ทฤษฎีความงาม
“ความงามเป็นทฤษฎีได้ไหม?” คำถามที่สุรชัย แย้มศิริ สถาปนิกและกรรมการผู้จัดการบริษัท VANGUARD ARCHITECTS ตั้งขึ้นมาพร้อมหาคำตอบในทางวิชาการ เขาเรียกว่านี่คือวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของชีวิตแต่จะส่งมหาวิทยาลัยไหน เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้
“ผมบอกตัวเองว่าเมื่อทำเล่มนี้จบก็ถือว่าสำเร็จปริญญาโทแล้วล่ะ ตอนนี้ผมกำลังค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีความงาม เมื่อ 3 ปีที่แล้วตอนที่เป็นร่างวิทยานิพนธ์นั้นผมได้ไปสอนหนังสือนำไปแลกเปลี่ยนความคิดกับทุกมหาวิทยาลัยเกิดการตอบโต้ในแง่ดีและแง่ไม่ดีหลายๆ อย่าง ผมนำกลับมาวิเคราะห์ต่อซึ่งปลายปีนี้ผมจะมีการนำเสนอในที่ประชุมนักวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่ผมคิดที่ตั้งคำถามว่าความงามเป็นทฤษฎีได้ไหม? จากการที่เราดูสิ่งไหนสวยงาม เช่น วิวสวย เมืองสวย ผู้หญิงคนนี้สวย ชุดแต่งกายสวย เครื่องประดับสวย นางงามจักรวาลที่มองว่าสวย คุณคิดว่ามันมีองค์ประกอบอะไรที่ทำให้พวกเธอเหล่านั้นสวย หากจำได้ภาพยนตร์เรื่องแมททริกซ์ (Matrix) ทุกอย่างมีรหัส (code) ผมว่าความงามก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน ที่เป็นรหัสผ่านเข้ามาในสายตาเรา และกระตุ้นไปที่สมองด้านขวาของเรา บอกว่านั่นคือความสวย ซึ่งผมได้ค้นพบแล้วประมาณ 5 สิ่ง (Elements) ซึ่งนำมาใช้ในงานของผมและได้ผลทุกงาน”
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องนามธรรมที่เราแทบไม่ยืนมือไปจับต้องหรือมองเห็นก็เพียงผิวเผิน หากแต่วิธีการคิดนอกกรอบและกล้าไขว่คว้าคือคุณสมบัติของการเป็นนักสร้างสรรค์ที่ดี แม้จะไม่เหมาะกับกรอบคิดปฏิบัติแบบไทยก็ตาม ซึ่งเขาตระหนักและสร้างการยอมรับจากภายในด้วยการ ‘โกอินเตอร์’ สร้างการยอมรับมาแล้วในระดับนานาชาติ ผลงานการประกวดการออกแบบ New Opera House ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่ได้รับรางวัลชมเชย สร้างความภาคภูมิใจที่สุดรางวัลหนึ่งให้กับเขาและทีม ซึ่งน้อยคนได้รู้จัก
“เวลาของการประกวดแบบในเมืองไทยเมื่อเทียบกับเมืองนอกนั้นบอกได้เลยว่าในเมืองไทยให้ระยะเวลาในการทำงานน้อยมาก ซึ่งการประกวดแบบอาคารขนาดใหญ่ให้ระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ ขณะที่การประกวดแบบระดับนานาชาติในต่างประเทศ เขาให้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนแน่ะ แทนที่จะได้ใช้ความคิดที่หลากหลายจากเวลาที่มีให้ กลับกลายเป็นถูกจำกัดความคิดด้วยเวลา และการประกวดแบบระดับนานาชาติในเมืองไทย อย่าคิดว่าต่างชาติจะมาแย่งงานของเรา งานสร้างสรรค์ต้องมีการแข่งขันที่หลากหลาย ญี่ปุ่นในอดีตมีการนำเข้านักออกแบบจากทั่วโลก เดี๋ยวนี้จีนก็ทำเช่นนั้น โดยการให้สถาปนิกท้องถิ่นร่วมทำงานกับสถาปนิกต่างชาติ เพื่อจะดูดองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาพัฒนาองค์ความรู้ของสาขาตัวเองยิ่งขึ้น นั่นเป็นโอกาส ผมไม่แอนตี้ฝรั่งที่เข้ามาทำงานสร้างสรรค์เหล่านี้ในเมืองไทย เราแข่งขันกันเหมือนต้นสักที่ปลูกใกล้กันย่อมแข่งกันสูงใหญ่ เช่นเดียวกับยุคหนึ่งที่สยามนำสถาปนิกจากยุโรปเข้ามาออกแบบควบคุมการก่อสร้างอาคารสถานที่สำคัญ ซึ่งในที่สุดการออกแบบเหล่านั้นมีการปรับปรุงให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานที่ และภูมิอากาศของบ้านเรา และเป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้สถาปัตยกรรม สถานที่ วิธีการทำงาน และพัฒนา”
“ตอนวิกฤตเศรษฐกิจเป็นช่วงที่ผมก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อจะต้องหางานเข้าบริษัทฯ แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเศรษฐกิจในเมืองไทยต้องหยุดชะงัก ผมจึงตัดสินใจ เดินทาง (ดุ่ยๆ) ไปสิงคโปร์ขอพักที่สถานทูตบอกกับเขาว่ากรุงเทพฯ อยู่ไม่ได้แล้ว อยากทำงานที่สิงคโปร์ แต่มีอุดมการณ์ไม่เหมือนคนอื่นไม่ต้องการอยู่สิงคโปร์แล้วทำบริษัทให้เขา ความคิดของผมคือเอางานมาทำในเมืองไทย เงินจะได้เข้ามาหมุนเวียนในบ้านเรา ปณิธานนี้เป็นอุปสรรคมหาศาล แม้ไม่ได้งานแต่ได้ช่องทาง ต่อมาช่วงนั้นมีการประกวดออกแบบอาคาร Marine Parade Community Club Centre ที่สิงคโปร์ อาคารหลังนั้นเชิญสถาปนิกทั่วอาเซียนมาประกวดแบบ โชคดี ก่อนหน้านั้นระหว่างหางานนั้นเราได้บรรยากาศ ไลฟ์สไตล์ สามารถนำไปคิดงานประกวดแบบ นี่คือเงินเดือนๆ แรกๆ ของสำนักงานของเรา พยายามทุ่มเทประกวดแบบ ผลที่ออกมาประสบความสำเร็จได้ที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้ทำงานกับคนสิงคโปร์จริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าพระเจ้าวางเส้นชีวิตแปลกๆ โดยไม่รู้ตัว
เมื่อเริ่มต้นได้ดีการรักษามาตรฐานและสร้างสรรค์งานด้วยคุณภาพนำมาซึ่งความไว้วางใจอีกหลายแห่ง อาทิ ตึกไมโครซอฟต์ ที่อินเดีย งานออกแบบโครงสร้างผังเมืองฮ่องกง West Kaoloon Cultural District งานคอนโดมิเนียมที่พนมเปญ งานออกแบบกงสุลที่มาเลเซีย งานตกแต่ง Facade ของ San Lorenso ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งแข่งขันกับสถาปนิกทั่วโลก
“เกณฑ์การพิจารณาในเมืองนอกไม่ได้วัดว่าเราเรียนจบสูงขนาดไหน มีผลงานมามากแค่ไหน หรือมูลค่าโครงการที่ผ่านมา แต่เขาวัดกันที่กึ๋น เมืองไทยต้องเปิดกว้างในเชิงนโยบายของรัฐมากขึ้น สำหรับผมคนทำงานอาชีพเดียวกันไม่รู้สึกว่าเป็นคู่แข่งแต่เป็นเพื่อนร่วมทาง มีคนบอกผมว่าถ้าจะทำงานอาชีพสถาปนิกให้ประสบความสำเร็จ ก็แค่ทำให้มีงานเข้ามาตลอดและทำงานตั้งแต่ต้นจนจบให้ดี ทำแค่สองอย่างนี้ก็พอแล้ว นี่แหละผมว่ายากที่สุด จะทำอย่างไรให้งานเข้าตลอดล่ะ และจะทำอย่างไรให้ต้นถึงจบดี ปกติต้นดีปลายไม่ดีก็มีหลายที่ ทุกวันนี้พยายามยึดแนวทางนี้”
ความสำเร็จในงานออกแบบของ VANGUARD ARCHITECTS ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศเกือบทั่วโลกไม่ได้มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนหรือเน้นอภิมหาโปรเจคต์เสมอไป MD หนุ่มอารมณ์ศิลปินบอกกับตัวเองเสมอว่างานที่เขาทำนั้นต้องอยากทำและได้แสดงศักยภาพเต็มที่ อันนำมาสู่ผลงานที่สวยงามซึ่งทุกแง่มุมสามารถพิสูจน์ได้จากหลักทฤษฎีของเขา
“มีหลายครั้งผมหยุดตัวเองไปพักที่ใดที่หนึ่ง อยู่เป็นสัปดาห์ และคิดงาน ไปในที่ที่เราอยากไปอยากทำให้กับที่นั่น พอคิดเสร็จก็กลับออกมาทำงาน คล้ายๆ กับเป็นฤาษี (หัวเราะ) จึงทำให้เราได้ทั้งทำงานและได้ท่องเที่ยวพักผ่อนไปพร้อมๆ กัน”