นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญอย่างต่อเนื่องของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ คนเก่งอย่างเช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ซึ่งปัจจุบันหลังจากหมดวาระได้ขยับเก้าอี้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนคนล่าสุด
ขณะที่แวดวงธุรกิจก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของคนไทยในเวทีระดับนานาชาติเช่นกัน เมื่อนักธุรกิจชาวไทยผู้เปี่ยมความสามารถและประสบการณ์อย่าง ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสภาเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกให้ดำรงตำแหน่งประธานฯ คนที่ 23 ขององค์กรซึ่งก่อตั้งมายาวนานถึง 4 ทศวรรษ ประกาศชัดถึงความสามารถของคนไทยที่ได้รับความยอมรับจากนานาชาติ
ไฮคลาส : คงต้องให้คุณช่วยแนะนำให้เราได้รู้จักกับสภาเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก องค์กรที่คนไทยและนักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้จักมักคุ้น รวมถึงตำแหน่งที่คุณได้รับเกียรติเป็นเช่นไร
เราจะพูดว่านี่คือประธาน PBEC คนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ 41 ปีมานี้ประธาน (Chairman) ใหญ่ ไม่เคยมีคนไทย ผมได้รับเกียรติเป็นคนแรก PBEC เป็นองค์กรซึ่งย่อมาจาก Pacific Basin Economic Coucil คือ สภาเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกบริษัทชั้นนำของภูมิภาคนี้เพื่อล้อกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ขณะนี้เอเชียแปซิฟิกเป็นภาคพื้นที่เติบโตเร็วที่สุด ประเทศที่ต้องจับตาถึงแม้จะถูกนำโดยจีนและอินเดียก็ดี แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกหลายรายก็อยู่ในนี้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ขณะเดียวกัน PBEC ครอบคลุมไปถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ซึ่งก็อยู่ในขอบเขตของ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) นั่นเอง แต่ว่าไม่มีรัฐบาลหรือภาครัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว
สมาชิกเป็นหน่วยงานของภาคธุรกิจทั้งนั้น ซึ่งก็มีบริษัทชั้นนำต่างประเทศต่างๆ ที่เด่นก็มีอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง อาเซียนทั้งหมด ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ก็คือ APEC นั่นเอง ที่จริงแล้วเราไม่ได้จำกัดเรื่องสมาชิก แต่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องมีผู้แทนจากสมาชิกเข้ามาเป็นกรรมการจากภูมิภาคต่างๆ เช่น มาจากอเมริกาเหนือ จากเอเชียใต้ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องมีกรรมการเป็นสัดส่วนสมดุลกัน
จะเห็นได้ชัดว่า PBEC ตั้งขึ้นมาเพื่อไม่แสวงหากำไร เป็น Non-Profit Trade Organization ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มศักยภาพ เพิ่มความสามารถในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทางการค้าทางธุรกิจต่างๆ ให้ดีขึ้น ฉะนั้นสำหรับ PBEC ได้รับคำชมเชยมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าองค์กรนี้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจของภูมิภาคหรือทวีปนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ดี หรือ โยชิโร โมริ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นก็ดี รวมถึงเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนก็ดี แต่ละท่านซึ่งเข้ามาร่วมงานที่ PBEC จัดในทุกๆ ปีก็กล่าวคำชมและให้กำลังใจให้ PBEC ดำเนินงานต่อไป เพราะว่านักธุรกิจเหล่านี้บางครั้งเขาไม่รู้จักกัน พอเขามาเจอการจัดสัมมนาหรือการจัด Business Networking เขาได้พบกัน ทำให้ธุรกิจกับธุรกิจมันต่อยอดกันได้
ไฮคลาส : ยกตัวอย่างเช่น
อย่างเดือนเมษายนนี้เราจัดที่ดูไบ คือ The Middle-East Asia Leadership Forum ประเทศอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE เป็นศูนย์ Financial Center ซึ่งเขาก้าวไปไกลแล้ว เพราะรู้ว่าอีก 10 ปีน้ำมันจะหมด เขาเหลือแต่ทราย ถ้าเราไปดูไบตอนนี้ก็จะรู้แล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องของน้ำมันอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นศูนย์กลาง Dubai International Financial Center : DIFC ใหญ่มาก มี Private Bank เท่าๆ สวิตเซอร์แลนด์เลย มีเรื่องของการก่อสร้าง การขยายโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่นการสร้างโปรเจคต์ The Palm World (ประกอบด้วย 3 โครงการคือ The Palm Jumeirah, The Palm Deira และ The Palm Jebel Ali) ขึ้นมา ซึ่งอย่างที่ว่ามานี้เขารู้ว่าอยู่เองไม่ได้ เขาต้องขยายไป โอกาสที่เราจะได้เจอคนเหล่านี้ หรือราชวงศ์ของดูไบ คือ อัล มัคตูม (Al Maktaum : ?? ?????) ไม่มีทางหรอก แต่ PBEC จัดคุณไปร่วมงาน PBEC คุณได้เจอเขา ดังนั้นนักธุรกิจตะวันออกกลางต่างๆ ซึ่งมีเงินทุนหนาแน่นเขากำลังหาโอกาสที่จะมาลงทุนที่นี่ ก็สามารถจะมาได้โดยที่การสัมมนานี้จะทำให้สมาชิก PBEC ได้พบกับคนเหล่านั้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะตะวันออกกลางเราไม่ค่อยได้จัด พอจัดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วมันก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมาก
เราจัดประชุมที่จีน จีนมีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก เราก็จะมีการจัดประชุม CEO Conference ทุกๆ ปลายปีร่วมกับ HSBC กับผู้จัดทางโน้น โดยเราจะจัดที่ปักกิ่ง ซึ่งจัดไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็จะจัดอีก และที่เหลือก็จะมีการจัดสัมมนาในแต่ละปีซึ่งเราก็ย้ายที่ไปเรื่อยๆ มีหลายที่ เช่น ปีนัง ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นถิ่นของท่านนายกรัฐมนตรีบาดาวี เราก็จะผูกกับภาครัฐในลักษณะนี้มากกว่า เพราะว่าบางครั้งการทำธุรกิจข้ามประเทศ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศนั้นที่มีความสำคัญจะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ การหา Local Partner ที่ดีเป็นสิ่งที่เราอยากทำ
บ่อยครั้งที่สมาชิกบางคนไม่รู้จะเข้าประเทศนี้ได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะหาโอกาสลงทุนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะช่วงนี้มีเรื่อง Subprime เรื่องของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฯลฯ บางครั้งก็ต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจ บางครั้งไม่สามารถที่จะอยู่เองได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปก็ได้โอกาสไปดู ขณะเดียวกันพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็คือเรื่องหนึ่งที่เราทำ PBEC มีการ turn crisis into opportunity และเราก็ทำร่วมกับ APEC ปีนี้การประชุมจะจัดขึ้นที่กรุงลิม่า ประเทศเปรู เราก็จะเวิร์คกับทางกรรมการและสมาชิกอเมริกาใต้ของเราให้มากขึ้น และไปทำกิจกรรมร่วมกับ APEC ที่ลิม่าประมาณเดือนตุลาคม และมีอีกหลายๆ อย่างที่ PBEC เกิดขึ้น
ล่าสุดเราเพิ่งได้ผู้อำนวยการบริหารคนใหม่เป็นคนที่มาจากธุรกิจการบิน เขาเป็นประธานของ Asian Aviation Forum : AAF เป็นเหมือนกลุ่มธุรกิจการบินแห่งเอเชีย ซึ่งทั้งหมดนี้จัดตั้งโดยกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับสายการบินกับการผลิตเครื่องบินมาร่วมกันเป็นสมาชิกและตั้ง AAF ขึ้นมา มีโบอิ้ง (Boing) แอร์บัส (Airbus) ล็อคฮีด (Lockheed) กัลฟ์สตรีม (Gulfstream) โดยเราจะได้ประธานคนนี้มาเป็นผู้อำนวยการเต็มเวลาให้กับ PBEC ก็จะขับเคลื่อนลักษณะงานไปหนักธุรกิจมากขึ้น นี่ก็คือการพยายามที่จะเชิญชวนให้ทั้งสมาชิก็ดี ระดับกรรมการก็ดีที่มีความสามารถในแต่ละด้านเข้ามาเจอกัน ฉะนั้นความเข้มแข็งของ PBEC กับสมาชิกก็จะเกิดขึ้น เพราะองค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเหมือนเป็นหอการค้า การที่สมาชิกได้รับประโยชน์นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งปีนี้เมื่อผมเป็นประธานก็ต้องขับเคลื่อนในเชิงรุก ไม่อย่างนั้น PBEC ก็จะเป็นองค์กรซึ่งอยู่เฉยๆ เป็นอย่างนั้นไม่ได้
ไฮคลาส : เรียกได้ว่า PBEC เป็นองค์กรที่เป็นเวทีให้สมาชิกได้ร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่
ใช่ กิจกรรมที่เราทำคือการทำให้สมาชิกที่เป็นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมมีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้ ขยายไปได้ หาพาร์ทเนอร์ที่ดี ได้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว ได้พบกับคนซึ่งเขาพบเองไม่ได้
ผมอยู่ใน APEC มานานแล้ว PBEC นี้เราได้เจอกันอยู่เรื่อยแต่ก็ไม่ได้มีโอกาสทำงานกับ PBEC จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อนได้เริ่มมาเป็นสมาชิกจากการชักชวนของเพื่อนที่เป็นกรรมการอยู่ในนี้ ทำไปทำมาเผอิญการเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้เป็นรองประธาน และเนื่องจากประธานคนที่แล้วพ้นตำแหน่งไปผมก็มาเป็นแทน แต่องค์กร PBEC ผมได้ยินได้ฟังและได้ทำงานร่วมกันมานแล้วจากตอนที่ผมเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเอเปค (ABAC : APEC Business Advisory Coucil) ซึ่งประเทศหนึ่งมีแค่ 3 คน เป็นที่ปรึกษาโดยตรงของหัวหน้ารัฐบาลผู้ที่เข้าประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จากจุดนั้นทำให้ผมได้ทำงานกับ PBEC มาตลอดและได้รับทราบการทำงานหลากหลายอย่างของ PBEC
ไฮคลาส : จากการทำงานใน ABAC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ APEC แต่สำหรับ PBEC เป็นองค์กรที่ล้อกันอยู่ในการทำงานอิสระกับ APEC
ถูกต้อง PBEC นี้เป็นองค์กรซึ่งเผอิญดูแลอยู่ในภูมิภาคนี้เหมือนๆ กัน แล้ว PBEC ก็ได้รับการแต่งตั้งจาก APEC ให้ทำนู่นทำนี่อยู่เรื่อย เช่นบางสัมมนา PBEC เป็นผู้นำในการจัดงานโดยมีความร่วมมือกัน และในบางสัมมนาก็มีการทำร่วมกับ APEC บางทีเราก็ทำ Paper Study ให้กับ APEC ก็ขึ้นอยู่กับประธานช่วงนั้นจะเน้นเรื่องอะไร หัวข้อช่วงนั้นจะเล่นเรื่องอะไร มีหลายอย่างใน 40 ปีมานี้ แต่ละปีก็จะมีธีมของมันในการประชุมใหญ่ ซึ่งปีนี้เราก็คงจะเน้นเรื่องของภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของโลกมากกว่า และคงจะไปดูเรื่องการผูกพันของสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กรณีคาร์บอนเทรดดิ้ง เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของพลังงานทดแทน เป็นเรื่องที่เราจะให้ความสำคัญในการประชุมใหญ่
ไฮคลาส : ในฐานะประธานคนใหม่มีอำนาจและหน้าที่อย่างไรบ้าง
ประธานเป็นคนที่ต้องนำองค์กรไปสู่ความเจริญโดยการพัฒนา ทำหน้าที่วิสัยทัศน์ให้กับองค์กรว่าจะเดินไปอย่างไร เราพยายามเน้นผลประโยชน์มากที่สุดของสมาชิก การเพิ่มสมาชิกที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสมาชิกกับสมาชิกจะได้เจอกัน และทำหน้าที่ดูแลเรื่องบทบาทของ PBEC ซึ่งเราจะมีส่วนสำคัญในการผลักดัน อย่างเช่นการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่บาหลีปีที่แล้วเราก็เข้าไปร่วม ปีนี้ก็ร่วมอีก สัมมนาของด้านรัสเซียตะวันออกที่อยู่ใกล้เกาหลี ใกล้จีน โดยเรามี Governor ISHAEV ผู้ว่าการรัฐทางฝั่งตะวันออกของรัสเซียซึ่งเป็นกรรมการของเรา และท่านก็เป็นคนใกล้ชิดของทางรัฐบาลกลางรัสเซียด้วย ฉะนั้นเราก็พยายามพัฒนาฝั่งรัสเซียตะวันออกซึ่งอยู่ด้านเอเชียแปซิฟิก
ผมพยายามเดินทาง ซึ่งธุรกิจของผมพาไปที่ไหนผมก็พยายามทำงานให้ PBEC ด้วย เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งไปจาการ์ต้ามา ก็ได้ไปทำงานร่วมกับกลุ่ม Para Group ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย โดยมีธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ และเขาก็เป็นสมาชิก PBEC แล้ว ซึ่งผมก็เชิญเขามาเป็นกรรมการ PBEC ด้วยนั่นคือการทำให้อินโดนีเซียคึกคักมีกิจกรรมมากขึ้น เราต้องเลือกคนที่เข้าใจและสามารถมาสนับสนุนได้ด้วย นี่คือหน้าที่ของประธานที่จะต้องดัน เพราะถ้าไม่ใช่ผมเขาอาจจะไม่มา เผอิญเรารู้จักกันก็เชิญเขาร่วมงานนี้ด้วย หรือที่มีการเชิญ มร.คริส แพต (Mr.Christopher Dale Pratt) ประธานของ Swire Group (Swire Pacific) ของฮ่องกงซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่เขามีอยู่ก็คือคาเธ่ย์แปซิฟิกและมีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อีกเยอะเข้ามาร่วมงาน รวมถึงประธานปฏิบัติการของลีแอนด์ฟุง (Li & Fung) ที่จะเข้ามาทำให้เรามีคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทางฮ่องกงเขาเก่งเรื่องโลจิสติคส์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะน้ำมันแพง เมื่อโลจิสติคส์มีประสิทธิภาพต่ำต้นทุนมันจะกินไปหมดเลย อย่างบ้านเราโลจิสติคส์คิดเป็น 18-20% แล้วแต่ธุรกิจนะ พวกฮ่องกง ญี่ปุ่น อเมริกา สิงคโปร์ เป็นเลขตัวเดียว ต่ำกว่า 10% หมด เช่น 5% 7% ดังนั้นต้นทุนของสินค้า 100 บาท โลจิสติคส์กินไปแค่ 5 บาท 7 บาท แต่ของเราโดนไป 18 บาท 20 บาท แล้วธุรกิจประมงหนักเข้าไปใหญ่เลย ธุรกิจขนส่งก็ครึ่งหนึ่งที่ต้องใช้รถสิบล้อวิ่ง โดนไปเกินครึ่งของต้นทุนเลยนะ ธุรกิจเหล่านี้ใช้น้ำมันมากเหลือเกิน เราต้องหาวิธีแก้โดยที่เราสามารถหาความร่วมมือจากต่างประเทศได้
หรือช่วงนี้เรื่องคาร์บอนเทรดดิ้งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคุยกันมากว่าเราจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพจริงๆ เมื่อคุณจะทำสิ่งที่ก่อมลภาวะออกมา คุณต้องไปดูแลอนุรักษ์พื้นที่ กฎหมายของเรามีแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาประกาศใช้ ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้ให้ถูกต้องตามที่เราได้ลงนามในข้อตกลงเอาไว้
ไฮคลาส : องค์กรที่จะเข้าเป็นสมาชิก PBEC จะต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง
เราต้องดูประวัติบริษัทครับ มีการจัดการที่ดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย ค่าสมาชิกนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่นะครับ ประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งถูกมาก เพราะการสัมมนาครั้งหนึ่งอย่างเช่นไปดูไบก็ 3,500 เหรียญฯ ปักกิ่งก็ 3,500 เหรียญฯ ไป 2 งานรวมแล้วก็ 7,000 แล้ว ขณะที่สมาชิกแค่ 5,000 คุณก็เข้าฟรีเลย ที่จริงเราอยากให้สมาชิกได้เข้าร่วมการสัมมนาเหมือนได้เข้าฟรี เพราะสิ่งที่นอกเหนือจากการสัมมนามันคือเรื่องของการต่อยอดธุรกิจมากกว่า เราไม่ได้แสวงหากำไรจากการสัมมนาเลย เรามีกิจกรรมของเรา มีหน่วยประสานงานให้กับสมาชิก เมื่อสมาชิกได้ไปร่วมกิจกรรมก็จะต่อยอดทางธุรกิจ
ไฮคลาส : ปีหนึ่งๆ มีกิจกรรมที่สมาชิกจะได้พบปะกันบ่อยเพียงใด
มีกิจกรรมเยอะครับ เป็นการประชุมใหญ่สัก 2-3 ครั้ง และมีประชุมย่อยสัก 4-5 ครั้ง เรียกได้ว่ามีกิจกรรมเยอะ บางสัมมนาเราจัดเองหรือบางทีก็เข้าไปร่วมกับเขา อย่างปีนี้มี 10 งาน โดยเราคอนโทรลเอง 8 งาน
ไฮคลาส : คุณมองว่าเป็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจไหนในประเทศไทยที่ต้องการเข้ามาร่วมเป็นสมาชิก
คือคนที่ต้องการทำงานกับต่างประเทศ ตอนนี้ทุกคนต้องการทำงานกับต่างประเทศทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจการเงิน ก็เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งหมด จะมานั่งซื้อขายของแต่ในประเทศไทยอย่างเดียวมันไม่พอ เห็นไหมว่าราคาข้าวพุ่งขึ้นแต่ต้นทุนก็สูงเช่นกัน แสดงว่าไม่ใช่ว่าดีนะ เพราะซื้อมาแพงแต่ขายแพงทำให้เหนื่อย ตอนนี้ต้องมีการคุยกับตลาดต่างประเทศ เพราะหากมีการลงทุนร่วมกันหรือการลงทุนด้านเทคโนโลยี นักธุรกิจส่วนใหญ่ถ้ามีการกระตุ้นการขยายและหาช่องทางทำงานได้ เมื่อมีโอกาสได้มานั่งร่วมสัมมนาหรือเป็นสมาชิกภาพก็จะช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนทรรศนะกับเขา
ไฮคลาส : โดยปกติองค์กรมีทั้งในเชิง Formal Activity และ Informal มีอะไรบ้างที่สมาชิกจะได้รับ
ด้าน Informal สิ่งหนึ่งก็คือเป็นศูนย์ข้อมูล เหมือนเป็นศูนย์ Help Center โดยเรามีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง เมื่อมีปัญหาก็อีเมลกลับไปที่ฮ่องกงได้ เรามีเจ้าหน้าที่ประจำและมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการบริหารทำหน้าที่คอยประสานงานให้ และในระดับสมาชิกกับสมาชิกนั้นเมื่อผมอยู่ที่ไหนอย่างเช่นเดินทางไปประเทศใดก็ชวนสมาชิกที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ไปกินข้าว ดื่มไวน์กัน นั่นคือการที่เราได้พบปะพูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องธุรกิจเท่านั้น
ไฮคลาส : ในสายตาของประธาน PBEC คุณมองการเติบโตของเอเชียเป็นเช่นไร
เอเชียกำลังเติบโตอย่างที่เรียนตอนต้น มีประเทศหลักๆ ที่ต้องจับตาเกือบทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ประเทศที่ใหญ่ทางธุรกิจอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศที่เติบโตเร็วก็อยู่ที่นี่ อาเซียนก็อยู่ที่นี่ เอเชียเป็นตลาดที่เติบโตขยายตัวสูงมาก และเดี๋ยวนี้เอเชียไม่ใช่หมูๆ แล้วนะ ธุรกิจหลักๆ ระดับโลกหลายอย่างมาอยู่ที่นี่ เช่น ธุรกิจด้านไอที ด้าน Call Center ก็อยู่ที่อินเดีย ฟิลิปปินส์ เหล่านี้มีอยู่เยอะมาก โรงงานผลิตสิ่งของเด่นๆ ในเอเชียก็มีมาก หรือสินค้าแบรนด์เนมก็มีเยอะ เมื่อธุรกิจในอเมริกามีปัญหาทุกคนก็มุ่งหน้ามาที่เอเชีย ถ้าหากไม่มีผลกระทบก็จะมีความเข้มแข็ง และเป็นหลักอยู่ 3 ขั้ว คือ ยุโรป อเมริกา และเอเชีย ยังมีตลาดที่พร้อมเติบโตได้อีกเยอะ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศกำลังโต ตรงนี้ประเทศไทยเองก็ต้องมีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมคนอื่นเขาก็โตแน่ แม้ว่าในภาพรวมจะเป็นการโตรวมก็จริง แต่ในระดับย่อยลงมาประเทศไทยต้องต่อสู้ให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ การขยายตัวอย่างมีระบบ เอเชียเป็นขั้วธุรกิจที่น่าสนใจมาก
และ PBEC เองก็ไม่ได้รับสมาชิกเฉพาะภูมิภาคนี้นะครับ สมาชิกยูโรเปียนก็มี เราไม่ได้มีข้อกำหนดว่าคุณจะต้องมีบริษัทอยู่ที่นี่ถึงจะเป็นสมาชิกได้ บริษัทที่อยู่ยุโรปแต่เขาต้องการเปิดสมาชิกเอเชียก็สามารถเข้าร่วมกับองค์กรของเราได้
ไฮคลาส : ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่กี่ราย
ตอนนี้มีอยู่หลายร้อยบริษัท ซึ่งถ้าถามว่าอยากจะเพิ่มสมาชิกไหม เราก็อยากจะโตปีหนึ่งประมาณสัก 10% นะครับ แต่นั่นจะต้องเป็น 10% คุณภาพด้วย เราอยากให้อยู่กับเรานานๆ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า PBEC ตั้งมานาน ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทภาวะผู้นำของประธานแต่ละคน โดยเนื่องจากที่ผ่านมาประธานไม่ใช่คนไทยเลย การรับรู้ของคนไทยก็จะน้อย แต่ถ้าไปถามฮ่องกงเรื่อง PBEC เขาจะรู้จักเยอะเพราะ Head Quater อยู่ที่นั่น หรือในอเมริกา รวมถึงเขตเศรษฐกิจที่อยู่ใน APEC Circle จะรู้ว่า PBEC เป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องอยู่อย่างมาก
ผมพยายามมาเปิดความเข้าใจนี้ให้กับคนไทย เราไม่อยากให้เราตกขบวนรถ บริษัทไทยที่เข้ามาอยู่ร่วมกับ PBEC ก็จะได้โอกาสต่างๆ มากขึ้น แต่เนื่องจากเราอยู่ในตำแหน่ง International Chairman คงจะเชียร์แต่ประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องให้เกิดการตื่นตัวที่ประเทศอื่นด้วย แต่เมื่อเราอยู่ที่นี่ก็เริ่มจากประเทศไทยก่อน ขณะเดียวกันผมก็บอกประเทศอื่นนะ การสร้างความเข้าใจ การโปรโมทกิจกรรมของ PBEC แต่ละประเทศ อยากให้กรรมการแต่ละท่านที่อยู่ประเทศต่างๆ เป็นแชมเปี้ยน เช่น กรรมการที่ออสเตรเลียก็ทำหน้าที่โปรโมทเรื่องออสเตรเลีย โดยเมื่อเขาต้องการให้ผมเข้าไปช่วยในบางงานผมก็จะไปให้ แต่ไม่เช่นนั้นเราก็จะดูว่าออสเตรเลียกับไทยทำอะไรด้วยกันไหม หรือออสเตรเลียกับฮ่องกงก็จะช่วยจับคู่ให้ด้วย
ไฮคลาส : การที่คุณเข้ามานั่งจุดนี้ ต้องใช้ประสบการณ์ในด้านไหนมากที่สุด
ประสบการณ์จากการเข้าร่วมการประชุมและการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจและสังคม การค้าของเอเชียแปซิฟิกกับต่างประเทศ เพราะผมเป็นคณะกรรมการของ APEC Business Advisory Council
(สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจเอเปค) อยู่หลายปี เป็นกรรมการของ ASEM : Asia Europe Meeting ก็เคยไปประชุมร่วมกัน รวมถึงที่ผ่านมาผมเป็นประธานกรรมการด้านคมนาคมของ Asian Workshop อยู่หลายปี เราต้องใช้ประสบการณ์จากสิ่งเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่คนเดิมๆ ก็จะอยู่ในองค์กรเหล่านี้ ช่วงนี้คนไทยก็เป็นเลขาธิการอาเซียนด้วย คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ทำให้มีบทบาทเยอะนะ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็เป็นเลขาธิการ UNCTAD ผมว่าดีนะที่คนไทยมารับผิดชอบองค์กรระดับนานาชาติบ้าง ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง เขาเน้นมากเลยนะ คนของเขาไปนั่งในองค์กรระหว่างประเทศ ผู้หญิงอย่างมาร์กาเรต ชาง ของฮ่องกงก็เป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือบัน คีมูนจากเกาหลีก็นั่งเก้าอี้เลขาธิการสหประชาชาติ มันต้องเป็นนะ จะรอให้ฝรั่งตะวันตกเป็นฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ตอนนี้ต้องกระจายออกไปแล้ว
คุณดูตำแหน่งสำคัญๆ ในร่มของสหประชาชาติไล่มาสิ มีอีกหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยคนเอเชีย ดร.ศุภชัย นั้นนอกจาก UNCTAD ก็ยังเป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย แสดงให้เห็นว่าคนเอเชียก็มีศักยภาพ สำหรับ PBEC ก็เหมือนกัน เป็นประธานคนแรกก็คล้ายๆ กัน รูปแบบเดียวกัน เวลาทำงานก็ดูในระดับนานาชาติ แต่เราก็ดูประเทศไทยว่าจะได้ประโยชน์ใดจากตรงนี้ด้วย ในขณะที่คนอื่นก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน
ไฮคลาส : ที่ผ่านมาตำแหน่งประธานเฉี่ยวประเทศไทยไปมา เพราะมีประธานที่เป็นตัวแทนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้
เฉี่ยวแต่ไม่เคยลงจอดเลย สมัยก่อน PBEC ขับเคลื่อนโดย National Chapter ทุกประเทศจะมีคณะกรรมการประจำประเทศ โดยคนไทยก็มีคนหนึ่งเป็นประธานอยู่และมีสมาชิกคนไทยเป็นกลุ่มๆ อินโดนีเซียก็มีของเขา มาเลเซียก็มีประธานของกลุ่มเขาเอง เมื่อเป็นลักษณะนี้ก็กลายเป็นการทำภายในประเทศใครประเทศมัน เขาจึงยุบระดับประเทศไปเหลือแต่อินเตอร์เนชั่นแนลหน่วยเดียว คุณจะเป็นสมาชิกที่เมืองไทย ที่อินโดนีเซีย ที่ออสเตรเลีย คุณไม่ได้เป็นสมาชิกประจำประเทศแล้ว แต่ยกให้เป็นสมาชิกใหญ่ไปเลย เป็น International Member เลย แล้วเวลามีประชุมใหญ่ที่ฮ่องกงเดือนมิถุนายนก็มาประชุมร่วมกันได้เลย ซึ่งดี เวลาเลือกตั้งกรรมการ กรรมการเลือกประธานก็เลือกได้เลย
ไฮคลาส : แล้วสมาชิกในเมืองไทยมีกี่ราย
มีไม่เยอะมากนะครับ ประมาณสัก 10 กว่าราย ซึ่งตอนนี้เรากำลังเชียร์ให้เพิ่มขึ้นสัก 15 แล้วก้าวเป็น 30 ราย ซึ่งเขาก็จะได้ประโยชน์ อย่างการจัดประชุมที่ดูไบมีคนไทยไปตั้ง 50 คนจาก 50 บริษัท มีตั้งแต่ ปตท. ธนาคารออมสิน หรือกลุ่มโรงแรมก็มีอย่างเช่นกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ปที่ไปทำโรงแรมอนันตราดูไบ กลุ่มดุสิตก็ไปเพราะมีดุสิตดูไบ ด้านอาหารก็ไปกันเยอะ ด้านก่อสร้างก็มี ปีนี้ธุรกิจสปาก็ไปกัน โอกาสมันดีมากเลย ถ้าไม่ไปเจอ The Right Connection มันทำไม่ได้ ถ้าไปทำแล้วไม่รู้ทิศทางจะเจ๊งเอา อย่างเวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ถ้าไม่รู้กฎหมายของเขาแล้วมาทำมั่วซั่วไม่ได้นะ ถ้าไม่ได้ Connection จาก The Right People มันไม่ใช่ Know how แต่เป็น Know who อันนี้จะเปิดโลกทัศน์สานสัมพันธ์ได้เร็วเพราะเราแนะนำไป เจ้าหน้าที่ของเราก็ต้องสนับสนุนสมาชิกมันจึงมีความคล่องตัวมากขึ้น นี่คือสิทธิประโยชน์ ผมอยากให้คนไทยไปเยอะๆ สัมมนาต่างประเทศ ไม่ต้องเป็น PBEC จัดหรอกนะครับ แค่การสัมมนาต่างประเทศที่มีประโยชน์หรือการจัดประชุมที่มีประโยชน์ของที่ไหนก็ตาม บริษัทไทยต้องไม่พลาดโอกาสจากความร่วมมือ
ไฮคลาส : ภาพรวมค่อนข้างเป็น Knowledge Base มากกว่าหรือเปล่า
ไม่นะ เป็น Business Networking Machine ชูด้านการสัมมนา ชูกิจกรรมมากกว่า ถ้าเป็น Knowledge หลักๆ จะมีอีกองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรวิจัยค้นคว้า ซึ่งเราก็ร่วมงานกับเขานะ แต่ว่าเขาเน้น Professor โดยประธานของเขาก็เป็นศาสตราจารย์ เป็นเสมือน Think Tank เราไม่เชิงอย่างนั้น โดยอาจนำไอเดียนั้นมาปรับใช้กับภาคธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจรอนานไม่ได้ เข้าไปคุยต้องรู้เรื่องเลย ฉะนั้นเราจึงเน้นว่านักธุรกิจไปเจอกับนักธุรกิจ โดยที่เราอาจจะเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้บ้าง
ตอนนี้คนเป็นห่วงเรื่องในอเมริกามาก ก็ต้องเชิญคนที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจอเมริกามา หรือก่อนหน้านี้ก็เชิญ ดร.นัสเซอร์ (Dr. Nasser Saidi) Chief Economist at DIFC : Dubai International Financial Center เป็นอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเลบานอน เป็นคนที่เวลาพูดแล้วในตะวันออกกลางฟังหมด เรียกง่ายๆ ว่าเมื่อพูดออกมาทุกคนเชื่อท่าน โดยครั้งนั้นท่านมาเล่าให้สมาชิกของเราฟังในการประชุม PBEC ที่ฮ่องกง และก็มีโอกาสได้เชิญ Resource Person ดีๆ มาให้ความรู้โดยการเสวนา บรรยาย
ไฮคลาส : ตอนประชุมเพื่อเลือกประธานคนใหม่เป็นอย่างไร
การประชุมครั้งหน้าประมาณเดือนมิถุนายน โดยตำแหน่งประธานนั้นมีวาระประมาณ 2 ปี มันไม่มีกำหนดหรอก ขึ้นอยู่กับตัวประธาน จะอยู่มากกว่านั้นก็ได้ โดยช่วงที่เขาเสนอผมนั้นก็เพราะเดิมประธานที่เป็นคนอเมริกัน และรองประธานเป็นผม เมื่อประธานนั้นถูกย้ายไปอยู่ยุโรปเขาไม่พร้อม ก็ขอลาออกในที่สุด ก็ต้องประชุมกรรมการใหม่เพื่อเลือกประธาน ตอนนั้นแหละที่เลือกผมเมื่อเดือนสิงหาปีที่แล้ว ผมก็เริ่มงานเลย จากการเป็นรองประธานก็ต่องานได้เลย ปีนี้ก็พยายามจะหาโอกาสจัดงานที่กรุงเทพฯ สักงาน แต่การเมืองเราไม่นิ่งผมเลยไม่รู้จะทำอย่างไร
ไฮคลาส : มุมมองต่อภาพรวมของสถานการณ์โลก เศรษฐกิจสหรัฐ หรือสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียที่เป็นปัญหาอยู่
มันเป็นโอกาสนะที่ใช้ PBEC เป็นพาหนะเพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ ที่ผ่านมา ปี 2005 การจัดประชุมที่ฮ่องกงเราใช้คำว่า “Setting the Pace for the Global Economy” จัดระบบที่เข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลก หรือเมื่อปี 2004 ที่ปักกิ่งก็คือ “A New Role for Business in the Asia-Pacific” บทบาทใหม่ของเอเชียแปซิฟิก ปี 2003 ที่โซล “Managing Uncertainties : Challenges and Oppertunities for Corporate Leadership” ความไม่แน่นอนจะบริหารจัดการอย่างไร แต่ละปีจะมีธีมที่เปลี่ยนไป แต่ทั้งหมดก็จะเน้นถึงการเตรียมพร้อมให้กับนักธุรกิจในภาคพื้นนี้ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ ความสำเร็จในการทำธุรกิจ อีกทั้งแคร์การขยายในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน ตรงนี้มันท้าทายมาก
การไม่มีคณะกรรมการระดับชาตินั่นแหละดี เพราะว่าเราตัดสินใจกระทำได้เร็ว โดยที่ออฟฟิศใหญ่ที่ฮ่องกงต้องแข็ง เมื่อมาร์ติน เคร็ก ผู้อำนวยการบริหารใหม่ที่มาจากสายการบินเป็นชาวอังกฤษ หรืออย่างรองผู้อำนวยการฯ ก็เป็นชาวสวีดิช แต่ด้วยความที่เขาอยู่ฮาวายมานานเขาก็รับผิดชอบดูแลทางฝั่งนี้ ทุกอย่างมันอินเตอร์เนชั่นแนลมากๆ ทีมก็แข็งขึ้น สมาชิกแต่ละแห่งก็มีทรัพยากรที่มีคุณภาพ โดยเราใช้ Member Resource อีกส่วนหนึ่งทำให้ได้ประโยชน์ เมื่อมีทั้ง Member get member, member to member ทำให้เข้มแข็งมาก เพราะสมาชิกแต่ละคนก็กว้างขวาง มีความรอบรู้ในธุรกิจเขา ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ
ไฮคลาส : การที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นใคร จะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร
ปีนี้มีแน่ครับ เป็นปีสุดท้ายที่ประธานาธิบดีบุชดำรงตำแหน่ง การสั่งการความเข้มข้นของความเชื่อถือจะไม่มาก ตอนนี้รอคนใหม่กันอยู่ เราก็ตอบไม่ได้ว่าใครจะได้นะครับ แต่ว่าตอนนี้ไม่ว่าพรรคไหนจะได้ก็ตาม ผมว่าอเมริกาต้องเปิดตลาดมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวก็จะมีผล สถานการณ์อเมริกาตอนนี้เหนื่อยมากตั้งแต่ธนาคาร Barestern ข้ามมาที่ธนาคารในยุโรปก็โดนอีก เช่น Northern Rock และ UBS ก็โดน พอมีการแทรกแซงโดยให้เจพีมอร์แกนฯ (JPMorgan Chase & Co.) ไปซื้อกิจการแบร์ สเติร์นฯ (Bear Stearns Companies Inc.) มันเป็นสัญญาณแล้วว่าเศรษฐกิจอเมริกาต้องอุ้มแล้ว และเมื่อต้องลดดอกเบี้ยลงมาตลาดหุ้นก็ตกหมด เรียกว่าวิกฤติมาก
ปีนี้ตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือว่า Subprime มันยังคงอยู่นะ เริ่มจากบ้านจัดสรรแล้วต่อไปจะเป็นอาคารพาณิชย์ต่อ ดังนั้นสถานการณ์อเมริกาไม่ค่อยดีและยังเป็นปีเลือกตั้งด้วย ก็มียุคเปลี่ยนผ่านอีก ถ้าบุชดำรงตำแหน่งในปีแรกๆ บารมีมันจะขลัง แต่พอปีสุดท้ายเหมือนกับจะหมดอายุอยู่แล้ว ไปสั่งมันก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อเท่าไหร่ มันก็คือการเมือง เป็นเรื่องปกติที่ประเทศไหนก็คงเป็นเหมือนกัน โดยในด้านที่ไฟแนนซ์ล้มก็ส่งผลกระเทือนประเทศในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยก็โดนเพราะเราเป็น Biggest Trading Partner ของอเมริกา เอเชียแปซิฟิกก็เป็น ฉะนั้นตลาดอเมริกากระทบทำให้คนซื้อของน้อย เราก็ต้องไปหาตลาดใหม่ ผลิตสินค้าซึ่งตรงกับ Niche Market ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก เพราะทุกคนก็หนีตายจากอเมริกามาลงที่อื่นหมด จึงต้องแข่งกัน
ผมคิดว่าการทำเป็นกลุ่มก้อนในการค้าต่างๆ นั้นควรจะต้องทำตั้งนานแล้ว ในความเหมาะสมและสิ่งที่เราได้เปรียบในการค้า เช่น เราอาจจะเก่งในบางเรื่องซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ได้มากๆ ผมว่าต้องเอามาทำแล้วตอนนี้ อย่างธุรกิจบริการเราดีมาก คนไทยคือความนอบน้อมถ่อมตน เราต้องเน้นโปรโมทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเต็มที่ แต่ก็ดันมีเรื่องฆาตกรรมอีก ทั้งภูเก็ต สมุย แล้วยังมีเรื่องระเบิดพลีชีพอีก เหตุการณ์บ้านเมืองด้านความมั่นคงก็ยังมีปัญหาอยู่ ธุรกิจที่เขาจับตามองว่าราคาจะขึ้นก็คือวัสดุที่มีค่า เช่น ทองคำขาว ทองคำ จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เงินที่ไหลจากสหรัฐสู่ประเทศที่มีสถานการณ์ที่มั่นคงต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็จะเป็นเป้าหมายที่นักธุรกิจนักลงทุนมุ่งหน้า ทั้ง Hedge Fund, Property Fund, Private Fund เข้ามามากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความผันผวนทางการเงินซึ่งเราต้องควบคุมให้ดี เสถียรภาพต่างๆ ทำอะไรต้องระวัง จะเรียกว่าจะก่อให้เกิดสึนามิก็ได้นะ ต้องเตรียมพร้อมให้ดี
ไฮคลาส : แล้วมองย่อลงมาถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ไม่รู้สินะ การเมืองมันต้องนิ่ง ถ้าการเมืองมันไม่นิ่งเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เป็นเรื่องปรกติ
ไฮคลาส : คุณหมายความว่าถึงอย่างไรก็ตามการเมืองจะต้องจัดการตัวมันเอง
ก็อยากให้คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก
ไฮคลาส : ต้องการสื่อไปถึงใครรึเปล่า
(ยิ้มกริ่ม) พูดกับใครก็ได้ที่คิดถึงตัวเองมากไปหน่อย การคิดถึงตัวเองก็ต้องคิดนะ จะบอกให้ไม่คิดไม่ได้หรอก ต้องคิด แต่คิดแล้วประเทศชาติต้องมาก่อน ถ้าคุณคิดแต่จะเอาเฉพาะตัวเองคุณก็ไม่มีที่อยู่นะ เช่น ประเทศไทยเศรษฐกิจแตกแล้วคุณจะเอาส่วนตัวตรงไหนล่ะ มันแตกไปแล้ว ต้องรักษาหม้อข้าวใหญ่ให้อยู่ได้ก่อน แล้วทุกคนก็จะได้มีข้าวกิน ทั้งหมดนี้ผมว่าทุกอย่างต้องมีความคิดตรงนี้
ไฮคลาส : อำนาจการแข่งขันของไทยเทียบกับประเทศในภูมิภาค
เรายังมีศักยภาพหลายตัวนะครับ แต่ว่าเราถอย หยุดมานาน เดินช้าๆ มานาน ตอนนี้ต้องเดินเร็ว และเรายังมีความสามารถอีกหลายตัวที่ต้องเอามาใช้จริงๆ แต่การทำงานต้องทำเป็นทีม ต้องเป็นบูรณาการ ต้องสอดคล้องกัน กระทรวงหรือภาครัฐกับเอกชนต้องไปด้วยกัน
ไฮคลาส : ปีนี้เป็นปีที่สายตาโลกพุ่งมาทางเอเชีย นอกเหนือจากในทางเศรษฐกิจ เมื่อมองในมิติทางสังคม กีฬา ก็มากระจุกอยู่ที่เอเชีย
เอเชียเป็นมหาอำนาจอยู่หลายทาง พวกสังคมวัฒนธรรมต่างๆ มันจะตามเศรษฐกิจ สังเกตไหมครับประเทศที่ได้เหรียญโอลิมปิกมากที่สุดจะเป็นประเทศที่พร้อมทางเศรษฐกิจ ประเทศจนๆ ไม่มีทางจะได้เหรียญโอลิมปิกเลย บอกได้เลยว่าไม่มีทาง เพราะความพร้อมมันเป็นตัวสะท้อน แต่ว่าต้องทำให้เศรษฐกิจแข็งก่อน การพัฒนาคนมันมีอยู่ว่ารวมเอาองค์ความรู้ เรื่องสุขภาพพลานามัย กีฬาก็เป็นตัวที่แสดงให้เห็นว่าตัวฉันนั้นเจ๋ง โอลิมปิกที่ปักกิ่งเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจน
ไฮคลาส : การเป็นประธาน PBEC ให้อะไรกับชีวิตคุณบ้าง
ผมเป็นคนที่ชอบทำงาน อะไรก็ตามที่เรามีความพร้อมในการทำอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้คราวที่แล้ว เราโชคดีที่ได้มีการศึกษาดี ได้โอกาสดี มีโอกาสมากกว่าคนอื่น เราต้องตอบแทนให้มากกว่าคนอื่น อะไรที่เราทำให้กับสังคมได้เราก็ทำ องค์กรผมที่ตั้งอยู่ที่อื่นก็ทำนะ เช่น ที่ฝรั่งเศสก็ทำกิจกรรมสังคมกับฝรั่งเศส หรือองค์กรที่สิงคโปร์ก็ทำกิจกรรมกับสิงคโปร์ เราเป็น Good Coporate Citizen อันนี้ก็เหมือนกัน พอช่องทางนี้เข้ามาแล้วเราก็อยากให้ PBEC ทำให้เกิดความเจริญกับภูมิภาคนี้ ถึงแม้เราเป็นคนไทย แอบเชียร์ไทยอย่างลับๆ แต่เราก็คิดภาพรวมเป็นหลักเพราะใส่หมวก PBEC ก็อยากคิดภาพรวมทั้งหมด ตรงนี้พอทำแล้วมีสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นกับเรา ความอิ่มอกอิ่มใจมันคือความดี ความเจริญ เรียกว่าคุณูปการที่เกิดจากการกระทำของเรา
Text : กองบรรณาธิการ
Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ