Raymond Cloyd Downs ๑๙๑๘ – ๒๐๐๖

เรย์ ดาวน์ส เป็นศาสนาจารย์ชาวอเมริกัน ที่มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นสมัยของเผด็จการรัฐประหาร ป. พิบูลสงคราม แต่จักรวรรดิอเมริกันก็เริ่มมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทยด้วยแล้ว หากเรย์อุทิศตนเพื่อเยาวชนคนไทยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะก็นักศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่จำต้องเป็นคนถือคริสต์ และเรย์กับภรรยาของเขา (เอลิซะเบธ) เป็นคู่ผัวตัวเมียที่ยิ้มย่องผ่องใส ใจคอเบิกบาน ต้อนรับผู้คน แม้ที่ไม่ถือคริสต์อย่างเป็นกันเอง

เรย์ เป็นตัวตั้งตัวตีที่ก่อให้เกิดสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนขึ้นที่เชิงสะพานหัวช้าง แต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยที่นี่คือสถานที่ที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์สถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้นานาชนิด ทั้งยังเป็นที่แสดงนฤมิตรกรรมของศิลปินไทยรุ่นแรกๆ นอกแวดวงของทางราชการออกไป นอกเหนือจากการเป็นที่จุดไฟในทางสติปัญญาให้กับเยาวชน และผู้คนจากนานาประเทศก็ใช้เป็นที่พักได้อย่างสะดวกด้วยราคาอันย่อมเยา

เรย์ฝึกคนไทยให้ดำเนินรอยตามเขา ดังการจัดสัมมนาระดับชาติในเรื่องเยาวชนกับความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อสังคมในปี ๒๕๐๙ นั้น ผู้จัดงานนี้เป็นคนไทย ซึ่งมารับงานแทนเรย์ แต่เรย์ก็วางแผนอยู่หลังฉาก หากยกเกียรติยศให้คนไทยที่มาแทนเขาทั้งหมด

งานสัมมนาคราวนี้และในปีถัดไป นับเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดแนวทางสำหรับนิสิตนักศึกษาให้เดินทางไปสู่การเมืองตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยอย่างควรแก่การตราไว้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจากจุดนี้แลที่เกิดชมรมปริทัศน์เสวนาขึ้นที่โบสถ์ร้างวัดรังสีสุทธาวาส ในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร ตามมาด้วยสภากาแฟตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และศึกษิตเสวนา ที่ร้านศึกษิตสยาม สามย่าน ในปี ๒๕๑๐ แล้วคลี่คลายขายตัวไปเป็นการต่อต้านเผด็จการถนอม – ประภาส – ณรงค์ ได้สำเร็จ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

เรย์ไม่เคยอ้างเลยว่าผลสำเร็จดังกล่าวมาจากเขา เขามาหาข้าพเจ้าที่สำนักงานสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ตรงข้ามกับโรงเรียนอุเทนถวาย แต่ข้าพเจ้าแรกออกนิตยสารฉบับนั้นในปี ๒๕๐๖ เขาคงชอบใจที่นิตยสารฉบับดังกล่าวเน้นทางด้านความงามและความจริง โดยพยายามสนับสนุนความดี ในขณะที่สังคมเต็มไปด้วยความกึ่งดิบกึ่งดี ความหน้าไหว้หลังหลอก และเขาพอใจที่ต่อมาสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เกิดฉบับนิสิตนักศึกษา และฉบับบัณฑิตตามมาไล่ๆ กัน เพราะเรย์สนใจเยาวชนเป็นพิเศษ

เรย์มักจะชวนข้าพเจ้าไปกินอาหารกลางวัน และคุยกันเรื่องสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ของไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มน่าเกลียดยิ่งๆ ขึ้น และเขามักชวนข้าพเจ้าไปกินอาหารเย็นกับเขาและภรรยาที่บ้านพักในบริเวณ สนค. เรย์เป็นคนแรกที่แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับสมาชิกจากสภาคริสตจักรโลก (World Council of Churches) ซึ่งมาจากเยนีวา จนภายหลังข้าพเจ้าได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับหลายหน่วยงานในสภาที่ว่านี้ ณ นครแห่งนั้น

หลังจากทำงานและอยู่กินที่ สนค. ข้างๆ สะพานหัวช้างมาเป็นเวลา ๒ ทศวรรษ เรย์และเบตตี้จึงลาออกและจากไปยังสหรัฐ และแล้วในปี ๒๕๑๕ ผัวเมียคู่นี้ก็กลับมาเมืองไทย หากไปตั้งสำนักใหม่ ในชื่อว่าสวนประทีป ซึ่งเป็น สนค. ย่อมๆ ขึ้นทางจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นแหล่งพักพิงทางวิญญาณแม้กับคนที่ไม่ถือคริสต์ โดยเฉพาะก็นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ไล่ๆ กัน

เรย์ เคยเชิญข้าพเจ้าไปคุยกับเยาวชนที่สวนประทีปหลายครั้ง ในบรรยากาศอันร่มรื่น อย่างเป็นกันเอง และได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกับเยาวชนอย่างน่าสนใจนัก

เรย์กับเบตตี้ใช้เวลาในเมืองไทยทั้งหมดกว่า ๓๐ ปี เมื่อเกษียณอายุในคราวสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เขาไปทำหน้าที่ศาสนาจารย์ต่อที่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา หากเบตตี้ประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิตที่สหรัฐในปี ๒๕๓๓ เรย์แต่งงานใหม่กับโดโรที ซึ่งก็ตายจากไปก่อนเรย์ ซึ่งมีอายุยืนถึง ๘๘ ปี จึงจากไปด้วยความสงบ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้ามีอายุครบ ๕ รอบนักษัตร เพื่อนฝูงชาวต่างประเทศเขียนคำอวยพรมารวมเล่มให้ ในชื่อว่า Five Cycles of Friendship เรย์เขียนถ้อยคำอย่างจับใจนัก ดังขอคัดคำของเขามาลงไว้

The influence you had upon the students and upon the Thai countryside can never be exaggerated.

The sessions you had in the back room of your bookstore were vastly more importance than the countless meetings of state that were taking place in the halls of parliament or even in the palace. At least I see them that way, and the future will too.

ขบวนการเยาวชนในเมืองไทยและขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนไทยทั้งหลาย ควรรู้จักชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านผู้นี้เอาไว้ แม้เขาจะปิดทองหลังพระมาเกือบจะโดยตลอดก็ตาม

 

 

Related contents:

You may also like...