กรรมการผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย“ศิลปะจะมีค่ายิ่งยวดเมื่อได้สื่อสารกับสังคม”
นอกเหนือจากกำลังของผู้สร้างและผู้เสพแล้ว ต้องยอมรับว่าศิลปะในทุกวันนี้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยแรงจากผู้สนับสนุนซึ่งไม่ได้จำกัดความอุปถัมภ์อยู่ในรูปของเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่ายังรวมไปถึงการยื่นโอกาสและเสริมส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินน้อยใหญ่สามารถก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางศิลปะที่ยาวไกลและงดงามนี้ได้อย่างมั่นคง
ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างสรรค์สังคมและคุณค่าของมนุษย์ มูลนิธิซิเมนต์ไทยจึงมุ่งมั่นส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมหลากหลายเพื่อจรรโลงสังคม แน่นอนว่าหนึ่งนั้นคือกิจกรรมด้านศิลปะ สุรนุช ธงศิลา กรรมการผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย เล่าให้เราฟังอย่างมีความสุขว่า
“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิซิเมนต์ไทยขึ้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน จุดประสงค์ของเราก็คือการสร้างสรรค์สังคมด้วยการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ซึ่งนอกจากเรื่องของการศึกษาแล้ว ศิลปะก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความงดงามขึ้นในจิตในคน ส่งผลต่อการจรรโลงสังคมอีกทอดหนึ่งด้วย
“เพราะฉะนั้นกิจกรรมของเราจึงเกี่ยวเนื่องกับวงการศิลปะด้วย เช่น เรามองว่าการที่คนคนหนึ่งจะก้าวขึ้นไปเป็นศิลปินอาชีพ สร้างสรรค์งานในแนวทางของตัวเองและได้รับการยอมรับจากสังคมนั้น แน่นอนย่อมต้องมาจากประสบการณ์และความมั่นใจในตัวเอง เราจึงริเริ่มโครงการ Art Camp ขึ้น โดยการคัดเลือกเด็กที่สนใจงานศิลปะมาเข้าค่ายกับเรา เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสสังคมและงานด้านนี้ เราได้รับเกียรติจากศิลปินรุ่นพี่และศิลปินระดับแนวหน้ามาร่วมด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เด็กๆเกิดประกายขึ้นในความคิดและสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเลือกเดินไปบนทางศิลปะ เลือกเรียนศิลปะในระดับสูงๆต่อไป เป็นต้น
“ต่อจากนั้น พอโตขึ้นมาอีก เขาเรียนศิลปะแล้ว เราก็อยากจะให้เขามีเวทีในการแสดงออก ในการเผยแพร่แนวคิดและผลงานของเขา เราจึงทำโครงการรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย Young Thai Artist Award ขึ้นมา ซึ่งในปี พ.ศ.2551 นี้จะเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นเวทีที่มีส่วนผลักดันเยาวชนที่รักงานศิลปะอย่างมาก
“พวกเขาทราบอยู่แล้วว่า รางวัลเราประกาศผลทุกปี เขาก็คิดว่าวันหนึ่งเขาจะต้องส่งผลงานมาประกวด กลายเป็นเวทีที่ทุกคนต้องผ่าน (หัวเราะ) แน่นอนว่ามันช่วยสร้างความกระตือรือร้นและส่งเสริมการพัฒนาแนวคิดและผลงาน นอกจากนี้ เราให้รางวัลค่อนข้างสูง คือรางวัลยอดเยี่ยม 300,000 บาท ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราตีค่างานศิลปะออกมาเป็นตัวเงินนะคะ แต่เราคาดหวังว่าเงินจำนวนนี้คงจะพอช่วยให้ศิลปินมีเวลาในการสร้างสรรค์งานต่อไปของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพะวักพะวงเรื่องอื่น หากผู้ได้รับรางวัลยังเป็นนักศึกษาอยู่เราก็จะมอบทุนให้เรียนจนจบขั้นอุดมศีกษาด้วย
“เราวางแผนขั้นต่อไปไว้ว่า เมื่อเขามีผลงานเป็นที่ยอมรับในประเทศเรียบร้อยแล้ว เราก็อยากให้เขาได้ออกไปหาประสบการณ์ในระดับโลกบ้าง ขณะนี้เรากำลังทำโครงการร่วมกับสถาบันศิลปะระดับชาติ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการจัดกิจกรรมศิลปะนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้ทำงานกับศิลปินต่างชาติบ้าง
“ดิฉันมองว่าการสนับสนุนวงการศิลปะในบ้านเรานั้น จริงๆแล้วก็มีอยู่บ้าง เพียงแต่ว่ายังขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ยกตัวอย่างการจัดการประกวดศิลปะ จะต้องมีความต่อเนื่อง เพราะหมายถึงการกระตุ้นให้ศิลปินสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็พัฒนาคุณภาพของผลงานตนเองไปด้วย นอกจากนี้ควรคำนึงถึงการรับรู้ของสังคมด้วย เพราะศิลปะจะมีค่ายิ่งยวดเมื่อได้สื่อสารกับสังคม ผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดของเรา เราก็พยายามจะนำไปติดตั้ง จัดแสดงในที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผู้คนรับรู้และได้สัมผัสกับงานศิลปะอย่างใกล้ชิด สามารถซึมซับความงามเพื่อจรรโลงจิตใจต่อไป”สุรนุช ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม