ธนา เธียรอัจฉริยะ

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

การที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดในชาติตระกูลที่ดีหรือมาจากครอบครัวที่มีหน้ามีตาเกี่ยวข้องกับสังคมชั้นสูงเสมอไป บางครั้งการมีกำเนิดอย่างธรรมดาสามัญแล้วได้รับโอกาสดีๆก็ทำให้การเดินทางของชีวิตราบรื่นแต่มีสีสันขึ้นมาได้เช่นกัน

“ ผมนี่ต้นทุนต่ำมากนะครับ คือว่าผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ผมเติบโตที่โคราชแต่มาเรียนที่ศรีราชาครับ ตอนเป็นเด็กไม่ค่อยคิดอะไรเลย ทางบ้านก็ไม่ได้มีนามสกุลที่เป็นเจ้าเป็นอะไร ฉะนั้นต้นทุนมันต่ำมากตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ความฝันก็ไม่ได้มีมากมายอะไร มันแค่จังหวะชีวิตเท่านั้นเอง ”

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตอย่างอารมณ์ดี

“ ต้องบอกว่าจริงๆแล้วผมก็เป็นมนุษย์ธรรมดามากเลย มันก็มาแบบทั่วไปคือ กลับจากเมืองนอกมาก็ไปทำงานด้านการเงินอยู่ช่วงก่อนที่เศรษฐกิจมันจะตกน่ะครับ สักพักก็เบื่อๆ ตอนนั้นที่แทครับในงานของ Inverter Relation ผสมกับงานด้านการเงิน เลยมาสมัคร โชคดีที่ตอนนั้น เขาก็ไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมากเพราะคนที่สัมภาษณ์ผมน่ะเขาท้องได้แปดเดือนแล้ว ถ้าไม่สัมภาษณ์ผมก็ไม่มีแล้วนะ (หัวเราะ) ก็เลยได้เข้ามาโดยครึ่งฟลุคครึ่งจังหวะที่ดี

ช่วงแรกก็เข้ามาก่อตั้งฝ่าย Inverter Relation ซึ่งตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มี ก็ต้องหาหนังสือ เปิดดู แล้วทำมาเรื่อยๆ ตอนนั้นแทคกำลังรุ่งเรือง ก็ทำเรื่องกู้เงินเขามาเยอะ พอเศรษฐกิจฟองสบู่แตก แทคก็เป็นหนี้ต่างประเทศเยอะตามไปด้วย ก็ไปปรับโครงสร้างหนี้ ตอนนั้นงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ไปเจรจากับเจ้าหนี้อะไรอย่างนี้ พอปรับโครงสร้างหนี้เสร็จก็การเงินก็เริ่มนิ่งๆแล้ว ”

ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซากจำเจ ทำให้ธนาชอบที่จะเรียนรู้เพื่อได้รับประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต

“ ช่วงนั้นมันก็เริ่มเบื่อแล้ว การเงินนี่มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ตอนนั้นมีโปรเจคที่เป็น Mobile Internet มันเพิ่งเริ่มมี Internet บนมือถือ เขาก็เริ่มหาคน เราก็ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีอะไรมาก แต่ก็ไปอาสาเขาว่าอยากลองทำดู เขาก็ให้ไปทำ

แต่มีช่วงหนึ่งที่ลาออกไปแป๊บหนึ่งด้วย ก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะตอนนั้น มีเจ้านายที่เรารู้สึกว่าอึดอัด ก็เลยลาออกไปอยู่ฮัทช์ได้ประมาณ สองเดือน ทางคุณบุญชัย ก็ตามกลับมา ทำพวก Product Service กึ่งเทคโนโลยีกึ่งเชิงพานิชย์ พวกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทั้งหลาย กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงที่แทคคือ มี Co CEO ซึ่งเป็นคุณวิชัย คุณซิกเว่เข้ามาแล้วเขาเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เพราะตอนนั้นแทคไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เขาแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ แบบ Postpaid ก็คือแบบรายเดือน กับแบบ Prepaid คือแบบเติมเงิน ทาง CEO เขาก็ไว้วางใจบอกอยากลองทำ Pre paid ไหม ผมก็ อะ…ลองดู ก็เลยมาทำ Prepaid ทั้งสายงานธุรกิจเลย ทั้งการตลาด การขาย การเงิน ผลิตภัณฑ์ อะไรทุกอย่างเลยที่ทำอย่างไรก็ได้ ให้มันเกิดขึ้นและอยู่รอดได้ ทำให้เราก็กระโดดมาทำตรงนั้น แล้วก็ฟื้นฟูจากเดิมที่มันเป็น D-Prompt ก็เปลี่ยนมาเป็น Happy “

ในเวลานี้ธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารถูกจับตามองว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เพราะเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาอันเป็นผลมาจากความนิยมในการบริโภคที่บางครั้งเกินเลยความพอดี ธนามองว่าธุรกิจนี้มีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างกับธุรกิจอื่น

“ ถามว่ามันเหมือนกับธุรกิจอื่นไหม มันก็เหมือนในแง่ของการแข่งขันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเรื่องราคา เรื่องเครือข่าย เรื่องที่ไปอยู่กับคนจำนวนมหาศาล มันก็ต้องใช้กับ Consumer Product เพียงแต่มันเร็วกว่า อย่างสมมุติว่าสิ่งที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก การเปลี่ยนแปลงใช้เวลาถึง 4-5 ปี แต่ของเราสู้กันสามเดือนรู้เรื่อง แผนอะไรต่างๆ ต้องทำได้ภายใน 2-3 เดือน ไม่ใช่ 2-3 ปี ดังนั้นแผนของเราส่วนใหญ่ระยะยาวคือ 100 วันครับ

มันจึงมีความหวือหวาของมันเอง แต่ก็จะมีความซับซ้อนกว่าในเรื่องของกฎระเบียบ ในเรื่องของสัญญากับภาครัฐ ในเรื่องของเทคโนโลยี แล้วมันก็จะมีความได้เปรียบของมันอยู่ก็คือว่ามันเป็นธุรกิจที่คนต้องใช้ ทำให้มันง่ายกว่าธุรกิจอื่นตรงที่ว่า มันไม่ต้องไปสร้าง Demand มันมีอยู่แล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือว่าคู่แข่งของเราเป็นคู่แข่งที่มีความแข็งแรงมาก ”

แม้จะต้องเดินอยู่บนหนทางแห่งการธุรกิจที่แวดล้อมไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน แต่ธนาก็เห็นความสำคัญของมนุษยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ แม้จะต้องทำธุรกิจอยู่กับความต้องการบริโภคของคน แต่กำไรก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาให้ความสำคัญ

“ คนไทยส่วนใหญ่มักแต่จะหยิบในส่วนที่มันผิวเผิน ผมว่าเราเป็นชาติที่ชอบสนุกแล้วก็ไม่คิดอะไรมาก คือมันเป็นข้อดี แต่ข้อเสียคือเรามักไม่มีวินัย แล้วก็เรื่องของความรู้จักพอ คนสมัยเก่านี่จะมีความพอดีในตัวเอง ความเรียบง่าย แต่เราถูกกระตุ้นง่ายโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพนี่จะถูกกระตุ้นจากสิ่งที่เราเรียก ทุนนิยม ซึ่งมันมีผลมาก กระตุ้นในเรื่องที่ต้องทำกำไร ต้องมีสตางค์เยอะๆถึงจะมีคนนับหน้าถือตา ต้องมีอำนาจต้องมีอิทธิพล ต้องมีระบบอุปถัมภ์ซึ่งมันถูกฝังรากมาจากดั้งเดิมผสมกับลัทธิบริโภคนิยมเยอะๆของตะวันตก

มือถือก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ ถ้าดูจริงๆแล้ว มือถือนี่ Function ในแง่ของการโทรออก รับสายแล้วก็ส่ง SMS ก็พอแล้ว แต่ตอนนี้มันถูกกระตุ้นด้วยเรื่องอื่นๆเยอะ ถามว่าในแง่ของบริษัท เราควรทำตัวอย่างไร เราบอกว่าลดถูกๆทำให้คนใช้เยอะๆเหรอ มันก็ไม่ดีซิ

ในแง่ของการแข่งขันเสรี บริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องแข่ง โดยเฉพาะราคาต้องทำให้มันถูกที่สุด แต่ในขณะเดียวกันทางผู้ใช้จะต้องระมัดระวัง ไม่ได้หมายความว่าบริษัทมาถึงก็ขึ้นราคา กลายเป็นว่าเรามาฮั้วกัน การแข่งขันเสรีมีเสมอ แต่การแข่งขันเสรีมันทำให้การบริโภคเยอะเกินไปหรือไม่ตรงนี้มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นความเชื่อ เป็นราก หรือเป็นแก่นของการศึกษา หรือเป็นพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆแล้ว

หลายๆที่มือถือถูกๆเขาก็ไม่ใช้เยอะ ซึ่งจริงๆแล้วมันมีข้อดีคือถ้าใช้เท่าเดิมมันจะมีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น หรือยิ่งเอาเงินนั้นมาโทรจนไม่มีเวลาทำมาหากิน มันมีสองมุมเสมอ ในหลายๆเรื่อง ดังนั้นถึงจุดหนึ่งมันจะเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือย หรือโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องมี

ผมชอบคำหนึ่งมากอาจารย์ขรรค์ชัย บุญปาน เขาเขียนในหนังสือพิมพ์มติชน บอกว่าสื่อเป็นวิญญูชน วิญญูชน..เพราะนะครับ แต่ถ้าไปดูตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำนี้แปลว่า คนที่รู้จักผิดชอบชั่วดีแบบธรรมดา ก็คือคนปกติขอให้รู้จักผิดชอบชั่วดีเท่านั้นเอง

บางทีทุนนิยมมันครอบงำจนเรารู้สึกว่าเราเหมือนจะเอนเอียงไปในทางเพื่อเงิน คือบางทีมันมีมุมทุนนิยมข้างหนึ่งแล้วก็ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีข้างหนึ่ง ทุนนิยมส่วนใหญ่จะชนะ มันมีพลังมาก เราจะต้านหรือว่าเราจะรู้จักหลบหลีกมันอย่างไร คือผมจะไม่ค่อยชอบทุนนิยมอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ผมเป็นนักการเงิน ผมก็จะรู้แล้ว บังเอิญผมเป็นมนุษย์ที่ค่อนข้างอ่านหนังสือเยอะ จึงได้รับอิทธิพลจากหนังสือ ซึ่งหนังสือหรือคอลัมนิสต์ดีๆในเมืองไทยเป็นพวกที่ไม่ชอบทุนนิยมอยู่แล้ว อิทธิพลพวกนั้นก็จะมีอยู่ในตัว ดังนั้นเราก็ เอ๊ะ…อยากจะทำอะไรที่มันนอกกระแส ผมก็ไม่อยากเป็นนักการตลาดที่มันเหมือนคนอื่นๆนะ เพราะเด็กๆเราก็ไม่อยากเป็นอย่างนั้นนี่ เด็กๆเราก็เป็นเด็กที่ดูไอ้มดแดง อุลตร้าแมน เราก็อยากทำอะไรซึ่งมันเป็นผดุงคุณธรรมหรือทำอะไรที่มันดีบ้าง แต่เงื่อนไขทุนนิยมก็คือการที่คุณต้องทำกำไรให้ได้แล้วคุณถึงมีสิทธิ์ทำอะไรที่อยากทำต่อไป ”

วิสัยทัศน์เหล่านี้แสดงออกมาในรูปของกิจกรรมและภาพยนตร์โฆษณาของบริษัท

“ อย่างล่าสุดหนังโฆษณาเรื่องพอดี ผมชอบมากเพราะเราเป็นคนที่อยากทำอะไรที่เปลี่ยนหรือกระตุกคนหมู่มากได้ พอเราทำเรื่องนั้นออกมามันก็ได้ผล เรายังรักษาระดับทุนนิยมให้พอใจได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ สามารถทำอะไรที่ขายของโดยไม่ต้องไปกระตุ้นการบริโภคได้นะครับ อันนี้ก็จะเป็นการพยายามหาสมดุล

แต่อย่างเราอยู่ในธุรกิจที่ ต้องทำอย่างไรไม่ให้เราหลงไปสุดโต่งกับทุนนิยม พูดแต่เรื่องเงิน หรือกำไรอย่างเดียวพยายามเอาเปรียบผู้ใช้ แต่ลืมไปว่าในที่สุดแล้วกลับบ้านเราก็เป็นคนธรรมดา เราก็อยากจะให้คนมองว่าเราไม่ได้เป็นผู้ร้ายทำอย่างไรถึงจะสร้างความสมดุล ตรงนี้ได้

หนังเรื่องเชื่อในความพอดีมันมาจากการที่ผมอ่านบทความของอาจารย์นิธิ ในมติชน เป็นปีแล้วครับ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แกบอกว่าเดี๋ยวนี้คนเราความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ แกบอกว่าเวลานั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ถ้าเป็นสมัยก่อนถึงเชียงใหม่จะได้เพื่อน แต่เดี่ยวนี้ไม่ เพราะว่าพอนั่งแล้วก็คุยโทรศัพท์ ซึ่งแกบอกว่า มันไม่ได้เป็นความผิดอะไรนะเพียงแต่เราจะเรียนรู้ตรงนี้ได้อย่างไร คือเรามีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นอันที่หนึ่ง

อันที่สองก็คือ ที่งาน ICT Expo มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาเยี่ยมบูทเรา แล้วเราก็นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆของเรา ท่านก็บอกว่า “ เออ …เวลาที่เรามีความสุขที่สุดเลย ก็คือเวลาที่เราแบตหมด คนติดต่อเราไม่ได้ ” เราก็คิดว่า ชีวิตคนเรามันถูกครอบงำจริงๆหรือ

อีกอันหนึ่งก็คือว่าเราเชื่อในความพอดี ตอนนี้เราคิดมากคำว่าพอดี เราพยายามพูดเรื่องความพอดีกันมานานมากแล้ว จริงๆแล้วลูกผมจะตั้งชื่อว่าพอดี ด้วยซ้ำ ลูกผมสองขวบแล้วนะครับ จะชื่อพอดี แต่ภรรยาบอกว่า…(ทำหน้าดุ) เลยเปลี่ยนชื่ออื่นก็ได้ (หัวเราะ) คือคำนี้เป็นคำที่เราชอบมาตั้งนานแล้ว Brand Value ของ Happy สมัยที่เราตั้งมาเมื่อหลายปีที่แล้วก็คือ พอดี ใจดี ดีใจ พอใจ พอดีนี่เป็นคำแรกเลยที่เราใช้ “

ด้วยความที่เห็นเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาโดยตลอด เคล็ดลับการบริหารงานที่เขาใช้เป็นคติประจำใจจึงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรของเขาอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุขสดใสตลอดมา

“ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกน้องผม หรือว่าตัวเองก็ตามอยากมาทำงาน ถ้าตื่นมาแล้วไม่อยากมาทำงานมันทำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว มันก็จะน่าเบื่อ ความคิดสร้างสรรค์ก็จะไม่ออก ถ้ามาก็คืองานดีทั้งวันเลย อีกอันหนึ่งก็คือ เรื่องคน คือทุกอย่างมันลอกกันได้หมดทั้ง ผลิตภัณฑ์ หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าพลังนี่มันอยู่ที่คน คนนี่คือปัจจัยของทุกอย่าง เวลาคุยกับเขา ผมจะไม่ดูว่าจบอะไรมา ทำงานที่ไหน เก่งแค่ไหน แต่ดูบุคลิก ลักษณะนิสัยว่าเข้ากับทีมได้ไหม แล้วก็มีลักษณะเหมือนที่เราอยากได้หรือไม่

เรามาเฮฮามาทำกิจกรรม งานมันออกมาก็มีความสุขกัน เหนื่อยมาด้วยกัน แล้วก็ฉลองด้วยกัน แต่ว่าทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกัน โบนัสได้น้อยก็ต้องได้น้อยด้วยกัน ผมว่าเป็นเรื่องปัจจัยก็คือบุคคล หลังจากนั้นพอคนดีแล้ว มีความสุขดีแล้ว งานมันก็ดี ”

เหมือนกับที่เขามักย้ำเสมอๆถึงเรื่องความพอดีในการใช้ชีวิต ในส่วนตัวแล้วเขาเองก็มั่นใจและเชื่อในหลักการนี้เช่นเดียวกัน วันนี้เขาจึงรู้สึกว่าตนเองมีความสุขได้จากการรู้จักความพอเพียง

“ คนส่วนใหญ่วัดด้วยอะไรล่ะครับ ถ้าวัดว่า เราพอไหมตรงนี้ ตรงนี้ผมก็พอครับ คืออยากให้ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆซึ่งแน่นอนมันไม่มีทางหรอก ช้าหรือเร็วมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าถามตอนนี้อยากได้อะไรมากไปกว่านี้ไหม ไม่มีครับ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เรื่องงาน เรื่องลูกน้อง เรื่องเจ้านาย เรื่องสถานะอะไรต่างๆ นี่มันเกินกว่าที่ควรจะได้ หมายถึงมันเกินกว่าที่เคยคิดว่าจะได้มาเยอะแล้ว ดังนั้นก็ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหม มันก็ไม่ได้สำเร็จในมาตรฐานของคนทั่วๆไปนะ แต่ถ้าถามผมว่ามันก็ O.K. แล้ว พอแล้ว แค่นี้ ไม่ได้ว่าจะหยุดนะครับ แต่ไม่ได้อยากจะไปมากกว่านี้มากมาย หรือว่าไม่อยากจะทุ่มเพื่อได้อะไรมากไปกว่านี้ เพื่อที่จะต้องเสียสิ่งที่วันนี้ไป ” ธนาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างสบายใจ

Related contents:

You may also like...