บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติทำให้มีความเห็นถูก ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วสติปัญญา พระยาอุปกิตศิลปสารประพันธ์โคลงโลกนิติเกี่ยวกับบัณทิตไว้ดังนี้
“ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม
ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด
ผู้ที่คบบัณฑิต
ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ
และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น”
คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญาคือบัณฑิต ความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว หากประพฤติไม่ดีก็ย่อมได้รับโทษนั้นๆได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบแต่ความดี ความถูกต้องความสุจริต สามารถป้องกันตนให้พ้นจากความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย แม้กระทั่งจากนรกได้ บัณฑิตอาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญาคือเป็นคนดี
ลักษณะของบัณฑิต
เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย 3 ประการ คือ
- คิดดีเป็นปกติ ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น
- พูดดีเป็นปกติ ได้แก่ พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และพูดถูกต้องตามกาลเทศะ
- ทำดีเป็นปกติ ได้แก่ มีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีวะ ทำบุญให้ทานเป็นปกติ รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตคือ
- ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร ชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดี เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน เลิกเสพยาเสพย์ติด ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอน ให้รักษา ศีล ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ให้ทำมาหากินในทางสุจริต
- ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ ทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ
- ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร พูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น
- บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม มีนิสัยถือเอา ความถูกความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้ง ไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนตนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่า และหากมีผู้เข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบ แล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นเย็นใจให้แก่ทุกคน
- รู้ระเบียบกฏกติกามรรยาทที่ดี รักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฎ ของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ
องค์คุณของบัณฑิต
- กตัญญู รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน
- อัตตสุทธิ ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป
- ปริสุทธิ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป
- สังคหะ สงเคราะห์แก่ชุมชนทั้งหลาย
ประเภทของบัณฑิต บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่
- บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
- บัณฑิตภายใน คือตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้น การคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดที่ดีๆ เพื่อการสร้างสรรค์ คำพูดที่ดีๆ เพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำที่ดีๆ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
อานิสงค์การคบบัณฑิต
- ทำให้มีจิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย
- ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล
- ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ
- ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อนเพราะทำผิด
- ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป
- ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่างๆ
- ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว
- ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
- ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
ฯลฯ
“แท้จริงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลสและเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น”
ขุ. ธ. ๒๕/๒๕/๔๒-๔๓
เทศนาธรรมพระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)