“ต้นไม้ที่ให้ผลและร่มเงานอกจากได้ชื่อว่าเป็นไม้มีประโยชน์แล้วย่อมได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยพรวนดินยิ่งๆขึ้นไปอีกฉันใด
ผู้ที่รู้จักให้ทานนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีประโยชน์แล้ว ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ ช่วยเหลือสนับสนุนจากคนทั้งหลายอีกฉันนั้น”
มงคลชีวิตข้อ 15 กล่าวไว้ถึงการให้ทาน ภาษาบาลีคือ “ทานญฺจ” อ่านว่า ทา-นัน-จะ อธิบายว่า ทานแปลว่าการให้ หมายถึงการสละสิ่งของของตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานเป็นพื้นฐานความดีของมนุษย์ชาติและเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการจรรโลงสันติสุข
ชีวิตของคนเราจึงดำรงอยู่ได้ด้วยทาน เราโตมาได้ก็เพราะทาน เรามีความรู้ในด้านต่างๆก็เพราะทาน โลกนี้จะมีสันติสุขได้ก็เพราะทาน การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ชาติ
พ่อแม่ถ้าไม่ให้ทานคือไม่เลี้ยงเรามา เราเองก็ตายเสียตั้งแต่เกิดแล้ว สามีภรรยา หาทรัพย์มาได้ ไม่ปันกันใช้ ก็บ้านแตก ครูอาจารย์ ถ้าไม่ให้ทาน คือ ไม่สั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เราเราก็โง่ดักดาน คนเราหากโกรธแล้วไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค
ประเภทของทาน
- อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน
- ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เช่น ให้ศิลปวิทยาการต่างๆเรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอบให้ละชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรม เรียกว่า ธรรมทาน
- อภัยทาน คือ การสละอารมณ์โกรธ เป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร สละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้ขาดออกจากใจ
การให้ธรรมะเป็นทาน ถือว่าเป็นการให้ทานที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่ากว่าการให้ทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก สามารถนำไปใช้ได้ ไม่รู้จักจบสิ้นชาตินี้และชาติต่อๆไป ส่วนทานชนิดอื่นๆ ผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็หมดสิ้นไป
จุดมุ่งหมายของการให้ทาน
- ให้เพื่อทำคุณ เป็นการให้เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ให้เพื่อให้ผู้รับนิยมชมชอบในตัวผู้ให้ไม่ได้มุ่งเพื่อเป็นบุญ เช่นคนที่สมัครผู้แทนฯถึงเวลาหาเสียงทีก็เอากฐิน ผ้าป่า ไปทอด ๑๐ วัด ๒๐ วัด ไปสร้างสะพาน สร้างถนน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าตนเป็นคนใจบุญ จะได้ลงคะแนนเสียงให้ตน หรือบางคนรับพี่สาวเขา ก็เลยเอาขนมไปฝากน้องชาย การให้อย่างนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ เพื่อให้ผู้รับรักตัวผู้ให้ การทำเช่นนี้ถ้าถามว่าได้บุญไหม? ก็เห็นจะต้องตอบว่า ได้เหมือนกันแต่น้อยเหลือเกินได้ไม่เต็มที่ การให้ที่จะได้บุญมากนั้น ต้องให้เพื่ออนุเคราะห์ และสูงขึ้นไปอีก คือ ให้เพื่อบูชาคุณ
- ให้เพื่อนุเคราะห์ เป็นการอุดหนุนเอื้อเฟื้อกันให้ด้วยความเมตตากรุณา เช่น พ่อ แม่ ให้อาหารแก่ลูก ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์ ผู้มีทรัพย์ บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน เป็นต้น
- ให้เพื่อบูชาคุณ เมื่อมีผู้ปรารถนาดีต่อเรา เมตตากรุณา ช่วยเหลืออุปการะเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เราก็แสดงความเคารพนบนอบท่านด้วยกาย วาจา ใจ บูชาคุณท่านด้วยทรัพย์สินตามกำลัง ยามท่านเจ็บป่วยก็ช่วยพยาบาลรักษา ไม่ละทิ้งท่านทั้งในยามสุขและยามทุกข์ นอกจากนี้บุคคลที่ควรให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นธุระคอยสั่งสอนอบรมแนะนำประชาชนให้พ้นทุกข์ จึงควรบูชาท่านด้วย
การให้ทานเป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอย่อมมีใจผ่องใสเยือกเย็น หมู่ชนที่นิยมการให้ทานย่อมไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากต่างคนต่างมีอัธยาศัยไมตรี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อนึ่งใจของคนเรานี้มีอำนาจมีพลังดูดทรัพย์มาก ถ้าใครมีใจตระหนี่มีความโลภมาก จะมีพลังดูดทรัพย์น้อย โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่าคนทำทานมากๆจะทำให้รวย แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงยกย่องทานไว้หลายลักษณะ การทำทานให้ได้บุญมากต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
- วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยสุจริตชอบธรรม ไม่ได้คดโกงหรือเบียดเบียนใครมา
ให้ทานด้วยน้ำพริกผักต้มที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้กุศลมากกว่าให้อาหารโต๊ะจีนราคาตั้งพันด้วยเงินทองที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์
- เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ของตนทำเพื่อเอาบุญ ไม่ใช่เอาหน้า เอาชื่อเสียง เอาความเด่นความดัง ความรัก จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้ง ๓ ขณะ คือก่อนให้ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาเป็นทุนเดิม เต็มใจที่จะทำบุญนั้น ขณะให้ก็ตั้งใจให้ ให้ด้วยใจเบิกบาน หลังจากให้ก็มีใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้ว
- บุคคลบริสุทธิ์ คือ เลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม โดยทั้งไปแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ถึงกระนั้นก็ทรงสอนให้เลือกถ้าจะนิมนต์พระภิกษุเฉพาะเจาะจง ก็ให้นิมนต์พระที่เคร่งครัดในสิกขาวินัยน่าเลื่อมใส ถ้าจะนิมนต์พระไม่เฉพาะเจาะจง ให้สมภารจัดให้ ก็ให้เลือกนิมนต์จากหมู่สงฆ์ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัด สำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเองก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์จึงจะได้บุญมาก จะเห็นว่าทุกครั้งที่เราจะถวายสังฆทาน พระท่านจะให้ศีลก่อน เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นเรายังมีศีล ๕ ครบ จะได้เกิดบุญกุศลเต็มที่
คนเราเมื่อตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ วิธีเดียวเท่านั้นที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปได้ คือ การนำทรัพย์นั้นไปทำทาน ทานเป็นประโยชน์แก่ผู้มีชรา พยาธิ มรณะเผาผลาญอยู่ ถ้ารู้จักขนทรัพย์ออกด้วยทาน ทรัพย์นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขาได้ ทรัพย์ที่บำเพ็ญทานแล้วชื่อว่าขนออกแล้ว เจ้าของเรือนที่ถูกไฟไหม้ ภาชนะใดที่ขนออกได้ก็เป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนที่ขนออกไม่ได้ก็ต้องถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั่นเอง
ทานที่ให้แล้วไม่ได้บุญ
- ให้สุรายาเสพย์ติด เช่น บุหรี่ เหล้า ฝิ่น กัญชา ฯลฯ
- ให้อาวุธ เช่น เขากำลังทะเลาะกัน ยื่นปืน ยื่นมีดให้
- ให้มหรสพ เช่น พาไปดูหนังดูละคร ฟังดนตรี เพราะทำให้กามกำเริบ
- ให้สัตว์เพศตรงข้าม เช่น หาสุนัขตัวเมียไปให้ตัวผู้ หาสาวๆไปให้เจ้านาย ฯลฯ
- ให้ภาพลามก รวมถึงหนังสือลามก และสิ่งยั่วยุกามารมณ์ทั้งหลาย
Thanks to information and image from :
http://www.buddhastation.com/wp-content/uploads/2013/03/monk-food.jpg
http://potterfs.files.wordpress.com/2013/04/img_1950.jpg