ด้วยจังหวะและโอกาสอันเหมาะสมส่งผลให้ ทยา ทีปสุวรรณ กระโดดสู่สนามการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากภาคเอกชนที่คุ้นเคยกลับต้องมาพบเจอกับระบบราชการซึ่งมากด้วยขั้นตอนและข้อจำกัด แต่ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเหนื่อยคือการได้ร่วมพัฒนาเมืองหลวงของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นมหานครซึ่งรุ่มรวยไปด้วยคุณภาพของประชากร แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็มีความเป็นไปได้หากตั้งใจจริง
“ถามว่าชอบงานการเมืองไหม…ก็ชอบมาตั้งนานแล้ว เพราะคุณพ่อ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ คุณแม่ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ ก็เล่นการเมือง พี่ชาย พิมล ศรีวิกรม์ (พี่ชายคนโต) ก็เล่นการเมือง ชีวิตในบ้านก็คุ้นกับการคุยเรื่องการเมือง ติดตามข่าวการเมือง แล้วยิ่งสามี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มาเล่นการเมืองอีก แต่เดิมเราก็ตั้งใจว่าจะคอยสนับสนุน ช่วยเขารับแขก ช่วยประสานงาน และดูแลลูก ทำธุรกิจของตัวเอง แต่บางครั้งชีวิตมันก็ลิขิตไม่ได้” “เราตัดสินใจแล้วที่มาทำตรงนี้ เราอยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์ มีผลงาน สามารถบอกได้ว่าเรามาพัฒนารายได้เป็นเรื่องเป็นราว พัฒนาด้านการศึกษา สังคม ด้านมูลนิธิเราก็ชอบอยู่แล้ว ถ้าจะให้ไปทำด้านโยธา ด้านการเงิน ก็คงไม่ไหว ไม่เอาเพราะว่ามันไม่ตรง อาจตรงในบางเรื่องแต่บางอย่างเราก็ต้องมาเรียนรู้ โชคดีว่าสำนักที่รับผิดชอบอยู่ข้าราชการน่ารัก เขาลองปรับตัวให้เข้ากับการทำงานของเรา เราเองก็ปรับการทำงานให้เข้ากับเขาด้วย ค่อยๆ จูนกัน ทุกวันนี้ก็ยังจูนกันอยู่ ถามว่าสนุกมั้ย สนุกมาก เป็นงานที่ท้าทาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเยอะ ยิ่งแบบที่มีงานทั้งสองคนพร้อมกัน มีอยู่อาทิตย์หนึ่งเจอกันในจอทีวี แต่ว่าในเมื่อตัดสินใจแล้ว ก่อนตัดสินใจก็คุยกัน คุยกับคุณตั้น (สามี) คุยกับคุณพ่อ คุณแม่ คุยกับลูก ว่าแม่มาทำตรงนี้นะ”
“ภารกิจที่ดูแลแบ่งเป็น 3 ส่วน ที่เกี่ยวข้องกันทั้งนั้น คือ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวในส่วนวัฒนธรรมก็ดูแลในส่วนกิจกรรมเพื่อให้คนไทยร่วมถึงชาวต่างชาติให้เห็นวัฒนธรรมเป็นการประชาสัมพันธ์การทำกิจกรรมต่างๆ ให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวแล้วเห็นความเป็นเอกลักษณ์ไทยในด้านศิลปะ สถานที่ ประเพณี กิจกรรมต่างๆ ในอีกส่วนคือต้องดูแลกองการต่างประเทศ เรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับทูตานุทูตมากกว่า 50 ประเทศที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน “นอกจากนี้ก็ยังมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเมืองพี่เมืองน้องกับต่างชาติ 10 กว่าเมืองที่เราได้ไปทำสัญญาร่วมกับเค้า “และอีกด้านหนึ่งคือดูแลส่วนของการศึกษาด้วย งานทั้งหลายจึงเกี่ยวเนื่องกันหมด การศึกษาก็พยายามสอดแทรกเรื่องศิลปวัฒนธรรมให้เด็กไทยได้ซึมซับ เด็กกทม.จะได้เห็นแหล่งวัฒนธรรมต่างๆ เรามีหลักสูตรชื่อว่า “กรุงเทพฯ ศึกษา” เป็นหลักสูตรที่ให้เด็กได้ออกไปศึกษานอกห้องเรียนได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ได้ออกไปดูแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ”
เมื่อจัดกลุ่มของงานที่ทำก็พอจะแบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งหญิงเก่งผู้นี้ให้ความสำคัญกับทุกๆ อย่างเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครระดับโลกที่มีคุณภาพ เริ่มต้นด้วย ศิลปวัฒนธรรม “ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ตอนนี้เราเน้นประชาสัมพันธ์ว่าศิลปวัฒนธรรมของไทยเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัดวาอาราม มีแพคเกจท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวให้ไปเที่ยว 9 วัด ใน 1 day trip ว่าเราจะจัดให้ไปที่ไหนบ้างได้ไปเห็นวิถีชีวิตของความเป็นไทยไปตามแม่น้ำลำคลอง พัฒนาท่องเที่ยวทางน้ำ คูคลองต่างๆ ตลาดน้ำที่เรามีไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดน้ำวัดสะพาน ฯ ตอนนี้มีโครงการพัฒนาตลาดน้ำอีก 2 แห่งคือ ตลาดน้ำมีนบุรี กับตลาดน้ำธนบุรี “สำหรับการพัฒนาตลาดน้ำต้องได้รับความร่วมมือ ยินยอม และความมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย ชุมชนมีส่วนสำคัญ เขามีวิถีชีวิตของเขาที่เราจะไปโปรโมทหรือไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแล้วเขาต้องไม่กระทบหรือไปทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปมากนักเพราะเรากับเขาบอกว่าเราจะนำรายได้ไปให้เขตพื้นที่-ท้องที่ของเขา และเราก็ไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลเหล่านั้น
“งานด้านศิลปวัฒนธรรมที่รู้จักและเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการคือ หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2551 หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดหอศิลป์ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว เราสามารถโปรโมทหอศิลป์ฯ ทำปฏิทินประจำปี สถานที่ตั้งของหอศิลป์ฯ อยู่ในทำเลที่ดีมาก 25,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรมได้เยอะ มีห้องมินิเธียเตอร์ หอประชุม และก็จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้มีสถานทูตติดต่อเข้ามาเยอะมาก แต่ที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดบางประการจึงทำให้รับงานได้ไม่เต็มที่ พื้นที่เชิงพาณิชย์ไม่ได้มีการตกแต่งร้าน ซึ่งควรจะต้องมีร้านค้าที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เราได้เชิญร้านที่เกี่ยวกับโครงการหลวงทั้งหมด โครงการดอยตุง ศูนย์ศิลปาชีพ ร้านแม่ฟ้าหลวง ฯ เข้ามาจัดงานชั่วคราว หรือที่จัดแสดงพร้อมกับพิธีเปิดหอศิลป์ฯ คือ หลังจากเสร็จสิ้นการแสดงโขนพรหมมาศที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้วก็นำนิทรรศการทั้งหมดมาลงที่หอศิลป์ฯ เปิดให้เข้าชมตลอดสองเดือน ที่สำคัญคือนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘บารมีแห่งแผ่นดิน’
“การที่เราจัดนิทรรศการในหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครพยายามโปรโมทให้ประเทศต่าง และทูตจากหลายๆ ประเทศอยากเข้ามาจัดงานในหอศิลป์ฯ เพื่อแลกเปลี่ยนให้คนไทยได้ชมงาน และศิลปะของเขาด้วย ล่าสุดก็มีนิทรรศการฝรั่งเศส และจะมีมาเรื่อยๆ และทราบมาว่านิทรรศการของสาธารณรัฐเชคจัดที่วังสวนผักกาด อย่างนี้ทำให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเขา” งานที่ต่อยอดได้จากศิลปวัฒนธรรมคือเรื่องของการท่องเที่ยวเมื่อมีหน่วยงานอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย กรุงเทพมหานครจึงทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อประโยชน์สูงสุด
“ตอนนี้เราโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม (Bangkok Smile) ซึ่งเราโปรโมทอยู่ 5 ด้าน 1) Culture and Festival เป็นเรื่องของวัฒนธรรม 2) River การท่องเที่ยวสายน้ำ โดยทางผู้ว่าฯ อยากจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสายน้ำใหม่ๆ พยายามให้เอกชนพัฒนาเป็นโฮมสเตย์มีบ้านให้พักอยู่แบบเล็กๆ ทำเพื่อการค้าด้วย 3) Branding and Shopping 4) Health Medical Tourism เรื่องของสปา และ 5) Value ความคุ้มค่า เราโปรโมทแบบนี้ แล้วทำกิจกรรมประจำปีให้สอดคล้องกันในแต่ละด้าน ทำปฏิทินท่องเที่ยว ปฏิทินเทศกาลประจำเดือน ว่าแต่ละเดือนมีงานอีเวนท์ใหญ่ๆ อะไรบ้าง อย่างเดือนกรกฎาคมเป็นเทศกาลขนมไทย ผลไม้ไทย จัดหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์มีการประดิษฐ์ขนมไทย การแกะสลัก สิงหาคมเป็นเดือนของวันแม่ พฤศจิกายนเทศกาลลอยกระทงเป็นงานใหญ่เราจัดร่วมกับททท.
“ตอนนี้เราทำงานร่วมกับททท.เยอะมาก ได้คุยกับท่านประธานฯ วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ และรองผู้ว่ากทม.ทุกคน ว่าตอนนี้เราต้องร่วมมือกัน จับมือกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จะทำอะไรก็ต้องคุยกันก่อน ซึ่งมี working group คุยกันทุกเดือน เมื่อก่อนก็ไม่ได้ร่วมกันทำเท่าใด ตอนนี้ร่วมมือกันทำมากขึ้น งบประมาณก็ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การออกข่าวก็จะได้เป็นเรื่องเดียวกัน” ประเด็นสืบเนื่องก็คือ ‘ซอฟต์แวร์’ ที่จะเป็นฟันเฟืองในการพัฒนากรุงเทพฯ ก็คือ การศึกษา “การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ก็เป็นหัวใจหลัก เรื่องเรียนฟรี(อดีต)ผู้ว่าฯ อภิรักษ์เขาทำมาก่อนแล้ว 2 ปี ฉะนั้นเด็กกทม.ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของการเรียนฟรี เพราะว่าไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ แล้วกฎระเบียบของเราห้ามผู้อำนวยการเก็บเงิน ห้ามทอดผ้าป่าช่วงรับนักเรียน ตรงนั้นเป็นเรื่องของเม็ดเงินที่ได้จ่ายไปให้กับนักเรียนกทม. ปีหนึ่งก็มาก 3-4 พันล้าน ตอนนี้จึงเป็นเรื่องของคุณภาพเพราะเรียนฟรีรัฐบาลก็ให้แล้ว ทีนี้จะอย่างไรเพื่อยกระดับคุณภาพของคนเรียน มันก็วัดยาก ตัวที่วัดเป็นรูปธรรมได้ คือ คะแนนสอบ O-NET เราก็ดีกว่าระดับประเทศ แต่ว่าเราก็ยังไม่พอใจ ยังต้องพัฒนาให้คะแนนสอบ O-NET ดีกว่านี้
“ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี เราพยายามให้เด็กกทม.ได้มีโอกาสเรียนคอมพิวเตอร์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งตอนนี้เด็กนักเรียนเรียนแบบ 2 ต่อ 1 เครื่อง ถ้าเราให้ตรงนี้ไปอีกคาดว่าเทอมสองนักเรียนก็จะเป็นแบบ 1 ต่อ 1 เครื่อง หรือในประเด็นทางด้านสังคมล่าสุดคุยกับหลายบริษัทเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟท์แวร์พวกเด็กติดเกมส์ชอบเล่นเกมส์ก็ให้ไปทำแอนิเมชั่น ในส่วนของการพัฒนาครูและอบรมครูเป็นรากฐานที่สำคัญที่เราให้ความสำคัญ
“ตอนนี้ให้สำรวจปัญหาของครูกทม.คือ ครูไม่ตรงวุฒิ ขาดแคลนครูในบางวิชา เพราะการมีครูที่สอบได้บรรจุเป็นครูกทม. ถึงเวลาย้ายกลับบ้านต่างจังหวัดก็จะมีครูที่ไม่ตรงกับวุฒิ สอนไม่ถึงคาบที่กำหนด ก็เอาเขาไปสอนวิชาที่ไม่ตรงเพื่อให้คาบเต็ม เราก็จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเอาโครงการทางไกลผ่านดาวเทียมเข้าช่วย โครงการผ่านดาวเทียมจะมีครูเฉพาะวิชานั้นที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วอย่างดี เป็นครูที่สอนดีในวิชานั้น หรือว่าสอนภาษาอังกฤษกับฝรั่ง เรียนอังกฤษกับฝรั่ง ก็จะเอามาลงทุนให้กับนักเรียนในกทม.ด้วย เขาเรียกว่า ครูตู้ เป็นครูที่มีคุณภาพ ก่อนมาให้สัมภาษณ์ก็เพิ่งไปประชุมกับโรงเรียนสาธิตปทุมวันฯ เรื่องขยายเครือข่าย คือ สาธิตฯ ไม่ต้องห่วงเรื่องของคุณภาพ เราจะทำกับโรงเรียนสาธิตเกษตรฯ สาธิตปทุมวันฯ สาธิตประสานมิตรฯ แต่ละพื้นที่เขาก็จะช่วยพัฒนาครูในพื้นที่นั้นๆ เข้าร่วมอบรมครู แลกเปลี่ยนนักเรียนให้ร่วมมือกันบ้าง และมีโครงการครูเมืองไทยสู่ความเป็นเลิศ เรื่องของเด็กออทิสติก จะทำเครือข่ายกับสาธิตเกษตรฯ”
นอกจากเยาวชนแล้วประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นกำลังหลักในปัจจุบันและกำลังจะต้องพึ่งพากรุงเทพมหานครมากขึ้นในอนาคตหลังจากที่พวกเขาสร้างประโยชน์ฝากเอาไว้ในวัยทำงาน ทั้งนี้ไม่อาจมองข้ามผู้ด้อยโอกาสที่ก็คือสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน
“ด้วยความที่เป็นงานหลายอย่างๆ เป็นเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ในสิ่งที่รับผิดชอบ มันก็เลยสนุก เพราะเป็นเรื่องของการที่จะพัฒนาคน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาศิลปวัฒนธรรม มันก็สอดคล้องกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนาธรรม เรื่องท่องเที่ยว เรื่องกีฬา เรื่องต่างประเทศ แล้วก็เรื่องพัฒนาสังคม มันก็เป็นซอฟต์แวร์ทั้งหมด และเชื่อมต่อกันได้หลายๆ อย่าง อย่างการที่เราพัฒนาชุมชน เราก็พัฒนาการศึกษา เด็กในชุมชนก็คือ นักเรียนในกทม.นั่นแหละ เราจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตในชุมชนที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ให้เขามีการศึกษาที่ดีขึ้น แล้วมาประกอบกับเรื่องของศิลปวัฒนธรรมเราให้โอกาสเขาออกมาเห็นโลกภายนอกมากขึ้น” “เรื่องของการพัฒนาสังคม คือ 2,000 ชุมชนที่เราดูแลอยู่ ที่จดทะเบียน ส่วนที่ไม่จดทะเบียนก็มีอีกเยอะ โครงการที่กำลังทำ คือ การพัฒนาเขต เราก็ต้องไปสัมมนากับเขา ทำให้เขาเข้าถึงชุมชน เราก็ทำแผนชุมชน ซึ่งสนองตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชุมชนพยายามเขียนโครงการแก้ปัญหาต่างๆ เราจะอนุมัติเงินให้ และตอนนี้เพิ่งยกร่างแผนยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ มีแผนเยอะมาก อาทิสถานีรถไฟฟ้าภายในปี 2554 ทุกสถานี (26 แห่ง) จะมีลิฟท์คนพิการ มีการยกระดับคนพิการจัดคอนเสิร์ตคนตาบอดให้ไปเล่นตามสวนสาธารณะ”
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาด้านอื่นอาทิ ดนตรี กีฬา เพิ่มพูนความรู้ และคุณภาพชีวิตยังมีความจำเป็นต้องส่งเสริม “เรื่องของดนตรี เราพัฒนาครูสอนดนตรี ให้เครื่องไม้เครื่องมือเขาเต็มที่ เรากำลังทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีหลายด้าน เรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เรื่องของการศึกษาซึ่งพูดไปแล้ว เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ เรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อีกไม่นานก็จะเห็นตลาดน้ำมีนบุรี ตลาดน้ำธนบุรี ด้านคลองเหม็นต้องเป็นรองประกอบเราก็คุยกันอยู่ว่าเค้าก็ต้องพัฒนา ทางผู้ว่าก็ให้ความสำคัญมากในเรื่องของการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำ แต่มันก็มีอะไรให้ทำอีกเยอะ เมื่อกี้ก็ไปตรวจหาบเร่แผงลอยที่เขตคลองเตย ของเขตวัฒนา ก็เดินคุยกับแม่ค้า เพราะว่ารากำลังจะทำบูธให้กับแผงลอยร่มกับบริษัทวีซ่า ต่อไปถนนสุขุมวิทก็จะสวยงาม เป็นบูธทันสมัย วีซ่าเค้าลงทุนให้ ก็มีโลโก้ของเค้า แผงก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น ทุกวันนี้มันก็เน่าๆ อย่างที่เห็น มีผ้าใบ-ร่มขาดๆ เราก็ไปคุยกับเขา 500 แผง เปลี่ยนใหม่หมดภายใน 2 เดือนแต่วันที่ 7 กรกฎาคมเป็นต้นมา จะลง 100 บูธก่อน นี่ก็เห็นเป็นรูปธรรมแน่นอนภายใน 2-3 เดือน ผู้ว่าเห็นแบบก็แฮปปี้มาก
“เมื่อเดือนก่อนกทม.ได้เปิดลานกีฬาหน้าฮาร์ดร็อค คาเฟ่ต์ เราร่วมทำกับจุฬาฯ เมื่อได้พื้นที่มาเราก็จัด เอ็กซ์ตรีม วอร์ม เพื่อให้เด็กมาพัฒนา มาเล่น มีปีนเขา มีโรลเลอร์เบรด ก็ได้ไปเล่นโชว์มา ด้วยความที่บ้าจี้เจอนักข่าวยุ และไม่ได้คิดว่าตัวเองแก่ก็ขึ้น ramp ไปกับเขาด้วย คุณชาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็เลี้ยงบาส เราก็เล่นโรลเลอร์เบรด และจัดกราฟฟิตี้แข่งกัน “ตอนนี้เราก็จับมือกับ มศว.ประสานมิตร พัฒนาลานกีฬา 1200 กว่าแห่ง เราก็จะพัฒนา อาจจะจับมือร่วมกับเอกชน แล้วก็ดร.ณัฐ อินทรปาน ก็เข้ามาช่วยด้วย เขารู้จักสถาบันเยอะมาก เกือบทุกมหาวิทยาลัยที่มีคณะพลศึกษา จึงนำมาช่วยสอนอาสาสมัครลานกีฬา แล้วเสาร์-อาทิตย์ พวกนิสิตเขาต้องมาฝึกสอนอยู่แล้ว จึงมาลงลานกีฬา แล้วก็จะนำมวยไทยมาสอนตามโรงเรียน
“สำหรับห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกทม.จะทันสมัยมาก บ้านหนังสือเราก็จะเอาไปไว้ในชุมชนให้ครบ ตอนนี้จริงๆ ก็ครบแล้ว มีอยู่ 117 แห่ง แล้วก็จะเพิ่มอีกภายใน 4 ปี ผู้ว่า เพิ่มอีก 100 แห่ง ก็มีโปรเจคต์เยอะมาก มีช่วงหนึ่งนอนไม่หลับเลยนะ คิดตลอดเวลา จะมีเทปอัดอยู่อันหนึ่งคอยอัดแล้วก็พูดไป จดไม่ทัน ตื่นเช้าก็ให้เลขามาถอดเทปออกมายาวมากว่าเราต้องทำนู่นทำนี่ มาทำตรงนี้ได้ประสบการณ์จริง แล้วก็เจอคนที่จะเป็นคอนเนคชั่นสำหรับเราในอนาคต ประสานงานร่วมกับเขา แล้วก็เจอกันคนระดับที่แบบเราอยากจะช่วยเหลือเขา เวลาไปลงชุมชนเราก็เอาลูกไปด้วยให้เขาได้เห็นเป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง เมื่อก่อนวันเสาร์-อาทิตย์เราก็ไปรับส่งลูกเรียนพิเศษ ไปเดินห้าง แต่ตอนนี้เราก็ไปตรวจพื้นที่ ไปนั่งเรือ ดูแหล่งท่องเที่ยว ตลาดน้ำ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี พอดีสามีก็อยู่ในการเมืองเป็นส.ส. เราก็ได้รู้จักส.ส.ด้วย ก็ยุ่งตลอดเวลา ชีวิตก็เปลี่ยนภายในพริบตา”
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิมพอสมควร แต่เธอมีหลักในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแปลกใหม่ชีวิต “หลักในการทำงานก็คือ อย่างที่หนึ่ง ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร ต้องรู้จักการทำงานร่วมกับข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุกว่าเรา และเป็นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมากนัก ส่วนใหญ่ดิฉันเป็นคนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ได้เป็นคนที่สั่งให้ลูกน้องทำอะไรอย่างเดียว เราจะประชุมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และถ้าเราอยากจะทำโปรเจคต์อะไรก็เอาความคิดมารวมกันว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดีอย่างไร
คนอื่นอาจมองในแง่ลบถึงการก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็วจนอาจถูกเพิกเฉยหรือท้าทายอยู่บ้าง แต่เธอได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่าการเป็น ‘หญิงเหล็ก’ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินเอื้อม และเราก็หวังว่าพลังของการทำงานที่มีอยู่ล้นเหลือของเธอจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญอันก่อประโยชน์อนันต์ให้แก่กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร
Text : กองบรรณาธิการ Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ