมงานการต่อสู้กับกรรมกรมาแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ออกไปรับใช้คนยากคนจนในชนบท จนคนปลายอ้อปลายแขมเหล่านั้นเคารพรัก ดังเมื่อตั้งสมัชชาคนจนขึ้นนั้น มดได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษา นับว่าเธอมีอุปการคุณกับสมัชชาที่ว่านี้ยิ่งนัก
มดรับใช้ผู้ยากไร้ทั้งหลายด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแยบคาย แม้จะพูดภาษาลาวของภาคอีสานไม่ได้ก็ตาม แต่เธอก็เข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยที่มดใช้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเธอ และเพื่อนฝูงในเมืองกรุง ซึ่งอยู่ในองค์การพัฒนาเอกชนต่างๆ โยงใยให้ชาวบ้านเข้าถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลต่างๆ อย่างอาจหาญ และกล้าท้าทายอำนาจอันอธรรมด้วยสันติวิธีมาหลายต่อหลายครั้ง แม้จะได้ชัยชนะน้อยครั้ง แต่มดและชาวบ้านต่างก็ประกอบไปด้วยขันติธรรมและสามัคคีธรรม ซึ่งควรแก่การก้มหัวให้ยิ่งนัก
แม้การต่อสู้แต่ละครั้ง จะทำให้มดและแกนนำทั้งหลายต้องเครียด ไหนจะถูกให้ร้ายป้ายสี ไหนจะถูกโจมตีด้วยประการต่างๆ ทั้งทางสื่อสารมวลชนและการปล่อยข่าวลือ ยังร่างกายก็ต้องเจ็บปวด กระท่อมที่มาตั้งล้อมทำเนียบรัฐบาลเอาไว้อย่างสันติ ต้องถูกรื้อถอนโดยอำนาจอันอธรรมของรัฐบาลเผด็จการ แต่ต่อมามดกับกัลยาณมิตรของเธอใช้จิตสิกขา ช่วยให้เธอและเขาเหล่านี้หาสันติสุขได้ในพรหมวิหารธรรม
ในสองปีหลังแห่งชีวิต แม้จิตใจจะปลอดโปร่งขึ้น แต่ก็มีโรคทางกายเข้ามาบีฑา โดยที่มะเร็งได้ขยายพิษร้ายออกไปยิ่งๆ ขึ้น จนหมดฝีมือแพทย์ ไม่ว่าจะการแพทย์กระแสหลัก หรืออายุรเวทและอื่นๆ ดังที่เธอได้จบชีวิตลงด้วยอาการอันสงบ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยที่เธอมีเวลาภาวนาจนวินาทีสุดท้าย ท่ามกลางญาติมิตรที่ห่วงใยเธอเป็นอันมาก
นับได้ว่าเธอจากไปด้วยดี ดังที่เธอได้ประกอบกรรมดีมาเป็นอเนกปริยาย แม้คนยากไร้จะยังไม่ได้รับชัยชนะ แต่ธรรมะย่อมต้องชนะมารได้ ในอีกไม่นาน ตั้งศพมดที่วัดวชิรธรรมสาธิต ซอย ๑๐๑/๑ ถนนสุขุมวิท แต่วันที่ ๖ จนวันที่ ๑๒ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประชุมเพลิง แม้ทางเจ้าภาพจะของดพวงหรีด แต่ก็ห้ามไม่ได้ มีมามากมาย ขาดแต่พวงหรีดของเจ้านายเท่านั้นเอง และเมื่อโกมล คีมทอง ตายจากไปเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ก็มีคนไปเคารพศพกันล้นหลามปานๆ กัน และวันปลงศพ ได้มีการพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นเกียรติยศอย่างยากที่ใครๆ จะได้รับ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ไปเป็นประธานในงานศพเองเลยทีเดียว แต่งานศพมดคราวนี้ เจ้าภาพไม่ขอรับพระราชทานเพลิงด้วยประการทั้งปวง โดยที่ชาวไร่ชาวนา แม้คนปลายอ้อปลายแขมมาร่วมงานศพกันคับคั่งทุกคืน มากันเป็นคันๆ รถจากไกลๆ ไม่ว่าจะราษีไศลและปากมูล อุบลราชธานี ยังพวกคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จากจะนะ สงขลา และคนจากบ่อนอก หินกรูด ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ก็มีมิใช่น้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ซึ่งเช่ารถมากันเอง มานอนค้างอ้างแรมที่ในวัดและตามที่ต่างๆ อย่างอบอุ่น
ทุกคืน นอกจากการสวดพระอภิธรรมตามธรรมเนียมแล้ว ยังมีปาฐกถาธรรม โดยธรรมกถึก (ที่ไม่มีชื่อโด่งดัง) หากเป็นสมณะที่รู้จักประยุกต์ธรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัย โดยเฉพาะก็ในเรื่องมรณานุสติ ฆราวาสบางคนก็ได้รับเชิญให้มีธรรมสากัจฉากับพระคุณเจ้าด้วย ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้แทนกลุ่มนักต่อสู้ต่างๆ ที่พูดสรรเสริญผู้ตาย
ในวันปลงศพนั้น มีวงดนตรีสเลเตจากอุบลราชธานี มาร้องเพลงสรรเสริญผู้ตายอย่างน่าจับใจ ดังความตอนหนึ่งว่า
วนิดา เธอมาจากแดนไกล
ทุ่มใจ ร่วมอยู่ ร่วมขับขาน
เพลงสู้ เพลงทุกข์ ด้วยความเบิกบาน
จิตวิญญาณ เป็นลูกหลาน มวลชน
(**ท่อนฮุก) ผืนน้ำ แผ่นดิน ประเทศไทย
จะไม่ให้ถูกกดขี่ ทุกแห่งหน
รวมพลัง รวมใจ จากความจน
สร้างเป็นหนทางใหม่ ทุกคืนวัน
เสียงพิณ แคน โนราห์ แว่วว่าลาไกล
ฝากไว้ ซึ่งความงาม ความฝัน
เสรีภาพ แห่งสายธาร จักกลับคืน
วงดนตรีนี้เล่นเพลงสรรเสริญนักการเมืองที่ถูกเผด็จการทหารพิฆาตฆ่าจนคนลืม นับว่าเขาช่วยชุบชีวิตวีรบุรุษที่เกือบจะนิรนามนั้นๆ เช่น เตียง ศิริขัณฑ์ จำลอง ดาวเรือง และถวิล อุดล
อังคาร กัลยาณพงศ์ กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็เนรมิตบทกวีให้มดอย่างน่าจับใจ รวมถึงกวีที่เป็นรุ่นรองลงมาอย่างสีแพร เมฆาลัย ซึ่งก็เขียนบทกลอนให้มด รวมทั้งเป่าขลุ่ยให้อีกด้วย ดังความตอนหนึ่งว่า
เธอคือมดที่เหนือกว่าพญามด
แหวกเกณฑ์กฎบารมีที่เหลวไหล
เป็นมดน้อยที่ใจดีและพลีใจ
อยู่เคียงไหล่ประชาชนโดนรังแก
หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ เขียนรูปมดด้วยแรงบันดาลใจจากคุณวิเศษของผู้ตาย ภายในคืนเดียว และได้จิตรกรรมอมตะอย่างน่าทึ่ง ดังเจ้าภาพได้ตีพิมพ์รูปนี้ในเสื้อ T-Shirt ให้ได้จำหน่ายจ่ายแจกเป็นอนุสรณ์ถึงมดอีกด้วย นอกเหนือไปจากโปสเตอร์เป็นพันๆ แผ่น ซึ่งมีข้อความว่า
สารคดี: เคยคิดบ้างไหมว่าตัวเองเป็นคนเสียสละ
วนิดา: (นิ่งคิดครู่หนึ่ง) เรื่องนี้ไม่ค่อยคิดเท่าไร ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องว่าใครคนใดคนหนึ่งต้องเสียสละ คนอื่นเขาก็เสียสละ คนที่ทำงานกับเราเสียสละทุกคน จริงๆ แล้วชาวบ้านเป็นผู้เสียสละ เขาถูกขับไล่ ถูกเวนคืนที่เพื่อสร้างเขื่อน ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ เรามีโอกาสมากกว่า เราก็ช่วยเขา มีแรงพอจะช่วยได้เราก็ช่วย ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ ไม่ได้คิดว่าเป็นนักบุญหรือแม่พระ และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหญิงเหล็ก คนอื่นเขาเหล็กกว่าดิฉันเยอะ ดิฉันเป็นคนธรรมดา เพียงแต่ดิฉันเป็นคนไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ เท่านั้น
หนังสืองานศพของมด มีข้อความจั่วหัวว่า
มีมงกุฎดอกหญ้าเป็นอาภรณ์
มาดมั่นนิรันดรไม่คลอนแคลน
นับว่าเหมาะสมยิ่งนัก เชื่อว่ามดย่อมเข้าสู่นิรันดรภาพ สมคุณงามความดีของเธอที่รับใช้ผู้ยากไร้ตลอดมา อย่างแทบไม่มีความเห็นแก่ตัวเอาเลย และเธอไม่คำนึงถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลว วางเฉยได้กับคำสรรเสริญหรือนินทาว่าร้าย ซึ่งมีมาเป็นระลอกๆ จากสื่อมวลชนกระแสหลัก และปรปักษ์ที่มีอำนาจทางการเมือง และทางเศรษฐกิจขนาดยักษ์ใหญ่ หากเธอไม่เห็นว่าเขาเหล่านั้นเป็นศัตรู เธอเห็นใครๆ เป็นมิตร แม้เขานั้นๆ ตั้งตนเป็นศัตรูกับเธอ และดูเธอมีกัลยาณมิตรมาก ไม่แต่กับผู้ยากไร้และคนที่ถูกกดขี่
ส. ศิวรักษ์