Marketing & Sales manager Srisudha Stationary Import Co.,Ltd.
บางครั้งคุณค่าของงานจิตรกรรมก็มีเรื่องของอายุเวลาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คุณภาพของอุปกรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมให้ ‘คุณค่า’ นั้นโดดเด่นขึ้นไปอีก ศิลปินชั้นนำจึงมักพิถีพิถันในการเลือกเฟ้นเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการให้เกียรติผู้ซึ่งจะเข้ามาเป็น ‘เจ้าของ’ งานชิ้นนั้นๆแล้ว ยังเป็นหนทางในการฉายคุณค่าของงานให้ยืนยงต่อไปนานเท่านานอีกด้วย
“ผมมองว่าคุณค่าของงานศิลปะ ต้องเริ่มตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้สร้างสรรค์”
ปิยะพงศ์ สุทธาศวิน ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ศรีสุทธาสเตชั่นเนอรี่ อิมปอร์ต จำกัด ผู้จำหน่ายและนำเข้าผลิตภัณฑ์ศิลปะคุณภาพระดับโลกอาทิ CAREN D’ACHE, SCHMINCKE, ISABEY, FREDRIX TARA เริ่มต้นบทสนทนากับไฮคลาสในวันนี้ด้วยรอยยิ้มสดใส
“เป็นนโยบายของผู้บริหารมาตั้งแต่เริ่มแล้วว่าสินค้าของเราทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศและต้องเป็นแบรนด์ที่ดีที่สุดในสินค้าประเภทนั้นๆ ยกตัวอย่างสีน้ำก็ต้องเป็นแบรนด์ที่ทั่วโลกยอมรับ นั่นหมายถึงมาตรฐานของคุณภาพที่ผู้ซื้อจะได้รับ แต่สิ่งที่จะตามมาจากนโยบายก็คือ ราคาของสินค้าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น เพราะนอกจากเป็นผลิตภัณฑที่ดีในระดับโลกแล้ว ภาษีนำเข้าก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้าใจก่อนว่าสินค้าประเภทเครื่องเขียนนั้น กรมศุลกากรคิดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งมีผลอยู่ด้วยเหมือนกัน
“อันที่จริงก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่นะครับเกี่ยวกับราคาของสินค้าเหล่านี้ ส่วนตัวผมคิดว่าสำหรับสินค้ามาตรฐานเราคงแก้เรื่องเพดานราคาให้ถูกลงไม่ได้ แต่อยากจะให้เข้าใจว่าคุณภาพของเราต่างกัน ลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองให้เหมาะสมกับสิ่งที่เขาจะนำไปใช้ พวกเราจะย้ำกันเสมอว่าไม่ได้หวังจะร่ำรวยจากธุรกิจตรงนี้แน่นอน แต่อยากจะนำเสนอสินค้ามาตรฐานเพื่อยกระดับศิลปะไทยให้เทียบเท่าต่างประเทศเท่านั้น
“สำหรับเรื่องการตลาด ผมก็ไม่ได้หนักใจอะไร การที่เราขายสินค้าในราคาค่อนข้างสูงเป็นบทพิสูจน์ที่ดีอยู่แล้ว เพราะหากสินค้าเราดีจริงก็มีกลุ่มลูกค้าที่เขาต้องการมาตรฐานระดับสูงๆแบบนี้อยู่แล้ว ส่วนในด้านธุรกิจก็คงต้องเรียนว่าตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปะก็มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง มีบริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งกับเราอยู่ 3 – 4 บริษัท แต่โดยส่วนตัวผมไม่เคยมองว่าพวกเขาเป็นคู่แข่ง แต่เราคือพันธมิตรซึ่งกำลังร่วมมือกันสร้างแรงกระตุ้นให้กับการพัฒนาวงการศิลปะมากกว่า
”มีศิลปินคนหนึ่งเคยพุดกับผมว่า การต้องใช้สีแพง กระดาษแพงก็ทำให้เขาต้องใช้ความวิจิตรบรรจงในการสร้างงานมากยิ่งขึ้น ผมยินดีมากกับประโยคนี้ เพราะอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปะเช่นกัน”
เมื่อถามถึงความสนใจส่วนตัวของเขากับงานศิลปะ ปิยะพงศ์หัวเราะร่วนก่อนตอบว่า
“ศิลปะกับผมเมื่อก่อนนี้อยู่คนละทางกันเลย ผมจบปริญญาตรีที่ภาควิชาการบริหารธุรกิจ เอกการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วออกไปทำงานอยู่ประมาณ 5 ปี จึงเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านการบริหารธุรกิจอีก แล้วก็มีโอกาสทำงานที่นั่น หลังจากนั้นผมจึงกลับมาช่วยงานของครอบครัว โดยที่ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ในงานทางด้านศิลปะมาก่อนเลย แต่ผมชอบนะครับ งานศิลปะทำให้ผมเข้าใจชิวิตมากขึ้น มองโลกต่างไปจากเดิมเยอะเลย” ปิยะพงศ์ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ