เทวินทร์ วงศ์วานิช CEO of PTTEP

pttep

ENERGY FOR TODAY & THE FUTURE

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่เราทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้นพลังงานยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเจริญเติบโตของประเทศ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าปัจจุบันแนวโน้มราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซ หรือแม้กระทั่งไฟฟ้า ได้ส่งผลกระทบและสะท้อนภาพสถานการณ์ด้านพลังงานที่มีความท้าทายมากขึ้น การทำหน้าที่บริษัทพลังงานแห่งชาติในการแสวงหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับคนไทยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่มี คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านพลังงานมาไม่น้อยกว่า25 ปี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองด้านต่างๆ ในการทำงาน การดำเนินชีวิต ตลอดจนสถานการณ์ด้านพลังงานในประเทศ ณ ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไร รวมไปถึงอนาคตด้านพลังงานของไทย

ประวัติการทำงานก่อนมารับตำแหน่งปัจจุบัน สู่เส้นทางความสำเร็จ

ผมได้เริ่มงานกับบริษัทยูโนแคลประเทศไทยจำกัดในปี 2527 ในตำแหน่งวิศวกร และได้เข้าร่วมงานกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) – ปตท.สผ. ในปี2532 ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนแหล่งปิโตรเลียม พัฒนาและประเมินผลธุรกิจ   ตลอดระยะเวลา 15 ปีผมได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในระดับบริหารหลายตำแหน่ง อาทิเช่น สายงานวางแผนและพัฒนาธุรกิจสายงานปฏิบัติการด้านการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในโครงการหลักที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง และ โครงการลงทุนภูมิภาค

ในปี 2547 ผมได้ย้ายไปปฏิบัติงานสมทบที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจองค์กร ในปี 2551 ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร  และดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินในปี 2552 นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทในกลุ่ม ปตท.อีกหลายบริษัทด้วยกัน อาทิเช่น ปตท.เคมิคอลไทยออยล์ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น 

ผมเข้ารับตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ในปี 2552 และเริ่มดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม 2555

ภารกิจและวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำองค์กร

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจครบวงจรด้านพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเคมี โดย ปตท.สผ. เป็นธุรกิจต้นน้ำมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปตท.สผ. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะมีปตท. ถือหุ้นอยู่เกินครึ่ง ซึ่งปตท.เองก็ถือหุ้นโดยรัฐบาลอยู่เกินครึ่ง โดยปตท.สผ. เป็นองค์กรตัวแทนของคนไทย ในการเสาะแสวงหา สำรวจ พัฒนา พลังงานให้กับประเทศ  ซึ่งถ้ามีไม่พอกับความต้องการก็ต้องออกไปแสวงหาจากต่างประเทศ เพื่อจะได้มีพลังงานส่งเข้ามาในประเทศ หรือว่าสร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศ  และเมื่อ ปตท.สผ. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน แม้ ปตท.จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีผู้ถือหุ้นอื่นที่จะต้องดูแล ฉะนั้นพันธกิจของ ปตท.สผ. คือต้องสร้างความสมดุลในการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในทุกๆด้าน คือ สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและการมีธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร การดูแลพนักงานให้มีการพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายการดำเนินกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ด้วยภาระหน้าที่ที่ชัดเจน ทำให้เราตระหนักในหน้าที่ของเราว่า การทำงานของเราไม่ได้เป็นไปเพื่อการเติบโตทางธุรกิจเป็นที่ตั้งเท่านั้น แต่เรายังมีเป้าหมายและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการแสวงหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศอีกด้วย

มุมมองต่อสถานการณ์พลังงานของไทยในปัจจุบันและระดับโลกในอนาคต

ทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวโน้มการใช้พลังงานทั่วโลกนับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานมารองรับความต้องการภาพรวมประมาณ 60% สามารถผลิตเองในประเทศประมาณ 40% ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินโดยแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการพัฒนาของประเทศ

ในขณะเดียวกันประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยแหล่งพลังงานหรือมีอย่างมากมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ ที่สำคัญไปกว่านั้น แหล่งพลังงานอื่นๆบนโลก ที่สามารถนำขึ้นมาเพื่อผลิตได้โดยวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนั้น ในวันนี้เหลือน้อยเต็มที เพราะหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและสงครามโลกครั้งที่ 2 แหล่งพลังงานเหล่านั้นได้ถูกพัฒนาและผลิตขึ้นมาใช้และมีการจับจองเป็นเจ้าของกันไปหมดแล้ว

และแน่นอนเมื่อแหล่งพลังงานขนาดใหญ่และผลิตขึ้นมาใช้ได้โดยง่ายนั้นลดน้อยลง การสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ ก็ต้องไปในที่ที่ไกลขึ้น ยากลำบากมากขึ้น และต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน ท้ายที่สุดก็ย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันที่จะปรับสูงขึ้น

ในฐานะประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ประเทศไทยต้องรับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนราคาน้ำมัน 20 เหรียญต่อบาร์เรล ภาระการนำเข้าพลังงานของประเทศไทยคิดเป็นประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันนี้ราคาได้ปรับถึงบาร์เรลละ 100 เหรียญประเทศไทยใช้เงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีใช้จ่ายไปกับการนำเข้าพลังงานหากเราไม่ทำอะไรรอซื้ออย่างเดียว อีก 5 ปีข้างหน้าถ้าราคาน้ำมันขึ้นเป็น 200 เหรียญต่อบาร์เรล ตัวเลขจะสูงขึ้นไปกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นภาระใหญ่สำหรับดุลการค้าของประเทศ

เราเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน แล้วเราจะทำอย่างไร  หนึ่งต้องไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ต้องใช้อย่างประหยัด ต้องใช้ในสิ่งที่จำเป็น  สองต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต้องมีวิธีการใช้ที่ให้เกิดประสิทธิภาพทางพลังงานสูงสุด สามต้องพัฒนาพลังงานที่มีอยู่ในประเทศให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ก็คือ น้ำมัน ก๊าซ ที่เรามีอยู่ ต้องเอาขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ จะได้บรรเทาการนำเข้า สี่ต้องหาพลังงานรูปแบบอื่น หรือพลังงานหมุนเวียน เช่นเชื้อเพลิงชีวภาพพลังงานทางเลือกอื่น เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานทดแทน(Renewable Energy) นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า แทนที่จะใช้ก๊าซใช้น้ำมัน

ที่สำคัญคือ การพยายามไปเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรในประเทศที่เขามี เพราะถึงแม้จะไม่ได้นำพลังงานที่อยู่ไกลนั้นกลับมา แต่เราก็จะสามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศเพื่อมาชดเชยการนำเข้าพลังงาน

แผนการสำรวจแหล่งพลังงานและเป้าหมายในอนาคต

กว่าจะถึงวันนี้ เราเติบโตมามากจากบริษัทสำรวจและผลิตเล็กๆเมื่อ 25-26 ปีก่อน ที่ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่มีแหล่งผลิตของตัวเอง ไม่เคยเป็นผู้ดำเนินการเอง เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปร่วมลงทุนกับต่างชาติ จนกระทั่งเราพัฒนาขีดความสามารถมาเป็นผู้ดำเนินการเองได้ ไปขอสัมปทานพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทำการสำรวจ วางแผนการพัฒนา ก่อสร้างอุปกรณ์การผลิต ติดตั้งอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นบนบกหรือในทะเล แล้วก็ผลิตทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมา

เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ สูญเสียเงินเป็นจำนวนมากในแต่และปีเพื่อนำเข้าพลังงานมาตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการแสวงหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับคนไทย เรามีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการเป็น “บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในเอเชีย ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและหัวใจสีเขียว โดยมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง”

จากที่กล่าวมาแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยแหล่งพลังงานหรือมีอย่างมากมาย การออกไปสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเข้าถึง อัตราการแข่งขันที่สูง การเงินลงทุนจำนวนมาก ความพร้อม ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ปตท.สผ. จึงมีการวางกลยุทธ์ในการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสามารถดำเนินธุรกิจได้บนความท้าทายดังที่กล่าวมา คือการพิจารณาการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางการเติบโตของปตท.สผ.ได้แก่ การขยายพื้นที่การสำรวจในประเทศไทย การลงทุนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้บ้านเรา เช่น ประเทศพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ในแอฟริกาตะวันออก เช่นประเทศโมแซมบิค หรือแถบอเมริกาเหนือ ในประเทศแคนาดา

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ หรือการลงทุนที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่บริษัทไม่คุ้นเคย บริษัทฯ จะคำนึงถึงโอกาสการเข้าร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีความรู้ ความสามารถ และต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือและผลการดำเนินงานที่ดี เพื่อขยายการลงทุนและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของปตท.สผ.

ปตท.สผ. มุ่งมั่นสู่การเติบโตและการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน(Sustainable Organization) โดยการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ครบทุกมิติ คือ การเติบโตทางธุรกิจ การใส่ใจสังคม ชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อม

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการเป็นองค์กรยั่งยืน (Sustainable Organization)ปตท.สผ. ต้องมีความสามารถในทางเทคโนโลยี (Technology Competence)  และ ต้องมีกระบวนการทำงานทุกอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูแลในเรื่องสังคมและชุมชนด้วย (Green Practices) เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้เทคโนโลยีคือปัจจัยที่จะลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้เราสามารถไปเสาะแสวงหาทรัพยากร ที่อาจจะอยู่ในที่ยากๆได้ เช่น ที่น้ำลึก หรือที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เทคโนโลยีจะเป็นตัวนำที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเรา และเนื่องจากธุรกิจพลังงานมีโอกาสมากที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นสำคัญอย่างยิ่งที่บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องตระหนักเสมอว่า การกระทำทุกอย่างต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ Green Practices จะเป็นวิถีการทำงานที่ทำให้เราสามารถไปประกอบธุรกิจโดยเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล

แนวทางการบริหารงานและการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ

ปตท.สผ. เป็นองค์กรที่เติบโตเร็ว นอกจากในเรื่องเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีภารกิจในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ  การตั้งเป้าหมายต้องดูให้สอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นเดียวกับการดำเนินชีวิต ถ้าเราตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับศักยภาพที่เรามี ก็จะไม่เกิดความเครียด  ถ้าตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปก็จะทำได้ยาก และต้องใช้ความพยายามมากเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งอาจจะทำให้มีผลกระทบกับเรื่องอื่นๆด้วย  ในขณะเดียวกัน ถ้าตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป  ก็จะเสียศักยภาพที่เรามี ฉะนั้นจึงต้องหาจุดสมดุลให้เจอ

แต่ที่สำคัญคือเราจะต้องใฝ่หาความรู้ ไม่หยุดยิ่งอยู่กับที่ พัฒนาตนเองและมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะทุกวันนี้โลกหมุนเร็วขึ้น เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องปรับตัวให้ทัน

การดูแลชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก การพักผ่อน

ต้องยอมรับว่าเวลาส่วนใหญ่ของผู้บริหารมักจะหมดไปกับเรื่องงานการประชุมและงานพบปะทางสังคม ซึ่งอาจจะมีภารกิจต่อเนื่องไปจนถึงวันหยุด เช่น ในวันเสาร์อาทิตย์บางครั้งก็ต้องต้อนรับแขกหรือเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ดังนั้น ส่วนตัวแล้วจึงไม่เคร่งครัดกับการหาเวลาพักผ่อนให้ตนเองมากนัก สร้างความสุข สนุก ให้เกิดในระหว่างการทำงาน ซึ่งยึดภาระหน้าที่เป็นตัวตั้ง และหากมีเวลาว่างก็ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง เช่น  เล่นกอล์ฟ ชมภาพยนตร์ หรือขับรถไปต่างจังหวัดกับครอบครัว (ซึ่งท่านมีบุตร 3 คน คนโตเป็นบุตรสาว รองมาเป็นบุตรชายอีก 2 คน)

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือเป็นอีกกิจกรรมที่ผมชอบ อ่านเกือบทุกประเภททั้งหนังสือจีนกำลังภายใน ซึ่งสอนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีน้ำใจ หนังสือเบาสมอง หนังสือสนุกอื่นๆ ซึ่งช่วยสร้างจินตนาการ ทำให้ผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี

การผ่อนคลายอีกทางหนึ่ง คือการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ บางครั้งมีโอกาสนั่งรถไฟจะชอบชื่นชมทิวทัศน์ระหว่างทาง สามารถเดินไปมาบนตู้โดยสารได้ เป็นการเดินทางแบบสบายๆไม่รีบร้อน และได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงด้วย หากเปรียบการเดินทางเสมือนปรัชญาการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งก็เปรียบได้กับการนั่งเครื่องบิน ได้ถึงเป้าหมายเร็ว แต่ก็อาจพลาดโอกาสได้ชื่นชมทิวทัศน์ที่สวยงามระหว่างทาง  แต่ถ้านั่งรถไฟ แม้ว่าจะถึงเป้าหมายช้าหน่อยแต่ก็มีเวลาให้กับการชื่นชมสิ่งรอบตัวเรา หากรถไฟของไทยพัฒนาให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยทัดเทียมกับต่างประเทศ ก็จะเป็นการเดินทางที่ได้รับความนิยมมาก

ด้านการดูแลสุขภาพนั้นแบ่งเป็นสุขภาพใจและสุขภาพกาย การดูแลจิตคือการไม่ให้มีทุกข์อยู่ในใจ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับจิตใจ คือ นำหลักธรรมของศาสนาพุทธมาใช้ ละกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติกับทุกคน หากไม่ยึดติดกับกิเลสก็จะทุกข์น้อย ผมเชื่อในกฎแห่งกรรม โดยมีคติประจำใจว่า คนทำความดีจะได้รับสิ่งดี ใครทำอะไรก็จะได้รับผลตอบแทนแบบนั้น โดยอาจเห็นผลในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ทำให้ผมมุ่งมั่นทำสิ่งดี ตั้งใจทำงานและหน้าที่ทุกๆด้านให้ดีที่สุด โดยไม่คำนึงว่าจะต้องได้รับสิ่งดีตอบแทนในชาตินี้

ส่วนสุขภาพกาย การดูแลในเรื่องอาหาร การนอน และการออกกำลังกายอาจจะค่อนข้างจำกัดด้วยเวลาซึ่งผมก็จะพยายามทานให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารที่ทำลายสุขภาพ เช่น ของมัน ของทอด แต่เนื่องจากมีงานเลี้ยงบ่อยอาจทำให้คุมอาหารได้ไม่เต็มที่ สำหรับในเรื่องการนอนค่อนข้างจำกัด ถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์  โชคดีที่ผมเป็นคนนอนหลับง่ายไม่ค่อยนำเรื่องเครียดมาคิดก่อนนอนทำให้เวลาพักผ่อนเป็นการพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

การออกกำลังกายก็จะเป็นไปในรูปแบบของการเดิน หรือทำอะไรให้รวดเร็วขึ้น เช่น เดินขึ้นลงบันได  เวลาเล่นกอล์ฟก็พยายามเดินเพื่อใช้เป็นโอกาสในการออกกำลังกาย

บุคคลต้นแบบ

บุคคลต้นแบบของผมคือ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระองค์ทรงเสียสละความสุข ความสะดวกสบายส่วนพระองค์ และมุ่งสร้างประโยชน์ส่วนรวม ทรงเป็นต้นแบบที่ประเสริฐยิ่ง ในเรื่องการทำความดี และการ เสียสละ พระองค์ท่านทรงงานเพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระบารมีของพระองค์ท่านเกิดจากที่ประชาชนเห็นว่าพระองค์ได้ทรงอุทิศตนเพื่อผู้อื่น  ดังนั้น ประชาชนจึงรักเคารพ ยกย่อง และชื่นชม ผมเชื่อว่าคนที่ทำเพื่อตนเองถึงจะเก่งหรือรวยแค่ไหนก็ไม่ได้รับการชื่นชมเท่ากับการทำให้กับผู้อื่นด้วยจิตใจที่ดี การประสบความสำเร็จตามป้าหมายของตนเองในชีวิตก็ไม่ภาคภูมิใจเท่ากับการได้ทำเพื่อบรรลุเป้าหมายของส่วนรวมและประเทศชาติเรื่องที่ประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาคือ“ประมาณ 10 กว่าปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานชื่อ “พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์” ให้กับพื้นที่ในโครงการบงกช และโครงการอาทิตย์ ของ ปตท.สผ.  คณะผู้บริหารฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ พระราชวังไกลกังวล  ซึ่งในขณะนั้นก็คาดว่าน่าจะได้เข้าเฝ้าฯ ประมาณ 15 นาที แต่พระองค์ท่านประทับอยู่และทรงสนทนาด้วยถึงประมาณ 2 ชั่วโมง 45 นาที ทรงสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของปตท.สผ. พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจกรรมของกลุ่มปตท. และทรงติดตามการดำเนินงานของพวกเรา เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ผู้บริหารทุกคนที่เช้าเฝ้าฯในวันนั้นมีความปลื้มปิติและรู้สึกได้ถึงพระบารมีและทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งโดยส่วนตัว รู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้เกิดในช่วงที่ท่านเป็นพระมหากษัตริย์และได้เห็นพระราชกรณียกิจ ความทุ่มเทและพระเมตตาของพระองค์ท่าน  ยิ่งได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดและรับฟังสิ่งที่ท่านตรัสก็นับเป็นมงคลยิ่งและยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

Related contents:

You may also like...