นายมัตสุโมโตเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่น อนุสาวรีย์ที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายคือ International House of Japan ที่เขาปลุกปั้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อให้คนญี่ปุ่นใจกว้าง รู้จักโลกภายนอก นอกเหนือความเป็นชาตินิยม และให้นานาชาติ (โดยเฉพาะก็สหรัฐ) มีโอกาสรู้จักญี่ปุ่น
ข้าพเจ้าเองได้รับเชิญให้ไปสู่สถาบันแห่งนี้ เป็นคนไทยที่สอง รองจากสมศักดิ์ ชูโต ในโครงการแขกรับเชิญจากเอเชียอาคเนย์ ในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ สมศักดิ์เอาภรรยาชาวเยอรมันของเขาไปด้วย เพราะเธอทำงานสายการบินลุฟต์ฮันซ่า ไปได้โดยไม่เสียค่าเรือบิน แต่ค่ากินอยู่หลับนอนในญี่ปุ่น International House of Japan ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ออกให้หมด ถึงคราวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้เอาภรรยาไปด้วย เพราะเธอเคยไปญี่ปุ่นกับข้าพเจ้ามาก่อนแล้ว และคราวนั้นวิทยากร เชียงกูร ทำงานอยู่กับข้าพเจ้า หากถูกลดตำแหน่งลงที่ไทยวัฒนาพานิช ข้าพเจ้าจึงขอให้นายจ้างออกค่าเรือบินให้เขา นอกนั้นเขาได้รับจาก International House of Japan การเดินทางคราวนั้นไปประเทศอื่นๆ ด้วย ข้าพเจ้าเขียนเล่าไว้ในสมุดข้างหมอน ด้วยแล้ว
คนที่มีส่วนในการเชิญชวนข้าพเจ้า หากอยู่หลังฉากคือนายอิฉิอิ ส่วนคนของ International House of Japan ที่มาพบข้าพเจ้าคือสุรุมิและกาโต้ ซึ่งเป็นเพื่อนกับข้าพเจ้าตลอดมา โดยเฉพาะคนแรกนั้นสนิทสนมกันมาก จนตายจากไป ส่วนคนที่สองนั้น ก็เพิ่งเกษียณอายุออกไปจาก International House of Japan เขาแต่งหนังสือกับคนอื่นๆ ชื่อ Japan and Its Worlds: Marius B. Jansen and the Internationalization of Japanese Studies (International House Press) Tokyo 2007 แล้วส่งมาอภินันทนาการข้าพเจ้า อ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ควรถ่ายทอดออกมาให้คนไทยได้รับทราบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนายมัตสุโมโต ซึ่งข้าพเจ้าแรกรู้จักเมื่อไปพัก ณ International House เป็นครั้งแรก แล้วสนิทสนมกับท่านและภรรยาต่อมา จนทั้งคู่ตายจากไป
นายมัตสุโมโตเป็นคนที่ตัวโต สูงใหญ่ ยิ่งกว่าญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ภรรยาท่านตัวเล็ก ตอนหลังมักหลงๆ ลืมๆ เมื่อข้าพเจ้าเอาผ้าไหมไทยไปให้ เธอตัดชุดใส่แล้วเวลาข้าพเจ้าไปพบเธอทีไร เธอต้องใส่ชุดไหมไทยอวดเสมอ
เธอเล่าว่า เธอมาจากครอบครัวที่เคยรับนักเรียนนายเรือไทย ที่ไปเรียนญี่ปุ่นแต่สมัยก่อนสงครามโลก นายมัตสุโมโตเล่าอย่างมีอารมณ์ขันว่าทั้งสองเป็นญาติกัน เมื่อนายมัตสุโมโตไปเรียนที่เยอรมัน แล้วทราบว่ามีนักเรียนไทยมาพักอาศัยบ้านญาติสาวที่ตนหมายปองไว้ จึงรีบกลับมาขอแต่งงานกับเธอ ด้วยกลัวเธอจะถูกผู้ชายไทยแย่งเอาไป
เมื่อนายมัตสุโมโตชอบพอกับข้าพเจ้ามากแล้ว ท่านบอกกับข้าพเจ้าว่า “ไม่ว่าบ้านเมืองใดก็ตาม ในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่งนั้น มีคนเพียงราวๆ ๕ เท่านั้น ที่กำหนดชะตากรรมของประเทศชาติ ให้เดินหน้าไปในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แม้ชื่อเสียงของบุคคลนั้นๆ จะปรากฏกับมหาชนหรือไม่ก็ตาม โดยที่เขานั้นๆ ไม่จำต้องเป็นนักการเมือง นักการทหาร นักการค้า ไม่ว่าบุคคลที่ว่านี้จะมีบทบาทอันโดดเด่นอยู่กับบุคคลร่วมสมัยหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ” ท่านบอกว่าในเมืองไทย มีคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคนหนึ่ง แล้วเขาหยอดเอาใจข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน โดยที่ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่เคารพนับถืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จึงไม่ได้เอ่ยถึงคุณวิเศษของท่านให้นายมัตสุโมโตฟัง เขาหมายความคล้ายๆ กันว่าในประเทศญี่ปุ่น ก็มีเขาเป็นคนหนึ่งในห้าบุคลากรดังกล่าว โดยกรุงโตเกียวก็เลือกให้เขาเป็นราษฎรกิติมศักดิ์ ถึงปีนายกเทศมนตรีต้องเอาเหล้าที่เขาชอบมาอภินันทนาการ เขาบอกว่าเขาชอบเหล้าราคาถูก เพราะอร่อยดี ถ้าขึ้นรถโดยสาร ก็ฟรีโดยตลอด
International House ที่นายมัตสุโมโตเป็นสดมภ์หลักในการสถาปนาไว้นั้น นับว่ามีคุณูปการมาก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังญี่ปุ่นเอาความคิดนี้ไปขายให้เกิด International Centre ขึ้นที่กรุงเดลีด้วย ดังจะสังเกตได้ว่ามกุฎราชกุมารญี่ปุ่นเสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ แสดงว่าญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินช่วยด้วย นายมัตสุโมโตบอกว่า ถ้าข้าพเจ้าจะจัดทำ International House ขึ้นที่กรุงเทพฯ เขาจะช่วยเหลือเกื้อกูล
ข้าพเจ้าคิดจะให้มีอาคารอันเป็นสากลเช่นนั้นขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะเหตุหลายประการ ดังอาคารศศินและศศะก็ได้ความคิดไปจาก International House โดยอ้อม แต่ International House ไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายด้วย เป็นเหตุให้คนที่คิดการด้านนี้ถึงกับเขียนโจมตี International House เอาเลย แต่นายกาโตโดนลูกหลง เพราะคนที่เขียนด่าเขา เข้าไม่ถึงนายมัตสุโมโต
II
ที่นายมัตสุโมโตกล่าวถึงแต่ละยุคสมัยว่า มีคนราวๆ ห้าคนเป็นปัจจัยหลักนั้น อาจไม่เกินความจริงไปก็ได้ ดัง Marius Jansen ที่เขียนเรื่อง Japan and Its World: Two Centuries of Change (1980) โดยวิเคราะห์ทัศนคติของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป เกี่ยวกับโลกภายนอกในรอบสองศตวรรษ ว่าขึ้นอยู่กับคนเพียง ๓ คน คือ (๑) Sugita Genpaku (1733-1817) ซึ่งเป็นคนนำในเรื่องการศึกษาหาความรู้ตามแนวทางของตะวันตก (๒) Kume Kunitake (1839-1893)
ซึ่งเป็นนักจดหมายเหตุที่ไปกับคณะทูต Innaky และ (๓) Matsumoto Shigeharu โดยเขาขยายความต่อไปว่า นายมัตสุโมโตนั้นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และเรียนปริญญาโทต่อจนเกิดแผ่นดินไหวอย่างใหญ่ในปี ค.ศ. ๑๙๒๓ เป็นเหตุให้ต้องย้ายไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เริ่ม ณ สหรัฐ โดยที่อาจารย์ Charles Beerd ที่นิวยอร์กแนะนำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นเกี่ยวข้องโดยตรงกับจีน เป็นเหตุให้นายมัตสุโมโต เลือกไปเป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวที่เซี่ยงไฮ้ เคยได้เข้าถึงเจียงไคเช็คและวังจิงไว เมื่อกลับไปญี่ปุ่นแล้ว นายมัตสุโมโตได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าชายโคโนเอ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะความล้มเหลวของญี่ปุ่นที่ไม่มีเสียงคัดค้านกับการเข้าสู่สงครามโลกอย่างเพียงพอ หลังแพ้สงครามแล้ว นายมัตสุโมโตจึงตั้งใจมั่นที่จะช่วยให้ชาวญี่ปุ่นไปพ้นความเป็นชาตินิยมให้ได้ และหาทางช่วยให้ชาวต่างประเทศรู้จักญี่ปุ่นดีขึ้นด้วย เพราะการเข้าถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นยากเย็นยิ่งนัก
คนที่มีอิทธิพลกันนายมัตสุโมโตเป็นอย่างยิ่งได้แก่ Nitobe Inazo ซึ่งเป็นเควกเกอร์ คือรักสันติวิธีเป็นชีวิตจิตใจ และเข้าใจกิจการระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ดังรัฐบาลญี่ปุ่นนำเอารูปท่านผู้นี้มาใส่ไว้ในธนบัตรเลยทีเดียว
นอกไปจากนี้แล้ว นายนิโตเบ ยังมีอิทธิพลโดยตรงกับ Maeda Yoichi อีกด้วย บุคคลผู้นี้ได้รับเลือกให้เป็นรองของนายมัตสุโมโตที่ International House เขาเป็นนักปรัชญาสายฝรั่งเศส เชี่ยวชาญกับงานของ Pascal เป็นพิเศษ ข้าพเจ้าชอบพอกับบุคคลผู้นี้พอสมควร บิดาของเขา (Maeda Tamon) เป็นเพื่อนสนิทของนิโตเบ ซึ่งมีอิทธิพลกับลูกชายเขาเป็นอย่างยิ่ง
ในทศกะ ๑๙๗๐ ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มเอเชียอาคเนย์ศึกษาว่าด้วยอนาคตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเราเอง และกับภูมิภาคอื่นๆ นายเมอิดาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มญี่ปุ่น เราจึงมักพบกันเนืองๆ และประธานของทุกๆ กลุ่ม มีกิจต้องไปประชุมร่วมกันที่วิลล่าของมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ ทางภาคเหนือของอิตาลีด้วย ปีละครั้ง
เมื่อ Maeda Yoichi เรียนอยู่ที่ปารีสนั้น เขาได้ชอบพอกับ Edward Reishaur ซึ่งไปทำวิทยานิพนธ์เรื่องญี่ปุ่นที่นั่น คนสำคัญในเวลานั้นของมหาวิทยาลัยเซอบอน ในเรื่องนี้คือ Prfessor Elisseff ซึ่งต่อมาได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการสถาบัน Harvard-Yenching ที่สหรัฐ เป็นเหตุให้นายเมอิดาตามไปยังสถาบันนั้น แล้วไปกระชับสัมพันธไมตรีกับไรซเชาว์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เฉกเช่นที่นายมัตสุโมโต ซึ่งเป็นมิตรสหายกับ J D Rockefellor อันเป็นเหตุให้มูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์เข้ามามีส่วนช่วย International House อย่างเต็มที่
นอกไปจากนี้แล้ว นายมัตสุโมโตยังเข้าได้ถึงชนชั้นสูงในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด แม้เขาจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด พวกนักธุรกิจก็สนับสนุน International House ซึ่งเป็นสถาบันเอกชน ที่ได้รับเกียรติมากจากทุกรัฐบาล
ข้อเสียก็ตรงที่ชนชั้นนำพวกนี้ เมื่อหมดบทบาทไป ชนชั้นหลังรับสืบทอดเจตนารมณ์ได้ไม่สมสมัย International House อาจลดบทบาทลงไปได้เป็นอย่างมาก ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย
ตามสายสกุลของนายมัตสุโมโตนั้น นับถือพุทธนิกายชินกอน ซึ่งมีศูนย์สำคัญสุดอยู่บนภูเขาโกยาซาน ตัวท่านเคยพา Arnold Toynbee นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษไปที่นั่นด้วย และเมื่อข้าพเจ้าแรกเป็นแขกของท่าน ท่านก็ให้นักพรตญี่ปุ่นพาข้าพเจ้าไปพัก ณ วัดบนเขานั้น แต่ก่อนตาย นายมัตสุโมโตไปเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษ เข้าใจว่าคงจะรู้สึกบาปมาก ที่ญี่ปุ่นบุกไปทำสงครามในจีน ถึงกับอุทิศเงินก้อนใหญ่ให้ปลูกต้นไม้อย่างมากมายในประเทศนั้น