ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานแรกที่สุดและมีความสำคัญยิ่งของสังคม เพราะสถาบันขั้นมูลฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันทั้งหลาย ในสมัยก่อนนั้นสถาบันครอบครัวทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันเศรษฐกิจ และสถาบันการปกครอง ฯลฯ ความสำคัญของสถาบันครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูก การเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ส่งผลระยะยาวจนกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของลูกเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูลูกฝาแฝด ย่อมละเอียดอ่อนกว่าการเลี้ยงดูพี่น้องทั่วไป ด้วยความที่พี่น้องฝาแฝดเกิดมาแทบจะพร้อมกัน รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังว่าลูกฝาแฝดจะต้องมีบุคลิกและลักษณะนิสัยเหมือนกัน เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นจึงเกิดการเปรียบเทียบและกลายเป็นปัญหาการเลี้ยงดูได้ในที่สุด
ละคร”แรงเงา” ที่ได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อปลายที พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ในความเป็นจริงแล้วฝาแฝดก็เหมือนพี่น้องธรรมดาทั่วไป แม้จะมีหน้าตาเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกหรืออุปนิสัยเหมือนกัน พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกฝาแฝดเหมือนกันทุกประการ เมื่อคนหนึ่งทำผิดก็จะนำไปเปรียบเทียบกันลูกอีกคน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาได้
พ่อแม่ควรเข้าใจก่อนว่าพี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับลูกฝาแฝดก็ไม่มีข้อยกเว้น ในทางกลับกันฝาแฝดมีแนวโน้มจะทะเลาะกันมากกว่าพี่น้องทั่วไป เพราะยิ่งเด็กมีอายุใกล้เคียงกันมากเท่าไร ทั้งยังเพศเดียวกันก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะกันมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือปฏิบัติต่อลูกอย่างเท่าเทียมซึ่งไม่ได้หมายถึงการแต่งตัวเหมือนกันให้ลูกฝาแฝด หรือบังคับให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษอย่างเดียวกัน แต่หมายถึงการให้ลูกแต่ละคนได้เป็นตัวของตัวเอง โดยมีพ่อแม่ให้ความรัก ความเข้าใจ กำลังใจและกอดสัมผัสลูกทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้พ่อแม่ที่มีลูกฝาแฝดยังอาจประสบปัญหาลูกทั้งสองชอบแข่งขันกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อช่วยลดความขัดแย้ง คือ หากิจกรรมให้ลูกทำร่วมกัน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขัน เช่น หากมีการเล่นเกมก็ควรให้ลูกอยู่ทีมเดียวกันโดยมีพ่อหรือแม่เป็นคู่แข่งแทนที่จะให้ลูกแข่งกันเอง สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ควรกล่าวชมเมื่อลูกร่วมมือกันทำงานหรือกิจกรรมต่างๆมากกว่าการทำโทษเมื่อลูกขัดแย้งกัน
พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่าฝาแฝดก็คือคนสองคน ชีวิตสองชีวิตที่มีความแตกต่างในตัวเองแม้เขาจะเกิดมาพร้อมกัน แต่พวกเขาไม่ใช่เงาของกันและกัน ดังนั้นแต่ละคนย่อมมีความชอบและมีลักษณะนิสัยต่างกันได้ พ่อแม่จึงไม่ควรคาดหวังให้ลูกฝาแฝด ต้องชอบอะไรเหมือนๆกัน แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกแต่ละคนเลือกเสื้อฝาที่ตนเองชอบ เข้าร่วมกิจกรรมที่แต่ละคนสนใจโดยไม่ต้องเปรียบเทียบในข้อบกพร่องของลูกทั้งสองแต่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจลูกอย่างเสมอภาค ไม่เช่นนั้นแล้วพ่อแม่นั่นเองที่จะสร้างปมในใจลูก จนกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมตามมาดังที่เราเห็นจากภาพ ที่เห็นในตัวละคร” พญ.รัตโนทัย กล่าว
ขอบคุณความรู้จาก พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
Thanks to image from : http://www.123rf.com/photo_559925_identical-twin-children.html