นายมยูร วิเศษกุล

นายมยูร วิเศษกุล (๑๑ ธันวาคม ๒๔๗๔ – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐) เป็นนักเรียนอังกฤษ รุ่นไล่ๆ กับข้าพเจ้า หากเขาเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แต่ก็ชอบพอกันสมัยเมื่ออยู่ประเทศนั้น ครั้นกลับมาเมืองไทยคุณมยูรรับราชการอยู่ที่กรมโยธาเทศบาล (ซึ่งบัดนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานของพระปกเกล้าฯ) เขาเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองมาก ไม่ประจบนาย หากซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และหวังดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก

คุณมยูรมีเพื่อนสนิทที่มีความคิดคล้ายๆ กันไม่กี่คน ซึ่งมักกินอาหารกลางวันร่วมกันสัปดาห์ละครั้ง ณ ร้านอาหารใกล้ๆ กรมดังกล่าว ขาประจำมีคุณทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์ (ซึ่งตายจากไปเสียแล้ว) และคุณอุรา สุนทรสารทูล จากรมเดียวกัน นอกกรมออกไปก็มีคุณนิจ หิญชีรนันท์ จากสำนักผังเมือง ซึ่งต่อมามีคุณสุเมธ ชุมสาย ตามมาสมทบจากสำนักนั้นอีกคน ส่วนทางคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีคุณแสงอรุณ รัตกสิกร เป็นตัวยืน โดยมีคุณศิริชัย นฤมิตรเรขการ เป็นกัณฑ์แถม เพราะตอนนั้นคุณศิริชัยลาออกจากราชการไปทำงานกับฝรั่งเสียแล้ว จึงปลีกตัวมาร่วมได้ไม่บ่อยครั้งนัก ครั้นคุณวทัญญู ณ ถลาง ย้ายจากเทคนิคโคราช มาอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ก็มาร่วมด้วยบ้างเป็นครั้งคราว ข้าพเจ้าเองนั้นมักไปร่วมด้วยเนืองๆ ทั้งที่น้ำจากคลองข้างๆ จะเหม็น และร้านอาหารก็ร้อน โดยที่อาหารก็ไม่สู้อร่อย แต่วงสนทนาโอชะนัก ต่อภายหลังเราจึงกินกันที่โรงแรมข้างๆ นั้น ซึ่งเปิดใหม่ (Golden Horse Hotel)

นอกจากเราจะบ่นว่าระบบราชการที่ไม่เอาไหนและด่าข้าราชการในทุกหน่วยงานที่พวกเราเห็นว่ากินโกงกันแล้ว พวกนี้ยังมักปราศจากรสนิยมกันเสียอีกด้วย แต่ในทางสร้างสรรค์นั้น พวกเราบางคนเป็นแกนกลางในสมาคมสถาปนิกสยาม จนสามารถไปตั้งคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมขึ้นได้ในสมาคมนั้น โดยโยงเอาข้าพเจ้าไปเป็นกรรมการกับเขาด้วย

พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็ชักชวนพวกเราให้ไปยึดสยามสมาคม โดยวิถีทางของประชาธิปไตย เพื่อให้สมาคมนั้นเลิกเป็นทาสฝรั่ง โดยหันมาหาความเป็นเลิศในทางไทยๆ และเปิดกว้างให้เยาวชนคนไทยได้เข้าไปสู่แวดวงของสมาคมนั้น ซึ่งเคยมีแต่ฝรั่งกับชนชั้นสูงเท่านั้น โดยที่สมาคมนี้ก็ตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขึ้นด้วย

โดยที่ต่อมาพวกเราจึงก่อตั้งสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมขึ้นเอาเลยด้วยซ้ำคุณมยูรมีบทบาทกับกิจกรรมเหล่านี้ตลอดมา และมีผลงานปรากฏมิใช่น้อย เช่น การอนุรักษ์เกาะเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นหัวแหวนของบางกอก เมื่อตอนทำถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ พวกเราก็สามารถให้ออกกฎหมาย ห้ามปลูกอาคารต่างๆ สองข้างถนนนั้นได้ คือให้มีแต่ต้นไม้สีเขียวปกคลุมทั่วไป แต่แล้วภายหลัง นักกินเมืองก็ออกกฎหมายลบล้างมติที่วิเศษนั้นเสียได้ เคราะห์ดีที่มติดังกล่าวยังคงอยู่ทางพุทธมณฑล เพราะเดชะพระพุทธคุณคุ้มครอง ใช่แต่เท่านั้น พวกเรายังเป็นกลุ่มแรกที่พยายามอุดหนุนจุนเจือให้ปลูกต้นไม้ขึ้นตามถนนต่างๆ ในเมืองกรุง ดังได้เชิญเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ฯ เมื่อยังทรงเป็นนักเรียน ให้ไปทรงปลูกเป็นประเดิม ดังที่ความร่มรื่นของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันมีอนุสนธิมาจากพระกรณียกิจนั้นก็ได้ เพราะก่อนนั้นกรุงเทพฯ ได้แต่ตัดไม้ กับถมคลอง จนมีป่าคอนกรีตเต็มไปหมด ลานวัดก็กลายเป็นลานจอดรถ

ข้าพเจ้าขัดกับคุณมยูรและคณะข้าราชการในกลุ่มของเรา ก็ตอนที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารตัวเองของ ถนอม กิติขจร ในปลายปี ๒๕๑๔ ข้าพเจ้ายืนยันว่าสมาคมอนุรักษ์ของเรา ต้องทำตัวให้ห่างรัฐบาลไว้ โดยเฉพาะก็รัฐบาลเผด็จการ เราควรวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยความหวังดี แม้จนเขียนจดหมายเป็นทางการในนามของสมาคมไปทักท้วงก็ได้ หากไม่เข้าไปร่วมมือโดยตรง เพราะเราจะเสียความเป็นตัวของตัวเอง แล้วจะกลายไปเป็นสุนัขรับใช้เผด็จการโดยไม่รู้ตัว

ที่ประชุมรับข้อเสนอของข้าพเจ้า แต่พอข้าพเจ้าเดินทางไปต่างประเทศ กรรมการหลักในสมาคมอนุรักษ์ฯ ก็เข้าไปหาจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งให้เกียรติคนเหล่านั้นเป็นพิเศษ แม้จนฟังความเห็นของคุณมยูร อย่างข้ามหน้าปลัดกระทรวงไปเอาเลยด้วยซ้ำ คุณมยูรมีความหวังมากว่าจะผลักดันให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น ให้รถติดน้อยลง จะปรับปรุงรถโดยสารมวลชน แม้โรงเรียนต่างๆ ก็จะให้มีนักเรียนจากละแวกโรงเรียนที่ไม่ไกลเกินไปและให้ใช้รถยนต์ร่วมกันรับนักเรียน (car pool) แต่ยังไม่ได้คิดหารถโรงเรียนโดยเฉพาะ (นี่เป็นความคิดและสัมฤทธิ์ผลในสมัยคุณบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรี)

แม้ข้าพเจ้าจะขัดกับคุณมยูรและคณะกรรมการเหล่านั้น แต่เราก็ยังเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน ยังพบปะกัน กินอาหารด้วยกัน ดังคณะนี้ก็ได้มาช่วยข้าพเจ้าบูรณะหอไตรวัดระฆังอันเป็นพระนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น

สำหรับคุณมยูรนั้น ต่อมาลาออกจากราชการไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนเกิด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก่อนหน้านั้นคุณมยูรไปประชุมสหภาพรัฐสภาที่สเปน โดยมีอาจารย์จิตติ ติงศภัทร (จากวุฒิสภา) เป็นหัวหน้าคณะ ดังต่อมาคุณมยูรก็ได้มาเป็นลูกเขยของท่านอาจารย์ผู้นี้ หลังจากหย่ากับภรรยาคนแรกไปแล้ว หากในช่วงตุลาคม ๒๕๑๙ นั้น คุณมยูรติดอยู่ที่อังกฤษร่วมกับข้าพเจ้าและนักการเมืองคนอื่นๆ มีหมอกระแส ชนะวงศ์ เป็นต้น

คนส่วนมากคงไม่รู้ว่าคุณมยูรเป็นบุตรพระยาสุรินทร์ราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นแรกๆ และเป็นนักแปลคนแรกที่มีชื่อเสียงมากในนามปากกาว่าแม่วันกับเรื่อง ความพยาบาท เข้าใจว่าท่านเจ้าคุณจะรักคุณมยูรมาก ดังจะสังเกตได้ว่าท่านเอาชื่อของท่านมาตั้งให้ลูกชายคนนี้ พร้อมกันนี้ คุณมยูรก็ไม่รู้สึกเป็นเกียรติอะไรกับพี่สาวที่โด่งดังถึงขนาดเป็นหม่อมห้ามของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘

เมื่อคุณมยูรทดลองทำสายไฟเส้นเดียวได้ มาขอให้ข้าพเจ้าพาไปเฝ้ากรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เพื่อเชิญเสด็จไปเปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าว แม้ขณะนั้นพระชนม์มากแล้ว และต้องไปต่างจังหวัดด้วย ก็รับสั่งว่าทรงยินดีรับเชิญ ด้วยทรงอยากอุดหนุนการทดลองใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ และทรงท้าวความหลังว่าเคยทรงเป็นศิษย์เจ้าคุณบิดาของคุณมยูรด้วย ทั้งยังทรงถูกครูนกยูงหยิกเอาหลายทีด้วยซ้ำไป

ข้าพเจ้าสนิทกับคุณมยูรมิใช่น้อย เรามักไปเดินเล่นด้วยกันตามคลองประปาเวลาเย็น คุยกันเรื่องปรัชญา ดังคุณมยูรก็ชอบแปลหนังสือในแนวนี้ด้วย ต่อเมื่อเขาไปเป็นนักการเมืองแล้ว จึงห่างกันไป และการเจ็บป่วยของคุณมยูร ก็ต้องนอนอย่างไม่รู้ตัวอยู่หลายปี อย่างน่าเสียดาย แต่ในช่วงปลายแห่งชีวิตก็มาได้เมียดีและมีลูกที่ดีทันตาเห็น

งานปลงศพคุณมยูรที่วัดลาดปลาเค้า เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ นั้น จัดกันอย่างเรียบง่าย ผู้ที่ไปงานมีแต่ญาติสนิทและกัลยาณมิตรจำนวนน้อย ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับคุณมยูร ซึ่งไม่ชอบอะไรๆ ที่เอิกเกริกหรือเกริกไกร

ส. ศิวรักษ์

Related contents:

You may also like...