กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์
ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกขณะจิต ภาคธุรกิจการสื่อสารที่คลี่ขจายออกควบคุมสังคมล้วนส่งผลต่อการงานที่รีบเร่ง ธุระปะปังที่มากหลาย ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบอันมากมายทั้งด้านการงานและชีวิตส่วนตัว ทำให้คนเมืองทุกวันนี้มีวิถีแห่งชีวิตประจำวันที่หมุนติ้วเร็วขึ้นทุกที แม้แต่เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังต้องมีช่วงปิดเครื่องพักหอบ แต่คนเมืองที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลายคนกลับไม่มีแม้ช่วงเวลาเอนกายผ่อนพัก สังขารคนเราไม่ใช่เหล็กกล้า กระนั้นจิตใจยิ่งมิใช่เหล็กกล้ากว่า ท่ามกลางสังคมที่หมุนเหวี่ยงเร่งเร้า เราจึงพบคนเมืองมากมายที่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง กระทั่งเสียศูนย์ สับสนวกวน จนสภาพจิตใจเจ็บป่วย
วันนี้เราจึงนัดจับเข่าพูดคุยกับนายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ผู้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ ถึงภาวการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยและแนวทางป้องกันปัญหา รวมถึงความเป็นมาของโรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย
“ก่อนจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ ผมจบแพทยศาตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลครับ ก่อนจะไปเรียนต่อ MBA ที่อเมริกา Florida Institute of Technology หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานด้านบริหารที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์อยู่สักระยะหนึ่ง แล้วตอนหลังก็ไปเรียนแพทย์ เฉพาะทางจิตเวชที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เหตุที่เลือกเรียนทางจิตเวชโดยเฉพาะนั้น เป็นเพราะเห็นว่าแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลถึงคนทุกคนในสังคมไทย แพทย์และเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานทางด้านสุขภาพจิตยังขาดอยู่มาก ขณะนี้โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐทำงานเกินกำลังความสามารถของตนเองอยู่แล้วเกือบเท่าตัว จึงคิดว่าถ้าทำงานด้านนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้มาก ซึ่งหลังจากสำเร็จแพทย์เฉพาะทางจิตเวช ผมก็ได้ไปทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยครอบครัว สอนเกี่ยวกับวิชาทางด้านสุขภาพจิตอยู่ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็ได้มาเริ่มงานโครงการโรงพยาบาลมนารมย์
โรงพยาบาลมนารมย์นี้ เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ของกลุ่มอาจารย์จิตแพทย์อาวุโส นำโดยแพทย์หญิง จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ (ประธานโรงพยาบาลมนารมย์) และจิตแพทย์อีกประมาณ 80 ท่าน มารวมตัวกันและร่วมทุนก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ จากความตั้งใจของคณะผู้ก่อตั้งประสงค์ที่จะให้โรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่สมบูรณ์มากที่สุดแก่คนทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตของไทย”
- อยากให้คุณหมอพูดถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
“สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากสถิติต่าง ๆ เช่น อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น ปัญหาการใช้ยาเสพติด ปัญหาการฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นขณะที่ความพร้อมในการเป็นพ่อแม่ยังไม่มี ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ปัญหาการเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ลูกเป็นคนที่สุขภาพจิตไม่แข็งแรง ไม่มีภูมิต้านทานด้านสุขภาพจิต ไม่สามารถเผชิญกับปัญหาในชีวิตได้ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ กับตนเองและผู้อื่นไม่จบสิ้น
ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้นนี้ เป็นผลมาจากเหตุหลายด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของประเทศจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไปจากครอบครัวใหญ่ มาเป็นครอบครัวเดี่ยว คนย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ที่จำนวนประชากรหนาแน่น มีระดับความเครียดสูง พ่อแม่คลอดลูกแล้วส่วนใหญ่มักพาลูกไปฝากไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด ครอบครัวขาดความใกล้ชิด ความเข้าใจ ความอบอุ่น และความผูกพันต่างจากในอดีต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งในเรื่องของการเรียน การทำงาน เพื่อที่จะเอาตัวรอดในสังคม ทำให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของผู้คนในสังคมน้อยลงมาก การกระตุ้นการบริโภคและความต้องการทางวัตถุ ทำให้คนมุ่งแข่งขันเปรียบเทียบกันในเรื่องของวัตถุ ซึ่งความต้องการทางด้านวัตถุของคนเราไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเด็กปัจจุบันถูกกระตุ้นหนักมาก ตั้งแต่โฆษณาทางทีวี และภาพยนตร์ รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคข้อมูลข่าวสาร ทำให้ในเด็กยุคปัจจุบันมีลักษณะของการอดทน รอคอย และความยับยั้งชั่งใจน้อยมาก โอกาสที่จะเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมมีสูงมาก เช่น พฤติกรรมทางเพศ ยาเสพติด การพนัน การขายตัว การติดเชื้อโรคเอดส์ ในขณะนี้สิ่งยั่วยุในสังคมนอกบ้านมีสูงมาก ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ควรจะต้องแข็งแรงขึ้นเพื่อต่อสู้กับแรงดึงดูดภายนอกบ้านกลับอ่อนแอลง คนเราขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สถาบันศาสนาก็อ่อนแอเช่นเดียวกัน ไปมุ่งเรื่องของ วัตถุและพิธีกรรมมากกว่าความเข้าใจในเนื้อหาการปฏิบัติ และคุณค่าทางจิตใจ จากเหตุทั้งหมดนี้ ทำให้ระดับความเครียดของคนในสังคมปัจจุบันสูงกว่าในอดีตมาก ปัญหาพบได้ในประชากรทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กที่ขาดความใกล้ชิดและการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ก็จะมีบุคลิกภาพไม่มั่นคง มีปัญหาในการปรับตัว เกิดปัญหาวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ง่าย ในวัยรุ่นก็มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว แก้ปัญหาโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยาเสพติด ใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาความรักด้วยการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น แม้แต่ในวัยผู้ใหญ่ก็มีปัญหา เช่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ครอบครัว ปัญหาคู่สมรส การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การมีภรรยาน้อย การทอดทิ้งเด็กและคนแก่ จำนวนประชากรผู้สูงอายุของไทยก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาที่ตามมา ก็คือ ปัญหาภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ปัญหาสุขภาพจิตทั้งหลายที่พูดถึงสามารถลดลงได้ถ้าคนเรามีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติจริงจัง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานให้กับคนไทย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะช่วยลดความรุนแรงของกระแสวัตถุนิยม และเมื่อคนเราเลิกดิ้นรนไขว่คว้าหาวัตถุที่เกินจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของแต่ละคนแล้ว คนเราก็จะมีเวลาให้แก่กันมากขึ้น ตั้งแต่คนในครอบครัว คนใกล้ชิดและคนในสังคม สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนเรานั้น มีเพียงไม่กี่อย่าง แต่สิ่งที่คนเราต้องการนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
ทุกวันนี้ปัญหาสุขภาพจิตมีความรุนแรงมากกว่าที่ควร สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะประชาชนขาดความรู้และความเข้าใจ เนื่องจากสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าสุขภาพกาย ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่มีอยู่จริง เช่น ผู้หญิงที่ฐานะดีร่ำรวย รูปร่างหน้าตาสวยงาม สุขภาพกายแข็งแรงทุกอย่าง แต่ถูกคนรักทิ้งไปมีแฟนใหม่ ก็อกหักและกินยาฆ่าตัวตาย ขณะที่เด็กชายพิการไม่มีแขนขา แต่สามารถเห็นคุณค่าของตนเองและทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ โดยการฝึกใช้ปากคาบพู่กันวาดรูประบายสีขายเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กพิการด้วยกัน สิ่งที่ต่างกันในคนทั้ง 2 นี้ คือ สุขภาพจิตที่แข็งแรงและอ่อนแอ
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเรามีสุขภาพจิตที่แข็งแรง คือ การเลี้ยงดูที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นช่วงที่บุคลิกภาพกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นรูปแบบที่ถาวร เหมือนการสร้างบ้าน ถ้าหากฐานรากไม่ดีแล้ว ก็ยากที่จะต่อสู้ลมพายุได้ โอกาสที่จะเสียหายล้มไปก็มีสูง ดังนั้น การเลี้ยงดูลูกจึงเป็นงานที่สำคัญมากในชีวิตของคนเรา เป็นงานที่ยาก ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน และความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคน แต่พ่อแม่ที่ให้ความเอาใจใส่กับเรื่องนี้ยังมีเป็นส่วนน้อยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เป็นสิ่งที่ตนเองรู้เห็นอยู่ด้วยมาตั้งแต่เด็ก มองไม่เห็นความจำเป็นต้องเรียนรู้ ซึ่งในความเป็นจริงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต โจทย์ของพ่อแม่แต่ละยุคไม่เหมือนกัน รวมทั้ง พ่อแม่ปัจจุบันมีลูกน้อย จึงรับความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการเลี้ยงลูกได้น้อยกว่าพ่อแม่ในอดีตที่มีลูกมาก
ถึงแม้คนเราจะมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงอย่างไร ก็มีโอกาสที่จะประสบกับปัญหา และความเครียดในชีวิตจนเกิดการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้เช่นเดียวกับสุขภาพทางกาย การเจ็บป่วยทางกายมีได้ตั้งแต่เล็กน้อย เช่น เป็นหวัด คัดจมูก เจ็บคอ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น สุขภาพจิตก็เช่นเดียวกัน อาจจะเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เครียด ปวดหัว นอนไม่หลับ แต่ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลที่เหมาะสมก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น เกิดภาวะซึมเศร้ากับตัวเองและสมาชิกในครอบครัว หรือเกิดภาวะจิตสับสน หวาดระแวง ทำร้ายผู้อื่นได้ ซึ่งเราจะพบเห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ได้บ่อย ทั้งนี้ ถ้าผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเข้าใจเรื่องของความเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตและรับการรักษาตั้งแต่อาการยังไม่มากก็จะช่วยให้การแก้ไขง่ายและไม่ต้องเกิดความสูญเสียเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและหลีกเลี่ยงการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตเวช และมารับการบำบัดต่อเมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และเกิดผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก
จากสภาพปัญหาสุขภาพจิตดังกล่าวข้างต้น และความปรารถนาที่จะเห็นประชากรในสังคมไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งคณะผู้ก่อตั้งประสงค์ที่จะให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นสถาบันทางสุขภาพจิตที่มีบทบาทสนับสนุนงานสุขภาพจิตของทั้งภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตขนาด 59 เตียง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ ถนนสุขุมวิท 70/3 ใกล้สี่แยกบางนา อาคารสถานที่ การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ ตัวอาคารเป็นอาคาร 2 ชั้น ทั้งโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเครียดจากตึกสูง ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้มีบรรยากาศสงบ ร่มรื่น ผ่อนคลาย เป็นส่วนตัว และมีความปลอดภัย ให้บริการด้านจิตเวช แก่ผู้รับบริการทุกช่วงวัย ทั้งในรูปแบบของผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน โรงพยาบาลกลางวัน และงานส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต โดยการให้ความรู้และอบรมสัมมนา
การรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ประกอบด้วย การรักษาหลายรูปแบบ อาทิเช่น การรักษาด้วยยา การให้คำปรึกษา การบำบัดแบบต่าง ๆ ทั้งจิตบำบัดแบบรายบุคคล กลุ่มบำบัด ครอบครัวบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด และศิลปะบำบัด โรงพยาบาลกลางวัน หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับคำนี้ แต่ในต่างประเทศมีให้บริการ อยู่หลายแห่ง เป็นลักษณะการให้บริการแบบมาเช้าเย็นกลับ หรืออยู่เพียงครึ่งวัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือมากกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องการการบำบัดต่อเนื่องอยู่ และต้องการฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อการปรับตัวเข้ากับการ ดำเนินชีวิตประจำวันในสังคม รวมทั้งผู้สูงอายุที่ต้องการมีกิจกรรมเพื่อเป็นการป้องกันและรักษาในส่วนของการส่งเสริมป้องกัน การให้ความรู้ โรงพยาบาลมีห้องประชุม อบรมสัมมนา ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลก็ได้ดำเนินการจัดบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกเดือน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะส่งวิทยากรเข้าไปให้ความรู้ในสถานศึกษาและองค์กรเอกชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนประชาชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้องต่องานสุขภาพจิต”
- ฟังดูแล้วงานของหมอจิตเวชต้องจมอยู่กับความเครียดไม่น้อยกว่าอาชีพไหน ๆ แต่คุณหมอก็บอกว่าไม่มีปัญหา และยังเผยเคล็ดลับ รวมถึงฝากความห่วงใยเป็นข้อแนะนำการบริหารสุขภาพจิตแก่เราอย่างไม่ปิดบัง”
“เวลาเครียด ผมก็ใช้วิธีพักสมองโดยการหยุดคิดเรื่องต่าง ๆ ไว้ก่อน คิดว่าปัญหาต่าง ๆ อีก 1 – 2 ชั่วโมง มาคิดแก้ปัญหาก็ยังไม่ช้าไป การพักสมองช่วยทำให้อารมณ์และจิตใจสงบนิ่งมากขึ้น การพิจารณาปัญหา และตัดสินใจก็จะทำได้ดีกว่าช่วงที่อารมณ์จิตใจวุ่นวาย การพักสมองก็ทำได้หลายวิธี อาจจะทำโดยการหยุดคิดทุกอย่าง นั่งในท่าที่สบาย ฟังเพลงเบา ๆ หลับตา หายใจเข้าออกลึก ๆ สัก 4 – 5 ครั้ง พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกาย ทุกส่วนตามลำดับจากศีรษะถึงปลายเท้า โดยที่ไม่ใช้ความคิดไปในเรื่องอื่น หลังจากคลายกล้ามเนื้อทั่วแล้วก็พยายามมุ่งที่ลมหายใจเข้าออกไม่วอกแวกเรื่องอื่น ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที ก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้นมาแล้ว ที่จริงการพักสมองนี้ ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพราะทำได้ง่ายเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ใด คนเราปกติต้องอาบน้ำทุกวัน เพื่อชำระคราบไคลออกจากร่างกาย จิตใจเราก็ต้องการชำระทุกวันเพื่อเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปไม่คั่งค้างในจิตใจเรา ของอะไรที่ไม่หนัก เช่น แก้วน้ำ 1 ใบ ถ้าถือนาน ๆ โดยไม่พักเลย 5 วัน 7 วัน มันก็รู้สึกเมื่อย รู้สึกต้องวางบ้าง เรื่องทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่พักไม่วาง ไม่แยกของที่ไม่เป็นสาระออกไป มันก็จะสะสมเป็นความเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน นานไปอาจจะทำให้เจ็บป่วยได้”
- อยากให้คนรู้ว่าเรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนเกี่ยวข้องหมด ทั้งป่วยทั้งไม่ป่วย ไม่ป่วยก็เกี่ยว ป่วยทางกายก็เกี่ยว มันใกล้ตัว อยากให้คนหาความรู้เรื่องนี้ แล้วศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติ (เน้นเสียง) จะมีประโยชน์มาก เพิ่มภูมิต้านทานของใจเพื่อลดความเสี่ยงของการป่วย ปรับวิธีมองโลก คือการฝึกสติ รู้ทันตัวเอง (พูดเน้น) รู้ทันเวลาโมโห มีอะไรขึ้นมา เบรกไว้ก่อน คือชะลอให้ฝุ่นหายตลบก่อน แล้วค่อยพิจารณา คือเหล่านี้มันก็มีวิธีการแต่มันไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย ๆ มันยาก ต้องฝึก ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทำได้แล้ว จะดีมาก ๆ ดีทั้งกับตัวเอง ครอบครัว แล้วก็สังคมโดยรวม คือครอบครัวแข็งแรงนี้แก้ได้เกือบหมดทุกปัญหาเลยนะครับ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองได้หมด