เลี้ยงลูกด้วย “4 ดี” บ่อเกิดแห่งความสุขครอบครัว

family

การที่เด็กทำตัวเป็นเด็กดี ไม่ใช่เพราะว่าเด็กชอบเป็นเด็กดี แต่เด็กต้องการจะดีพอที่พ่อแม่จะรักและเลี้ยงดู ดังนั้นเป้าหมายหลักอยู่ที่ตัวเด็กเอง ไม่ใช่เพราะความจำเป็นอื่นใดหรือผลประโยชน์ส่วนรวมของครอบครัว ถ้าเลือกได้เด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีเพื่อจะได้เป็นที่รักของพ่อแม่และพ่อแม่จะได้รักหรือเลี้ยงดูตนเอง แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะทำตัวเป็นเด็กดีได้เพราะมีปัจจัยมากมายที่เป็นอุปสรรคและเบี่ยงเบนเด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักหรือไม่เหมาะสม

เด็กต้องการการเลี้ยงดูและการดูแลจากพ่อแม่จนกระทั่งเติบโตและสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากพ่อแม่ไม่ดูแลเด็ก คงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะอยู่รอดปลอดภัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ พ่อแม่ไม่ควรขู่ว่าจะทอดทิ้งเด็ก ไม่ว่าจะพูดทีเล่นทีจริงหรือพูดด้วยอารมณ์โกรธ
มหัศจรรย์แห่งความสุขกับการเลี้ยงลูกด้วยหลัก “4 ดี” ของ พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ อาจเป็นอีกหนางแนวความคิดที่สร้างสรรค์ครอบครัวให้อบอุ่นได้ด้วยความสุขและความเข้าใจของพ่อแม่สู่ลูก

ดีที่ 1 รู้จักเด็ก
เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันและ มีลักษณะเฉพาะตัวที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด คือ พื้นฐานอารมณ์ (temperament) เป็นผลจากพันธุกรรมที่รับมาจากพ่อแม่และสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์และ หลังคลอด ซึ่งส่งผลให้เด็กแต่ละคนแสดงพฤติกรรมเฉพาะตัวออกมาแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่คนเดียวกันหรืออยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
คณะวิจัยของ Thomas และ Chess ได้ศึกษาพื้นฐานอารมณ์ของเด็กและแบ่งลักษณะเด็กตามพื้นฐานอารมณ์ ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • เด็กเลี้ยงง่าย มักพบประมาณร้อยละ 40 ของกลุ่มที่ศึกษา เด็กกลุ่มนี้มีระบบการทำงานของร่างกายค่อนข้างสม่ำเสมอ เด็กมักจะอารมณ์ดีและปรับตัวได้เร็ว กินง่าย นอนตามเวลา เมื่อถึงเวลาตื่นอาจร้องเพียงเล็กน้อย พอได้กินนมจะสงบได้เร็ว ไม่ค่อยงอแง หลับได้นาน และคาดเดาได้ง่ายว่า นอนนานเท่าไรจึงจะตื่น
  • เด็กเลี้ยงยาก มีลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มแรก พบประมาณร้อยละ 10 เด็กกลุ่มนี้มีระบบการทำงานของร่างกายไม่สม่ำเสมอ ค่อนข้างปรับตัวยากหรือปรับตัวช้า มักจะใช้เวลานาน หงุดหงิดง่ายและอารมณ์ไม่คงที่ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กินยาก นอนยาก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ร้องไห้ง่าย งอแง ปลอบยาก แปรปรวนง่ายเมื่อมีสิ่งใดมากระทบเพียงเล็กน้อย ทำให้พ่อแม่กังวลในการตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก คาดเดาได้ยากว่าควรตอบสนองเด็กอย่างไร พ่อแม่ที่มีลูกเช่นนี้จะต้องมี ความอดทนสูงและเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ไม่หงุดหงิดที่เด็กเป็นเช่นนี้ และวางแผนจัดเวลาให้พ่อแม่สลับกันได้พักผ่อน หรือมีตัวช่วยอื่น เช่น ญาติหรือพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยงในบางเวลา
  • เด็กที่ปรับตัวช้า พบประมาณร้อยละ 15 เด็กกลุ่มนี้มีอารมณ์ไม่ดีบ่อย เด็กอาจร้องไห้มากในช่วงแรก เมื่อพ่อแม่ช่วยทำให้รู้สึกสบายหรือคุ้นเคยขึ้นจึงจะสงบ บางครั้งเด็กต้องการเวลาในการปรับตัวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดสักครู่หนึ่งก่อน พ่อแม่ต้องให้เวลาโดยไม่กดดัน เด็กจึงจะทำได้ดี เช่น เวลาดูดนม เด็กอาจดูดนมไปสักครู่แล้วจะหยุดดูดเพื่อหยุดพัก ๒-๓ นาที แล้วจึงเริ่มต้นดูดใหม่ ถ้าแม่ใจร้อนหรือขี้รำคาญและต้องการเร่งให้เด็กดูดนมเร็วๆ เด็กมักจะหงุดหงิดและกลายเป็นเด็กที่งอแง พ่อแม่ที่มีลูกเช่นนี้ควรให้เวลาเด็กในการปรับตัวและใจเย็นกับเด็ก
  • เด็กที่มีลักษณะผสมอยู่ในระดับเฉลี่ยปานกลาง ประมาณร้อยละ 35 เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะผสมผสานกัน โดยจะมีระบบการทำงานของร่างกายที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและอาจมีการเปลี่ยนแปลง บ้าง เด็กมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือตอบโต้เมื่อเผชิญสถานการณ์หรือสิ่งแปลกใหม่ใน ระดับเกณฑ์เฉลี่ย ไม่มากหรือน้อยเกินไป พ่อแม่ที่มีลูกเช่นนี้ควรสังเกตและปรับการตอบสนองตามลักษณะของเด็ก แสดงว่าเด็กทารกจะเริ่มแสดงแนวโน้มของบุคลิกภาพและลักษณะบางอย่างเฉพาะตัว ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก เช่น การดูดนมแม่ดังตัวอย่างข้างต้น เมื่อพ่อแม่รู้จักลักษณะเฉพาะของเด็กได้ตั้งแต่แรก พ่อแม่จะมีเวลาคิดหรือปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับเด็กได้อย่างเข้าใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กต่อไป

family-love 2

ดีที่ 2 รู้จักวิธีเลี้ยงดูเด็ก
ความสำเร็จ… อยู่ที่ “ความสุข” สิ่งที่เด็กต้องการคือการที่เด็กมีความสุขและพ่อแม่มีความสุขเมื่ออยู่กับเด็ก คงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะรู้สึกมีความสุข ในขณะที่เห็นพ่อแม่ร้องไห้หรือทะเลาะกันและเด็กไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไรเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะมีความสุข เพราะเมื่อเด็กเห็นพ่อแม่แสดงสีหน้าเครียดหรือไม่พอใจ เด็กจะคิดว่าตนเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ไม่มีความสุข
ความสุขของพ่อแม่เปรียบเสมือนแบตเตอรี่แห่งพลังใจสำหรับเด็ก เมื่อพ่อแม่มีความสุข ความสุขจะแผ่ซ่านในหัวใจพ่อแม่และแผ่ซ่านไปถึงเด็ก พ่อแม่ที่มีความสุขจะอดทนกับพฤติกรรมของเด็กได้มากกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีความสุข “เด็กที่มีความสุขคือเด็กที่ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เด็กที่ไม่มีความสุขคือเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก”

การโปรแกรมสมองให้มีความสุข ความสุขของแต่ละคนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ผู้คนส่วนใหญ่เกิดความสับสนเกี่ยวกับความสุขโดยหลงตามความคิดของคนอื่นหรือค่านิยมของสังคมและไม่ได้พิจารณาถึงความรู้สึกจริงๆของตัวเอง ความเป็นจริงในปัจจุบัน คือผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความสุข สาเหตุหนึ่งคือคนส่วนใหญ่มีโปรแกรมในสมองที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความสุขได้ โปรแกรมเหล่านี้คือ ความเชื่อ ระบบความคิด ที่ได้รับการติดตั้งในระหว่างการเติบโต พ่อแม่สามารถใส่โปรแกรมสมองให้เด็กไม่ชอบตัวเองและเป็นปมเงื่อนไขของปัญหาต่างๆในชีวิต หรือใส่โปรแกรมสมองให้เด็กเป็นคนที่มองโลกในเชิงบวกและมีความสุขในชีวิตได้

โปรแกรมสมองของเด็กเกิดจากการรับรู้ของเด็กเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งขณะหลับและตื่น ไม่ว่าเด็กจะรู้ตัวหรือตั้งใจรับรู้หรือไม่ สิ่งที่เด็กรับรู้ทุกอย่างจะประกอบกันเป็นระบบโปรแกรมสมอง ซึ่งมีทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก เด็กจะใช้ระบบโปรแกรมสมองนี้ในการตัดสินใจเลือกทำสิ่งต่างๆในชีวิต เมื่อเด็กมีระบบโปรแกรมสมองที่ดี เด็กจะสามารถเลือกและทำสิ่งที่ดีๆให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสของการคิดเชิงบวกมากมาย แต่ผู้ใหญ่บางคนไม่สามารถทำได้ เพราะยังมีระบบโปรแกรมสมองที่เบี่ยงเบนอยู่ การโปรแกรมสมองให้เด็กคือการบ่มเพาะจิตใจเด็กผ่านการรับรู้ของเด็ก 3 รูปแบบ คือการกระทำและการแสดงออก คำพูดและการสื่อสาร ประการสุดท้ายคือจิตใจที่ตั้งมั่น

  • การกระทำและการแสดงออก เด็กสังเกตและเลียนแบบการกระทำของผู้คนรอบข้างตลอดเวลา สิ่งที่เด็กต้องการคือตัวอย่างหรือต้นแบบที่ดี นั่นคือการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมของพ่อแม่และบุคคลรอบตัวเด็ก
  • คำพูดและการสื่อสาร คนส่วนใหญ่มักจะจดจำข้อมูลในแง่ลบโดยสัญชาติญาณเพื่อป้องกันตนเอง แต่เมื่อได้ยินบ่อยๆ รับรู้บ่อยๆ กลับกลายเป็นการปลูกฝังข้อมูลซ้ำๆที่ทำลายความรู้สึกดีๆ เด็กจะมีความสุขได้อย่างไรท่ามกลางข้อมูลเหล่านี้ ในแต่ละครั้งที่พ่อแม่พูดกับเด็กจะสื่อความหมายให้เด็กรับรู้ว่า พ่อแม่คิดและรู้สึกกับเด็กอย่างไร เด็กจะเห็นภาพรวมของตัวเองจากสิ่งที่พ่อแม่พูด พ่อแม่ที่ใช้คำพูดและการสื่อสารเชิงลบกับเด็กบ่อยๆ มักจะส่งผลให้เด็กรู้สึกผิดและมีความนับถือตัวเองต่ำ รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ยุติธรรม, เด็กจะปกป้องตนเอง เช่น “หนูไม่ได้ทำอะไรผิด พี่/น้องเป็นคนทำ”,  รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักและถูกทอดทิ้ง ท้ายที่สุดจะมีพฤติกรรมต่อต้าน ท้าทาย และโต้ตอบ เช่น “ของเล่นพวกนี้ไม่ได้เกะกะซะหน่อย แม่ก็ไม่ได้เก็บของให้เข้าที่ตลอดเวลา” หรือ “แม่ขี้บ่น จู้จี้ น่ารำคาญ”
  • จิตใจที่ตั้งมั่น ทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่คิด รู้สึก มุมมองทางอารมณ์ ปฏิกิริยาตอบสนอง ความคาดหวัง ความเชื่อต่างๆ ที่มีต่อเด็ก เด็กจะรับรู้และเชื่อว่า นั่นคือสิ่งที่เด็กเป็น เพราะเด็กเข้าใจว่าสิ่งที่พ่อแม่แสดงออกเป็นเหมือนกระจกสะท้อนภาพตัวเด็ก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ผลกระทบของความคาดหวัง” คือ เมื่อบุคคลหนึ่งมีความเชื่อหรือความคาดหวังใดๆเกี่ยวกับตนเองหรือคนอื่น ความเชื่อหรือความคาดหวังนี้จะมีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรมการแสดงออกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนอื่นไปในแนวทางเดียวกัน ในกรณีของพ่อแม่ ลูก ความเชื่อและความคาดหวังจะมีแนวโน้มเป็นไปตามพ่อแม่ เช่น เมื่อพ่อแม่คิดว่าลูกเป็นคนนำโชคดีมาให้ เพราะลูกเกิดมาในช่วงที่ครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้น พ่อแม่มักจะปฏิบัติกับลูกในทางที่ดี ถ้าลูกเกิดมาในช่วงที่ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก พ่อแม่อาจจะปฏิบัติกับลูกในทางตรงกันข้าม เป็นต้น

family-love 3

ดีที่ 3 รู้จักพ่อแม่
การเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันนี้มีความซับซ้อนมากกว่าสมัยก่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่คร่ำเคร่งกับการทำงานหาเงินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียด ค่านิยมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและภัยทางสังคมที่รายรอบ ดังนั้นการเป็นพ่อแม่เป็นงานหนักที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ และทำต่อเนื่องตลอดเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 365 วันต่อปี ในช่วงขวบปีแรกพ่อแม่จะถูกรบกวนเวลานอนอย่างแสนสาหัสและต้องอดทนกับสภาพบ้านที่ไม่เป็น ระเบียบ อาจต้องปรับการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย เช่น ไม่สามารถไปเที่ยวดูหนัง ซื้อของ กินข้าวนอกบ้านตามลำพังหรือกับสามีภรรยาได้เหมือนเคย

พ่อแม่บางคนทำทุกอย่างเพื่อลูกโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตัวเองเลยซึ่งเป็นความเสียสละที่น่ายกย่องแต่อาจทำให้ชีวิตของพ่อแม่ขาดสมดุล ถ้าชีวิตขาดสมดุลแล้ว พ่อแม่จะมีความสุขได้อย่างไร พ่อแม่ต้องเข้าใจและยอมรับว่าพ่อแม่เป็นคนธรรมดาไม่ใช่ซุปเปอร์แมนหรือยอดมนุษย์ ย่อมมีความรู้ความสามารถและความอดทนอดกลั้นที่จำกัด การเป็นพ่อแม่คือการประนีประนอมและปรับความสมดุลระหว่างความต้องการของเด็กและพ่อแม่

วิธีการเลี้ยงดูเด็กในแบบฉบับของแต่ละคน
พ่อแม่พยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกเสมอเท่าที่จะทำได้ แต่บางครั้งพ่อแม่อาจรู้สึกผิดเกี่ยวกับวิธีการที่เลี้ยงดูลูก ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่า ทำไมบางครั้งพ่อแม่จึงทำบางอย่างที่นึกได้ทีหลังว่า “ไม่น่าทำเช่นนั้นกับลูกเลย” เหตุผลมีดังนี้

  • พ่อแม่ถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับมา ปู่ ย่าตายายไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกในโรงเรียน แต่เรียนรู้จากชีวิตจริงของตัวเอง ท่านอาจดุลูกเมื่อลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม แล้วคิดว่า “นี่คือสิ่งที่พ่อแม่เลี้ยงดูฉันมา และฉันก็เติบโตมาได้เช่นกัน ถึงฉันจะไม่ชอบวิธีนี้ก็ตาม” พ่อแม่บางคนใช้วิธีที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตนได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความทรงจำ อันเจ็บปวด “ฉันจะไม่ทำอย่างที่พ่อแม่ทำกับฉันในวัยเด็ก” “ฉันจะไม่ดุว่าลูกเด็ดขาด” ซึ่งนำไปสู่การตามใจอย่างไร้ขอบเขต
  • พ่อแม่เพียงแค่คิดว่า มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บางทีพ่อแม่ถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ และไม่รู้จักวิธีอื่นๆ หรือเพียงคิดว่า “วิธีนี้น่าจะใช้ได้แล้ว”
  • พ่อแม่มีความเครียด เมื่อพ่อแม่มีภาวะขัดข้องทางการเงิน ทำงานหนักเกินไป เหนื่อยล้า หรือเบื่อหน่าย พ่อแม่จะมีแนวโน้มใช้อารมณ์หรือทำร้ายเด็กด้วยคำพูด เมื่อพ่อแม่ได้รับความคับข้องใจจากเรื่องใดๆก็ตาม พ่อแม่ก็จะมีความเครียดสะสมไว้ภายใน ซึ่งจำเป็นต้องระบายออกและมักจะเผลอระบายออกกับคนใกล้ชิด ถ้าพ่อแม่กำลังโกรธเจ้านายอยู่ พ่อแม่จะยังไม่สามารถพูดดีๆกับเด็กได้ ถ้าขณะนั้นเด็กมาขอให้ช่วยสอนการบ้าน พ่อแม่อาจเผลอระบายอารมณ์ใส่เด็ก เช่น “คนกำลังเหนื่อยอยู่ คิดเองไม่เป็นหรือไง” ทั้งๆที่ในเวลาปกติ พ่อแม่จะช่วยสอนการบ้านได้ แต่วันนี้ยังมีอารมณ์ตกค้างอยู่ ดังนั้นการจัดสมดุลทางอารมณ์ของพ่อแม่ก่อนคุยกับเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

family-love 4

ดีที่ 4 รู้จักความโกรธ
ความโกรธเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่สร้างปัญหามากที่สุดในชีวิตครอบครัว สามารถนำไปสู่ความแตกร้าวในชีวิตสมรสและทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็ก ขณะที่โกรธคนเราจะไม่มีเหตุผลและมักจะเลือกวิธีที่รุนแรงหรือทำร้ายกันซึ่งมักจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง การไม่สามารถจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมจะมีผลกระทบและเกี่ยวข้องกับปัญหาทุกด้านของเด็ก นับตั้งแต่พฤติกรรมก้าวร้าว ผลการเรียนตกต่ำ ปัญหาการคบเพื่อน

สิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องเรียนรู้และฝึกการควบคุมอารมณ์โกรธของตัวพ่อแม่เองในขณะที่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับเด็ก คนที่โกรธง่ายหรือแสดงอารมณ์หงุดหงิดใส่คนอื่นบ่อยแสดงว่าคนคนนั้นมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองและมีความกลัวต่างๆซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกมากมาย แต่พยายามซ่อนความกลัวไว้

ถ้าควบคุมความโกรธได้… จะควบคุมโลกได้ทั้งใบ
พ่อแม่ต้องสามารถควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองได้ก่อน จึงจะสามารถสอนเด็กให้เข้าใจและจัดการกับความโกรธของตัวเด็กได้ ดังนี้

  • สอนวิธีแสดงความโกรธที่เหมาะสมโดยการใช้คำพูดแทนการกระทำ วิธีแสดงความโกรธที่ดีที่สุด คือ พูดออกมา พ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้พูดออกมาว่า “หนูโกรธ โกรธใคร โกรธยังไง” เช่น “พี่เอาตุ๊กตาหนูไป” “น้องตีผม” ฯลฯ
  • หยุดยั้งวิธีแสดงความโกรธที่ก้าวร้าว การเพิกเฉยเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ไม่ควรโอ๋ พูดโต้ตอบ ดุว่า อบรมสั่งสอน หรือตอบสนองใดๆในขณะที่เด็กกำลังอาละวาดเพราะเด็กจะเข้าใจผิดว่าพ่อแม่สนใจพฤติกรรมนั้น
  • ช่วยให้เด็กเชื่อมต่อความรู้สึกของตัวเอง ด้วยการถามเด็กว่า “ทำไมถึงโกรธ” ความโกรธเป็นอารมณ์ที่สอง พ่อแม่ควรช่วยให้เด็กนึกถึงอารมณ์แรกที่อยู่เบื้องหลังความโกรธ เช่น “หนูโกรธเพราะน้องมาแย่งของเล่นใช่ไหม หนูคงเสียดายของเล่นชิ้นนี้มาก หนูจึงโกรธ” “หนูโกรธเพราะ…”
  • ยอมรับอารมณ์ของเด็ก พ่อแม่สื่อให้เด็กรู้ว่าความรู้สึกของเด็กได้รับการยอมรับและเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดแสดงความรู้สึก แม้ว่าพ่อแม่อาจจะไม่เห็นด้วยในขณะนั้น แต่พ่อแม่ต้องฟัง “ความโกรธ” ของเด็กก่อน
  • สอนวิธีจัดการความโกรธที่เหมาะสม เด็กยังด้อยทักษะที่จะจัดการกับอารมณ์เชิงลบได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เมื่อพ่อแม่โกรธหรือไม่พอใจ พ่อแม่อาจไปซื้อของ ดูหนัง คุยกับเพื่อน หรือทำอะไรที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้ แต่เด็กยังไม่มีวิธีการที่หลากหลายและไม่สามารถทำสิ่งต่างๆแบบผู้ใหญ่ เช่น เด็กอยากออกไปเดินเล่นนอกบ้านเพราะโกรธแม่แต่ทำไม่ได้เพราะกลัวคนแปลกหน้า กลัวแม่ดุ เป็นต้น พ่อแม่ควรพูดคุยในขณะที่เด็กพร้อมและอารมณ์ดีว่า วิธีไหนที่เด็กชอบในการจัดการอารมณ์ เช่น นั่งมุมสงบ หากิจกรรมอื่นทำ เช่น ปั่นจักรยาน ไปอาบน้ำ เป็นต้น เด็กอาจคิดเองไม่ได้พ่อแม่ต้องช่วยแนะนำวิธีจัดการอารมณ์แก่เด็ก เช่น “เวลาหนูโกรธ หนูอยากทำอะไรให้รู้สึกดีขึ้น” “หนูกำลังโกรธ หนูไปล้างหน้าก่อนแล้วค่อยมาคุยกับแม่”
  • พ่อแม่เป็นแบบอย่างในการจัดการและควบคุมความโกรธ พ่อแม่ควรจัดการความโกรธของตนเองด้วยวิธีต่างๆที่กล่าวมา รวมทั้งพูดอธิบายให้เด็กรู้ด้วยเช่น “แม่โกรธที่เห็นบ้านรกแบบนี้ แม่จะไปสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วเราค่อยมาคุยกัน” “แม่อึดอัดที่ลูกมานั่งตักแม่แบบนี้ แม่ทำงานไม่ได้ แม่ขอให้ลูกไปนั่งตรงนั้นก่อนนะ”

 

เด็กก็คือเด็ก แม้ว่าเด็กจะดูฉลาดแค่ไหนแต่เด็กยังมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และจิตใจ เมื่อพ่อแม่ได้รู้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ พ่อแม่จะได้มีความรักอย่างลึกซึ้งและรักอย่างเข้าใจว่าเด็กจะค่อยๆเติบโตและเรียนรู้ผิดถูกหลายครั้ง กว่าจะเข้าที่เข้าทางอย่างที่พ่อแม่หวังไว้ถ้าเลือกได้ เด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีเพื่อจะได้เป็นที่รักของพ่อแม่

ขอขอบคุณความรู้จาก พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ
Thanks to information and Image from http://santatizing.files.wordpress.com/2012/12/family-love.jpg?w=519
http://personalexcellence.co/blog/images/family-love.jpg
http://www.jencyk.com/wp-content/uploads/2012/05/Family-Love-Banner.jpg
http://www.ispwp.com/wp-content/image/3-contests/2009fall/0808_lucidaphotography.jpg

Related contents:

You may also like...