ดื่มน้ำบำบัดโรค

ร่างกายของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบกว่า 70% ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 92 ในสมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85 ถ้าพิจารณาในแต่ละเซลล์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 จริงๆแล้วน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลพืช เซลล์สัตว์ และเซลล์มนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งนั้น ในเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์มีน้ำประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำหนักร่างกาย ในพืชบกมีน้ำประมาณร้อยละ 50–75 ถ้าเป็นพืชน้ำอาจมีน้ำมากกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก

น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต มักมีผู้กล่าวไว้ว่าถ้าปราศจากน้ำก็ปราศจากสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไปคนสามารถอดอาหารได้หลายสัปดาห์ แต่ถ้าอดน้ำจะเสียชีวิตภายใน 2–3 วัน การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่าน้ำมีประโยชน์มากมายแก่ร่างกายของสิ่งมีชีวิต นอกเหนือจากคุณสมบัติที่เด่นที่สุดของโมเลกุลน้ำที่เป็นตัวทำละลายที่ดีและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด หน้าที่สำคัญที่สุดของน้ำ คือ เป็นตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ปฏิกิริยาเคมีในร่างกายทุกชนิดต้องอาศัยน้ำ เซลล์จะไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่มีน้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ กระบวนการการย่อยอาหาร กระบวนการดูดซึมอาหารและกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย

น้ำที่เป็นของเหลวของเลือดทำหน้าที่ขนส่งอาหารและออกซิเจนให้แก่เซลล์ อีกทั้งนำของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์มาขับถ่ายออกจากร่างกาย กระบวนการไหลเวียนเลือดและกระบวนการขับถ่ายของเสียในร่างกายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากสมดุลของสารน้ำในร่างกาย อีกทั้งน้ำช่วยให้การขับถ่ายกากอาหารในลำไส้ใหญ่เป็นไปโดยสะดวก ความผิดปกติของการถ่ายอุจจาระเกิดขึ้นเนื่องจากขาดสมดุลของการดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่เซลล์ลำไส้ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงหลายชนิดสร้างสารพิษที่มีผลต่อกลไกการควบคุมสมดุลสารน้ำภายในลำไส้

สารพิษ รวมทั้งสารเคมีในร่างกายที่อาจเป็นพิษ ถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยอาศัยน้ำ เลือดทำหน้าที่ขนส่งสารเหล่านั้นไปทั่วร่างกายซึ่งสารนั้นละลายในน้ำตับเป็นอวัยวะสำคัญในการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสารพิษด้วยกลไกทางเคมีมากมายหลายชนิด บางคนกล่าวเปรียบเทียบว่าตับเป็นโรงงานผลิตเอนไซม์ที่ทรงพลังมากกว่าโรงงานใดๆในโลก กระบวนการขับถ่ายสารพิษเกิดขึ้นร่วมกับการขับถ่ายทางปัสสาวะและอุจจาระ

น้ำช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและช่วยรักษาระดับความเป็นกรดด่างของเลือดรวมทั้งของเหลวต่างๆในร่างกาย น้ำช่วยระบายความร้อนของร่างกายในรูปของเหงื่อ ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ร่างกายของเรานั้นเปรียบเหมือนนาฬิกาอวัยวะที่อยู่กับตัวเราตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ อวัยวะในร่างกายของเราจะทำหน้าที่ตามเวลาอัตโนมัติ โดยช่วงที่ควรนอนหลับที่สุด คือ เวลา 21.00 น. ถ้าหากเข้านอนหลังจากนี้จะมีพลังงานไปช่วยเหลือกระบวนการสะสมพลังงานในร่างกายไม่เต็มที่ผลก็คือจะทำให้ร่างกายมีพลังงานสะสมไม่เพียงพอในการฟื้นฟูอวัยวะต่างๆให้สะอาดและแข็งแรงสำหรับวันต่อไป

ร่างกายได้รับน้ำหลายทางด้วยกัน อาทิ น้ำดื่ม เครื่องดื่ม, น้ำที่เป็นส่วนประกอบในอาหาร คือ ได้จากอาหารที่กินเข้าไป (เช่น น้ำแกง น้ำซุป น้ำที่แทรกซึมอยู่ในผักผลไม้ และอาหารต่างๆ), น้ำที่ได้จากการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับน้ำจากการดื่มเข้าไปโดยตรงมากกว่า

เราต้องดื่มน้ำให้สมดุลกับน้ำหนักตัวเพื่อให้เลือดไม่หนืดและข้นจะช่วยให้หัวใจที่เป็นตัวปั๊มเลือดไม่พัง ประการที่สองเมื่อตื่นมาเราควรดื่มน้ำเพื่อชำระล้าง เพราะตอนกลางคืนร่างกายจะขับสารพิษไปไว้ที่ลำไส้ ดังนั้นในช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. เราควรตื่นนอนมาดื่มน้ำเพื่อขับของเสีย(อุจจาระ) ออกจากร่างกาย ถ้าหากไม่ดื่มจะมีผลเสียเพราะมันจะถูกดูดกลับไปใช้ใหม่จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าและเกิดไขมันที่เสียในร่างกาย

ประการที่สาม แม้จะดื่มน้ำเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการแล้วก็ตามแต่ถ้าเราดื่มน้ำผิดวิธีก็ป่วยได้ เช่น อย่าดื่มน้ำเมื่อหิว แต่ให้หมั่นจิบน้ำบ่อยๆ ให้น้ำค่อยๆ ซึมเข้าร่างกาย และอย่าดื่มน้ำพรวดเดียวจนมากเกินไปเพราะจะทำให้ไตทำงานหนักในการขับปัสสาวะออก ที่สำคัญควรดื่มน้ำก่อนอาหาร 15 นาที ระหว่างรับประทานอาหารและหลังทานอาหารใหม่ๆอย่าเพิ่งดื่มน้ำมากนัก ปกติคนเราดื่มน้ำวันละประมาณ 1.5 – 2.0 ลิตร และได้รับจากเครื่องดื่มและอาหารทั้งภายในและภายนอกร่างกายอีกประมาณวันละ 1 – 2 ลิตร

วันนี้คุณดื่มน้ำเพียงพอหรือเปล่า

วิธีสังเกตง่ายๆว่าเราดื่มน้ำเพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือไม่ คือดูที่สีของปัสสาวะ ถ้าเป็นสีชาอ่อนๆหรือมีสีเหลืองอ่อน ก็แสดงว่าดื่มน้ำเพียงพอแล้ว แต่ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มนั่นแสดงว่าคุณดื่มน้ำน้อยไป หรือถ้าปัสสาวะใสเหมือนน้ำโดยไม่มีสีเหลืองเลยก็แปลว่าคุณดื่มน้ำมากเกินความต้องการของร่างกายแล้ว

อีกวิธีหนึ่งที่เราจะรู้ได้ว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ก็โดยการสังเกตการปัสสาวะ ซึ่งคนปกติจะปัสสาวะประมาณวันละ ๑ ลิตรหรืออย่างน้อยทุก ๔ ชั่วโมง ใครที่ไม่ค่อยปวดปัสสาวะหรือปัสสาวะออกมามีสีเหลืองเข้มมากแสดงว่า “ดื่มน้ำไม่เพียงพอ”

สุดท้ายก็สังเกตที่ความกระหายน้ำ หลายคนมีนิสัยไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า(แต่ชอบน้ำหวาน น้ำใส่สี หรือน้ำชา กาแฟ)จะดื่มน้ำก็ต่อเมื่อรู้สึกกระหายจริงๆเท่านั้น ต้องขอบอกว่าเป็นนิสัยที่ไม่ดี และมีผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก เพราะ “ความรู้สึกกระหายเป็นสัญญาณกระตุ้นเตือนจากสมองที่บอกเราว่าตอนนี้ น้ำในร่างกาย มีไม่เพียงพอแล้วนะ” ฉะนั้นก็อย่ารอจนกว่ากระหายน้ำแล้วจึงดื่ม เพราะนั่นหมายถึงร่างกายได้เข้าสู่ภาวะขาดน้ำแล้วหรืออาจจะขาดน้ำโดยที่ไม่รู้สึกกระหายก็ได้ ไม่เหมือนกับเวลาที่ร่างกายขาดอาหารแล้วจะรู้สึกหิวเป็นการเตือน สำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำขั้นแรกก็อาจจะหัดจิบน้ำเป็นระยะๆทุกชั่วโมง สะสมแต้มไปเรื่อยๆ ให้ครบ 8-10 แก้ว ในหนึ่งวัน ไม่ช้าก็จะเคยชินกับการดื่มน้ำมากขึ้นและมีสุขภาพดีจากการดื่มน้ำที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย(ที่สังเกตได้จากผิวพรรณที่สดใส ดวงตาชุ่มชื้นเป็นประกาย)

ดื่มน้ำน้อย…สุขภาพย่ำแย่

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของทุกอวัยวะในร่างกาย ดังนั้นถ้าเซลล์แต่ละเซลล์ มีน้ำไม่เพียงพอ เซลล์ก็จะเหี่ยวแห้ง เสื่อมคุณภาพ การ ส่งอาหารไปเลี้ยงร่างกายก็จะลำบาก ไม่สามารถ ให้พลังงานได้ (เพราะร่างกายต้องใช้น้ำในการเผาผลาญกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงาน) สมองขาดสมาธิ รู้สึกเหนื่อยอ่อน หงุดหงิดง่าย การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายก็จะยากลำบาก (และอาจทำให้เกิด การตกผลึกของเกลือแร่ต่างๆ ในไต หรือทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นนิ่วในไตได้ง่าย) ของเหลว ทุกอย่าง ในร่างกายจะข้น เกิดความหนืด ทำให้เลือด ไหลเวียนไม่สะดวกและต้องใช้แรงดันมากกว่าปกติ ส่งผลถึงหัวใจที่ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อบีบให้เลือดสามารถไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้อย่างทั่วถึง ผิวพรรณไม่สดใส แววตาแห้งแล้ง ไม่มีประกาย ปาก คอ เยื่อจมูกด้านใน และระบบหายใจ ค่อนข้างแห้ง (เหมือนกับ ช่วงอากาศหนาว ที่เราจะรู้สึกแสบ หรือ คันในจมูก ระคายลำคอ เพราะเยื่อเมือกต่างๆ ได้รับน้ำ เข้าไปหล่อเลี้ยงน้อย จึงทำให้แห้งและระคาย ง่ายกว่าปกติ)

คนที่ดื่มน้ำน้อยจนเป็นนิสัย แม้ร่างกายจะปรับตัวให้ต้องการน้ำน้อยกว่าปกติ แต่ก็เกิดผลเสีย ต่อสุขภาพ ตามมามากมาย เช่น เกิดความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ซึ่ง จะทำให้เกิดความไม่สบายต่างๆ หลายอาการ เช่น ปวดหัวบ่อยๆ มึนงง อ่อนเพลีย หน้ามืด ตาลาย ไม่มีสมาธิ ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ท้องผูก ผิวหยาบแห้ง ตึงที่หัวไหล่ ริมฝีปากแห้ง มีกลิ่นปาก ตาโหล อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น (ตัวร้อนตลอดเวลา)

เห็นไหมว่าน้ำมีประโยชน์มากชนิดที่หลายคนนึกไม่ถึง แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เขาไม่สามารถ ดื่มน้ำได้มากเหมือนคนทั่วไป นั่นคือผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต เพราะในขณะที่ไตทำงานไม่ปกติ แล้วดื่มน้ำ เข้าไป มากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการบวมได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขั้นร้ายแรง (หัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจวาย) คนไข้เหล่านี้ ระบบขับถ่ายน้ำจะไม่ปกติ เพราะฉะนั้นถ้าดื่มน้ำมากๆ อาจจะทำให้เกิด อาการเหนื่อย หอบ และเกิดอาการบวมได้ หรือ คนที่เป็นโรค เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อหรือมีความ ผิดปกติของ ระบบฮอร์โมนในร่างกาย บางครั้งดื่มน้ำเข้าไปแล้วไม่สามารถ ขับถ่ายออกมาได้ ก็จะทำให้เกิดอาการคั่ง ของน้ำในร่างกายและเกิดอาการบวมขึ้น

ในแต่ละวันน้ำที่เราดื่ม อาจเป็นน้ำหวาน น้ำผัก น้ำผลไม้ น้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ แต่น้ำที่ร่างกายต้องการและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด คือน้ำเปล่าที่สะอาดบริสุทธิ์ (ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่เพราะในอาหารที่เรากินเข้าไปก็มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆอยู่แล้ว)และอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสำหรับการดื่มอย่างแท้จริง ก็คือ น้ำที่อุณหภูมิห้องธรรมดาเพราะร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที การดื่มน้ำเย็นจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมื้ออาหารหรือหลังการออกกำลังกายที่ร่างกายกำลังระบายความร้อน อาจทำให้เกิดอาการจุกที่หน้าอกเนื่องจากความเย็นจะทำให้เส้นเลือดและเซลล์ต่างๆในร่างกายเกิดการหดตัว ซึ่งกว่าจะคลายตัวและเกิดการดูดซึมได้ก็ต้องเสียเวลาในการปรับอุณหภูมิก่อน หากเราไปสร้างความเคยชินที่ผิดๆ เช่น ติดน้ำเย็นมาก น้ำไม่เย็นดื่มไม่ได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอน

เครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม ชา กาแฟ โอเลี้ยง เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ผสมกาเฟอีนทั้งหลายล้วนแต่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เครื่องดื่มเหล่านี้ไม่เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ เพราะทำให้มีการเสียน้ำออกจากร่างกายซึ่งหากไม่ดื่มน้ำชดเชยเข้าไปให้พอเพียงก็จะมีอาการไม่สบายต่างๆเกิดขึ้น

How to drink for healthy?

โดยทั่วไปผู้คนมักจะดื่มน้ำกันตามความเคยชินหรือเมื่อรู้สึกกระหาย แต่ถ้าเราหัดดื่มให้เป็นเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการทำงานของร่างกายก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งมีคำแนะนำว่าควรดื่มน้ำตามเวลาดังนี้ คือ

  • หลังตื่นนอน ให้ดื่มน้ำอุ่นทันที 1-2 แก้ว (ซึ่งบางคนอาจดื่มได้มากกว่านี้) การดื่มน้ำทันทีที่ตื่น จะช่วยปลุก เซลล์ต่างๆ ให้สดชื่นขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบ ขับถ่ายทำงานดีขึ้น
  • ก่อนเวลาอาหาร มื้อละ 1 แก้ว
  • หลังมื้ออาหาร มื้อละ 1 แก้ว และ 2-3 ชั่วโมงหลังมื้ออาหาร 1 แก้ว
  • ก่อนเข้านอน ประมาณ 1 ชั่วโมง ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการนอน

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะเสียน้ำไปทางผิวหนังหรือทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการหายใจด้วย ยิ่งในช่วงอากาศร้อนการสูญเสียน้ำก็จะยิ่งมากขึ้น ถ้าหากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ลมแดด” (คือปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น)ได้ วิธีการป้องกัน คือดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนออกกำลังกาย (ครึ่ง-หนึ่งแก้ว) ขณะออกกำลังกาย(จิบน้ำบ่อยๆ ทุก 10-20 นาที) และหลังการออกกำลังกาย (1-2 แก้ว)
ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงกลางวัน หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากในช่วงอาหารเย็นจนถึงเวลานอน เพราะอาจ จะลุกเข้าห้องน้ำบ่อย ในระหว่างการนอน ทำให้หลับไม่เต็มอิ่ม และเกิดอาการอ่อนเพลียได้


ขอบคุณความรู้จาก นพ.รัสภูมิ์ สุเมธีวิทย์

แพทย์ที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับจากสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญแพทย์ด้านผิวหนังระดับเอเชียแปซิฟิกและนอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนทางด้าน Botox และ Filler อีกหลายแห่งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย

ตารางการทำงานของนายแพทย์รัสภูมิ์ สุเมธีวิทยฺ์
รัสมิ์ภูมิ เฟเชียล ดีไซน์ คลินิก (Rassapoom Facial design clinic ) สาขาหมู่บ้านมณียาสเตอร์พีซ รัตนาธิเบศร์
  • จันทร์ 10.00-19.00น.
  • ศุกร์ 10.00-19.00น.
RFDI by Rassapoom (สถาบันรัสมิ์ภูมิ เฟเชี่ยล ดีไซน์ อาคารศูนย์ทันตกรรม พระรามที่ 2)
  • พฤหัส 10.00 -19.00น.
ศูนย์สุขภาพผิวพรณ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท
  • พุธ 11.00-15.00น.
Dr. Younger รามคำแหง
  • อาทิตย์ (สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน) 10.00- 15.00น.
โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส
  • อังคาร 10.00-18.00
  • อาทิตย์ (สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน) 10.00-15.00น.

Thanks to images and some part of article from :
http://theflightattendantlife.com/2012/04/waterandairtravel/
http://www.runnersworld.co.za/nutrition/nutrition-essentials/drink-water-to-lose-weight/
http://www.guymag.net/articles/health/nutrition/nutrition-7252010-water-water-everywhere/
http://www.mindmapinspiration.com/benefits-of-drinking-water/
http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Dokya/D120/007.html

Related contents:

You may also like...