ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะหวั่นว่้าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงของการที่ประชาชนหลายฝ่าย หลายสี ออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นนิมิตหมายอันดี คือความกระจ่างในอุดมการณ์ของประชาชนทุกสี ว่า เราต่างปรารถนาความชอบธรรม ความถูกต้อง เราไม่ต้องการถูกครอบงำ โดยอำนาจรัฐ หรืออำนาจใด ที่อยู่เหนือกฎหมาย และปราศจากความถูกต้อง เราต่างก็อยากให้ทุกฝ่าย ทุกคดี ถูกรื้อฟื้น เปิดเผย เปิดโปง ขุดคุ้ยความจริงให้ถึงที่สุด และตัดสินทุกอย่างไปตามกฎหมาย ให้ประชาชนได้รู้เบื้องหน้า เบื้องหลังอย่างหมดเปลือก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่พึงระวังสำหรับทุกการชุมนุมคัดค้านใดๆก็ตามคือ บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ถูกขยายให้รุนแรงด้วยมือที่สาม และหลอกให้ประชาชนสองฝ่ายโกรธเกลียดจนถึงขั้นฆ่าแกงกันกลายเป็นสงครามกลางเมือง เมื่อประเทศอ่อนแอถึงจุดนั้น จะมีคนเข้ามาหาผลประโยชน์ และประชาชนอยู่สภาพไร้ทางสู้
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคืออะไร ทำไมคนจำนวนมาก จึงคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นิรโทษกรรม คือ การทำให้ไม่มีโทษ หรือ การทำให้หลุดพ้นโทษ หรือการกำหนดให้การกระทำนั้นไม่มีโทษไม่มีความผิด ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา สามารถออกกฏหมายพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้สามารถล้างผิดให้กับบุคคลนั้นๆได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายใดๆ
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งถูกเริ่มโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ได้ทำการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มีความผิด หรือถูกตัดสินให้ดำเนินคดีทางการเมือง เพื่อช่วยลดความขัดแย้งในบ้านเมืองขึ้น และสร้างความปรองดองสามัคคีของคนในชาติให้มากยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาหลักคือนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่รวมไปถึงแกนนำ หรือ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง
แต่พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับปัจจุบันนี้ ได้ถูกแก้ไขโดย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกมองว่าไม่ยุติธรรม จะต้องนิรโทษกรรมให้กับทุกคนรวมทั้งนักการเมือง เพื่อความสงบสุข สามัคคี ปรองดองของคนในชาติ โดยได้ยอมรับว่าไม่มีคำสั่งจากใครทั้งนั้น และให้สัมภาษณ์ถึงจุดริเริ่มของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งนี้ว่า “จุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้มาจากการไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อหลายเดือนก่อนที่ฮ่องกง เพราะทันทีที่เจอกันครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่า พี่ยุทธ์ผมอยากกลับบ้านแล้ว”
จนกระทั้งมีพรรคฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมาก ออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ว่านี้ ซึ่งดูจะไม่เป็นผลซักเท่าไหร่ จนถึงขั้นมีเรียกชุมนุมจากทั่วประเทศเพื่อคัดค้านเรื่องนี้โดยถึงที่สุด
อย่างไรก็ดี ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่ได้เพียงสร้างความขัดเคืองและไม่พอใจแก่ผู้ต่อต้นระบอบทักษิณเท่านั้น ยังส่งผลให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในฝั่งคนเสื้อแดงเองด้วย เพราะมองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการล้างผิดอย่างไม่เป็นธรรมให้กับฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีแกนนำคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ตกเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา ฆ่าคนเสื้อแดงในการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยในครั้งนี้ ก็เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และหากยังเดินหน้าต่อไป ก็มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและนักลงทุนจากต่างประเทศ
ข้อมูลความรู้ที่ควรทราบเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม
การนิรโทษกรรม ( Amnesty ) หมายถึง การที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำบางการกระทำเป็นความผิด และโทษซึ่งเป็นผลสำหรับการนั้นไม่จำเป็นต้องถูกนำมาบังคับใช้ ซึ่งตามปกติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด หรือเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด ทั้งถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลย คือให้ลืมความผิดนั้นเสีย ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่การกระทำผิดนั้นเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดซึ่งจะตกไปยังตัวบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นย่อมต้องถูกลบล้างตามไปด้วย นิรโทษกรรมนั้นเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือ รัฐสภา จะต้องออกเป็น ”พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้กระทำความผิดนั้นๆ มิได้กระทำความผิดเลยก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง (Non-Retroactive) แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กระทำความผิดจึงสามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้น จึงควรให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ รัฐสภา เป็นผู้ออก
ประเภทของการนิรโทษกรรม
การนิรโทษกรรมสามารถกระทำได้ทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษาและอาจมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีผู้ร้องขอ เงื่อนไขทั่วไปของกฎหมายนิรโทษกรรมถูกกำหนดไว้ 3 เงื่อนไขคือ ระยะเวลาในการกระทำความผิด การกำหนดตัวผู้กระทำความผิดและประเภทของความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยอาจแบ่งประเภทของกฎหมายนิรโทษกรรมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไปหรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political Offence) ทุกประเภท หรือ ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน
2. การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไขหรือโดยไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือ เป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่นั่นเอง การนิรโทษกรรมโดยเด็ดขาดนั้นเป็นการออกกฎหมายมาแล้วเพียงแต่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่หากการนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข ผู้กระทำความผิดจะได้รับผลของการนิรโทษกรรมต่อเมื่อตนได้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
ผลของการนิรโทษกรรม
ผลของการนิรโทษกรรมนั้นคือ ถือเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำผิดนั้นๆ ขึ้นมาก่อนเลย หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้องแล้วแต่กรณีนั้นเสีย แต่หากได้ถูกฟ้องร้องต่อศาลแล้วพนักงานอัยการต้องดำเนินการถอนฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้อง เมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีไปและสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วย
หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้วผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดได้กระทำหรือหากผู้กระทำความผิดกำลังรับการลงโทษก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดมาก่อนเลย ศาลจะพิพากษาเพิ่มโทษโดยอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำไม่ได้ จะไม่รอการลงโทษหรือไม่รอลงอาญาก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทำผิดใดๆ มาก่อน
การนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิดแต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบของกฎหมายทำให้ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาเท่านั้น หากมีผู้ใดได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญา และการกระทำความผิดนั้นได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดทางแพ่ง เช่นความผิดในมูลละเมิดได้ ส่วนสิทธิอื่นๆ ที่เคยสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษานั้น ก็จะได้รับกลับคืนมา เช่น สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ แต่ไม่มีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน และไม่
มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ก็อาจได้รับกลับคืนตามกฎหมายอื่นได้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมในประเทศไทย
ในประเทศไทย อำนาจในการนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงต้องกระทำโดยการตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่กรณีเร่งด่วนซึ่งรัฐบาลสามารถตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นใช้บังคับได้โดยต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติในภายหลัง การนิรโทษกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ที่ออกให้แก่การกระทำความผิดทางการเมือง
อย่างไรก็ดีหลักของการนิรโทษกรรมคือกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิด เพื่อให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่กระทำลงไป จึงสามารถจำแนกกฎหมาย
นิรโทษกรรมได้เป็น 2 รูปแบบ คือ กรณีที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง และกรณีที่ไม่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง
1.กรณีที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นว่าการจะเป็นความผิดทางการเมืองนั้นต้องเป็นการกระทำความผิดต่อองค์การการเมืองแห่งรัฐ ต่อรูปแบบการปกครอง หรือต่อสิทธิทางการเมืองของประชาชน ซึ่งอาจพิจารณาได้จากสภาพความผิดหรือมูลเหตุจูงใจ หรือจุดประสงค์ในการกระทำความผิด ทั้งนี้กฎหมายนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง มีทั้งกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ได้แก่กฎหมายดังต่อไปนี้ คือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 พรบ.ล้างมลทินผู้กระทำควาผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พ.ศ. 2475 พรบ.นิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทน
ราษฏรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 พรบ.อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 พรบ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 พรบ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2502พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 พรบ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ.2519 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2520 พ.ศ. 2520 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 พ.ศ. 2520 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2524 พ.ศ. 2524 พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครอง แผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 พุทธศักราช 2531 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2534
นอกจากนี้การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมืองในกรณีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฎิวัติรัฐประหารอันอาจเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มบุคคลเข้าร่วมกันเพื่อต่อต้านนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาล และภายหลังรัฐบาลอาจเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีหรือลงโทษผู้กระทำการเช่นนั้น เช่น กรณีของผู้กระทำการต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามเอเชียบูรพา หรือการประท้วงรัฐบาลในกรณีต่างๆ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2489 พรบ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 พ.ศ. 2521 พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอานาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532
2. กรณีที่ไม่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง
มักใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดระเบียบโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการปฎิบัติตามกฎหมายในภายหน้าเพื่อให้ลืมและไม่ลงโทษในการกระทำความผิดที่ทำมาก่อนนั้นและชักจูงให้ผู้กระทำผิดได้เริ่มต้นกระทำการที่ถูกกฎหมายต่อไป ซึ่งกฎหมายประเภทนี้มักจะไม่ใช้คำว่านิร
โทษกรรมโดยตรงแต่เนื้อหาของบทบัญญัติแสดงให้เห็นว่าหากมีการกระทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ได้ออกมาบังคับใช้ภายหลังแล้ว ผู้กระทำผิดก็จะได้รับการยกเว้นและไม่ต้องถูกลงโทษจากการกระทำนั้น ตัวอย่างของกฎหมายนิรโทษกรรมประเภทนี้ได้แก่ พรบ.ยกความผิดให้แก่ผู้ทำผิด
พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร และผู้ขาดหนีราชการทหารและตำรวจ พ.ศ. 2475 หรือ พระราชบัญญัติยกโทษและทัณฑ์ให้แก่ทหารกองประจำการซึ่งขาดหรือหนีราชการ พ.ศ. 2532 ที่บัญญัติยกโทษยกความผิดให้แก่ผู้หนีทหาร พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2530ที่บัญญัติยกเว้นโทษและจูงใจให้ประชาชนที่มีอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่บัญญัติไว้มาขอรับอนุญาตจากนายทะเบียนและให้นำอาวุธสงครามมามอบให้แก่ทางราชราชการ หรือในกรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีหรือเสียไม่ครบถ้วนให้เข้ามาเสียภาษีโดยจะไม่ถูกลงโทษทั้งทางเเพ่งและทางอาญา
อย่างไรก็ตามการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่นั้นเป็นอำนาจและอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่าเป็นข้อยกเว้นของหลักกฎหมายทั่วไป จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นแล้วและควรใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเท่าที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
ที่มาของเนื้อหา : http://www.dol.go.th
ภาพ : วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์