มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา นอกจากความช่วยเหลือของคนไทยด้วยกันแล้ว น้ำใจจากนานาชาติได้แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยนั้นมีมิตรประเทศที่ไม่ทอดทิ้งให้เราเผชิญหน้าเพียงลำพัง หนึ่งในนั้นคือราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกันมายาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ดินแดนอัสดงคตที่คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับชื่อในบริบท เอกสาร หรือที่มาจากแหล่งต่างๆ อาทิ “ฮอลันดา” “ฮอลแลนด์” แม้แต่ “วิลันดา” คือประเทศชั้นนำที่สามารถดำรงอยู่โดยยอมรับความยิ่งใหญ่เข้าใจความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติ พิสูจน์ได้จากผืนดินส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแต่ก็สามารถตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตลอดจนเพาะปลูกพืชพรรณเลี้ยงปากท้องพลเมืองชาวดัตช์และสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก ดังนั้นประสบการณ์ กระบวนการ ตลอดจนวิทยาการ จากเนเธอร์แลนด์จึงถูกระดมเข้ามาเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในทันที
อีกหนึ่งความโชคดีคือ ในระยะเวลาเพียงไม่นานที่เอกอัครราชทูตท่านเก่าครบวาระการดำรงตำแหน่งและเกษียณอายุราชการ เอกอัครราชทูตท่านใหม่ก็เข้ามาพำนักและถวายพระราชสาส์นแล้วปฏิบัติงานต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ของ ฯพณฯ โยฮานเนส อานดรีซ์ บัวร์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งเคยทำงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาชนบท สิ่งแวดล้อม และการเกษตรในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาเป็นเวลาหลายปี ก็ถูกกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาครัฐของประเทศไทยได้อย่างถูกที่และถูกเวลา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วจึงไม่รอช้าที่จะขอเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ในเรื่องส่วนตัวและเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเนเธอร์แลนด์บ้านเกิดของท่าน ทรรศนะรวมถึงการเปรียบเทียบระหว่างเนเธอร์แลนด์และประเทศไทย ตลอดจนภารกิจต่างๆ ในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งปีที่เข้ามารับตำแหน่ง
“สิ่งที่ผมภูมิใจในบ้านเกิดของผมมีอยู่สองเรื่องก็คือสีเขียวและน้ำ ทุกแห่งหนทั่วโลกที่ผมเดินทางไปได้พบว่าที่เหล่านั้นมีคนดัตช์อยู่ มันคล้องจองกับคำที่ว่าคนดัตช์มีความสามารถในการส่งออก คนดัตช์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นได้ค่อนข้างดี มีทักษะของการเป็นนักเดินทางซึ่งสามารถไปได้ทั่วโลกโดยไม่ไม่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต เพราะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ
“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์ก็คือ Horizon หรือแนวราบ ประเทศนี้ถูกเปรียบเทียบว่า มี 3 ส่วนเป็นฟ้า 3 เป็นน้ำ และ 1 ส่วนเป็นดิน
“ความเป็นคนดัตช์นั้นผมภูมิใจแต่ไม่เย่อหยิ่ง แม้เป็นประเทศเล็กก็จริงในเรื่องขนาดแต่ความสามารถเรื่องเศรษฐกิจถือว่าใหญ่ ยกตัวอย่างบริษัท เชลล์ ยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกก็เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานมาจากเนเธอร์แลนด์ บริษัทเชลล์ก็ใช้ชื่อว่าเป็น Royal Dutch Shell สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์
“อีกสิ่งหนึ่งคือคนดัตช์มีวิญญาณของความเป็นนักค้าขาย ด้วยความที่เป็นนักค้าขายจึงต้องเดินทางไปทั่วโลกจำเป็นต้องมีทักษะที่ใช้ภาษาได้หลายภาษามิเช่นนั้นจะเหมือนคนพิการที่ไม่สามารถทำอะไรได้ครบถ้วน ส่วนตัวผมก็พูดได้ 5 ภาษา แต่ผมไม่มีความประสงค์จะไปทำงานในประเทศที่ผมไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สมมติผมออกไปในท้องถนนเมื่อคนท้องถิ่นคุยกันแต่ผมไม่เข้าใจผมก็จะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจราวกับคนพิการที่ไม่สามารถทำอะไรๆ ได้เหมือนคนอื่น การเรียนรู้ภาษาต่างชาติจึงเป็นเหมือนสัญชาตญาณของชาวดัตช์เลยทีเดียว แต่ปัจจุบันเมื่อต้องมาประจำการในประเทศไทย ทักษะด้านภาษาของผมยังไม่ดีมากนักแต่ก็พยายามทำความเข้าใจ”
ท่านให้ความเห็นว่าถ้าจะให้แนะนำประเทศของท่านนั้นเห็นที่จะใช้เวลาอีกยาวนาน แล้วท่านก็หันกลับมาพูดในสิ่งที่เราทั้งหลายก็อยากจะทราบเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของทั้งชาวเนเธอร์แลนด์(ดัตช์)และชาวไทย
“ประเด็นเรื่องน้ำ โดยองค์ความรู้ของเนเธอร์แลนด์นั้น น้ำไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก และไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มันไม่ได้ไหลไปตามแรงกดดันด้านการเมือง วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต ฉะนั้นการบริหารจัดการก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อน้ำ ผมเคยไปที่อำเภอทุ่งสง มีการบริหารจัดการโดยอาศัยน้ำเป็นตัวตั้ง พอผมออกไปแนะนำคนไทยก็อาจจะมองว่าอันนี้เป็นความรู้ของฝรั่ง ใช้ไม่ได้กับสภาพแวดล้อมของไทย ผมจึงมีความแปลกใจ จากปัญหาของน้ำผมมองว่าต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ไม่ใช่ไปแก้ที่เรื่องวัฒนธรรม ที่เนเธอร์แลนด์สามารถแก้ปัญหาน้ำได้เหมาะสมก็เนื่องมาจากมีหลักร่วมกัน เพราะเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่และทำความเสียหายอย่างมาก ฉะนั้นมันต้องไม่เกิดขึ้นอีก ด้วยทฤษฎีนี้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงแม้ประเทศจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร แต่จะสังเกตว่าปัญหาเรื่องน้ำสามารถรับไหว สังเกตได้จากบ้านของผมเองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร แต่ไม่กังวลเรื่องน้ำเลย เพราะหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นที่เขาดูแลด้านน้ำจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ เนื่องจากยึดหลักว่า มันจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือ never again มีคำพูดตลกที่พูดกันติดปากว่า ทำไมประเทศเนเธอร์แลนด์ถึงมีไดฟ์ (แนวเขื่อนกั้นน้ำ) สูงนัก ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนเนเธอร์แลนด์ต้องไปเดินในน้ำ”
แต่ตัวอย่างจากประเทศไทยที่ท่านก็คงทราบดี คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาจากภัยธรรมชาติ ร่วมกันแก้ไขตลอดจนเชื่อฟังการสั่งการจากหน่วยงานรัฐ และภาครัฐจะต้องสร้างศรัทธาจากประชาชนอย่างไร ถึงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน
“ความหมายของการจัดการน้ำก็คือต้องเคารพน้ำ เพราะในบางครั้งน้ำมันอาจจะโหดร้ายได้ เราอาจจะสามารถสร้างเรื่องตลกเกี่ยวกับน้ำได้ แต่น้ำนั้นก็ไม่ใช่เรื่องตลก น้ำนั้นต้องอยู่เหนือการเมือง ตัวอย่างเนเธอร์แลนด์มกุฎราชกุมารของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำ เรื่องการจัดการน้ำไม่ควรปล่อยให้อุปสรรคเรื่องงบประมาณมาเป็นข้อจำกัด แต่ควรจะเป็นการดำเนินการในระยะยาว ฉะนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ไม่ควรจะไปแตะจนทำให้โครงการน้ำมันหยุดชะงัก โครงการน้ำควรจะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องและระยะยาวสำหรับประเทศ แต่มันมีปัจจัยประกอบ คือ การปบริการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการขนส่ง หรือเพื่อผังเมือง ควรจะมีสถาบันที่สามารถนำการใช้น้ำที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันนี้มาเชื่อมโยงกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาโดยสถาบันนี้คือ สิ่งที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติ (need to be done) หลังจากเชื่องโยงวัตถุประสงค์เหล่านี้แล้ว
“สิ่งที่พบเจอในเนเธอร์แลนด์นั้นคือ ไดฟ์ไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นพื้นที่ (space) สำหรับให้น้ำอยู่หรือไหลไป เมื่อก่อนนี้เนเธอร์แลนด์พยายามสร้างไดฟ์แต่ปัจจุบันเราเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ไปว่าไม่ใช่การสร้างไดฟ์แล้วแต่ต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้น้ำไหลไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไดฟ์ในเนเธอร์แลนด์มี 3 ระดับ ระดับที่ไม่สูงมากเป็น guardian คือเฝ้าระวัง ถ้าสูงจากระดับนี้ไปแล้วเมื่อล้นเขื่อนขึ้นไปจะเข้าสู่อีกระดับหนึ่งคือ dreamer แสดงว่าน้ำสูงขึ้นแล้ว ถ้าหากน้ำผ่านจากด้านนี้ขึ้นไป คือจุดที่เรียกว่า sleeper แสดงว่าปัญหานี้เข้าขั้นวิกฤตแล้ว นี่คือสิ่งที่ประเทศเราทำอยู่
“ที่ผมเน้นมากก็คือทำอย่างไรให้น้ำมันไหลไป ฉะนั้นสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ไม่ควรจะกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำ ถ้ามีอยู่ก็ควรนำออกไป น้ำไม่ได้ไหลเป็นเส้นตรง แม้กระทั่งการสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำแต่ปัญหาเรื่องของระบบข้อมูล ปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นนั้น มีการตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า ศปภ. เนเธอร์แลนด์ส่งผู้เชี่ยวชาญฯ มา 2 คน พบว่าข้อมูลของเมืองไทยเรื่องน้ำนั้นมีเยอะ แต่ปัญหาคือไม่มีการเชื่องโยงข้อมูลเหล่านี้ ทางผู้เชี่ยวชาญเนเธอร์แลนด์จึงสร้างระบบขึ้นมาว่าถ้าเชื่อมโยงข้อมูลแล้วจากสถานการณ์น้ำที่เรียกว่ารุนแรงจนถึงสถานการณ์น้ำที่เลวร้ายที่สุดมันจะเกิดอะไรขึ้น
“จากข้อมูลที่ได้พบว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่ดอนเมืองซึ่งระดับน้ำสูงประมาณ 1.6 เมตร แล้วถ้าไม่ปิดจุดนี้น้ำก็จะไหลเข้าท่วมพื้นที่กทม.จากทฤษฎีของเนเธอร์แลนด์ที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าถ้าเป็นสถานการณ์ในเนเธอร์แลนด์นั้นระดับน้ำขนาดนี้คือขั้น sleeper แล้ว แต่ว่าระบบของประเทศไทยไม่มีทั้งขั้น guardian – dreamer – sleeper จึงทำให้ต้องใช้ระบบของ Big Bag ดังที่เราเห็น ปรากฏว่าพอปิดแล้วน้ำก็ไม่เข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ทำให้ป้องกันกรุงเทพฯ จากน้ำท่วมได้
“เราพบว่าระบบการจัดบริหารการน้ำของกทม.เป็นระบบที่มุ่งแก้ปัญหาจากระบบน้ำฝนมากกว่าไม่ใช่สำหรับน้ำท่วมอย่างที่เราเจอกันทุกวันนี้”
“บทเรียนที่เนเธอร์แลนด์ได้รับที่ผ่านมาคือการที่เราเคยมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ การใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ เช่นการสร้างบ้านบทที่ที่ควรจะใช้เพื่อการเกษตร สิ่งเหล่านี้เนเธอร์แลนด์เคยประสบมาแล้ว จนกระทั่งมีการย้ายเมืองออกไปเพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้กับแม่น้ำได้ไหล
“มีอยู่ 2 สิ่งที่ผมอยากจะเน้นนอกเหนือจากการเปิดพื้นที่ให้น้ำได้ไหลก็คือเปิดพื้นที่ให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย ก็คือ เปิดพื้นที่ให้กับหน่วยงานของรัฐได้บริหารจัดการ ปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำเช่น ปัจจัยด้านกายภาพ ด้านการเกษตร ด้านน้ำดื่ม เรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย การวางผังเมือง การพักผ่อน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ต้องน้ำมาเชื่อมโยงประกอบการพิจารณา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทางรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ชี้แนะให้กับรัฐบาลไทยได้ทราบแล้ว มันเป็นเรื่องของสามัญสำนึก อย่างกรณีของเมืองไทยนั้นหากมีการประกวดหรือแข่งขันการสร้างกระสอบทรายเมืองไทยคงจะเป็นแชมป์โลก”
ท่านทูตกล่าวอย่างติดตลก แต่นั่นก็เป็นความจริงที่ว่าไม่มีประเทศไหนสร้างกำแพงกระสอบทรายกันน้ำได้รวดเร็วและมากมายเท่ากับเมืองไทย
“บทสรุปหนึ่งก็คือต้องมี 2 อย่าง คือมีหน่วยงานหรือสถาบันที่รับผิดชอบ และมีเทคโนโลยี หลังจากมี 2 สิ่งนี้แล้ว สิ่งต่อไปที่ควรมีก็คือ กลไกการถกเถียงกับเพื่อหาบทสรุป (dialog) บนแม่น้ำสายเดียวกันมันมีคนอยู่ตลอดแนวแม่น้ำ แต่ว่าประชาชนในแต่ละจุดของแม่น้ำสายเดียวกันนี้มีความเห็นและมีความต้องการใช้น้ำแตกต่างกัน จึงต้องดูวัตถุประสงค์เหล่านี้ด้วย ว่าจะทำอย่างไรหรือบริหารจัดการให้ทุกกลุ่มใช้น้ำได้อย่างลงตัว
“ประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำระหว่างเนเธอร์แลนด์และไทยผมคิดว่าผมได้ทำอย่างเต็มที่มาพอสมควรตลอดเวลาที่ผ่านมาผ่านการทำงานร่วมกับ ศปภ.”
เมื่อได้เข้าไปถึงห้องทำงานเอกอัครราชทูตทั้งทีก็ควรจะมีเรื่องราวที่สะท้อนถึงภาระหน้าที่ของท่าน จึงขอกระแซะถามเพียงบางแง่มุมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้นในมุมมองของท่าน
“สิ่งที่ผมหวังคือการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา (เปิดอก) พูดคุยอย่างจริงใจ ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับประเทศไทย ยกตัวอย่างตอนที่เกิดน้ำท่วมในเมืองไทยแม่ของผมก็โทรมาถามว่าเกิดน้ำท่วมอย่างนี้ทำอะไรอยู่ เพราะว่าน้ำกับเนเธอร์แลนด์นั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดกันมาก และมันอยู่ในหัวใจของคนเนเธอร์แลนด์ทุกคน
“มีคนเนเธอร์แลนด์ในเมืองไทยราว 100,00 – 150,000 คน จำนวนร้านอาหารไทยในเนเธอร์แลนด์ก็มีเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะดำเนินการโดยชาวจีน ตัวผมเองก็ชอบอาหารไทย และชอบการต้อนรับขับสู้แบบไทย ตลอดเวลา 400 ปีเนเธอร์แลนด์กับไทย(สยาม)ก็ติดต่อค้าขายกันแบบเพื่อน ไม่ใช้ในลักษณะของอาณานิคม
“เมื่อเช้าผมไปร่วมฟังการบรรยายและการอภิปรายเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็พบว่ามีหลายคำถามที่คนถามได้ถามอย่างเปิดอกแต่ว่าตัวผมเองไม่สามารถให้ความเห็นได้ในฐานะที่ผมเป็นคนนอก
“สิ่งที่ผมหวังไว้อย่างมากก็คือการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การมีนักเรียนไทยไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์ก็จะเป็นเรื่องดีมากเพราช่วยสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ สิ่งที่ผมเน้นมากๆ คือเรื่องความจริงใจ ในบางเรื่องเราอาจจะมีความเห็นที่ไม่เหมือนกันแต่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ในหลายเรื่องเรามีสิ่งที่คล้ายกันและเหมือนกันซึ่งเราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเพื่อน อีกสิ่งที่ผมอยากเห็นคือคนเนเธอร์แลนด์มาอยู่เมืองไทยเยอะมากและมีความสุข ขณะเดียวกันคนไทยไปอยู่ไปเที่ยวเนเธอร์แลนด์แล้วมีความสุข อยากเห็นการลงทุนในเนเธอร์แลนด์โดยชาวไทยมากขึ้น พอๆ กับที่อยากเห็นชาวเนเธอร์แลนด์ลงทุนในไทยเยอะขึ้น”
ปิดท้ายด้วยเรื่องอาหารการกิน เพราะดูว่านับจากที่ได้พบและทำความรู้จักกับท่านในช่วงแรกที่ท่านมารับตำแหน่งจนกระทั่งถึงวันที่เราได้รับเกียรติเปิดห้องทำงานให้สัมภาษณ์แบบเปิดอกนั้นท่านทูตดูจะมีรูปร่างอวบอิ่มขึ้นเล็กน้อย ท่านตอบทั้งในแนวทางของการทูต และบทบาทของชาวต่างชาติในประเทศไทยอย่างน่าคิด
“ผมก็อยากจะเห็นอาหารไทยในเนเธอร์แลนด์วางขายแพร่หลายมากยิงขึ้น นอกจากนี้และสำคัญมากก็คือ อยากเห็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน สิ่งสุดท้ายในส่วนของอาหารไทยคนเนเธอร์แลนด์คิดว่าต้องการได้รับคำแนะนำจากคนไทย สำหรับในเมืองไทย ภัตตาคารอาหารไทยที่ดีที่สุดผมคิดว่าเป็นร้านที่อยู่ตามข้างถนน (ยิ้มกริ่ม) ผมรักอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น ฯลฯ สิ่งที่ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเวลาไปทานตามร้านข้างถนนมีสิ่งเดียวก็คือ เวลาผมไปทานอาหารไทยในร้านอาหารเหล่านั้นน่าเสียดายที่ผมไม่สามารถอ่านเมนูและสื่อสารกับพ่อครัวแม่ครัวได้เหล่านั้นได้ ซึ่งไม่แค่เพียงผมเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติอีกจำนวนมาก มันจะช่วยอย่างมากในการเพิ่มรายได้ให้กับร้านเหล่านั้นได้มากทีเดียว ผมยังยืนยันว่าอาหารไทยที่อร่อยที่สุดก็คืออาหารไทยที่อยู่ตามร้านข้างถนนเพราะว่าคนเหล่านี้สั่งสมประสบการณ์ในการทำมามากกว่า 20-30 ปี”