สตรีนักสังคมสงเคราะห์
หากเอ่ยถึงสตรีนักกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ในเมืองไทยนั้นเรียกได้ว่ามีอยู่หลายรายที่มีจิตกุศลในการช่วยเหลือผู้อื่นไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก และผู้ที่เข้าข่ายสาวสังคมสงเคราะห์อันดับต้นๆ คงไม่พ้นชื่อของ กัณห์ชรี บูรณสมภพ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสังคม โรงแรม วินเซอร์ สวีทส์ ซึ่งก้าวเข้ามาในแวดวงนี้จากการทำงาน กระทั่งถลำลึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเธอไปโดยปริยาย
“ที่ทำเกี่ยวกับด้านสังคม สาธารณประโยชน์ทำตั้งแต่อายุเพียง 20 กว่าๆ เอง กลับมาจากสหรัฐอเมริกาก็ไปเป็นกรรมการสมาคมเลขานุการแห่งประเทศไทย เพราะทำงานเป็นเลขานุการมาก่อน มีความรู้สึกสนุกที่ได้ช่วยเหลือคน ได้ใช้ความรู้ ในสมัยนั้นเรียกว่าจับงานทางด้านนี้มาตลอดไม่ว่าจะเรื่องเด็ก เรื่องสตรี หลายคนก็จะมองว่า โอ๊ยตายแล้วเรานี่มาถึงตอนนี้เขารู้จักเรามาแล้วน้าน…นาน มีบางคนบอกว่าได้ยินชื่อคุณกัณห์ชรีมาตั้งแต่เด็กๆ เราฟังดูแล้วมีความรู้สึกว่าฉันนี่ดึกดำบรรพ์น่าดู (หัวเราะ) ”
ซอนต้าสากลเป็นสโมสรเพื่อให้บริการสังคม ประกอบด้วยสมาชิกระดับบริหารและอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนและยอมอุทิศเวลาให้แก่ประเทศชาติและสังคม โดยก่อตั้งที่เมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก เมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1919 ในปัจจุบันสโมสรซอนต้ามีอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 53 ประเทศ และมีสโมสรมากกว่า 1,015 แห่ง มีสถานะเป็นที่ปรึกษาให้กับ UNICEF, UNESCO, ILO และ The Coucil of Europe กับมีผู้สังเกตการณ์และประจำองค์กรสหประชาชาติที่นิวยอร์ก เจนีวา ปารีส และเวียนนา
วัตถุประสงค์ของซอนต้าเพื่อสนับสนุนธุรกิจและอาชีพต่างๆ ในการยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรม ปรับปรุงสถานภาพของสตรีในทางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจและอาชีพ และร่วมมือกับสตรีนักบริหารในวงการธุรกิจและวิชาชีพต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ในการบริการแก่สังคม
“หลังจากที่ทำงานเป็นนายกสมาคมเลขานุการฯ แล้ว ดิฉันก็มาเป็นนายกสโมสรซอนต้าสากลกรุงเทพฯ 4 ซึ่งตอนนั้นเราร่วมก่อตั้งกันมากับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ซอนต้าฯ จะเป็นสมาคมซึ่งผิดกับสมาคมเลขาฯ เพราะว่าซอนต้าฯ จะเป็นกลุ่มของสตรีนักบริหาร เป็นเลขาฯ ไม่ได้จะต้องเป็นผู้บริหาร หรือว่าเป็นเจ้าของกิจการ ฉะนั้นตอนที่มาเป็นซอนต้าดิฉันเป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์แล้ว จึงเป็นจุดที่ทำให้เรายิ่งมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น”
ในแต่ละประเทศและโครงการบริการเพื่อสังคมโลกของซอนต้า มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการตามความจำเป็นของสตรีและเด็กในระดับสากล งานบริการของซอนต้าเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1956 เช่น จัดหาน้ำสะอาดและเครื่องมือโยกสูบน้ำให้ศรีลังกา และขณะนี้โครงการบริการของซอนต้าสากลเป็นโครงการพัฒนาสตรีเพื่อให้สตรีสามารถช่วยตนเองได้ในชนบทของหลายประเทศในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
สโมสรซอนต้าสากล กรุงเทพฯ 7 ได้รับสาสน์ตราตั้งจากสโมสรซอนต้าสากล สำนักงานใหญ่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 นับเป็นสโมสรลำดับที่ 9 ในประเทศไทย และเป็นสโมสรแห่งแรกในศตวรรษที่ 21 ของภูมิภาค 17 ก่อตั้งโดยการรวมตัวกันของสตรีนักบริหารผู้มีจิตกุศลในหลากสาขาวิชาชีพ นำโดยคุณกัณห์ชรี อดีตนายกสโมสรและนายกกิตติมศักดิ์ของสโมสรซอนต้าสากล กรุงเทพฯ 4 จึงทำให้หลายคนที่ร่วมโครงการการกุศลถูกจัดอยู่ในทำเนียบ ‘ไฮโซการกุศล’ ไปโดยปริยาย
“คนที่มางานเราจะเป็นระดับ Heighten แต่ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นไฮโซนะ ไม่เคยคิดตรงนั้น แต่ว่าหลายๆ คนก็จะมองว่าเราเป็นสาวสังคมและอยู่ในแนวหรูหรา จริงๆ แล้วเราเป็นผู้หญิงทำงาน ซึ่งสามารถนำงานและสังคมมาพบกัน”
“คำว่าไฮโซในความคิดดิฉันนั้นหมายความถึงคนที่ค่อนข้างพร้อม พร้อมทั้งความรู้ความสามารถหน้าที่การงาน และต้องมีจิตใจดีด้วย เพราะว่าถ้าเราไม่มีจิตใจดีเราจะไม่นึกถึงคนอื่น แต่พอเรานึกถึงคนอื่นเรานำสิ่งเหล่านี้มารวมๆ กัน เราเข้าไปอยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือคนอื่นซึ่งอยู่ในแวดวงเราเขามองคนละทางกับเราแต่เขาเป็นเพื่อนเรา พอเราดึงเข้ามาร่วมงานด้วยก็กลายเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามาร่วม และบางคนน่ารักมากเลย ร้องเพลงเก่ง เต้นบัลเล่ต์ แสดงความสามารถสารพัด เขาได้มาใช้ตรงนี้ สนุกด้วยและเขาก็ได้ทำการกุศลด้วย อย่างที่ว่าบริจาคร้องเพลงนะคะ หรือว่าบริจาคเดินแฟชั่นจริงๆ ดิฉันว่าดีมากเลย เพราะว่าสุขทั้งคนให้ สุขทั้งคนรับ และเราอยู่ตรงกลาง เพราะตัวดิฉันเองไม่ร้องค่ะงานการกุศล (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้จัด”
สโมสรซอนต้า 7 ได้ริเริ่มโครงการการกุศลระยะยาวคือ โครงการสร้างอาคารซอนต้า 7 บ้านพักคนชราราชบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้สมาชิกและกรรมการได้ปฏิบัติอย่างสืบเนื่องต่อไปเพื่อพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของสตรีในประเทศไทย
“และองค์กรอื่นซึ่งค่อนข้างเด่นชัดคือเป็นสมาชิกของกลุ่มอาสากาชาดกิตติมศักดิ์กาญจนาภิเษก ซึ่งตอนนี้มีคุณประพีร์ ปุ้ยพันธ์วงศ์เป็นประธานของกลุ่ม กลุ่มนี้เราจะทำงานให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ภูมิใจมากเพราะเราเป็นหนึ่งในร้อยกว่าคนของอาสากาชาดกาญจนาภิเษก”
“คนไทยนะคะถ้าไม่รู้ว่าเป็นใครก็ไม่สนุกแล้ว สมมุติจัดงานไม่รู้ใครจัดไม่เห็นรู้จักเลยไม่อยากไป แต่ถ้าคนนี้จัดเหรอ มันจะมีความเชื่อมโยงค่ะ”